Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

องค์ประกอบอื่นๆ

Posted By Plookpedia | 11 พ.ค. 60
1,845 Views

  Favorite

องค์ประกอบอื่นๆ

โรงแสดง

      โรงละครชาตรีจะมีเสื่อปูกับพื้นดินขนาดประมาณ ๔x๔ เมตร ด้านหนึ่งเป็นตั่งที่นั่งแสดงได้ ๓-๔ คน หันหน้าไปในทิศทางสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะแสดงแก้บนถวาย ด้านซ้ายมือของผู้แสดงวางตั่งไว้บนตั่งหรือข้างตั่งเป็นที่ตั้งศีรษะฤษีภรตมุนี คือ ครูละครที่เรียกว่า “พ่อแก่” ส่วนด้านขวามือของผู้แสดงเป็นที่ตั้งลุ้งคือภาชนะโลหะสำหรับใส่ชฎากับหัวโขนและถังคลีที่ใส่อาวุธต่าง ๆ อีก ๒ ด้านของโรงเป็นที่นั่งพักของผู้แสดงที่ทำหน้าที่เป็นลูกคู่ช่วยร้องรับและตีกรับบางคณะอาจมีผ้าเขียนเป็นภาพท้องพระโรงหรือป่าเป็นฉากหลังกั้นบังหลังโรงที่ผู้แสดงเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย

การแต่งกาย

      ตัวละครชาตรีทั้งตัวพระและตัวนางแต่งกายรัดเครื่องแบบละครนอก ตัวตลกแต่งแบบพื้นบ้าน ส่วนตัวละครที่เป็นอมนุษย์ เช่น ยักษ์ ม้า จะสวมหัวโขนบนศีรษะแต่เปิดหน้าให้ร้องและเจรจาเองได้เนื่องจากละครชาตรีมีรายได้น้อยจึงใช้เครื่องละครที่ทำด้วยวัสดุราคาถูก เช่น ชฎาทาทองบรอนซ์ประดับกระจกตัด เสื้อผ้าใช้แพรสีสดปักเลื่อมเป็นลวดลายบางครั้งก็มีเครื่องแต่งกายปักเพชรอย่างลิเกปะปนบ้าง

 

ละครชาตรี
เครื่องแต่งกาย

 

การแต่งหน้า

      ผู้แสดงละครชาตรีแต่งหน้าให้งดงามด้วยเครื่องสำอางเหมือนที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน คือ ทารองพื้น เขียนคิ้ว เขียนขอบตา ทาเปลือกตา ผัดแป้งที่ใบหน้าและลำคอแล้วทาแก้มสีอมชมพูให้ดูมีเลือดฝาด ทาปากสีแดงสด ตัวนางอิจฉาจะแต่งหน้าเข้มกว่าตัวอื่น ๆ ส่วนตัวตลกซึ่งเป็นผู้ชายหรือบางครั้งก็เป็นสตรีสูงวัยใช้แป้งประบนใบหน้าอาจเขียนคิ้วและหนวดให้ดูตลกขบขัน

 

ละครชาตรี
การแต่งหน้าของผู้แสดงละครชาตรีจะมีวิธีแต่งเพื่อบอกถึงบุคลิกลักษณะของตัวละครว่าแสดงเป็นตัวละครใด

 

ดนตรี

      วงดนตรีหรือวงปี่พาทย์สำหรับละครชาตรีประกอบด้วย ปี่ ระนาดเอก ตะโพน กลองตุ๊ก โทนชาตรี ๑ คู่ กรับไม้ไผ่ ๓-๔ คู่ ฉิ่ง ฉาบเล็ก เพลงที่ใช้ร้องเป็นเพลงสองชั้นตามธรรมเนียมของละครนอก เช่น บทโศกใช้เพลงสร้อยสน มอญครวญ ลาวครวญ ธรณีกรรแสง บทรักใช้เพลงตะลุ่มโปง กล่อมนารี สาริกาแก้ว บทโกรธใช้เพลงสองไม้ เพลงเหล่านี้ตัวละครชาตรีอาจไม่รู้จักชื่อแต่รู้จักทำ นองเมื่อผู้แสดงร้องวรรคแรกออกไปแล้วนักดนตรีต้องฟังให้ออกและร้องรับให้ถูกต้องแต่บางครั้งตัวละครอาจร้องไม่ถูกต้องตามทำนองเพลงของเดิมก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ  สำหรับเพลงชาตรี ได้แก่ เพลงชาตรีกรับ ลิงโลดชาตรี ชาตรีสอง และชาตรีสาม ส่วนเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้ออกกิริยาต่าง ๆ ได้แก่ เพลงเชิดสำหรับเดินทางอย่างเร็ว เพลงเสมอสำหรับเดินทางปกติ เพลงเหาะสำหรับเดินทางทางอากาศ เพลงรัวสำหรับปะทะกันหรือแปลงกาย เพลงโอดสำหรับร้องไห้เสียใจ

ตัวละคร

      ตัวละครชาตรีแบ่งเป็น ๔ กลุ่มคือ ตัวพระ ตัวนาง ตัวอิจฉา หรือนางตะแหล่ง หรือนางกระแต แต้แว้ด และตัวตลก ส่วนตัวโกงนั้นใช้ตัวตลกแสดงแต่ไม่ค่อยปรากฏบ่อยนักเพราะละครชาตรีใช้ผู้หญิงแสดงและส่วนใหญ่เรื่องราวมักดำเนินไปในแนวรักริษยา

 

ละครชาตรี
ตัวละครนางผีหอก ซึ่งเป็นผีเรือนบุกขึ้นเรือนหลวงต่างใจ 
ในละครเรื่อง "ขุนช้างขุนแผน" ตอนขึ้นเรือนหลวงต่างใจ
ละครชาตรี
นางผีตานีบุกขึ้นเรือนหลวงต่างใจ 
ในละครเรื่อง "ขุนช้างขุนแผน" ตอนขึ้นเรือนหลวงต่างใจ

 

ผู้แสดง

      ผู้แสดงละครชาตรีส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงเพราะต้องแสดงเป็นตัวเอก ผู้ชายแสดงเป็นตัวตลกหรืออาจใช้สตรีสูงวัยแสดงก็ได้หรือเป็นนักดนตรีที่ผละจากวงปี่พาทย์ชั่วคราวมาเป็นตัวตลก เมื่อแสดงจบบทแล้วก็กลับไปบรรเลงดนตรีต่อ ผู้แสดงละครชาตรีมักเริ่มต้นชีวิตการแสดงตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ๆ เพราะเป็นบุตรหลานของคณะละครชาตรีคณะนั้นเองหรือเป็นเด็กเล็ก ๆ ที่พ่อแม่ยากจนนำมาฝากให้คณะละครเลี้ยงในเวลากลางวันเมื่อพ่อแม่ออกไปรับจ้างทำงานเด็ก ๆ ก็จะคุ้นเคยกับการแสดงโดยเล่นพร้อมกับเรียนรู้การร้องการรำไปด้วย เด็กเหล่านี้จะแสดงเป็นตัวประกอบหรือรำอวดตัวสลับฉากเล็ก ๆ น้อย ๆ เมื่อโตเป็นสาวรุ่นก็เริ่มรับบทเป็นตัวละคร

 

ละครชาตรี
เยาวชนที่ร่วมแสดงละครชาตรีในคณะปทุมศิลป์

 

      ผู้แสดงละครชาตรีส่วนใหญ่จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาแต่บางคนอาจเรียนถึงระดับมัธยมศึกษาหรือวิทยาลัยนาฏศิลปแล้วมารับงานแสดงเป็นครั้งคราว  ในช่วงปิดภาคฤดูร้อนจะเปิดสอนการแสดงให้แก่เด็กที่พ่อแม่ส่งมาฝากเลี้ยงจึงเกิดเป็นคณะละครชาตรีเด็กเล็กขึ้นแต่ไม่เป็นคณะละครแบบถาวรในปัจจุบันละครชาตรีมีการเรียนการสอนเชิงอนุรักษ์ตามสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษาแต่ไม่ได้เน้นเป็นอาชีพ  สำหรับละครชาตรีแต่ละคณะจะมีชื่อคณะชัดเจนโดยมีป้ายโฆษณาซึ่งแสดงชื่อคณะที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ให้สามารถติดต่อได้ คณะละครชาตรีไม่ใช่คณะละครเต็มรูปแบบแต่เป็นกลุ่มเครือญาติ  ละครชาตรีคณะหนึ่งจะมีหัวหน้าคณะหรือโต้โผที่เป็นต้นบทตลอดจนเป็นเจ้าของเครื่องละครรวมทั้งอุปกรณ์การแสดงทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการรับงานแสดงและการรวบรวมผู้แสดงที่อาศัยอยู่บ้านเดียวกัน หากตัวผู้แสดงมีไม่ครบก็จะเรียกมาจากคณะอื่นหรือจัดหาผู้แสดงอิสระมาแสดงร่วมเพื่อให้มีผู้แสดงได้ครบโรง 

ผู้ชม

      การแสดงละครชาตรีใช้สำหรับแก้บนสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยเจ้าภาพจ้างเหมาไปแสดงจึงไม่ค่อยคำนึงถึงจำนวนของผู้ชม อย่างไรก็ตามลักษณะผู้ชมกลุ่มหลักซึ่งครั้งหนึ่งมีประมาณ ๑๐-๓๐ คนนั้นส่วนใหญ่เป็นสตรีสูงวัยที่มานั่งชมชั่วขณะหนึ่งแล้วลุกไปทำธุระอย่างอื่นและเด็กเล็ก ๆ ที่วิ่งเล่นสนุกสนานอยู่รอบ ๆ โรงโดยจะตั้งใจดูเฉพาะฉากอิจฉาและฉากตลกที่เต็มไปด้วยความขบขัน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow