Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ปริศนาคำทายในวัฒนธรรมต่างๆ

Posted By Plookpedia | 11 พ.ค. 60
3,585 Views

  Favorite

ปริศนาคำทายในวัฒนธรรมต่าง ๆ

      ปริศนาคำทายนับเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่เก่าแก่ที่สุดประเภทหนึ่ง สันนิษฐานว่าปริศนาคำทายที่เก่าแก่ที่สุดคือปริศนาคำทายโบราณที่ค้นพบในบริเวณดินแดนฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและยังพบปริศนาคำทายในแหล่งอารยธรรมโบราณต่าง ๆ ได้แก่ สุเมเรียน บาบิโลน อัสซีเรีย อียิปต์ และกรีก มีบันทึกว่าในวัฒนธรรมกรีกโบราณปริศนาคำทายใช้เป็นเครื่องทดสอบเชาวน์ในยามว่างหลังมื้ออาหารในการเล่นดังกล่าวผู้แพ้จะต้องดื่มเหล้าองุ่นแก้วใหญ่หรือถูกลงโทษวิธีอื่น นอกจากนี้อาริสโตเติล (Aristotle) ปราชญ์ชาวกรีกได้กล่าวถึงปริศนาคำทายไว้ด้วยในตำราอันเลื่องชื่อของเขาคือ Poetics (เล่มที่ ๑๒) และ Rhetorics (เล่มที่ ๓ บทที่ ๒) ทำให้สันนิษฐานได้ว่าปริศนาคำทายเป็นที่รู้จักกันดีในยุคสมัยดังกล่าว ในจารึกของฮีบรูและในคัมภีร์ไบเบิลภาคพระคัมภีร์เก่า (The Old Testament) มีการกล่าวถึงการเล่นปริศนาคำทายไว้ ๒ แห่ง คือ เรื่องของแซมซัน (Samson) และเรื่องของกษัตริย์โซโลมอน (King Solomon) ในเรื่องของแซมซันนั้น แซมซันได้ถามปริศนาข้อหนึ่งความว่า "มีอะไรบางอย่างที่กินได้ออกมาจากจอมเขมือบ มีอะไรที่หวานออกมาจากสิ่งที่ดุดัน" คำเฉลยของปริศนานี้มาจากประสบการณ์ส่วนตัวที่แซมซันได้เห็นซากศพสิงโตตัวหนึ่งและในซากศพนั้นมีฝูงผึ้งเข้าไปทำรังอยู่ คำเฉลยของปริศนานี้ก็คือ "น้ำผึ้งในซากศพสิงโต" ส่วนในเรื่องของกษัตริย์โซโลมอนกล่าวไว้ว่า ราชินีแห่งชีบา (Queen of Sheba) ได้ทราบเรื่องของความฉลาดปราดเปรื่องของกษัตริย์โซโลมอนจึงได้เดินทางมายังกรุงเยรูซาเล็มเพื่อทดสอบเชาวน์ของพระองค์ พระนางได้ถามปริศนาหลายข้อ และกษัตริย์โซโลมอนก็ตอบได้ทั้งหมด พระนางจึงได้ถวายทองคำ เครื่องเทศ และอัญมณีที่พระนางนำติดมาด้วยแด่กษัตริย์โซโลมอนเพื่อแสดงความคารวะ

 

ปริศนาคำทายของไทย
บรรยากาศ "งานเทศกาลโคมไฟ" ในประเทศไต้หวัน


      นอกจากนี้ในปัจจุบันก็พบว่ายังมีการเล่นทายปริศนาคำทายกันในประเทศต่าง ๆ อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฟินแลนด์ เยอรมนี สเปน อิตาล อิสราเอล อินเดีย จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ไทย และในทวีปแอฟริกา ตัวอย่างเช่น ในทวีปแอฟริกามีบันทึกว่าชนเผ่าบางเผ่านิยมเล่นปริศนาคำทายกันในเวลาเย็นและมักจะเล่นกันในที่ร่มแต่หากอากาศเย็นสบายก็อาจเล่นกันในที่แจ้ง ปริศนาคำทายนิยมเล่นกันในหมู่เด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่มักเป็นผู้สอนให้เด็กรู้จักปริศนาคำทายวัตถุประสงค์หลักของการเล่นทายปริศนาเน้นที่การให้ความสนุกสนานและการฝึกสมอง ในบรรดาปริศนาที่พบในวัฒนธรรมต่าง ๆ นั้น มีปริศนาชนิดหนึ่งในวัฒนธรรมจีนที่มีลักษณะเป็นที่น่าสนใจและมีความสัมพันธ์กับปริศนาร้อยกรองชนิดหนึ่งในสังคมไทย ปริศนาดังกล่าวเรียกว่า "เต็งหมี" ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "ปริศนาโคมไฟ" (คำว่า "เต็ง" แปลว่า โคมไฟ และ "หมี" แปลว่า ปริศนา) ปริศนาโคมไฟหรือเต็งหมีมีความเกี่ยวเนื่องกับเทศกาลเฉลิมฉลองที่เรียกว่า "เทศกาลโคมไฟ" เทศกาลโคมไฟ (Lantern festival) เป็นเทศกาลที่จัดในคืนวันเพ็ญเดือนอ้ายเพื่อเป็นกิจกรรมปิดท้ายการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่และฤดูใบไม้ผลิซึ่งในคืนดังกล่าวชาวจีนจะแขวนโคมไฟประดับประดาหน้าบ้านและตามถนนหนทางอย่างสวยงาม นอกจากนี้บรรดาเจ้าของบ้านมักจะเขียนปริศนาปิดไว้บนโคมไฟที่ประดับไว้หน้าบ้านเพื่อเชิญชวนให้ผู้คนที่เดินเที่ยวชมโคมไฟได้ลองทาย มีธรรมเนียมปฏิบัติว่าหากมีผู้สามารถทายปริศนาได้ถูกต้องเจ้าของบ้านที่แขวนโคมไฟปริศนาก็จะเชื้อเชิญผู้นั้นเข้าไปร่วมดื่มน้ำชาภายในบ้านเพื่อเป็นเกียรติและมอบสิ่งของบางอย่างให้เป็นรางวัล 

      ปัจจุบันประเพณีการฉลองเทศกาลโคมไฟและการเล่นทายปริศนาโคมไฟยังคงมีการปฏิบัติสืบเนื่องกันมาทั้งในประเทศจีนและประเทศไต้หวัน นอกจากนี้ชาวจีนที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยก็ได้นำการละเล่นดังกล่าวเข้ามาด้วยแต่แทนที่จะเล่นทายกันโดยการเขียนปริศนาลงบนโคมไฟก็มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นเขียนปริศนาลงบนแผ่นกระดาษและแขวนไว้บนราวแทน  ปัจจุบันในงานพบปะสังสรรค์ประจำปีของสมาคมหรือองค์กรของชาวจีนบางสมาคมในประเทศไทยก็ยังมีการเล่นทายปริศนาเต็งหมีเพื่อเป็นกิจกรรมบันเทิงในงานด้วย นอกจากนี้ทุกเช้าวันอาทิตย์ในบริเวณสวนลุมพินี กรุงเทพฯ ก็ยังเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่กลุ่มชาวจีนที่สนใจการเล่นทายปริศนาชนิดนี้จะมาชุมนุมและเล่นทายปริศนาร่วมกัน ต่อมาคนไทยได้คิดค้นปริศนาร้อยกรองขึ้นชนิดหนึ่งเรียกว่า "ปริศนาผะหมี" โดยได้ประยุกต์มาจากรูปแบบและแนวคิดของปริศนาเต็งหมี

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow