Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

6 เรื่องจริงที่ร่างกายผู้หญิงต่างจากผู้ชาย

Posted By sanomaru | 11 ก.ย. 60
18,743 Views

  Favorite

"ผู้ชาย" กับ "ผู้หญิง" แตกต่างกัน

คำกล่าวนี้เป็นจริงแน่นอน ดูจากภายนอกก็รู้ได้ว่ามีความแตกต่างอย่างชัดเจน แต่ไม่ใช่เพียงแค่นั้นหรอก เพราะความแตกต่างที่เราพูดถึงนี้ไม่ใช่เพียงรูปลักษณ์ภายนอก นิสัย หรือความคิดโดยทั่วไป แต่เป็นความแตกต่างภายในที่เกิดขึ้นที่ระดับเซลล์และมีผลต่อสุขภาพของทั้งสองเพศ แม้ว่าโดยทั่วไปความแข็งแรงของสุขภาพร่างกายจะมาจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น วิธีการใช้ชีวิต  การรับประทานอาหาร พันธุกรรม แต่ความแตกต่างในเรื่องของเพศ ก็มีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอยู่ไม่น้อย

ภาพ : Shutterstock

6 ความแตกต่างระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง

1. ผู้ชายอดทนต่อความเจ็บปวดได้มากกว่าผู้หญิง

การที่ผู้หญิงต้องทำหน้าที่คลอดลูกซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นความเจ็บปวดที่สุดในชีวิตลูกผู้หญิง และเป็นหน้าที่ที่ผู้ชายไม่อาจทำได้ เราจึงมักคิดว่าผู้หญิงมีความอดทนต่อความเจ็บปวดมากกว่าผู้ชาย แต่ผู้เชี่ยวชาญกลับกล่าวถึงหลักฐานที่ระบุว่า ผู้หญิงรับความเจ็บปวดได้ไวกว่าผู้ชาย และมีความอดทนต่อความเจ็บปวดต่ำกว่าผู้ชาย ซึ่งสิ่งนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ผู้หญิงมีอาการปวดเรื้อรังมากกว่าผู้ชายด้วย โดยจากสถิติพบว่า 70% ของผู้ป่วยเรื้อรังทั้งโลกนั้นเป็นผู้หญิง และอาการปวดเรื้อรังที่พบมากที่สุดคือ อาการปวดศีรษะ ซึ่งมีผลต่อผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 50%

 

อย่างไรก็ตาม มันไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงทุกคนบนโลกจะรู้สึกเจ็บปวดมากกว่าผู้ชายทุกคนบนโลก เพราะความเหลื่อมล้ำหรือทับซ้อนกันก็ยังมีอยู่ นั่นหมายความว่า ผู้หญิงบางคนอาจจะอดทนต่อความเจ็บปวดได้ดีกว่าผู้ชายบางคนก็เป็นได้ แต่โดยภาพรวมแล้วผู้ชายก็ยังอดทนต่อความเจ็บปวดได้มากกว่าผู้หญิงอยู่ดี นอกจากนี้การแสดงออกถึงความเจ็บปวดให้คนอื่นได้เห็น ก็ยังสัมพันธ์กับการแสดงออกทางสังคมในแต่ละเพศด้วย เช่น ผู้หญิงอาจจะพูดถึงความเจ็บปวดได้อย่างเปิดเผยมากกว่าผู้ชาย ในขณะที่ผู้ชายจะมองข้ามและเลือกที่จะนิ่งเฉยต่อความเจ็บปวดเสียมากกว่า

 

2. ผู้หญิงมีระบบภูมิคุ้มกันที่ทำงานได้ดีกว่าผู้ชาย

     - ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตจากโรคปอด เช่น วัณโรค ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (Tubercle Bacillus) มากกว่าผู้หญิงประมาณ 1.5 เท่า
     - ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อปรสิต เชื้อรา หรือเป็นโรคติดเชื้ออื่น ๆ มากกว่าผู้หญิง

นั่นเป็นเพราะว่าโดยทั่วไปผู้หญิงมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งขันมากกว่าผู้ชาย มีการผลิตเซลล์ที่ตอบสนองต่อเชื้อโรคมากกว่า และมีสารเคมีที่พร้อมจะต่อสู้กับเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมอย่างแบคทีเรียหรือไวรัสมากกว่า ซึ่งดูเหมือนว่าความแข็งแกร่งของระบบภูมิคุ้มกันเช่นนี้มีเบื้องหลังมาจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชายนั่นเอง แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องน่าดีใจนัก เนื่องจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของผู้หญิงมีแนวโน้มจะมากเกินไปหรือดีเกินไป ก็อาจเป็นสาเหตุให้ระบบภูมิคุ้มกันโจมตีเนื้อเยื่อตัวเอง และนำไปสู่ความผิดปกติ เช่น โรคไขข้ออักเสบ โรคเอสแอลอีหรือลูปัส (ภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง) ได้

 

ปัจจุบันมีโรคที่อยู่ในกลุ่มภูมิคุ้มกันทำลายตนเองมากกว่า 100 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่มีผลต่อผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และในความเป็นจริง เกือบ 80% ของผู้ที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง คือ ผู้หญิง

 

ผู้หญิงยังตอบสนองต่อวัคซีนหลายชนิดมากกว่าผู้ชายด้วย เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ แต่ไม่ใช่เรื่องดีนัก เพราะการตอบสนองในที่นี้หมาายถึง การเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน อย่างอาการปวดศีรษะ หรืออาการบวมแดงที่่แขน เป็นต้น

 

3. สัญญาณเตือนของโรคหัวใจที่แตกต่างกันในผู้ชายและผู้หญิง

โรคหลอดเลือดหัวใจเกิดจากการที่ไขมันไปเกาะอยู่บนผนังหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของผู้หญิงในออสเตรเลีย โดยปัจจัยหนึ่งน่าจะมาจากปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรในร่างกาย เพราะฮอร์โมนชนิดนี้ควบคุมการสร้างคอเลสเตอรอลด้วย แต่หากมีมากเกินไปก็ทำให้เกิดไขมันสะสมได้ นอกจากนี้ยังมีโรคหัวใจที่เรียกว่า Takotsubo cardiomyopathy ซึ่งหัวใจจะมีลักษณะโป่งพองเป็นกระเปาะ มักพบในผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน คาดว่ามาจากการที่ร่างกายขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้หงุดหงิดง่าย เกิดความเครียดได้ง่าย และส่งผลต่อหัวใจตามมา

 

 

จะเห็นได้ว่ามีปัจจัยภายในบางอย่างของระบบร่างกายผู้หญิง ที่ส่งผลต่อความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจมากกว่าผู้ชาย และมีโอกาสเสียชีวิตจากอาการหัวใจวายมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า ผู้หญิงยังมีแนวโน้มที่จะแสดงอาการหายใจถี่ ปวดหรือเจ็บร้าวไปที่คอและหลัง หรืออาการคลื่นไส้ ซึ่งเป็นอาการทั่วไปของโรคหัวใจ มากกว่าผู้ชายด้วย ในขณะที่ผู้ชายมักแสดงอาการเจ็บหน้าอกมากกว่าอาการทั่วไปอย่างผู้หญิง

 

4. ผู้หญิงมีความเเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนมากกว่าผู้ชาย

โรคกระดูกพรุนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชากรชาวอเมริกันถึงประมาณ 54 ล้านคน ซึ่งโดยส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป และผู้หญิงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าผู้ชาย เนื่องมาจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เคยทำหน้าที่สงวนแคลเซียมในกระดูกมีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว ในช่วงของวัยหมดประจำเดือน ทำให้อัตราการสูญเสียมวลกระดูกจึงเพิ่มขึ้น เมื่อกระดูกพรุน โอกาสที่กระดูกจะหักได้ง่ายก็มีมากขึ้น อีกทั้งขนาดของกระดูกของผู้หญิงยังเล็กกว่าผู้ชายมาตั้งแต่แรก จึงส่งผลต่อความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุนที่มากกว่า

 

 

5. อาหารในลำไส้เล็กของผู้ชายเดินทางได้เร็วกว่าผู้หญิง

การที่อาหารในลำไส้เล็กของผู้ชายเเดินทางได้เร็วกว่าผู้หญิง ไม่ใช่เพราะผู้ชายมีลำไส้เล็กที่สั้นกว่า แต่เป็นเพราะกล้ามเนื้อที่คอยบีบตัวแบบ Peristalsis เพื่อให้อาหารเคลื่อนที่ไปในลำไส้เล็กของผู้ชายนั้นมีการทำงานมากกว่าของผู้หญิง ส่งผลให้อาหารใช้เวลาอยู่ในลำไส้เล็กของผู้หญิงนานกว่าผู้ชาย และนั่นทำให้ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะท้องผูกมากกว่าผู้ชาย ซึ่งจากสถิติพบว่าผู้หญิงมีอาการท้องอืดมากกว่าผู้ชายถึง 8 เท่า ทั้งที่ค่าเฉลี่ยของการสร้างแก๊สในลำไส้เล็กก็อยู่ที่วันละประมาณ 25 ลิตรเท่ากัน เป็นเพราะว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะกักเก็บแก๊สนี้ไว้ในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่มากกว่าผู้ชาย นำไปสู่อาการแน่นท้อง และเชื่อมโยงไปถึงการผายลมด้วย

 

มนุษย์เราผายลมเพื่อปลดปล่อยแก๊สในร่างกายประมาณ 1.5 ลิตรต่อวัน แต่จากระดับการหดตัวของกล้ามเนื้อในลำไส้เล็กของผู้ชายที่เกิดขึ้นมากกว่า จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมผู้ชายปลดปล่อยแก๊สนี้ออกมาเฉลี่ย 12 ครั้งต่อวัน เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ปล่อยมันออกมาเฉลี่ยเพียง 7 ครั้งต่อวัน

 

6. ร่างกายของผู้ชายและผู้หญิงสามารถตอบสนองต่อยาได้แตกต่างกัน

การที่ผู้ชายและผู้หญิงสามารถตอบสนองต่อยาได้แตกต่างกัน เนื่องมาจากขนาดของร่างกาย น้ำหนักตัว ไขมันภายในร่างกาย และรูปแบบการไหลเวียนของเลือด ตลอดจนปริมาณของเอนไซม์ที่มีผลต่อการแตกตัวของยา ทั้งหมดนี้ล้วนเกี่ยวข้องกัน และนำไปสู่ความสามารถในการดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกายได้มากหรือน้อย เร็วหรือช้า รวมถึงระยะเวลาที่ยาออกฤทธิ์ แตกต่างกันในผู้ชายและผู้หญิง นอกจากนี้ ไตยังมีแนวโน้มจะกำจัดยาบางอย่างออกจากระบบของผู้หญิงได้ช้ากว่าผู้ชายด้วย ดังนั้น ยาบางชนิดจึงต้องให้ในปริมาณที่แตกต่างกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย

 

ผู้หญิงยังมีความไวต่อยาบางชนิดมากกว่าผู้ชายด้วย เช่น ยาลดอาการปวด ยาต้านอาการซึมเศร้า ยาที่ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง หรือยาที่เกี่ยวกับการรักษาทางจิตเวช ซึ่งนั่นทำให้ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเกิดผลข้างเคียงหลังจากรับประทานยาแล้วมากกว่าผู้ชายถึง 70%

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow