Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคอ้วน (obesity)

Posted By Plookpedia | 11 เม.ย. 60
3,588 Views

  Favorite

โรคอ้วน (obesity)

      ปัจจุบันโรคอ้วนนับว่าเป็นโรคที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก องค์การอนามัยโลกถือเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญปัญหาหนึ่งที่จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา

เกณฑ์การวินิจฉัยโรคอ้วน

      วิธีที่ดีที่สุดที่ใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ คือ การชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง ในผู้ใหญ่ซึ่งต้องการทราบความเสี่ยงต่อเมแทบอลิกซินโดรมจะวัดขนาดรอบเอวด้วยตามมาตรฐานกรมอนามัยพ.ศ. ๒๕๔๒ เกณฑ์ที่ใช้ในเด็กอายุน้อยกว่า ๑๘ ปี ลงมาใช้เกณฑ์น้ำหนักเทียบกับส่วนสูงถ้าหากมีน้ำหนักต่อส่วนสูงมากกว่าร้อยละ ๕๐ บวกกับ ๒ เท่าของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานจะถือว่าน้ำหนักเกินและหากมาก กว่า ๕๐ บวกกับ ๓ เท่าของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานถือว่า อ้วน 
BMI   =   น้ำหนัก (กิโลกรัม)/ส่วนสูง (เมตร)

ดัชนีมวลกายมีค่า ๑๘.๕ - ๒๔.๙ กิโลกรัม/เมตร ถือว่า น้ำหนักปกติ
ดัชนีมวลกายมีค่า ๒๕.๐ - ๒๙.๙ กิโลกรัม/เมตร ถือว่า น้ำหนักเกิน (overweight)
ดัชนีมวลกายมีค่า ๓๐ กิโลกรัม/เมตร๒ ขึ้นไป ถือว่า เป็น โรคอ้วน (obesity)

สาเหตุของโรคอ้วน

แบ่งได้เป็น ๒ สาเหตุ คือ

๑. โรคอ้วนที่เป็นอาการแสดงของโรคอื่น 

พบได้น้อยมากเมื่อเทียบกับโรคอ้วนทั้งหมดโดยมีสาเหตุดังนี้
      ๑.๑ โรคของระบบประสาทส่วนกลาง เช่น เนื้องอกในสมองบางส่วน การเจ็บ หรือติดเชื้อในสมอง
      ๑.๒ โรคทางต่อมไร้ท่อ ทำให้มีความผิดปกติของการหลั่งฮอร์โมนบางตัว
      ๑.๓ การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์รักษาโรคบางอย่าง อาจทำให้อ้วนได้
      ๑.๔ กลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม
โรคเหล่านี้มักพบในเด็กโดยจะมีลักษณะอ้วนเตี้ยและพบลักษณะผิดปกติอย่างอื่นด้วย ผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล

๒. โรคอ้วนจากการกินเกิน 

      เมื่อบริโภคอาหารเข้าไปมากเกินความต้องการของร่างกาย ร่างกายนำมาใช้เป็นพลังงานไม่หมดส่วนที่เกินก็จะสะสมในรูปของไขมันอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น อวัยวะในช่องท้อง ใต้ผิวหนังหน้าท้อง เมื่อสะสมมากขึ้นก็จะกลายเป็นโรคอ้วนซึ่งจะพบว่ามีเซลล์ไขมัน (adipocyte) เพิ่มจำนวนและเพิ่มขนาดขึ้นเป็นจำนวนมาก 
กลไกการเกิดโรคอ้วน ทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา ดังแสดงในแผนภูมิที่ ๑

 

อาหารกับโรคเรื้อรัง

 

สถานการณ์ของโรคอ้วน

      ผลจากการสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการและการศึกษาวิจัยซึ่งดำเนินการโดยหลายสถาบันพบตรงกันว่าในระยะ ๑๐ ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีความชุกของการขาดสารอาหารน้อยลงไปมาก แต่ที่น่าตกใจคือความชุกของโรคอ้วนและภาวะโภชนาการเกินเพิ่มขึ้นอย่างมาก การสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการล่าสุดโดยกรมอนามัย ใน พ.ศ. ๒๕๔๖ พบว่าหากใช้ดัชนีมวลกายเป็นตัวชี้วัดในประชากรที่มีอายุระหว่าง ๑๙ - ๕๙ ปี ในเขตเมืองจะมีภาวะโภชนาการเกินถึงร้อยละ ๒๖.๗ และโรคอ้วนร้อยละ ๑๒.๑ ในขณะที่ประชากรวัยเดียวกันในเขตชนบทมีภาวะโภชนาการเกินร้อยละ ๒๒.๘ และโรคอ้วนร้อยละ ๖.๖ นอกจากนี้หากใช้เส้นรอบเอวมาเป็นเกณฑ์ชี้วัดพบว่าในประชากรอายุ ๑๙ - ๕๙ ปี ทั้งเขตเมืองและชนบทรวมกันผู้ชายมีภาวะอ้วนลงพุง (เส้นรอบเอวมากกว่า ๓๖ นิ้ว) ร้อยละ ๑๐.๗ ผู้หญิงมีภาวะอ้วนลงพุง (เส้นรอบเอวมากกว่า ๓๒ นิ้ว) ร้อยละ ๓๖.๕ สำหรับความชุกของโรคอ้วนในเด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ในกรุงเทพมหานครใน พ.ศ. ๒๕๔๔ แพทย์หญิงสุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์และคณะได้ทำการศึกษาวิจัยพบภาวะอ้วนลงพุงร้อยละ ๑๐.๒ ในนักเรียนชายและร้อยละ ๑๓.๒ ในนักเรียนหญิง

โรคอ้วนนำไปสู่โรคต่าง ๆ อย่างไร

ในปัจจุบันการศึกษาวิจัยจากหลายสถาบันทำให้ทราบว่าโรคอ้วนเป็นสาเหตุตั้งต้นของโรคกลุ่มเมแทบอลิกซินโดรมโดยทำให้เกิดอาการและโรคต่าง ๆ ดังนี้
๑. โรคเบาหวานประเภทที่ ๒ (type 2 diabetes)  
      โรคอ้วนทำให้มีความผิดปกติในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินเชื่อว่าเกิดจากการมีเซลล์ไขมันมากและจะมีการย่อยสลายไขมันทำให้เกิดกรดไขมันอิสระ (free fatty acid) ออกมาในกระแสเลือดมากและขัดขวางการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนอินซูลินซึ่งปกติจะทำหน้าที่รักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติอยู่เสมอ การศึกษาเกี่ยวกับเมแทบอลิกซินโดรมในเด็กพบว่าภาวะนี้ มีความชุกเพิ่มขึ้นตามความรุนแรงของโรคอ้วน  ในกลุ่มเด็กที่อ้วนมากอาจพบเมแทบอลิกซินโดรมได้มากกว่าเด็กปกติถึงร้อยละ ๕๐ ในประเทศไทยมีการศึกษาวิจัยที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในช่วงพ.ศ. ๒๕๓๙ - ๒๕๔๒ พบว่าความชุกของโรคอ้วนในเด็กเพิ่มสูงขึ้นมากและมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการเพิ่มขึ้นของโรคเบาหวานประเภทที่ ๒ ในเด็กอ้วน
๒. โรคไขมันในเลือดผิดปกติ (dyslipidemia)  
      ภาวะที่พบในคนอ้วน ได้แก่ ไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) มีระดับสูง แอลดีแอล คอเลสเตอรอล (low density lipoprotein cholesterol - LDL-C) มีระดับสูงกว่าปกติส่วนเอชดีแอลคอเลสเตอรอล (high density lipoprotein cholesterol - HDL-C) มีระดับต่ำกว่าปกติ ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดที่มีมากเกินไปจะถูกนำไปเก็บสะสมหรือย่อยเป็นกรดไขมันอิสระซึ่งมีฤทธิ์เป็นพิษต่อบีตาเซลล์ในตับอ่อน ทำให้เกิดโรคเบาหวาน นอกจากนั้นระดับไขมันในเลือดสูงยังทำให้หลอดเลือดอักเสบซึ่งนำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือดในเวลาต่อมา
๓. โรคความดันโลหิตสูง
      เมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงและไขมันในเลือดสูงทำให้หลอดเลือดมีการอักเสบหรือตีบตันความยืดหยุ่นของหลอดเลือดเสียไปเป็นผลทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง
๔. โรคหัวใจและหลอดเลือด 
      จากสาเหตุของโรคในข้อ ๒ และข้อ ๓ หากมีการอักเสบหรือตีบตันในหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจก็ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เสียชีวิตได้ อนึ่ง หากมีการตีบตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการที่มีระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดสูงก็จะมีผลเสียต่อร่างกายเช่นกัน เช่น เส้นเลือดที่สมองตีบทำให้เป็นอัมพาตหรืออัมพฤกษ์ 

ภาวะแทรกซ้อนอื่นของโรคอ้วน

นอกจากโรคอ้วนจะนำไปสู่โรคต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วยังมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ดังนี้

๑. ความผิดปกติของผิวหนัง

  • ผิวหนังมีสีคล้ำหรือสีดำคล้ำ (acanthosis nigricans) ตามข้อพับ คอ รักแร้ ใต้ราวนม อาจมีอาการอักเสบของผิวหนังบริเวณดังกล่าว
  • ก้อนไขมันสีเหลือง (xanthoma) ขนาดต่างกันพบบริเวณข้อเท้า ข้อเข่า หลังเอ็นร้อยหวาย ผู้ที่มีก้อนไขมันสีเหลืองจะมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงมากและมักพบว่ามีความเสี่ยงต่อภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบสูงมาก

๒. ความผิดปกติของกระดูกและข้อ 
      คนที่อ้วนมาก ๆ จะพบว่าการเคลื่อนไหวลำบากและมักมีอาการปวดเข่าเนื่องจากเข่าต้องรับน้ำหนักตัวมากเกินปกตินอกจากนั้นยังมีอาการปวดข้อเท้า ปวดหลัง  ในเด็กที่กำลังเจริญเติบโตและมีโรคอ้วนด้วยอาจพบกระดูกต้นขาโค้งงอ (bowed femur)
๓. ความผิดปกติของระบบการหายใจ
      คนอ้วนจะมีไขมันหนาที่ใต้ผิวหนังบริเวณทรวงอกทำให้ช่องอกมีการขยายตัวน้อยกว่าที่ควรและมีไขมันในช่องท้องมาก ทำให้กะบังลมเคลื่อนไหวน้อยลงจึงทำให้มีการหายใจเร็วและตื้นและเกิดอาการหยุดหายใจขณะหลับ (sleep apnea) ซึ่งเป็นอันตรายมาก
๔. ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ 
      นอกจากความผิดปกติของระดับอินซูลินแล้วยังอาจพบความผิดปกติของฮอร์โมนตัวอื่น ๆ ทำให้มีอาการจากความผิดปกติของฮอร์โมนนั้น ๆ ร่วมด้วย 
๕. ความผิดปกติของตับ
      คนอ้วนจะมีไขมันอยู่ตามอวัยวะภายในช่องท้องโดยเฉพาะที่ตับซึ่งทำให้เกิดอาการตับอักเสบหรือตับแข็งในเวลาต่อมาได้
๖. สมรรถภาพในการทำงาน
      คนอ้วนมักมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้น ทำให้เหนื่อยง่าย สมรรถภาพในการทำงานน้อยลงอย่างชัดเจน
๗. บุคลิกภาพ 
      เด็กอ้วนและผู้ใหญ่อ้วนมักถูกญาติพี่น้องเพื่อนฝูงล้อเลียนทำให้มีปัญหาทางด้านจิตใจและในการพัฒนาบุคลิกภาพได้โดยอาจเป็นคนชอบเก็บตัวไม่สนใจสังคม ซึมเศร้า การดูแลช่วยเหลือต้องทำความเข้าใจกับผู้ป่วยให้ถือว่าไม่ใช่ปมด้อยแต่เป็นความไม่สมดุลกันระหว่างพลังงานที่ได้กับพลังงานที่ใช้ไปต้องกระตุ้นให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและการออกกำลังกายโดยชักชวนให้ทำเป็นกลุ่มหรือหมู่คณะทั้งคนอ้วนและคนไม่อ้วน

แนวทางการดูแลรักษาโรคอ้วน

การดูแลรักษาโรคอ้วนที่ปลอดภัยและได้ผลในระยะยาว คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในเรื่องการบริโภคอาหาร และการทำกิจกรรมออกกำลังกาย ซึ่งมีหลักการง่ายๆ ดังต่อไปนี้
      ๑. กินอาหารตามโภชนบัญญัติ ๙ ประการ หรือตามธงโภชนาการ
      ๒. ลดอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และน้ำตาล รวมทั้งหลีกเลี่ยงอาหารทอดหรืออาหารผัดที่ใช้น้ำมัน แกงหรือขนมซึ่งใส่กะทิเปลี่ยนมาใช้วิธีอบ ต้ม นึ่ง ย่าง เพื่อลดการใช้น้ำมันปรุงอาหาร
      ๓. กินอาหารมื้อหลักให้ครบ ๓ มื้อ มีอาหารว่างที่ไม่หวานและไม่มีไขมันมาก หากเป็นผลไม้ควรเป็นผลไม้ที่ไม่หวาน เช่น มะละกอ ฝรั่ง ชมพู่ 
      ๔. กินอาหารที่มีกากใยให้เพิ่มขึ้น เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีตจากข้าวสาลีหรือธัญพืชชนิดอื่นที่ไม่ขัดสี ผัก ผลไม้  
      ๕. ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอโดยประเภทและระยะเวลาในการออกกำลังกายต้องปรับตามสภาพและความพร้อมของร่างกาย
      ๖. การใช้ยาควรใช้โดยมีแพทย์คอยดูแลอย่างใกล้ชิดเท่านั้นไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง

 

อาหารกับโรคเรื้อรัง

 

ตัวอย่างกิจกรรมการออกกำลังกาย

๑. การเดิน
      เริ่มเดินช้า ๆ ก้าวเท้าให้สม่ำเสมอ แกว่งแขนสบาย ๆ ไปตามจังหวะเพื่อบริหารกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ที่ใช้ในการเดิน ควรสวมรองเท้าที่เหมาะสมสำหรับการเดินเพราะจะช่วยลดการบาดเจ็บที่ข้อและกล้ามเนื้อได้มากควรเพิ่มความเร็วของการเดินและระยะเวลาที่เดินในแต่ละครั้งไม่น้อยกว่าครั้งละ ๓๐ นาที จำนวน ๓ - ๕ ครั้งต่อสัปดาห์
๒. การวิ่งเหยาะ ๆ
      หากออกกำลังกายด้วยการเดินแล้วเป็นไปด้วยดีอาจเปลี่ยนเป็นวิ่งเหยาะ ๆ เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อโดยเริ่มจากระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนแล้วค่อยเพิ่มตามความเหมาะสมกับสภาพร่างกาย
๓. ฝึกโยคะ หรือรำมวยจีน หรือรำไม้พลอง
      ควรเริ่มฝึกกับผู้ฝึกที่เชี่ยวชาญจะเพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นให้แก่ร่างกายได้อย่างดี
๔. การออกกำลังกายแบบแอโรบิกชนิดต่างๆ 
      เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เต้นรำ เต้นแอโรบิก หากทำได้ควรทำอย่างน้อยครั้งละ ๒๐ - ๓๐ นาที จำนวน ๓ - ๕ ครั้ง ต่อสัปดาห์

 

      กิจกรรมการออกกำลังกายควรเลือกให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและอุปนิสัยของตนเองอาจเลือกสลับสับเปลี่ยนกันไปในแต่ละวันก็ได้ หลักการคือควรทำให้ได้อย่างน้อยวันละ ๒๐ - ๓๐ นาที จนรู้สึกว่ามีเหงื่อ เริ่มเหนื่อย และมีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้นประมาณร้อยละ ๖๐ - ๘๐ ของชีพจรสูงสุดซึ่งคำนวณได้โดยใช้ค่า ๒๒๐ ลบด้วยอายุ เช่น อายุ ๕๐ ปี คำนวณค่าชีพจรสูงสุดจะเท่ากับ ๒๒๐ - ๕๐ เท่ากับ ๑๗๐ ครั้งต่อนาที เมื่อออกกำลังกายควรให้อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ ๑๐๒ - ๑๓๖ ครั้งต่อนาทีซึ่งเท่ากับร้อยละ ๖๐ - ๘๐ ของชีพจรสูงสุด 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow