Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ประโยชน์ของการยศาสตร์

Posted By Plookpedia | 17 พ.ค. 60
4,763 Views

  Favorite

ประโยชน์ของการยศาสตร์

ในวงการอุตสาหกรรมและในชีวิตประจำวัน การยศาสตร์ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังนี้

๑. เพื่อป้องกันการบาดเจ็บเนื่องจากการทำงาน และเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ

      รายงานของสำนักงานสถิติแรงงาน (Bureau of Labor Statistics) แห่งสหรัฐอเมริกาเมื่อ ค.ศ. ๑๙๙๒ ระบุว่า การเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานที่เพิ่มขึ้นระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๙ - ค.ศ. ๑๙๙๐ นั้น ร้อยละ ๘๐ ได้แก่ ความพิการเนื่องมาจากการบาดเจ็บเรื้อรัง (cumulative trauma disorders) ซึ่งมีตั้งแต่อาการเจ็บที่กล้ามเนื้อไปจนถึงความพิการ เช่น การสูญเสียการได้ยินเนื่องจากการทำงานในสถานที่ที่มีเสียงดังมากเกินไป อาการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้ออาจเกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น อาการเจ็บข้อมือเนื่องจากการพิมพ์ดีดหรือการทำงานอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน ๆ เช่น ต้องก้มหรือยื่นแขนเป็นเวลานานซึ่งการเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ หรือทำงานในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานานสามารถก่อให้เกิดการอักเสบ การบวมของเอ็นที่ข้อต่อหรือเกิดการบาดเจ็บได้ นอกจากนี้การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานานหรือบ่อยครั้งก็ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยได้เช่นกัน เช่น การยกของที่มีน้ำหนักมากบ่อยครั้งอาจทำให้เกิดอาการปวดหลังหรือการเจ็บป่วยที่บริเวณหลัง การอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือสถานที่ที่มีเสียงดังเกินกำหนดอาจทำให้สูญเสียการได้ยินหรือถ้าอยู่ในสถานที่ที่มีแสงน้อยเกินไปอาจทำให้เกิดอาการปวดหัวและล้าที่กล้ามเนื้อตาได้ ดังนั้นนักการยศาสตร์จึงออกแบบสถานที่ทำงานให้มีการเคลื่อนไหวประเภทที่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยได้น้อยที่สุดและสร้างสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการปฏิบัติงานโดยคาดว่าสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมในการทำงานนั้นจะก่อให้เกิดความสะดวกสบายปราศจากความล้าทั้งด้านร่างกายและจิตใจซึ่งความล้าเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดความผิดพลาดและอุบัติเหตุต่าง ๆ

 

การยศาสตร์
อุปกรณ์ป้องกันเสียง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บของแก้วหู

 

๒. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานระหว่างคนกับเครื่องจักร

      หลักการทางการยศาสตร์นั้นสามารถนำมาใช้ในการออกแบบวิธีการทำงานเพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน นักการยศาสตร์จะทำการวิเคราะห์ภาระงานและทักษะในการทำงาน หลังจากนั้นจะนำหลักการต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อหาวิธีการปฏิบัติงานที่เหมาะสมทั้งต่อร่างกาย จิตใจ และสังคมในที่ทำงาน นอกจากนี้นักการยศาสตร์ยังต้องออกแบบช่วงเวลาในการทำงานซึ่งจะก่อให้เกิดผลผลิตได้มากที่สุดโดยคำนึงถึงทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นในการปฏิบัติงานและออกแบบระบบการฝึกฝนทักษะที่จำเป็นในการทำงานเหล่านั้นด้วย

 

การยศาสตร์
ถุงมือและเข็มขัดพยุงหลังใช้สำหรับป้องกันการบาดเจ็บจากการยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก
โดยได้นำหลักการทางการยศาสตร์มาประยุกต์ใช้

 

๓. เพื่อออกแบบสารสนเทศที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ของมนุษย์

      นักการยศาสตร์ในกลุ่มนี้จะพยายามออกแบบวิธีการนำเสนอสารสนเทศ (information) ต่าง ๆ ที่ง่ายต่อการรับรู้ของมนุษย์ เช่น สัญลักษณ์หรือป้ายบอกทางต่าง ๆ ที่ง่ายต่อความเข้าใจหรือสร้างคู่มือในการทำงานที่ผู้อ่านสามารถปฏิบัติตามได้โดยง่าย นอกจากนี้นักการยศาสตร์ยังต้องคำนึงถึงรูปแบบในการนำเสนอหรือการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้เพื่อให้เกิดความสะดวกในการนำสารสนเทศไปใช้ประโยชน์

๔. เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมต่อการใช้

      การนำหลักการยศาสตร์ไปใช้ในกลุ่มนี้เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมต่อร่างกายความต้องการและความคาดหวังของผู้ใช้ เช่น ในการออกแบบแปรงสีฟันนักการยศาสตร์ต้องออกแบบด้ามจับให้มีความกว้างเพียงพอและง่ายต่อการจับ คอแปรงต้องโค้งงอเพื่อซอกซอนเข้าสู่ทุกส่วนของช่องปากและปลายขนแปรงต้องมีรูปร่างเหมาะสมต่อการสัมผัสผิวฟัน อีกตัวอย่างหนึ่งคือการออกแบบห้องโดยสารภายในรถยนต์ เช่น เก้าอี้นั่งได้รับการออกแบบที่ทำให้ทุกคนไม่ว่าจะสูง เตี้ย อ้วน ผอม หรือหญิงตั้งครรภ์สามารถเข้ามานั่งและขับขี่ได้อย่างสะดวกสบาย เบาะที่นั่งสามารถปรับให้เข้ากับท่าทางและการนั่งของแต่ละบุคคลได้ง่าย  พวงมาลัยรถได้รับการออกแบบให้จับได้ถนัดมือและใช้แรงน้อยลง  แม้กระทั่งคอมพิวเตอร์ที่ใช้กันอยู่ทั่วไปก็ได้รับการออกแบบให้ตรงตามหลัก   การยศาสตร์ เช่น การแสดงผลทางหน้าจอต้องง่ายต่อการใช้และการเข้าใจการออกแบบแป้นพิมพ์และเมาส์ต้องมีรูปร่างสอดคล้องกับหลักการทางการยศาสตร์เพื่อไม่ก่อให้เกิดอาการเมื่อยหรือการบาดเจ็บของข้อมือ

      กล่าวโดยสรุปคือการประยุกต์ใช้หลักการยศาสตร์นั้นสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในที่ซึ่งมีการทำงานร่วมกันระหว่างคนกับเครื่องมือ เครื่องใช้ และสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อก่อให้เกิดความปลอดภัย ความสะดวกสบายและประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงานในระบบหนึ่ง ๆ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow