Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พัฒนาการของการยศาสตร์

Posted By Plookpedia | 17 พ.ค. 60
1,534 Views

  Favorite

พัฒนาการของการยศาสตร์

      อาจกล่าวได้ว่ามนุษย์มีความรู้พื้นฐานของการยศาสตร์เบื้องต้นมาตั้งแต่ในสมัยโบราณแล้ว เช่น รู้จักเลือกหินหรือไม้ที่เหมาะสมกับสรีระของมือมนุษย์มาใช้ทำอาวุธเพื่อล่าสัตว์มีการเกลาด้ามจับอาวุธให้กลมเพื่อให้จับได้สะดวกขึ้นตัดไม้ให้ได้ความยาวเหมาะสมเพื่อง่ายต่อการจับรวมทั้งการพันด้ามจับด้วยผ้าซึ่งจะทำให้จับด้ามได้แน่นและง่ายยิ่งขึ้น  เหล่านี้ล้วนเป็นการปรับระบบอย่างง่าย ๆ ให้เหมาะสมกับการทำงานของมนุษย์

 

การยศาสตร์
อาวุธหรือเครื่องมือเครื่องใช้ในสมัยโบราณที่ออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้งาน

 

      ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และ ๒๐ ได้เริ่มมีพัฒนาการทางด้านการยศาสตร์เกิดขึ้นอย่างชัดเจนพร้อม ๆ กับความเจริญก้าวหน้าในศาสตร์แขนงต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง ค.ศ. ๑๙๖๐ - ๑๙๘๐ ได้มีการนำการยศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในกิจการด้านการบิน การทหาร เทคโนโลยีด้านอวกาศและอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ ซึ่งระบบที่เกิดขึ้นในกิจการต่าง ๆ เหล่านี้มนุษย์ต้องเข้าไปเกี่ยว ข้องและเป็นระบบที่มีความซับซ้อนมาก ตัวอย่างเช่น ในขณะที่นำเครื่องบินลงจอดนักบินต้องลดระดับของปีกลงต้องปรับระดับของเครื่องต้องโยกคันบังคับลงและต้องบังคับให้ทิศทางของเครื่องเข้าสู่ลานที่ลงจอดโดยกิจกรรมเหล่านี้ต้องทำพร้อม ๆ กัน หากเกิดความสับสนหรือผิดพลาดอาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงได้

 

การยศาสตร์
แผงควบคุมการบินที่ทำให้นักบินสังเกตได้ง่าย

 

      แนวคิดสำคัญของการยศาสตร์ในช่วงสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ คือ พยายามคัดเลือกผู้ปฏิบัติงานที่เหมาะสมต่อระบบปฏิบัติงานนั้น ๆ และฝึกฝนผู้ปฏิบัติงานจนกระทั่งเกิดความชำนาญต่อการทำงานในระบบ สรุปได้ว่าเป็นการคัดเลือกคนให้เหมาะสมกับงานอย่างไรก็ตามความผิดพลาดในระบบยังคงเกิดขึ้นเสมอ เช่น เครื่องบินตกถึงแม้จะไม่มีเหตุขัดข้องของเครื่องยนต์เลยก็ตามหรือศัตรูสามารถเข้ามารุกรานประเทศได้ทั้ง ๆ ที่มีจอเรดาร์รับสัญญาณที่มีประสิทธิภาพสูงมากคอยตรวจจับอยู่  ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องวิเคราะห์หาสาเหตุของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและสรุปได้ว่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเกี่ยวกับการทำงานระหว่างคนกับเครื่องจักร (Operator - machine interface) จึงทำให้การยศาสตร์เข้ามามีบทบาทที่สำคัญและเกิดพัฒนาการขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

การยศาสตร์
การจัดเตรียมอุปกรณ์ผ่าตัดเพื่อให้ผู้ส่งอุปกรณ์สามารถส่งให้ศัลยแพทย์หยิบจับได้ทันทีและถนัดมือ

 

      หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ แนวความคิดเรื่องการคัดเลือกคนให้เหมาะสมกับงานได้เปลี่ยนไปเป็น "การสร้างอุปกรณ์หรือระบบให้เหมาะกับความสามารถของมนุษย์" อันที่จริงแล้วแนวความคิดได้เกิดขึ้นมานานก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่มิได้มีการนำมาศึกษาพัฒนาต่ออย่างจริงจัง ในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ แฟรงค์ และ ลิลเลียน กิลเบรท (Frank and Lillian Gilbreth) ได้ทำการศึกษา การเคลื่อนไหวของมนุษย์ในงานต่าง ๆ รวมทั้งศึกษาเรื่องสมรรถภาพและความล้า (fatigue) ของมนุษย์ในการทำงานแล้วนำผลของการศึกษามาทำการออกแบบสถานที่ทำงานและอุปกรณ์ที่ใช้ในงานนั้น ๆ ดังนั้นจึงอาจถือได้ว่าแฟรงค์และลิลเลียนเป็นนักการยศาสตร์ในรุ่นแรก ๆ ก็ได้การศึกษาที่น่าสนใจของแฟรงค์และลิลเลียนที่ยังเห็นกันในปัจจุบันนี้ คือ กระบวนการหยิบจับอุปกรณ์ผ่าตัดของศัลยแพทย์ซึ่งแฟรงค์และลิลเลียนได้สังเกตการทำงานของศัลยแพทย์แล้วพบว่าแพทย์ใช้เวลาในการหยิบอุปกรณ์ผ่าตัดจากถาดพอ ๆ กับเวลาที่ใช้ในการผ่าตัดคนไข้ซึ่งเป็นการเสียเวลาโดยไม่จำเป็น กระบวนการหยิบจับอุปกรณ์เปลี่ยนเป็นการเรียกอุปกรณ์แทนโดยผู้ส่งอุปกรณ์ต้องส่งเครื่องมือในระยะและทิศทางที่ศัลยแพทย์สามารถหยิบจับได้ทันทีและถนัดมือ

 

การยศาสตร์
ความรู้ด้านกายวิภาคที่เลโอนาร์โด ดา วินชี ได้นำมาประยุกต์ใช้ในกิจการต่าง ๆ

 

      การที่เทคโนโลยีต่าง ๆ เจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบันทำให้แนวคิดเรื่องการออกแบบระบบให้เหมาะสมกับมนุษย์มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องการออกแบบอุปกรณ์ให้เหมาะสม และการศึกษาวิเคราะห์ทางด้านจิตวิทยาของผู้ที่ปฏิบัติงานกับเครื่องจักรที่มีความเร็วสูง การตัดสินใจในการแก้ปัญหาที่ล่าช้าของคนขับเกวียนคงจะไม่มีผลเสียมากนักแต่ถ้านักบินตัดสินใจล่าช้าอาจก่อให้เกิดหายนะขึ้นได้ ดังนั้นอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบการบังคับการบินจึงต้องช่วยให้นักบินสามารถตัดสินใจได้ง่ายและรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้า
 

การยศาสตร์
ชุดเสื้อผ้านักบินอวกาศซึ่งนำหลักทางด้านกายวิภาคและการยศาสตร์มาใช้ประกอบ

 

      ส่วนสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการยศาสตร์ก็มีพัฒนาการด้วยเช่นกันโดยเริ่มจากมนุษย์สนใจเรื่องความรู้เกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์และกายวิภาค (anatomy) เพื่อประโยชน์ในการรักษาพยาบาล และแก้ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับการเจ็บป่วย วิชากายวิภาคได้รับการศึกษาและพัฒนาให้มีความถูกต้องมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๗ บุคคลอัจฉริยะชื่อเลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci ค.ศ. ๑๔๕๒ - ๑๕๑๙) จิตรกร ประติมากร สถาปนิก และวิศวกรชาวอิตาลีได้นำความรู้ทั้งทางด้านกายวิภาค สรีรวิทยา และด้านการออกแบบอุปกรณ์มาประยุกต์ใช้รวมกันในงานศิลปะและการสร้างสรรค์ของเขา ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ทฤษฎีทางจิตวิทยาได้เริ่มเกิดขึ้นความรู้ต่าง ๆ ทั้งสาขากายวิภาค สรีรวิทยา และจิตวิทยา ได้รับการนำมาประยุกต์ใช้ในด้านอุตสาห กรรมต่าง ๆ มากขึ้น รวมทั้งในด้านกิจการทางทหารและเทคโนโลยีอวกาศที่เริ่มพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ต่อเนื่องมาจนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ ทั้งนี้โดยทำการศึกษาลักษณะต่าง ๆ ของมนุษย์แล้วนำสิ่งที่ศึกษาได้มาออกแบบสิ่งแวดล้อมในที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ทำงานเพื่อก่อให้เกิดความสะดวกสบายและเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน ของมนุษย์  

      ในปัจจุบันได้มีการนำการยศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ของเล่น ของใช้ อุปกรณ์การแพทย์ รถยนต์ ดังนั้นการยศาสตร์จึงเกี่ยวข้องกับสิ่งของที่เราใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้การใช้คอมพิวเตอร์กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันทำให้มีการศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคอมพิวเตอร์ (human - computer interaction) กันมากขึ้นโดยเน้นการออก แบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกและไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย

 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow