Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความหมายของการยศาสตร์

Posted By Plookpedia | 17 พ.ค. 60
2,001 Views

  Favorite

ความหมายของการยศาสตร์

      การยศาสตร์เป็นศัพท์บัญญัติมาจากคำภาษาอังกฤษว่า "Ergonomics" ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำภาษากรีกประกอบรวมกัน ๓ คำ คือ "ergon" หมายถึง "งาน" (work) "nomoi" หมายถึง "กฎ" (law) และ "ikos" หมายถึง "ศาสตร์หรือระบบความรู้" (ics) หากแปลตามตัวอักษร "Ergonomics" จึงหมายถึง ศาสตร์หรือระบบความรู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกฎกับงาน ส่วนคำว่า "การย์" (การยะ) ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายว่า หน้าที่ กิจธุระ งาน ดังนั้นศัพท์บัญญัติว่าการยศาสตร์จึงมีความหมายว่าระบบความรู้เกี่ยวกับงานซึ่งค่อนข้างตรงกับความหมายของรูปศัพท์ในคำภาษาอังกฤษ
เพื่อให้เข้าใจถึงความหมายของวิชานี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นักวิชาการหลายคนได้พยายามอธิบายความหมายของการยศาสตร์ไว้หลายมุมมองด้วยกันดังจะยกมาเป็นตัวอย่างดังนี้

  • มาร์ค เอส. แซนเดอร์ส และ เออร์เนสต์ เจ. แมกคอร์มิก (Mark S. Sanders and Ernest J. McCormick) อาจารย์ของ University of California และ Purdue University สหรัฐอเมริกา อธิบายว่า การยศาสตร์ คือ วิศวกรรมศาสตร์แขนงหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างคนกับเครื่องจักรและสิ่งแวดล้อมในการปฏิบัติงานทั้งทางด้านกายภาพและด้านจิตวิทยา โดยจุดมุ่งหมายของการศึกษาการยศาสตร์ก็เพื่อต้องการให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานได้อย่างสะดวกสบายเกิดความอ่อนล้าน้อยที่สุดแต่ได้ผลของการปฏิบัติงานในระดับที่ดี
  • ดร. อลัน เฮดจ์ (Alan Hedge) ผู้เชี่ยวชาญด้านการยศาสตร์ของ Cornell University สหรัฐอเมริกา ได้อธิบายว่าการยศาสตร์ คือ ศาสตร์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการออกแบบเครื่องจักร ผลิตภัณฑ์และระบบ เพื่อก่อให้เกิดความปลอดภัย ความสบาย และประสิทธิภาพ ของผู้ใช้เครื่องจักรเหล่านั้น
  • ดร. แมตส์ แฮกเบิร์ก และคณะ (Mats Hagberg et al.) อธิบายว่าการยศาสตร์เป็นศาสตร์เพื่อใช้ในการปรับระบบหรือสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับบุคคลมิใช่การปรับบุคคลให้เข้ากับระบบหรือสิ่งแวดล้อม
  • คาร์ล โครเมอร์ และคณะ (Karl Kroemer et al.) อาจารย์ของ Virginia Polytechnic Institute and state University อธิบายว่าการยศาสตร์ คือ การประยุกต์หลักการและวิธีการจากศาสตร์หลายแขนง เช่น จิตวิทยา สรีรวิทยา การวัดมิติต่าง ๆ ของร่างกาย (physical anthropometry) และวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อนำมาใช้ในการสร้างระบบการทำงานที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์เป็นหลัก

 

การยศาสตร์
การจัดระบบงานในโรงพิมพ์ให้สัมพันธ์กันระหว่างคน เครื่องจักร และสิ่งแวดล้อม

 

      จากคำนิยามดังกล่าวข้างต้นทั้งหมดล้วนกล่าวถึงงานหรือระบบที่ต้องมีมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องและความสามารถของมนุษย์ โดยพยายามนำหลักการทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์มาวิเคราะห์แล้วออกแบบระบบที่เหมาะสมกับความสามารถของมนุษย์จึงอาจสรุปความหมายของการยศาสตร์ว่าเป็นศาสตร์ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคน เครื่องจักร สิ่งแวดล้อม และระบบ แล้วทำ การออกแบบหรือปรับระบบสิ่งแวดล้อมหรือเครื่องจักรเหล่านั้นให้เกิดความสะดวกสบายความปลอดภัยเหมาะสมกับบุคคลและก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการปฏิบัติงาน  คำว่า Ergonomics นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในยุโรป ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๔๙ เป็นต้นมา ส่วนในสหรัฐอเมริกานิยมใช้คำว่า "Human Factor" (ปัจจัยทางมนุษย์) หรือ "Human Engineering" (วิศวกรรมมนุษย์) มากกว่า ทั้งนี้ ในระยะแรกนักวิชาการในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกาต่างถกเถียงกันถึงความแตกต่างในด้านความหมายของคำที่ใช้โดยนักวิชาการในทวีปยุโรปเน้นความสำคัญในด้านกายภาพส่วนนักวิชาการในสหรัฐอเมริกาเน้นความสำคัญด้านจิตวิทยา อย่างไรก็ตามในปัจจุบันความคิดเห็นของนักวิชาการส่วนใหญ่ไม่แตกต่างกันแล้ว คือ ให้ความสำคัญทั้ง ๒ ด้าน เท่า ๆ กัน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow