Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ขี้หูมาจากไหน

Posted By Plook Creator | 05 ก.ย. 60
37,447 Views

  Favorite

คำว่า ขี้ อาจจะดูหยาบ แต่ความหมายของมันบ่งบอกถึงสิ่งที่เราไม่ต้องการ ของเสีย ส่วนหนึ่งที่ร่างกายหรือสิ่งมีชีวิตหลาย ๆ ชนิดปลดปล่อยออกมา เพราะว่ามันไม่เป็นที่ต้องการของร่างกายอีกต่อไป แต่หลาย ๆ ขี้ หรือหลายสิ่งที่ขึ้นต้นด้วยคำว่าขี้ กลับไม่ได้เป็นของเสีย แต่มีประโยชน์และควรจะมีมันเอาไว้ หนึ่งในนั้น คือ ขี้หู (Ear Wax) ซึ่งหากดูศัพท์ที่ใช้เรียก ขี้หู ในภาษาอังกฤษ มันก็ดูจะไม่ใช่ของเสียเท่าไร

 

ขี้หูคืออะไร มีไว้ทำไม ถ้ามันไม่มีประโยชน์ มันก็ควรจะหายไปตามกลไกวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตใช่หรือไม่ แต่หากมันยังมีอยู่ ก็คงเป็นเพราะจริง ๆ แล้วมันมีประโยชน์

 

ก่อนอื่นเราจะเริ่มต้นจากองค์ประกอบของหู ที่ประกอบไปด้วยหูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน โดยหูชั้นนอกมีใบหูที่ทำหน้าที่ดักจับคลื่นเสียง ช่องหูหรือรูหูเป็นช่องส่งต่อเสียงไปยังแก้วหู จากนั้นจะเข้าสู่หูชั้นกลางที่มีกระดูกค้อน ทั่ง โกลน ทำหน้าที่ขยายสัญญาณเสียง และหูชั้นในที่มีอวัยวะรูปหอยโข่งทำหน้าที่รับเสียง และอวัยวะหลอดครึ่งวงกลมที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว แล้วขี้หูมาจากไหนและมีหน้าที่อะไร

ส่วนประกอบของหูและขี้หู
ภาพ : Shutterstock

 

ขี้หู (Ear wax หรือ Cerumen) บ้างก็เรียก ขี้ไคลในช่องหู ไม่ได้เกิดจากขี้ผึ้งหรือ wax แต่เป็นสิ่งที่ร่างกายของเราผลิตออกมาในช่องหู ขี้หูถูกผลิตออกมาจากต่อมซึ่งอยู่บริเวณหูชั้นนอก มีส่วนผสมหลักเป็นน้ำมัน ฝุ่นและเศษของสิ่งแปลกปลอมที่หลงเข้าไปในรูหู รวมถึงเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว ขี้หูมีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อน ๆ และถูกผลิตออกมาพร้อมกับคุณสมบัติในการต่อต้านเชื้อโรค นอกจากนี้การที่มันไม่ละลายน้ำ ยังทำให้มันสามารถเคลือบผิวหนังที่เปราะบางภายในรูหู ช่องหูชั้นนอก และไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าไปอุดในช่องหูได้

 

โดยปกติแล้วขี้หูจะเคลื่อนตัวหลุดออกมาจากหูได้เอง แม้จะไม่ออกมาทั้งหมดแต่ก็ออกมาเพียงพอที่จะไม่ให้เกิดการอุดตัน ปัญหาคือบางคนกลัวการอุดตันจนต้องแคะออกเป็นประจำ  และเชื่อว่าการมีรูหูที่สะอาดปราศจากขี้หูเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ซึ่งหากเรามองย้อนไปยังคุณสมบัติและสาเหตุที่มันถูกผลิตขึ้นมาในตอนแรก การแคะหูจึงไม่ใช่สิ่งที่ควรทำนัก ทว่าบางคนกลับประสบกับปัญหาขี้หูอุดตัน ในกรณีที่กินเวลานานวันเข้าขี้หูจะจับตัวเป็นก้อนแข็ง ปิดกั้นการเดินทางของคลื่นเสียงจนทำให้ได้ยินไม่ชัดเท่าที่ควร

การแคะหูไม่ใช่สิ่งที่ควรทำนัก
ภาพ : Shutterstock


อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์พบว่า การแคะหูเป็นประจำนั่นแหละที่ทำให้เกิดขี้หูอุดตัน การที่เราเอาสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ แหย่หรือเขี่ยรูหู เป็นการกระตุ้นให้ต่อมที่มีหน้าที่ผลิตขี้หูผลิตออกมามากเกินความจำเป็น สำลีพันปลายไม้ ไม้หรือโลหะขนาดเล็กสำหรับการแคะหู ไม่ควรใช้เป็นประจำ แต่ควรไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำความสะอาด หากพบว่าหูอื้อ ได้ยินเสียงไม่ชัด หรือกังวลว่าจะมีขี้หูมากเกินไป แพทย์จะใช้เครื่องมือส่องดูภายในหู ใช้น้ำเกลือล้างหูชั้นนอก หรืออาจจะใช้เครื่องดูดขี้หูเพื่อทำความสะอาดตามความจำเป็น หรืออาจจะใช้ยาละลายขี้หูหยอดเพื่อละลายขี้หูซึ่งอุดตันและไม่สามารถนำออกได้ในคราวเดียว เพื่อลดการสะสมและอุดตัน ทั้งนี้ทั้งนั้นขี้หูไม่ใช่ของเสียที่จำเป็นต้องกำจัดทุกวัน และร่างกายของเราก็มีกลไกในการทำความสะอาดหรือผลักดันมันออกจากช่องหูตามปกติอยู่แล้ว


หนึ่งในขี้หูใหญ่ที่สุดก้อนหนึ่งซึ่งถูกถ่ายและส่งต่อไปในอินเทอร์เน็ตเป็นวงกว้าง และมียอดผู้ชมหลายล้านจนถึงตอนนี้ เป็นภาพของชายซึ่งบอกเพื่อนว่าได้ยินไม่ค่อยชัดและอยากให้เพื่อนใช้ที่คีบหนีบขี้หูให้ ปรากฏว่าขี้หูที่เข้ามีสะสมอยู่ในหูมีขนาดใหญ่มาก และไม่สามารถนำออกมาได้ในครั้งเดียว

 

แม้ว่าการนำขี้หูออกจะทำให้เกิดความพึงพอใจ ปลดปล่อย ไม่อึดอัด และยังทำให้การได้ยินดีขึ้น แพทย์ก็ยังคงแนะนำว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ควรทำเองที่บ้าน หากการได้ยินของคุณผิดปกติ การพบแพทย์เป็นหนทางที่ดีและปลอดภัยที่สุดที่พึงจะทำ

 

 

ภาพปก : Shutterstock

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow