Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เทศกาลสารทจีน ต่างกับตรุษจีนอย่างไรนะ

Posted By Glimmergirl | 13 ม.ค. 66
34,590 Views

  Favorite

ลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนคงทราบดีว่าถึงช่วงเวลาเทศกาลสำคัญ 1 ใน 8 เทศกาลที่จะต้องเตรียมของเพื่อใช้ในการกราบไหว้เจ้าที่และบรรพบุรุษกันเเล้ว เเต่หลายคนอาจไม่ทราบว่า "สารทจีน" กับ "ตรุษจีน" ต่างกันอย่างไร จัดของไหว้เหมือนกันรึเปล่า ? เรามีคำตอบค่ะ

 

 

ตรุษจีน คือ วันขึ้นปีใหม่ของคนจีนทั่วโลก นอกจากจะเน้นที่การกราบไหว้เจ้าขอพรแล้ว ก็ยังมีการเฉลิมฉลองยาวนานถึง 10 วัน แต่เทศกาลสารทจีน คือ ช่วงเวลาแห่งการเซ่นไหว้ดวงวิญญาณ แสดงความกตัญญูกตเวทิตาแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ความอลังการในการจัดของไหว้เจ้าจึงไม่ค่อยเท่าตรุษจีน จะเน้นที่อาหารจานโปรดของอาเหล่ากง เหล่าม่ามากกว่า สำหรับวันสารทจีน ปี2561 นี้ ตรงกับวันที่ 25 สิงหาคม

 

ประวัติความเป็นมา

ความเชื่อที่มีมาแต่โบราณกล่าวว่า ช่วงเดือน 7 (ตามปฎิทินจีน) เป็นเดือนที่ประตูนรกเปิดเพื่อพิพากษาส่งดวงวิญญาณไปสู่นรกหรือขึ้นสวรรค์ ตามแต่ผลบุญกรรมที่ได้ทำมา จึงเป็นช่วงเวลาที่ดวงวิญญาณบรรพบุรุษจะได้มีโอกาสกลับบ้านมาหาลูกหลาน จึงต้องมีการตระเตรียมอาหารคาว หวาน ผลไม้ จานโปรด และเครื่องดื่มเพื่อเซ่นไหว้ดวงวิญญาณของท่านเพื่อแสดงความกตัญญู

 

อีกตำนานหนึ่งเล่าว่า เมื่อสมัยพุทธกาล มีชายคนหนึ่งชื่อ มู่เหลียน (พระมหาโมคคัลลานะ) เป็นผู้เลือมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา แต่มีแม่ที่ใจบาปหยาบช้า ไม่เชื่อในเรื่องบุญกรรม และไม่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา วันหนึ่งแม่ของมู่เหลียนเกิดหมั่นไส้ในผู้ถือศีลกินเจนุ่งขาวห่มขาว จึงออกอุบายทำทีเป็นว่าอยากจะทำอาหารเลี้ยงเหล่าผู้ถือศีล ให้มู่เหลียนไปเชิญท่านเหล่านั้นมาที่บ้าน เหล่าผู้ถือศีลต่างพากันคิดว่านางกลับใจมามีความเลื่อมใส่ศรัทธา อยากทำอาหารเลี้ยงด้วยความบริสุทธิ์ใจ ทุกคนจึงตอบตกลงไปโดยไม่รู้เลยว่า แม่ของมู่เหลียนนั้นแกล้งใส่มันหมูลงในน้ำแกงให้ท่านเหล่านั้นกิน การกระทำของแม่มู่เหลียนถือเป็นกรรมหนัก เมื่อตายไปจึงต้องตกนรกขุมที่ 8 ซึ่งเป็นขุมที่ลึกที่สุดเพื่อชดใช้กรรม ได้รับความทุกข์ทรมานและอดอยากแสนสาหัส 

 

วันหนึ่งมู่เหลียนเกิดคิดถึงแม่ผู้ล่วงลับ จึงถอดจิตลงไปหาแม่ในนรก และพบว่าแม่ตัวเองได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส จึงเอาข้าวมาป้อนให้กิน แต่ก็ถูกเหล่าวิญญาณผีไม่มีญาติแย่งกินไปด้วย ซ้ำร้ายเมล็ดข้าวที่มู่เหลียนป้อนเข้าปากแม่ ก็กลับกลายเป็นเปลวเพลิงเผาไหม้ปากจนพอง เห็นดังนั้นแล้วด้วยความสงสารแม่ มู่เหลียนจึงเข้าไปพบกับท่านพญายมเพื่อขอใช้กรรมแทนแม่

 

แต่ก่อนที่มู่เหลียนจะถูกนำร่างไปต้มในกระทะทองแดง พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดทัน และตรัสกับมู่เหลียนว่า กรรมใดใครก่อ ผู้นั้นยอมต้องเป็นผู้รับกรรมนั้นเอง จะมาชดใช้แทนกันไม่ได้ จากนั้นท่านจึงมอบคัมภีร์ อิ๋วหลันเผิน ให้มู่เหลียนใช้สวดเพื่อเชิญเหล่าเซียนมาชุมนุมกันเพื่อช่วยให้แม่ของมู่เหลียนหลุดพ้นกรรมโดยเร็ว โดยมู่เหลียนจะต้องสวดคัมภีร์อิ๋วหลันเผิน และถวายอาหารทุกปีในเดือนที่ประตูนรกเปิด

 

ตั้งแต่นั้นชาวจีนจึงยึดถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ โดยจะนำอาหารทั้งคาวหวาน และกระดาษเงินกระดาษทองไปจัดไหว้ที่หน้าบ้าน หรือทางแยกที่ไม่ไกลจากบ้านนัก เพื่อให้เหล่าวิญญาณผีไม่มีญาติได้กิน จะได้ไม่มาแย่งเครื่องเซ่นที่เราเตรียมไว้ให้บรรพบุรุษในบ้านนั่นเอง

 

ภาพ : Pixabay

 

ของไหว้วันสารทจีน

ของไหว้ที่ใช้ในวันสารทจีนจะคล้ายกับของที่ใช้ไหว้วันตรุษจีน หลัก ๆ จะเป็น ซาแซ (เนื้อสัตว์ 3 อย่าง) หรือโหงวแซ (เนื้อสัตว์ 5 อย่าง) ทั้งเป็ดต้มพะโล้และไก่ต้ม ต้องมีเครื่องในพร้อมมาด้วย หมูต้ม หมูกรอบ ขาหมู ปลานึ่ง ต้องมีสะดือปลาติดมาด้วย ปลาหมึก กุ้ง ปู และซาก้วย (ผลไม้ 3 อย่าง) หรือโหงวก้วย (ผลไม้ 5 อย่าง) ซึ่งต้องเลือกใช้ผลไม้มงคลอย่าง แอปเปิ้ล สาลี่ ลูกพลับ องุ่น แก้วมังกร ฝรั่ง สับปะรด กล้วยหอมหวีใหญ่ ข้อควรจำคือ ถ้าจัด ซาแซ ก็ต้องจัดซาก้วย ถ้าจัดโหงวแซ ก็ต้องจัดโหงวก้วย

 

ในส่วนของขนม สิ่งที่ขาดไม่ได้คือซาลาเปาและขนมเข่ง ส่วนขนมเทียนและขนมเปี๊ยะนั้น จะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ และช่วงสารทจีนไม่นิยมใช้ขนมจันอับไหว้

 

ภาพ : Pixabay

 

การจัดของเซ่นไหว้วันสารทจีน

การจัดเครื่องเซ่นไหว้ช่วงสารทจีนจะจัดเป็น 3 ชุด ดังนี้

1. ชุดแรกสำหรับไหว้เจ้าที่ตอนเช้า

ใช้ซาแซหรือโหวงแซ ผลไม้ ขนมเข่ง ซาลาเปา ไม่จำเป็นต้องมีกับข้าวก็ได้ และกระดาษเงินกระดาษทอง ใบเบิกทางต่าง ๆ

 

ภาพ : Pixabay

 

ชุดที่ 2 สำหรับไหว้บรรพบุรุษ

เตรียมซาแซหรือโหงวแซ ผลไม้ ขนมทุกอย่างเหมือนไหว้เจ้าที่ แต่เพิ่มกับข้าวจานโปรดของเหล่ากงเหล่าม่า และอาหารที่ทำจากผักมงคลอย่างต้มจับฉ่าย แกงจืดผักกาดขาว ผัดดอกกุ่ยช่ายเป็นต้น และเครื่องต่าง ๆ ทั้งน้ำชา เหล้า เบียร์วุ้น ให้อาเหล่ากลเหล่าม่าชื่นใจ ที่สำคัญคือต้องจัดเก้าอี้ จาน ชาม ข้าวตามจำนวนของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย ยังมีกระดาษเงินกระดาษทอง ใบเบิกทาง และต้องมีเสื้อผ้าชุดใหม่เผาไปให้อาเหล่ากงเหล่าม่าด้วย

 

ชุดที่ 3 สำหรับไหว้วิญญาณเร่ร่อน สัมภเวสีทั้งหลายช่วงบ่าย

หรือที่ชาวจีนแต้จิ๋วเรียกว่า หอเฮียตี๋ แปลว่า มิตรที่ดี เป็นการให้เกียรติดวงวิญญาณเร่ร่อนทั้งหลาย การเซ่นไหว้นอกจากเป็นการอุทิศบุญให้แล้ว ยังเพื่อให้ท่านเหล่านั้นช่วยให้ธุรกิจการค้าลื่นไหลไม่ติดขัด เจริญรุ่งเรืองอีกด้วย การเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ก็เหมือนกับที่เตรียมไว้ให้บรรพบุรุษทุกประการ แต่ควรมีปริมาณมากกว่า

 

ภาพ : Pinterest

 

สำหรับเครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ลูกหลานจะต้องกินให้หมด ห้ามแบ่งให้คนอื่น แต่ในส่วนที่ไหว้หอเอียตี๋ต้องแบ่ง จำแนกแจกจ่ายไปให้คนอื่น เพราะนอกจากเป็นการทำบุญให้ผีไม่มีญาติแลัว ยังเป็นการทำทานพร้อมกันในคราวเดียว หากบ้านไหนเป็นครอบครัวเล็กอาจไม่ต้องไหว้หอเฮียตี๋ แต่ต้องจัดไหว้เจ้าที่และบรรพบุรุษ ส่วนบ้านไหนที่เคยไหว้ทุกปีก็ต้องไหว้ต่อไป หากไม่มีกำลังที่จะทำไหว้แล้วจำเป็นต้องจุดธูปบอกกล่าวเหล่าดวงวิญญาณว่า จะขอไหว้ปีนี้เป็นปีสุดท้าย แล้วเราขอไม่ไหว้แล้วเพราะเรามีเหตุจำเป็นอย่างไร

 

ถ้าไม่บอกกล่าวกันล่วงหน้า ปีต่อไปพวกท่านจะมาคอย หากไม่ได้รับเครื่องเซ่นอย่างที่เคยได้ทุกปี อาจมีเรื่องลี้ลับที่หาคำตอบไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณก็ได้ แล้วจะหาว่าไม่เตือน เหอะ เหอะ เหอะ

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Glimmergirl
  • 5 Followers
  • Follow