Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำอย่างไร เมื่อลูกกลายเป็นหนูน้อยจอมบงการ

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 01 ก.ย. 60
3,488 Views

  Favorite

การที่เด็กต้องการความรัก ความสนใจจากพ่อแม่นั้นเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าลูกของคุณพ่อคุณแม่เกิดต้องการความสนใจมากเป็นพิเศษ จนยึดเอาอารมณ์ความรู้สึกของตนเองเป็นศูนย์กลางโดยไม่สนใจคนรอบข้าง ก็เป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรที่จะต้องรีบแก้ไข แต่จะแก้ไขอย่างไรดีนั้น ก่อนอื่นพ่อแม่ต้องมาทำความเข้าใจพื้นฐานทางอารมณ์ของลูกเสียก่อน

 

ในวัยเด็กนั้นพื้นฐานทางอารมณ์จะยังไม่ซับซ้อน และยังไม่รู้จักการควบคุมอารมณ์ของตนเอง ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง และเชื่อว่าความต้องการของตนเองสำคัญที่สุด ดังนั้นเด็กจึงมักแสดงพฤติกรรมแบบตรงไปตรงมา ชอบก็หัวเราะเสียงดัง ไม่ชอบก็ร้องไห้โวยวาย ดังนั้นสิ่งสำคัญก็คือ พ่อแม่ควรที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจอารมณ์ของลูก และเตรียมพร้อมรับมือกับภาวะอารมณ์เหล่านี้อย่างถูกต้องเหมาะสม

 

ภาพ : Shutterstock

 

วิธีการ

1. สร้างข้อตกลง มากกว่า “การห้าม”

พูดกันด้วยเหตุผล ไม่ว่าลูกจะร้องกรี๊ด หรือโวยวาย เพราะรู้สึกขัดใจด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม พ่อแม่ต้องพูดกับลูกด้วยเหตุผล และสร้างข้อตกลงร่วมกัน สอนให้ลูกรู้จักขอบเขตว่าสิ่งไหนทำ “ได้” สิ่งไหนทำ “ไม่ได้” ด้วยการให้เหตุผลกำกับทุกครั้งว่าทำไมสิ่งนี้ลูกถึงทำได้ ทำไมสิ่งนี้ถึงทำไม่ได้ เมื่อพ่อแม่ทำอย่างนี้บ่อยครั้ง ลูกจะเริ่มมีการเรียนรู้ และค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

 

2. มองหาเหตุผลของพฤติกรรม

เมื่อลูกเรียกร้องความสนใจจากพ่อและแม่  หรือแสดงความต้องการว่าอยากได้ โน่น นั่น นี่ มากมาย  บางทีเหตุผลจริง ๆ แล้ว อาจเป็นเพราะเขาแค่ต้องการเวลาและความใส่ใจจากพ่อแม่เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นพ่อแม่จึงควรให้เหตุผลเพื่อสร้างความเข้าใจ และใช้เวลาอยู่กับลูกให้มากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางอารมณ์ เมื่อลูกมีพื้นฐานทางอารมณ์ที่มั่นคงแล้ว เขาจะเริ่มรู้จักควบคุมและแสดงความต้องการทางอารมณ์ออกมาได้อย่างเหมาะสม

 

3. “การลงโทษ” ไม่ใช่ทางออก

การลงโทษไม่ใช่การแก้ปัญหาแต่จะยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมด้านลบเพิ่มมากขึ้น พ่อแม่ต้องจำไว้เสมอว่า ลูกยังเด็ก การเรียกร้องความสนใจก็คือการเรียกร้องความสนใจ ไม่ว่ามันจะมาในรูปแบบไหนก็ตาม ทางที่ดีที่สุดคือ พยายามทำเป็นเฉย ๆ ไม่สนใจ ถ้าจำเป็นต้องทำอะไรสักอย่างก็ควรพูดให้กระชับ สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ พยายามใจเย็นเข้าไว้ และเดินหนีออกมา ลูกจะเริ่มเรียนรู้ได้เอง เมื่อพฤติกรรมเหล่านั้นไม่ถูกตอบสนอง

 

เพราะพ่อแม่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวและเป็น “เพื่อน” ที่ดีที่สุด หากพ่อแม่มีความเข้าใจ และใช้เวลาพูดคุยกับลูกสม่ำเสมอ เล่นกับลูก ให้ความรัก กอดลูกให้มาก ลูกก็จะไม่ใช้ความก้าวร้าวมาเป็นตัวต่อรองกับพ่อแม่ ที่สำคัญเด็กที่มีพื้นฐานอารมณ์ที่ดี มีอารมณ์แจ่มใส แสดงพฤติกรรมได้อย่างเหมาะสม ก็จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น ๆ ในสังคมได้อย่างมีความสุข

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow