Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การทำหนังสือสมุดไทย

Posted By Plookpedia | 12 เม.ย. 60
3,397 Views

  Favorite

การทำหนังสือสมุดไทย

      ยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าคนไทยในสมัยโบราณรู้จักนำกระดาษมาใช้ประโยชน์เพื่อการเขียนหรือบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ เมื่อใด  ปัจจุบันได้พบหลักฐานการใช้สมุดไทยที่เก่าแก่ที่สุดไม่เกินสมัยอยุธยาตอนกลางอีกทั้งปัจจุบันก็หมดความนิยมไปแล้วไม่มีการทำขึ้นใหม่เพื่อใช้ประโยชน์ในการเขียนอีกต่อไป ในที่นี้จะได้นำวิธีการทำสมุดไทยมาอธิบายพอเป็นสังเขปเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิวัฒนาการของวัฒนธรรมไทยทางด้านการเขียนและด้านอักษรศาสตร์ให้ปรากฏอยู่สืบไป

 

หนังสือโบราณ
หนังสือสมุดไทยดำ
หนังสือโบราณ
หนังสือสมุดไทยขาว

 

ก. การตัดข่อย

      การทำกระดาษจากเปลือกไม้ส่วนใหญ่จะมีขั้นตอนและวิธีการที่เหมือนกันในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะการทำกระดาษจากเปลือกข่อยซึ่งเป็นที่นิยมของคนไทยมาแต่สมัยโบราณ ข่อยเป็นไม้ยืนต้นอยู่ในวงศ์เดียวกับมะเดื่อมักขึ้นตามป่าและริมแม่น้ำลำคลอง เปลือกใช้ทำปอและกระดาษใบมีลักษณะสากคายใช้แทนกระดาษทรายได้ส่วนกิ่งและรากคนไทยสมัยโบราณนิยมนำมาใช้ขัดฟันเพื่อให้ฟันขาวสะอาดและคงทน ข่อยที่ใช้ทำกระดาษส่วนใหญ่ได้มาจากจังหวัดต่าง ๆ ในภาคกลางของประเทศไทย เช่น สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี ชาวบ้านนิยมตัดข่อยภายหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวแล้วเมื่อตัดทอนจากลำต้นแล้วต้องลอกเอาเปลือกออก การลอกเปลือกข่อยนั้นถ้าลอกขณะกิ่งข่อยยังสดจะลอกออกได้ง่ายแต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้จนกิ่งแห้งต้องนำไปลนไฟจึงจะลอกได้ นำเปลือกข่อยที่ลอกออกจากกิ่งแล้วตากแดดให้แห้งมัดรวมกันไว้เป็นมัดเล็ก ๆ มัดหนึ่งประมาณ ๕๐ ชิ้นแล้วมัดรวมกัน ๑๐ มัดเล็กเป็น ๑ มัดใหญ่ พ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้อเปลือกข่อยจะล่องลงมาขายในกรุงเทพฯ ตามแหล่งหมู่บ้านที่ทำกระดาษ พระยากสิการบัญชาเล่าไว้ในหนังสือปาฐกถาเรื่องการทำกระดาษข่อยว่าในสมัยอยุธยาก็มีการทำกระดาษข่อยกันแล้วและในสมัยรัตนโกสินทร์มีหมู่บ้านทำกระดาษอยู่บริเวณคลองบางซ่อน คลองบ้านกระดาษและคลองบางโพขวางในกรุงเทพฯ 
      ส่วนในภาคเหนือนิยมใช้เปลือกของต้นสาทำสมุดจึงมีชื่อเรียกว่า สมุดกระดาษสา ต้นสาเมื่อนำเปลือกมาใช้ทำกระดาษนิยมเลือกต้นที่มีขนาดใหญ่และใช้เปลือกของลำต้นซึ่งมีสีเขียว ดังนั้นเมื่อจะนำเปลือกสามาทำกระดาษต้องโค่นไม้สาทั้งต้น ลอกเปลือกออกทำนองเดียวกับการลอกเปลือกข่อยแต่ต้องปอกสีเขียวที่พื้นผิวชั้นนอกออกก่อนด้วยจึงจะได้เปลือกสาที่ใช้ทำกระดาษ  ในภาคใต้ใช้ไม้เถาชนิดหนึ่งเรียกกันว่า ย่านกฤษณาหรือปฤษณาบางทีใช้หัวของต้นเอาะนกหรือต้นกระดาษซึ่งเป็นพืชที่มีลักษณะคล้ายบอนโดยนำมาผสมกับเยื่อไม้อื่น ๆ ทำเป็นกระดาษได้เช่นกัน

ข. การหมักเปลือกไม้

      เมื่อได้เปลือกข่อยตามลักษณะที่ใช้ทำกระดาษและมีจำนวนมากตามปริมาณที่ต้องการแล้ว นำเปลือกข่อยทั้งมัดลงแช่ในคลองหรือท้องร่องที่มีทางน้ำไหลขึ้นลงได้โดยแช่ไว้นาน ๓ - ๔ วัน เพื่อให้เปลือกเปื่อยแล้วล้างเมือกที่ติดอยู่กับเปลือกออกให้หมด นำขึ้นมาจากน้ำบีบให้แห้งพอหมาดแล้วเสียด (ฉีก) ให้เป็นฝอยในขณะเสียดนั้นจะแยกเปลือกที่ดีสีขาวสะอาดไว้พวกหนึ่งเพื่อใช้ทำสมุดขาว ส่วนเปลือกที่ไม่สะอาดแยกไว้อีกพวกหนึ่งเพื่อใช้ทำสมุดดำ เนื่องจากการทำกระดาษข่อยนี้ต้องใช้น้ำมากทั้งน้ำไหลขึ้นลงและน้ำนิ่งฉะนั้นผู้มีอาชีพทำกระดาษข่อยหรือสมุดข่อยจึงนิยมปลูกเรือนริมน้ำ เพื่ออาศัยน้ำจากท้องร่องหรือคลองนั้น

 

หนังสือโบราณ
ตุ่มที่ใช้หมักเปลือกข่อยกับน้ำปูนขาว

 

ค. วิธีนึ่งเปลือกข่อย

      นำเปลือกข่อยที่พร้อมจะนึ่งใส่ลงในรอมซึ่งเป็นภาชนะที่ทำด้วยไม้ไผ่สานตาถี่ ๆ เป็นรูปทรงกระบอกสูงประมาณ ๑.๓๐ เมตร ให้เปิดปากรอมไว้ทั้งสองข้างมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๗๕ เซนติเมตร จากนั้นวางรอมลงในกระทะใบบัวขนาดใหญ่ซึ่งปากกระทะกว้างกว่าปากรอมเล็กน้อยวางกระทะบนเตาซึ่งก่อขึ้นให้มีช่องไฟ ๒ ข้าง ใส่เปลือกข่อยลงในรอมจนเต็มค่อนข้างแน่นใช้ผ้าหรือใบตองคลุมปิดปากรอมข้างบนให้สนิทใส่น้ำลงในกระทะให้เต็มพอดีกับปากกระทะแล้วใส่ไฟในเตาให้มีความร้อนสม่ำเสมอตลอดเวลาประมาณ ๒๔ ชั่วโมง จากนั้นกลับเปลือกข่อยในรอมเพื่อช่วยให้สุกทั่วกันใส่ไฟต่อไปอีก ๒๔ ชั่วโมง  เปลือกข่อยที่นึ่งจนสุกแล้วนี้ยังเปื่อยไม่มากพอที่จะใช้การได้จึงนำไปแช่น้ำด่างปูนขาวในโอ่งหรือตุ่มสามโคกใช้เวลาแช่หรือหมักประมาณ ๒๔ ชั่วโมงหรือนานกว่านั้น น้ำด่างจะกัดเปลือกข่อยให้เปื่อยยุ่ยจนสามารถบี้ให้ละเอียดได้โดยง่าย

ง. การสบข่อย

      เมื่อนำเปลือกข่อยขึ้นจากน้ำด่างแล้วต้องนำไปล้างในน้ำคลองหรือในร่องน้ำที่มีน้ำไหลอยู่ตลอดเวลา ล้างเปลือกข่อยให้สะอาดจนหมดด่างแล้วบีบให้แห้งโดยนำมาเข้าที่ทับน้ำซึ่งทำด้วยไม้กระดาน ๒ แผ่นกว้างประมาณ ๕๐ - ๖๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑๕๐ เซนติเมตร หนาประมาณ ๙ - ๑๐ เซนติเมตร แผ่นหนึ่งวางเป็นพื้นสำหรับวางเปลือกข่อยอีกแผ่นหนึ่งมีช่องสำหรับใส่ไม้เพื่อวางไว้ข้างบนลักษณะคล้ายกับที่ทับกล้วยขนาดใหญ่  ผู้ทำจะนั่งทับบนไม้กระดานนั้นทำให้น้ำไหลออกมาจนเปลือกข่อยแห้งสนิทเพื่อไม่ให้เปลือกเน่าแล้วนำมาเลือกแยกเปลือกอีกครั้งหนึ่ง  

      เปลือกข่อยที่เปื่อยยุ่ยแล้วเมื่อจะทำให้เป็นเยื่อกระดาษต้องทุบให้ละเอียดโดยวางเปลือกข่อยที่จะทุบบนเขียงซึ่งเป็นไม้ประดู่หรือไม้มะขามขนาดใหญ่กว้างประมาณ ๖๐ - ๗๐ เซนติเมตรและมีค้อนทุบข่อยที่ทำจากไม้ชิงชันหรือไม้ประดู่  หัวค้อนเป็นรูปทรงกระบอกยาวประมาณ ๒๐ เซนติเมตรเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๐ เซนติเมตร หน้าค้อนเรียบตรงกลางเจาะเป็นที่ใส่ด้ามยาวประมาณ ๒๐ เซนติเมตร ใช้ค้อนไม้ ๒ อัน ถือทั้ง ๒ มือทุบสลับกัน การทุบต้องทุบตรง ๆ เพื่อให้หน้าค้อนเรียบเสมอกันและทุบค้อนให้ลงบนข่อยเป็นแถวโดยซ้ำค้อนกันเล็กน้อยวนไปมาประมาณ ๓ รอบ ถ้ามีเศษกระดาษเก่าที่ทำไว้ในคราวก่อนก็นำไปชุบน้ำจนอ่อนยุ่ยแล้วนำมาใส่รวมในข่อยที่ทุบใหม่นั้นอีก นำน้ำมาพรมเยื่อข่อยที่ทุบไว้ในรอบแรกนี้ให้เปียกพอสมควรแล้วทุบอีกครั้งวนไปมาประมาณ ๖ - ๗ รอบ การทุบครั้งหลังนี้เรียกว่า สบข่อย ถ้าทุบพร้อมกันสองคนโดยนั่งหันหน้าเข้ากันและลงค้อนคนละทีเรียกว่า สบรายคน เมื่อทุบจนละเอียดดีทั่วกันแล้วเปลือกข่อยนั้นจะมีลักษณะเป็นเยื่อพร้อมที่จะใช้ทำกระดาษได้ต่อไป

 

หนังสือโบราณ
ใช้ค้อนทุบเปลือกข่อยให้ละเอียดจนเป็นเยื่อกระดาษ

 

จ. การหล่อกระดาษ

      การหล่อกระดาษแต่ละแผ่นนั้นหากต้องการให้เนื้อกระดาษมีความหนาเท่า ๆ กันทุกแผ่น ช่างทำกระดาษนิยมปั้นเยื่อข่อยให้เป็นก้อนมีขนาดเสมอกันประมาณเท่าผลมะตูมแต่ถ้าเป็นช่างผู้ชำนาญ จะกะขนาดได้เสมอกันโดยไม่จำเป็นต้องปั้นเป็นก้อนไว้ก่อนก็ได้  จากนั้นนำเยื่อข่อยที่ปั้นเป็นก้อนแล้วนี้ละลายน้ำในครุซึ่งเป็นภาชนะอย่างหนึ่งทำด้วยไม้ไผ่สานตาถี่ลักษณะคล้ายกระบุงสูงประมาณ ๒๕ เซนติเมตร ปากครุมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓๕ เซนติเมตร มีงวงที่ปากครุสำหรับถือตัวครุชันยาไว้โดยรอบ ใช้มือตีก้อนเยื่อข่อยจนแตกและละลายปนกับน้ำดีแล้ววางพะแนงลงในน้ำนิ่งซึ่งอาจเป็นบ่อหรือสระที่ชักน้ำจากลำคลองหรือท้องร่องเข้ามาเก็บกักไว้ 
      พะแนง คือ แบบพิมพ์ที่จะใช้ทำแผ่นกระดาษลักษณะเป็นตะแกรงมีกรอบไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่กรุด้วยผ้ามุ้งหรือลวดมุ้งขึงให้ตึงกับขอบไม้นั้น  ไม้ที่ใช้ทำกรอบพะแนงนิยมใช้ไม้สักที่มีความหนา ประมาณ ๒.๕ เซนติเมตร กว้าง ๕ เซนติเมตร และใช้ไม้หวายขมผ่าซีกมาประกอบทบชายผ้ามุ้งตอกด้วยตะปูตรึงให้ติดกับพะแนง ผ้ามุ้งที่ทำพะแนงต้องย้อมด้วยยางมะพลับจนแข็งจึงจะใช้ได้และไม่เปื่อยง่ายส่วนขนาดของพะแนงนั้นโดยทั่วไปมีความกว้างยาวเท่ากับความกว้างยาวของหน้ากระดาษที่ต้องการซึ่งโดยปกตินิยมใช้ ๓ ขนาด คือ
      ๑.ขนาดสมุดธรรมดา  กว้าง ๕๕ เซนติเมตร  ยาว ๒๒๐ เซนติเมตร   
      ๒.ขนาดสมุดพระมาลัย  กว้าง ๙๘ เซนติเมตร  ยาว ๒๒๐ เซนติเมตร   
      ๓.ขนาดกระดาษเพลา  กว้าง ๕๕ เซนติเมตร  ยาว ๑๗๕ เซนติเมตร

 

หนังสือโบราณ
เทเยื่อข่อยที่ละลายแล้วในพะแนง
หนังสือโบราณ
ลอกกระดาษออกจากพะแนง


      เมื่อวางพะแนงลงในสระหรือบ่อกักน้ำซึ่งมีน้ำที่นิ่งและใสแล้วส่วนที่เป็นตะแกรงจะจมอยู่ใต้น้ำขอบของพะแนงจะลอยบนผิวน้ำให้นำเยื่อข่อยที่ละลายแล้วในครุเทลงในพะแนงให้ทั่วเกลี่ยเยื่อข่อยในพะแนงให้แผ่กระจายเสมอกันแล้วจึงพรมน้ำให้ทั่วอีกครั้งหนึ่งก่อนยกขึ้นจากน้ำ ขณะที่ยกพะแนงขึ้นจากน้ำต้องยกให้อยู่ในระดับราบเสมอกันทั้งแผ่นเพื่อให้เยื่อข่อยที่เกาะติดอยู่ที่ผิวหน้าของตะแกรงมีความหนาบางเท่ากันตลอดทั้งแผ่น วางพะแนงพิงตามแนวนอนให้เอียงประมาณ ๘๐ องศา แล้วใช้ไม้ซางยาว ๆ คลึงรีดเยื่อข่อยบนพะแนงนั้นให้น้ำตกจากพะแนงจนแห้งและหน้ากระดาษเรียบเสมอกัน ยกพะแนงขึ้นตั้งพิงราวพะแนงซึ่งนิยมใช้ไม้ไผ่ทำเป็นราววางพะแนงตั้งพิงให้เอียงประมาณ ๔๕ องศา ตากแดดไว้จนแห้งสนิทโดยกลับเอาข้างล่างขึ้นข้างบนเยื่อข่อยที่แห้งติดอยู่กับพะแนงนั้นเมื่อลอกออกจากพะแนงจะเป็นกระดาษแผ่นบาง ๆ เรียกว่า กระดาษเพลา ส่วนกระดาษที่หล่อให้หนามาก ๆ นั้นเก็บไว้ทำเป็นเล่มสมุดต่อไป 
      กระดาษเพลา (อ่านว่า เพฺลา) แม้จะเป็นกระดาษเนื้อบางแต่ก็มีคุณสมบัติที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง นอกจากใช้ในการขีดเขียนได้แล้วยังนำไปใช้ในกิจการอย่างอื่นได้ด้วย เช่น ใช้ทำหมันยาเรือปั่นเป็นเส้นใช้แทนด้ายเย็บซ่อมสมุดไทยและใช้เป็นส่วนประกอบการทำดอกไม้ไฟ เช่น ใช้ทำรองดอกไม้เทียน นอกจากนั้นยังใช้ในงานช่างทองได้อีกด้วยโดยในกลุ่มช่างตีทองนิยมเรียกกระดาษเพลาว่า กระดาษดาม ในจังหวัดภาคเหนือ เช่น จังหวัดลำปาง เรียกกระดาษเพลาว่า กระดาษน้ำโท้ง

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow