Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

อักษรบอกอังกา

Posted By Plookpedia | 11 พ.ค. 60
1,472 Views

  Favorite

อักษรบอกอังกา

      คัมภีร์ใบลานที่จารเสร็จแล้วจะไม่ใช้ตัวเลขเรียงลำดับหน้าเหมือนหนังสือทั่วไปแต่จะใช้ตัวอักษรแทนเรียกว่า "อักษรบอกอังกา" ซึ่งเป็นเครื่องหมายแทนเลขหน้าในใบลานนั่นเอง อังกาเหล่านี้จะจารไว้ที่กึ่งกลางริมซ้ายด้านหลังของใบลานแต่ละใบเพียงแห่งเดียวเท่านั้น อักษรบอกอังกาหรืออักษรที่ใช้บอกหน้าของหนังสือใบลานใช้พยัญชนะในภาษาบาลีซึ่งมีอยู่ ๓๓ ตัว คือ ก ข ค ฆ ง จ ฉ ช ฌ ญ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ต ถ ท ธ น ป ผ พ ภ ม ย ร ล ว ส ห ฬ อ  รูปแบบอักษรที่ใช้บอกอังกานิยมใช้แบบเดียวกับอักษรที่ใช้จารเนื้อเรื่อง เช่น คัมภีร์ใบลานจารอักษรขอมบรรจงอักษรบอกอังกาก็ต้องใช้อักษรขอมบรรจงเช่นเดียวกัน อักษรบอกอังกาแต่ละตัวต้องผสมรูปสระ ๑๒ สระ ตามแบบสระในภาษาบาลีโดยเริ่มต้นตั้งแต่รูปอักษรตัวแรก คือ อักษร ก ผสมกับรูปสระดังนี้ "ก กา กิ กี กุ กู เก ไก โก เกา กํ กะ" เมื่อครบ ๑๒ ลานแล้วลานที่ ๑๓ ต้องเริ่มต้นอักษรตัวใหม่ต่อไป คือ อักษร ข ผสมกับสระต่อไปอีก ๑๒ ลาน ใบลานที่เรียงลำดับอังกาครบ ๒ รูปอักษรแล้วจะมีจำนวน ๒๔ ลาน จัดรวมเป็นชุดเดียวกันเรียกว่า "ผูก" ดังนั้นคัมภีร์ใบลาน ๑ ผูก จึงมี ๒๔ ลาน 

 

หนังสือโบราณ
อักษรบอกอังกาเป็นอักษรที่ใช้บอกเลขหน้าของคัมภีร์ใบลาน


      อนึ่ง เรื่องที่จารลงในใบลานอาจจะมีเนื้อเรื่องยาวมาก ผูกเดียวไม่จบต้องจารต่อกันหลายผูกนับเนื่องเรียงลำดับไปเป็นผูก ๒ ผูก ๓ เรื่องหนึ่ง ๆ อาจมีจำนวนมากถึง ๑๐ ผูก ๒๐ ผูกหรือมากน้อยกว่านั้นก็ได้ อักษรที่ใช้บอกอังกาก็จะใช้พยัญชนะเรียงตามลำดับไปจนถึงพยัญชนะตัวสุดท้ายคือ "อ" ถ้ายังไม่จบเรื่องอักษรต่อไปให้ย้อนกลับไปใช้อักษร  "ก" โดยมีอักษร "ย" ควบกล้ำด้วยคือ "กฺย กฺยา กฺยิ กฺยี กฺย กฺยู เกฺย ไกฺย โกฺย เกฺยา กฺยํ กฺยะ" แล้วต่อด้วยอักษร "ขฺย" เรียงลำดับไปทำนองเดียวกับอักษรบอกอังกาในรอบแรก  ส่วนผูกสุดท้ายหรือผูกอื่น ๆ ถ้าหากมีจำนวนลานเกินกว่า ๒๔ ลานตั้งแต่ ๒๕ ลาน ถึง ๔๐ ลาน หรือมากน้อยกว่านั้นก็ยังคงนับจำนวน ๒๔ ลานเป็น ๑ ผูก เป็นเกณฑ์เสมอไป ส่วนลานที่เกินนั้นให้นับจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น ๑, ๒, ๓, ๔ เรียงลำดับไป ตัวอย่างเช่น ในผูกมี ๓๐ ลาน ต้องเรียกว่า ๑ ผูก ๖ ลานหรือ ๑ ผูก ๖ ใบหรือจะใช้ว่า ๓๐ ใบก็มี 
      เมื่อเรียงหน้าหนังสือใบลานตามลำดับอังกาถูกต้องเรียบร้อยแล้วใช้ไหมหรือด้ายหรือเชือกทำเป็นหูร้อยเรียกว่า "สายสนอง" ใช้สายสนองผูกหูใบลานตามช่องที่เจาะไว้ในตอนแรก การผูกหูใบลานจะผูกเฉพาะหูด้านซ้ายเพียงด้านเดียว ปล่อยด้านขวาให้ว่างไว้เพื่อความสะดวกในการเปิดพลิกใบลาน สายสนองที่ใช้ผูกหูใบลานนั้นปลายข้างหนึ่งต้องทำเป็นห่วงไว้แล้ววนปลายสายอีกข้างหนึ่ง รอบกึ่งใบลานด้านบนพร้อมกับสอดปลายสายสนองเข้าไปในห่วงที่ทำไว้นั้นทั้งนี้เพื่อใช้ดึงและมัดใบลานให้แน่นเมื่อต้องการจะเก็บและคลายสายสนองออกขณะคลี่หรือพลิกเพื่อการอ่านใบลานแต่หากคัมภีร์นั้นไม่มีการแบ่งผูกใช้วิธีเรียงลำดับต่อ ๆ กันตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องแม้จะมีจำนวนลานมากเท่าใดก็ตามรวมเรียกว่า "กับ" คัมภีร์กับหนึ่งจะมีเส้นเชือกยาวร้อยรวมลานทั้งหมดไว้ด้วยกันทั้ง ๒ หู (๒ รู) โดยมีไม้ประกับร้อยปิดหน้า - หลังเพื่อให้ลานแข็งแรง ไม่หักเดาะ หรือฉีกขาดง่าย เชือกที่ร้อยหูคัมภีร์ทั้ง ๒ เส้นนี้เรียกว่า สายสนอง เช่นเดียวกัน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow