Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การเตรียมใบลานจารหนังสือ

Posted By Plookpedia | 10 พ.ค. 60
1,541 Views

  Favorite

การเตรียมใบลานจารหนังสือ

      ใบลานที่นำมาใช้จารหนังสือมีการจัดเตรียมหลายขั้นตอน ลานเป็นต้นไม้ป่าที่มีมากในแถบจังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว สระบุรี ลพบุรี ขอนแก่น ในสมัยก่อนการเดินทางไปตัดลานในป่าแต่ละครั้งผู้เดินทางจะต้องทำพิธีเซ่นสรวงบูชาทำนองเดียวกับการคล้องช้างหรือการหาของป่าทั่วไปเพราะต้องเสี่ยงภัยอันตรายและขึ้นอยู่กับโชคหรือเคราะห์ด้วย คราวใดมีโชคดีก็จะเดินทางไปพบลานที่มีขนาดตามต้องการหากถึงคราวโชคร้ายพบแต่ลานที่แก่เกินขนาดก็จะไม่ได้ลานกลับมาดังนั้นผู้มีอาชีพหาลานจึงต้องมีความรู้ความชำนาญพอสมควร 
      การคัดเลือกลานมาใช้จารหนังสือขั้นแรกต้องเข้าใจธรรมชาติของใบลานก่อนว่าเนื้อใบลานมีเส้นใยติดกันเป็นพืดขวางไปมาซ้อนกันประมาณ ๓ - ๔ ชั้น หากเป็นใบแก่มาก ๆ เส้นใยก็จะยิ่งเหนียวมากขึ้นและเมื่อแห้งก็จะกรอบเปราะหรือหักเดาะได้ง่ายทั้งยังจารหนังสือได้ยากอีกด้วย ดังนั้นใบลานที่มีคุณภาพดีมีขนาดพอเหมาะสำหรับการจารหนังสือมากที่สุดคือใบที่ไม่แก่จัดอย่างที่เรียกว่า ขนาดเพสลาด คือ ใบอ่อนที่สองซึ่งเพิ่งจะเริ่มคลี่ใบออกเป็นระยะที่เส้นใยของใบลานไม่เหนียวมากนักผิวใบลานจะเนียนและนิ่มไม่กรอบแตกง่ายมีอายุการใช้งานได้นาน การตัดใบลานคราวหนึ่ง ๆ จะตัดได้เพียง ๒ ใบ คือ ตอนแรกตัดใบอ่อนที่เพิ่งจะคลี่ใบก่อนจากนั้นก็เดินทางตัดต้นต่อ ๆ ไปประมาณ ๑ เดือนจึงจะเดินทางย้อนกลับ เที่ยวกลับก็แวะตัดใบอ่อนที่เหลือซึ่งเพิ่งจะคลี่ใบได้ขนาดพอดี เมื่อทอนใบลานลงจากต้นแล้วตัดปลายใบออกจะได้ลานยาวประมาณ ๕๐ - ๗๕ เซนติเมตร แล้วแยกลานออกจากกันด้วยวิธีสาดลานขึ้นไปบนท้องฟ้าปล่อยให้ตกลงเกลื่อนพื้นแล้วทิ้งไว้ให้ตากแดดตากน้ำค้างบนพื้นนั้นประมาณ ๓ วัน ๓ คืน จึงเก็บรวมไว้เป็นมัดใหญ่ ในมัดหนึ่ง ๆ มีจำนวนลานประมาณ ๒,๐๐๐ ใบ เรียกว่า "ซองหนึ่ง" และเนื่องจากลานเหล่านี้มีขนาดไม่เท่ากันจึงเรียกว่า "ลานรวม"  เนื่องจากลานรวมมีขนาดไม่เท่ากันก่อนที่จะนำไปใช้จารหนังสือหรือทำประโยชน์อย่างอื่นต้องคัดเลือกให้ได้ขนาดเท่า ๆ กันตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ขนาดของลานที่จะใช้มีชื่อเรียกแตกต่างกัน ได้แก่ ลานหนังสือ ลานหนึ่ง ลานสอง ลานสาม ลานสี่ ลานห้า ลานหก ลานจิ๋ว ลานเส้น และลานตลาด 

 

หนังสือโบราณ
ต้นลาน


      ลานหนังสือ มีขนาดหน้าลานกว้างมากกว่าลานอื่น ๆ โดยทั่วไปมีขนาดกว้างประมาณ ๖ - ๘ เซนติเมตร ส่วนลานหนึ่ง ลานสอง ลานสาม ลานสี่ ลานห้า ลานหก และลานจิ๋วจะมีขนาดหน้าลานกว้างมากน้อยลดหลั่นกันลงไปตามลำดับโดยเฉพาะลานจิ๋วเป็นลานที่มีหน้าลานแคบมากที่สุด 
      ลานเส้น เป็นลานที่มีสีขาวสะอาดนำมาตัดซอยเป็นเส้นกว้างประมาณ ๑ - ๒ เซนติเมตร เพื่อนำไปใช้สานเครื่องใช้ต่าง ๆ 
      ลานตลาด เป็นลานที่ไม่ได้ใช้จารหนังสือแต่มีวิธีการจัดเตรียมเช่นเดียวกับลานหนังสือ เว้นแต่เมื่อเวลาแทงลานอาจจะเรียงใบลานซ้อนกันหลาย ๆ ใบได้โดยใช้ขนอบลานสองเป็นแบบแทงลานให้เป็นรู ๒ รู เมื่อแทงลานแล้วจึงตัดลานให้เป็นแผ่นเล็ก ๆ นำไปใช้ประโยชน์ เช่น เป็นแผ่นรองสีผึ้ง 

 

หนังสือโบราณ
ลานเส้นมีขนาดใหญ่ กลาง เล็ก สำหรับสานเครื่องใช้ต่าง ๆ


      เมื่อคัดเลือกลานตามขนาดที่ต้องการได้แล้วนำมาเจียนก้านออก ลานที่เจียนก้านแล้วจะมีลักษณะเป็นแผ่นบางรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีความยาวมากกว่าความกว้างหลายเท่าตัวโดยเฉลี่ยกว้างประมาณ ๔ - ๘ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๕๐ - ๗๕ เซนติเมตร เรียงใบลานที่เจียนก้านแล้วซ้อนกัน ๒๐ - ๓๐ ใบ ขดม้วนให้กลม ใช้ก้านลานหรือเชือกมัดไว้แล้วนำลานไปแช่น้ำนาน ๑ คืนหรืออาจนานถึง ๒๔ ชั่วโมง แต่บางท้องถิ่นในภาคเหนือของประเทศไทย เช่น ที่จังหวัดลำพูน เชียงใหม่ นิยมนำใบลานต้มในน้ำซาวข้าวซึ่งชาวพื้นเมืองเรียกว่า "น้ำข้าวมวก" ต้มให้เดือดแล้วจึงนำออกผึ่งหรือตากให้แห้ง ขณะตากใบลานต้องตั้งสันลานขึ้นเมื่อลานแห้งหน้าลานจะไม่บิดงอและควรตากให้ถูกแดดและน้ำค้างประมาณ ๑ - ๒ วัน วิธีต้มและตากลานแบบนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้เนื้อลานเหนียวและนิ่มเท่านั้นยังทำให้ใบลานขาวขึ้นอีกด้วย
      ใบลานที่แห้งสนิทดีแล้วต้องคลี่ออกจากม้วนเช็ดทำความสะอาดทีละใบก่อนที่จะนำมาแทงลานซึ่งใช้ขนอบเป็นพิมพ์สำหรับแทงลานโดยเฉพาะ  ขนอบที่กล่าวถึงนี้ทำด้วยไม้มีรูปร่างและขนาด เท่ากับลานชนิดต่าง ๆ ใช้ประกับเป็นขอบของใบลานด้านหน้าและด้านหลังรวม ๒ อัน เช่น ขนอบลานหนังสือ ขนอบลานหนึ่ง ขนอบลานสอง ขนอบลานสาม นำใบลานที่แห้งแล้วประมาณ ๑๐ - ๒๐ ใบเรียงซ้อนกันและประกับด้วยขนอบตามขนาดที่ต้องการแล้วมัดรวมกันให้แน่นใช้มีดที่มีความคมมาก ๆ ตัดลานให้เสมอและได้ระดับกับขนอบทั้งสี่ด้าน แบบขนอบที่ใช้ตัดลานในปัจจุบันนิยมใช้ขนอบลานสองเป็นแบบ เมื่อตัดลานแล้วใช้ก้านลานหรือที่นิยมเรียกว่า "ไม้กลัด" ร้อยลานเข้าด้วยกันตามรูที่เจาะไว้ให้ได้กับหนึ่ง ซึ่งมีจำนวนใบลานประมาณ ๕๐๐ ใบ จัดลานในกับให้เรียงเสมอกันทั้ง ๔ ด้านแล้วมัดเป็น ๓ ตอน ก่อนที่จะใช้ขนอบประกับหน้าหลังพร้อมทั้งมัดรวมให้แน่นอีกครั้งหนึ่งอาจนำไปอัดด้วยควงซึ่งเป็นเครื่องอัดใบลานให้แน่นมากขึ้นอีกก็ได้  เมื่อมัดลานแน่นดีแล้วถ้าไม่ทิ้งไว้ให้แห้งเองก็ต้องนำไปอบในเตาอบเป็นวิธีเร่งให้ลานแห้งเร็วขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ลานขึ้นรา เตาอบลานนิยมก่อด้วยอิฐมีช่องใส่ไฟอยู่ตอนล่างและมีท่อส่งความร้อนผ่านไปทั่วเตาโดยใส่ไฟแกลบในเตาตอนเช้าเพียงครั้งเดียวแล้วปล่อยทิ้งไว้ให้แกลบคุกรุ่นไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะมอด ความร้อนจะระอุอยู่ในเตาเรื่อยไปจนรุ่งขึ้นอีกวันจึงใส่ไฟเพิ่มอีกครั้งหนึ่งเมื่อไฟมอดดับจนเตาเย็นแล้วจึงเปิดเตาเพื่อนำลานออก 

 

หนังสือโบราณ
ขนอบ


      ใบลานแต่ละกับที่แห้งแล้วขอบลานจะไม่เรียบเสมอกันทุกลาน ฉะนั้นจึงต้องนำลานทั้งกับมาไสด้วยกบไสไม้ให้ขอบลานเรียบเสมอกันทั้ง ๔ ด้าน ก่อนที่จะแกะลานออกจากกับแล้วทำความสะอาดลานทีละใบโดยใช้ทรายละเอียดที่คั่วหรือตากแดดให้ร้อนจัดโรยลงบนใบลานแล้วใช้ลูกประคบซึ่งทำด้วยผ้าห่อสำลีหรือนุ่น มัดให้เป็นก้อนกลมขนาดใหญ่พอจับได้ถนัดมือขัดไปมาให้ผิวหน้าลานเรียบเกลี้ยงแล้วใช้ผ้าแห้งเช็ดทำความสะอาดใบลานจนทั่ว ต่อจากนั้นจึงใช้เหล็กแหลมเผาไฟเจาะตามช่องหรือรอยรูที่แทงไว้ในตอนแรกแล้วจัดใบลานเข้าผูก ใบลานผูกหนึ่งมีลานประมาณ ๒๔ ใบ ซึ่งเป็นลานที่พร้อมจะใช้จารหนังสือได้ทันทีแต่ถ้าจะนำลานนี้ไปพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์สมัยใหม่ต้องนำลานไปลนไฟให้ขึ้นมัน การลนไฟต้องใช้ลานด้านมันวางบนถ่านไฟอ่อน ๆ ให้ใบลานผ่านไฟเพียงด้านเดียวตลอดทั้งหน้าลานแล้วใช้ผ้าแห้งเช็ดลานทั้งสองด้านให้สะอาดขึ้นมันทั่วกันแล้วเข้าผูกไว้เตรียมพร้อมเพื่อนำไปใช้ตามความต้องการต่อไป

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow