Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ภาษาศาสตร์

Posted By Plookpedia | 28 ส.ค. 60
30,694 Views

  Favorite

ภาษาศาสตร์ 

      เด็ก ๆ เคยสงสัยไหมว่าทำไมคนพูดได้สื่อสารกันเป็นเรื่องราวต่าง ๆ ได้ แต่สัตว์ทำไม่ได้ อาจจะมีสัตว์บางชนิด เช่น นก ที่พูดได้แต่ก็เป็นการพูดเลียนแบบไม่ได้พูดออกมาจากความคิดและความรู้สึกอย่างคน นี่คือความแตกต่างระหว่างคนและสัตว์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดนอกเหนือไปจากรูปร่าง หน้าตา และลักษณะประกอบอื่น ๆ เช่น ขนที่ปกคลุมรอบตัวของสัตว์หรืออาการเดินและเคลื่อนไหว คนหรือมนุษย์มีพลังพิเศษซึ่งสัตว์อื่นไม่มีนั่นคือความสามารถในการใช้ภาษาไม่ว่าจะเป็นการพูด การเขียน หรือการทำท่าทางประกอบเพื่อสื่อความเข้าใจ เพื่อถ่ายทอดความคิดและจินตนาการและเพื่อติดต่อสื่อสารขยายวงความรู้ให้กว้างและลึกยิ่งขึ้น  มนุษย์ใช้ภาษาเป็นประจำราวกับภาษาเป็นส่วนหนึ่งของตัวมนุษย์คงจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในปัจจุบันถ้าจะให้มนุษย์อยู่โดยไม่ใช้ภาษา การทำเช่นนั้นก็คงเหมือนกับการตัดอวัยวะสำคัญไปจากตัวมนุษย์และทำให้ความเป็นมนุษย์ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ถ้าพูดไม่ได้ก็เหมือนกับเป็นคนพิการ ถ้าเขียนไม่ได้ก็เหมือนกับเป็นคนที่ไม่ได้รับการศึกษา ถ้าทำท่าทางสื่อความเข้าใจไม่ได้ก็เป็นเหมือนตุ๊กตาที่มีชีวิตไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์

 

ภาษาศาสตร์

 

      แม้ภาษาจะเป็นเสมือนส่วนหนึ่งของตัวมนุษย์แต่ภาษาก็เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องเรียนรู้และฝึกหัดตั้งแต่เริ่มชีวิต เริ่มด้วยการฟัง ต่อมาก็เริ่มพูด เมื่อโตขึ้นมนุษย์ที่ปกติทุกคนสามารถเรียนรู้และใช้ภาษาพูดได้ในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน ส่วนภาษาเขียนนั้นมาภายหลังเป็นส่วนที่เด็ก ๆ เรียนในโรงเรียนหลังจากสามารถใช้ภาษาพูดได้คล่องแคล่วแล้ว ภาษาพูดเป็นเรื่องของการใช้เสียงและการฟัง ส่วนภาษาเขียนเป็นเรื่องของการใช้สัญลักษณ์และการอ่านรวมทั้งการใช้สายตา แต่ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนมีความหมายซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญมากเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการสื่อสารแลกเปลี่ยนกัน ความหมายมีอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของภาษา ตั้งแต่คำในประโยคไปจนถึงเรื่องราวหรือข้อความ การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน จึงเป็นทักษะที่มนุษย์จะต้องฝึกฝนตั้งแต่เด็กเพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญและสามารถใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพต่อไปในอนาคต

 

ภาษาศาสตร์
ภาษาศาสตร์

 

 

 

      แม้ว่าภาษาจะมีความสำคัญต่อมนุษย์มากมายและเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตซึ่งทำให้เราต้องเรียนและฝึกอยู่ตลอดเวลาแต่เราก็ยังรู้เรื่องเกี่ยวกับภาษาไม่มากนัก อันที่จริงมนุษย์สนใจศึกษาภาษามาตั้งแต่สมัยโบราณแต่การศึกษาในสมัยก่อนไม่ได้มุ่งที่จะศึกษาถึงธรรมชาติของภาษาหากแต่เป็นการศึกษาว่าจะใช้ภาษาอย่างไรในทางปรัชญา ศาสนา ตรรกวิทยา หรือวรรณศิลป์ การศึกษาถึงธรรมชาติของภาษาหรือการศึกษา "ภาษา" อย่างเป็น "ศาสตร์" ในตัวของมันเองเพิ่งมีได้ไม่ถึง ๑๐๐ ปี การศึกษาในรูปแบบนี้ เรียกว่า "ภาษาศาสตร์" (Linguistics) เมื่อเปรียบเทียบกับศาสตร์แขนงอื่น ๆ เช่น ฟิสิกส์ เคมี ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วรรณคดีก็ต้องยอมรับว่า ภาษาศาสตร์ยังเป็นศาสตร์แขนงใหม่อยู่มาก อย่างไรก็ดีถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีแนวคิด วิธีการศึกษาภาษา และทฤษฎีปรากฏอยู่หลายทฤษฎีแล้วก็ตามแต่ก็ยังมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะหลังปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา ต้องนับว่าการศึกษาภาษาศาสตร์ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปจากเดิมมากทั้งนี้เพราะนักภาษาศาสตร์ ชื่อ โนม ชอมสกี (Noam Chomsky) ได้เสนอแนวคิดใหม่เกี่ยวกับภาษาและทฤษฎีของเขาเป็นที่ยอมรับในวงการมาจนถึงปัจจุบัน

 

ภาษาศาสตร์
สื่อสารเข้าใจกันได้เพราะใช้ “กฎ” ภาษาเดียวกัน
ภาษาศาตร์
สื่อสารเข้าใจกันได้เพราะใช้ “กฎ” ภาษาเดียวกัน

 

      แนวความคิดสำคัญประการหนึ่งของเขาก็ คือ การที่มนุษย์สามารถเรียนรู้ภาษาและใช้ภาษาได้อย่างที่เป็นอยู่นี้ก็เพราะมนุษย์มียีนหรือกรรมพันธุ์ในการเรียนรู้ภาษาและสิ่งนี้ ทำให้มนุษย์ปกติทุกคนสามารถเรียนรู้ภาษาได้ไม่ว่าจะมีความเฉลียวฉลาดน้อยเพียงใดก็ตาม ทั้ง ๆ ที่ภาษาทุกภาษาเป็นสิ่งที่มีความยากและสลับซับซ้อนมาก ชอมสกีชี้ให้เห็นว่าแม้บิดามารดาหรือผู้ที่อยู่แวดล้อมเด็กจะไม่สอนภาษาเด็กเลยเด็กก็ยังพูดภาษาได้อยู่ดีและถ้าเปรียบเทียบภาษาที่เด็กสามารถพูดได้กับภาษาที่บิดามารดาสอนให้ก็จะเห็นว่าแตกต่างกันมากเมื่อบิดามารดาหรือผู้ใหญ่สอนภาษาให้เด็กก็มักจะพูดภาษาแบบเด็ก ๆ ง่าย ๆ เป็นคำ ๆ แต่ภาษาที่เด็กใช้เมื่อสามารถพูดภาษาได้นั้นมีความยากและซับซ้อนเหมือนกับภาษาของผู้ใหญ่และเป็นภาษาที่ผู้ใหญ่ไม่ได้สอนให้

 

ภาษาศาสตร์
สื่อสารเข้าใจกันได้เพราะใช้ “กฎ” ภาษาเดียวกัน
ภาษาศาสตร์
สื่อสารเข้าใจกันได้เพราะใช้ “กฎ” ภาษาเดียวกัน

 

      แนวความคิดที่สำคัญอีกประการหนึ่งของ โนม ชอมสกี ซึ่งนักภาษาศาสตร์ใช้เป็นพื้นฐานในการศึกษาวิเคราะห์ภาษา คือ ภาษาที่มนุษย์ใช้นั้นมีโครงสร้าง ๒ ระดับ คือ โครงสร้างระดับลึก (Deep Structure) และ โครงสร้างระดับผิว (Surface Structure) ภาษาในระดับลึกเป็นภาษาที่ยังอยู่ในความคิดของผู้พูดซึ่งยังมิได้ถ่ายทอดออกมา ส่วนภาษาในระดับผิว คือ ภาษาที่ถ่ายทอดออกมาใช้ในการพูดและการฟังแล้วนักภาษาศึกษาภาษาในระดับลึกโดยตรงไม่ได้เพราะมันไม่มีตัวตนจึงต้องศึกษาภาษาระดับลึกโดยผ่านภาษาระดับผิวและภาษา ๒ ระดับนี้ก็มีความสัมพันธ์กันอยู่แล้วโดยมีกฎการปริวรรตหรือการปรับแปลง (Transformational rules) เป็นตัวเชื่อมโยง ดังจะยกตัวอย่างประกอบคำอธิบายเรื่องนี้ดังนี้  ประโยค (ในระดับผิว) ว่า "แม่รักแดงมากกว่าน้า" อาจตีความหมายได้ ๒ อย่าง คือ
(๑) "แม่รักแดงมากกว่าที่แม่รักน้า" หรือ 
(๒) "แม่รักแดงมากกว่าที่น้ารักแดง"

      ผู้พูดประโยค "แม่รักแดงมากกว่าน้า" ย่อมทราบดีว่าตนเองต้องการความหมายที่ ๑ หรือที่ ๒ เมื่อสร้างประโยคนี้ในโครงสร้างระดับลึกหรือในความคิด แต่สำหรับผู้ฟังนั้นไม่แน่ว่าจะเลือกความหมายเดียวกับที่ผู้พูดต้องการสื่อหรือไม่ การที่ประโยคในระดับผิวประโยคเดียวมีความหมายได้มากกว่า ๑ อย่างนี้นักภาษาศาสตร์อธิบายว่าเป็นเพราะในโครงสร้างระดับลึกประโยคมีที่มาและมีโครงสร้างที่แตกต่างกัน ดังนี้

 

ภาษาศาสตร์

 

      ในประโยค ๑) และ ๒) แม่เป็นผู้ "รัก" ทั้งแดงและน้า ส่วนในประโยค ๓) และ ๔) ทั้งแม่และน้าเป็นผู้ "รัก" แดงและเมื่อรวมประโยค ๑) กับ ๒) เข้าเป็นประโยคเดียวกันโดยใช้กฎการปริวรรตเติม "กว่า"และตัด "ประธาน" และ "กริยา" ของประโยคที่ ๒) ซึ่งซ้ำกับประธานและกริยาของประโยคที่ ๑) ออกในทำนองเดียวกันเมื่อรวมเป็นประโยค ๓) กับ ๔) ก็เติม "กว่า" ตัดกริยาและกรรมในประโยคที่ ๔ ซึ่งซ้ำกับกริยาและกรรมของประโยคที่ ๓) ออก ก็จะได้ประโยคผิวออกมาเหมือนกันแม้สิ่งที่โดนตัดไปจะต่างกันก็ตาม  การตัดคำ เติมคำ ย้ายตำแหน่งคำ และใช้คำแทนที่ในทำนองนี้นับเป็นการใช้กฎการปริวรรตคำว่า "กฎ" มีความสำคัญมากในวงการภาษาศาสตร์เพราะกฎเป็นการแสดงออกถึงธรรมชาติของภาษาซึ่งเป็นสิ่งที่นักภาษาศาสตร์ต้องการค้นหา เมื่อศึกษาภาษาและ สำหรับนักภาษาศาสตร์ในสมัยปัจจุบันคำว่า  "กฎ" มีความหมายเหมือนกับคำว่า "ไวยากรณ์" (grammar) และ "กฎ" ของนักภาษาศาสตร์ครอบคลุมทั้งภาษา คือ ทั้งเสียง คำประโยค และความหมาย ดังนั้นคำว่า "ไวยากรณ์" ของนักภาษาศาสตร์จึงมีความหมายครอบคลุมถึงภาษาด้วย ต่างจากคำว่า "ไวยากรณ์" ที่ใช้ในวงการสอนภาษาที่หมายถึงเฉพาะเรื่องประโยคเท่านั้น ในภาพรวมเราอาจใช้คำจำกัดความคำว่า "ภาษาศาสตร์" ได้ว่า คือ การศึกษา วิเคราะห์ และอธิบายถึงธรรมชาติของภาษา อย่างเป็นระบบในแง่มุมต่าง ๆ ด้วยวิธีการเฉพาะทางภาษาศาสตร์

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow