Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เสียง

Posted By Plookpedia | 11 เม.ย. 60
4,324 Views

  Favorite

เสียง

      นักภาษาศาสตร์แบ่งแยกเด็กขาดระหว่างภาษาพูดกับภาษาเขียนเนื่องจากนักภาษาศาสตร์มองว่ามนุษย์ปกติทุกคนย่อมใช้ภาษาได้ นักภาษาศาสตร์จึงถือว่า คำว่า "ภาษา" ในเบื้องต้นหมายถึง "ภาษาพูด" เท่านั้นไม่รวมถึงภาษาเขียนเพราะมนุษย์สามารถพูดภาษาเป็นทุกคน แต่ภาษาเขียนนั้นบางสังคมก็ไม่มีใช้เมื่อเป็นภาษาพูด "เสียง" ย่อมเป็นปัจจัยพื้นฐานของภาษา นักภาษาได้ศึกษาถึงธรรมชาติของเสียงและลักษณะของเสียงที่มีใช้อยู่ในภาษาต่าง ๆ ผลการศึกษาวิเคราะห์นี้รวมกันเป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเสียงในด้านต่าง ๆ ที่เรียกว่า สัทศาสตร์ (Phonetics)และนักสัทศาสตร์ (phonetician) ได้คิดสัญลักษณ์แทนเสียงสากลขึ้นจำนวนหนึ่งเพื่อใช้บันทึกเสียงในภาษาต่าง ๆ ในโลก เรียกว่า สัทอักษร (phonetic symbols) อักษรแทนเสียงนี้สร้างขึ้นโดยใช้ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะการออกเสียงและอวัยวะที่ใช้ในการออกเสียง นักสัทศาสตร์กล่าวว่าอวัยวะที่ใช้ในการออกเสียงนั้นเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่หลักอย่างอื่นอยู่แล้ว เป็นต้นว่าอวัยวะสำหรับระบบหายใจ อวัยวะสำหรับระบบการกิน และเสียงที่เราใช้พูดภาษาต่าง ๆ เกือบทั้งหมดเกิดจากลมหายใจออกนั่น คือ ขณะที่เราพูดนั้นเราหายใจออกเมื่ออากาศออกหมดผู้พูดก็ต้องหยุดพูดและหายใจเอาอากาศเข้าไปใหม่ 

 

เสียง
ถ้าเป็นภาษาพูดก็ต้องใช้เสียงเป็นสื่อกลาง
เสียง
รูปอวัยวะในการออกเสียง : เมื่อออกเสียง [p] ป,พ


      นักสัทศาสตร์แบ่งเสียงออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ๒ ประเภท คือ เสียงพยัญชนะและสระ ส่วนเสียงวรรณยุกต์ที่มีใช้ในภาษาไทยนั้นนับเป็นเสียงเฉพาะพิเศษที่มีใช้อยู่ในบางภาษาแต่เสียงพยัญชนะและเสียงสระนั้นมีใช้ในทุกภาษาเนื่องจากเสียงเกิดจากลมหายใจออกเราจึงถือว่า "ปอด" เป็นต้นกำเนิดของเสียงและกระบวนการออกเสียงเริ่มขึ้นเมื่ออากาศออกจากปอดไปผ่านเส้นเสียง ถ้าเส้นเสียงสั่นก็จะเป็นเสียงประเภทหนึ่งซึ่งแตกต่างจากเสียงที่ผ่านเส้นเสียงแล้วไม่มีการสั่นสะเทือนเกิดขึ้น จากนั้นเสียงจะผ่านเข้าช่องคอและถ้าเสียงออกจากตัวผู้พูดทางจมูก (คือปากปิด) ก็นับเป็นเสียงนาสิก (nasal) ซึ่งต่างจากเสียงที่ออกทางปาก (oral) นอกจากนี้ "ลิ้น" นับเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำให้เกิดเสียงต่าง ๆ เมื่อสิ้นสัมผัสเพดานในจุดต่าง ๆ ช่องปากก็จะเกิดเป็นห้องเสียงรูปต่าง ๆ ซึ่งทำให้เสียงที่เกิดต่างกันไป เช่น ถ้าลิ้นสัมผัสเพดานส่วนหน้าเสียงที่ออกจากปาก (เช่น น,ด,ล) ก็จะมีลักษณะที่ต่างจากเสียงที่โคนลิ้นปิดกั้นอยู่ที่เพดานอ่อน (เช่น ก,ข,ค) เสียงที่เกิดจากฟันบนขบริมฝีปากล่าง (เช่น ฝ,ฟ) และเมื่อริมฝีปากบนและล่างแตะกันก็เกิดเป็นเสียงที่ต่างออกไปอีก (เช่น บ,พ) สรุปก็คือนอกจากเส้นเสียงที่ทำให้เกิดเสียงในเบื้องต้นแล้วยังมี ลิ้น ฟัน ริมฝีปาก และเพดานที่มีส่วนทำให้เกิดเสียงลักษณะต่าง ๆ กัน และจากการใช้อวัยวะดังกล่าวนี้มนุษย์เราสามารถทำเสียงต่าง ๆ ได้มากมายนับเป็นร้อย ๆ เสียง แต่ที่ปรากฏอยู่ไม่มีภาษาใดใช้เสียงเกิน ๗๐ เสียงและเป็นเสียงที่มนุษย์นำมาใช้เป็นภาษาอย่างมีระบบมีกฎเกณฑ์  กล่าวคือแต่ละภาษามีกฎเกณฑ์และข้อจำกัดในการใช้เสียงเป็นต้นว่า เสียง "ส" ในภาษาไทยมีใช้เฉพาะตำแหน่งต้นพยางค์ ตำแหน่งท้ายพยางค์ หรือตำแหน่งตัวสะกดไม่ใช้หรือไม่ออกเสียงนี้ (ในคำว่า "โอกาส" เราไม่ได้ออกเสียง "ส" ออกเป็นเสียงแม่ "กด") หรือเสียงพยัญชนะไทยจะเกิดร่วมกันเป็นเสียงควบกล้ำได้ไม่เกิน ๒ เสียง ในตำแหน่งต้นพยางค์ (เช่น พระ ปลาย) และในตำแหน่งท้ายพยางค์หรือเสียงสะกด  ภาษาไทยไม่ใช้เสียงควบกล้ำเลยต่างจากภาษาอังกฤษซึ่งในตำแหน่งต้นพยางค์มีเสียงควบกล้ำได้ ๓ เสียงและในตำแหน่งท้ายพยางค์อาจมีมากกว่า ๓ เสียง เช่น strong (มีเสียงควบกล้ำ ๓ เสียง) texts ออกเสียงสะกด ๔ เสียง คือ -ksts (x ออกเป็น ๒ เสียง คือ k และ s) การศึกษาถึงลักษณะเสียงที่มีอยู่ในภาษาหนึ่ง ๆ และลักษณะพยางค์และกฎเกณฑ์ว่าเสียงใดเกิดเมื่อใดนับเป็นการศึกษาถึงระบบเสียง (phonology) ของภาษานั้น

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow