Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

มือ เท้า ปาก … โรคอันตรายที่มาพร้อมหน้าฝน

Posted By Plook Parenting | 25 ส.ค. 60
3,429 Views

  Favorite

โรค มือเท้าปาก (Hand Foot and Mouth disease – HFMD) เป็นโรคไข้ออกผื่นชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่จะพบได้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี

 

เกิดจากการติดเชื้อกลุ่มไวรัสเอนเทอโร (Enterovirus) ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน มากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยที่พบได้บ่อยที่สุดคือ เชื้อไวรัสค็อกแซคกีเอชนิด 16 (Coxsackievirus A 16)  ซึ่งอาการมักจะไม่รุนแรงและผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายได้เอง ส่วนที่พบได้น้อย คือ เชื้อไวรัสเอนเทอโรชนิด 71 ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

ลักษณะมือของผู้ที่เป็นโรคมือเท้าปาก

 

โรคมือเท้าปากสามารถติดต่อได้โดยตรงจากการสัมผัสสารคัดหลั่งจากจมูก ลำคอ ละอองน้ำมูกน้ำลาย หรือน้ำเหลืองจากตุ่มน้ำที่ผิวหนัง รวมถึงอุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้ออยู่ นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อโดยทางอ้อมจากการสัมผัสสิ่งของหรือของเล่น สัมผัสพื้นผิวที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ รวมถึงจากการกินอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ และมือของผู้เลี้ยงดูที่ไม่สะอาด  โดยเมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 -7 วัน ผู้ป่วยจึงจะแสดงอาการ

 

อาการ

เมื่อเริ่มติดเชื้อผู้ป่วยจะมีอาการไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร จากนั้น 1 – 2 วัน จะเริ่มมีน้ำมูก เจ็บปาก เจ็บคอ ในช่องปากจะพบจุดนูนแดง ๆ หรือมีน้ำใสขึ้นตามเยื่อบุปาก ลิ้น และเหงือก ซึ่งต่อมาจะแตกกลายเป็นแผลตื้น ๆ ต่อมามีผื่นแดงหรือตุ่มใส ขนาดเล็กที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า หรือก้น ส่วนอาการไข้จะเป็นอยู่ประมาณ 3 - 4 วันก็จะทุเลาลงไปเอง แผลในปากมักจะหายได้เองภายใน 7 วัน ส่วนตุ่มที่มือและเท้าจะหายได้เองภายใน 7-10 วัน และมักจะไม่ทำให้เกิดแผลเป็น

 

มีผื่นแดงหรือตุ่มใส ขนาดเล็กที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า หรือก้น

 

โรคมือเท้าปากอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ อัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไปจนถึงเสียชีวิตได้ โดยอาการแทรกซ้อนไม่สัมพันธ์กับจำนวนแผลในปากหรือตุ่มที่พบตามฝ่ามือฝ่าเท้า ในรายที่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรงอาจมีแผลไม่กี่จุดในลำคอหรืออาจมีตุ่มเพียงไม่กี่ตุ่มตามฝ่ามือฝ่าเท้าก็ได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิดในช่วง 1 – 2 สัปดาห์แรก แม้ว่าผื่นและแผลในปากหายไปแล้วก็ตาม โดยสัญญาณเตือนของภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที คือ

 

•เด็กมีอาการซึมลง ไม่เล่น ไม่อยากรับประทานอาหารหรือนม

•บ่นปวดศีรษะมาก ปวดจนทนไม่ไหว

•มีอาการพูดเพ้อไม่รู้เรื่อง สลับกับการซึมลง หรือเห็นภาพแปลก ๆ

•ปวดต้นคอ คอแข็ง มีการรับรู้สับสน และอาเจียน

•มีอาการสะดุ้งผวา ตัวสั่น แขนหรือมือสั่นในบางครั้ง

•มีอาการไอ หายใจเร็ว หน้าซีด มีเสมหะมาก โดยอาจมีหรือไม่มีไข้ร่วมด้วยก็ได้

 

ในปัจจุบันโรคมือเท้าปากยังไม่มีการรักษาโดยเฉพาะ การรักษาจึงเป็นไปตามแต่อาการของผู้ป่วย ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขอนามัยที่ดีของลูก เพื่อป้องกันการเกิดโรคและอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่จะตามมา

 

วิธีการ

1. หลีกเลี่ยงการให้เด็กคลุกคลีหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย

2. รักษาอนามัยส่วนบุคคล โดยเฉพาะผู้เลี้ยงดูเด็กควรล้างทำความสะอาดมือก่อนหยิบจับอาหารให้เด็ก และกินอาหารที่สุก สะอาด ปรุงใหม่ ๆ ไม่มีแมลงวันตอม และดื่มน้ำสะอาด

3. ไม่ใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะช้อน จาน ชาม แก้วน้ำ ขวดนม

4. เมื่อเช็ดน้ำมูกหรือน้ำลายให้เด็กแล้วต้องล้างมือให้สะอาดโดยเร็ว

5. รีบซักผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระให้สะอาดโดยเร็ว และทิ้งน้ำลงในโถส้วม ห้ามทิ้งลงท่อระบายน้ำ

6. หากสงสัยว่าเด็กจะเป็นโรคมือเท้าปากให้รีบพาไปพบแพทย์ เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงที

 

สำหรับเด็กที่ป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก ต้องรีบป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังเด็กคนอื่น ๆ เมื่อคุณพ่อคุณแม่พาไปไปพบแพทย์แล้ว ควรให้ลูกหยุดพักรักษาตัวที่บ้านประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ หรือจนกว่าตุ่มแผลต่าง ๆ จะหายดี ระหว่างนี้ไม่ควรพาเด็กไปในสถานที่แออัด เวลาไอหรือจามควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก หมั่นรักษาความสะอาด และดูแลอาการอย่างใกล้ชิด

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow