Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ระบบคุณค่า

Posted By Plookpedia | 03 ส.ค. 60
1,634 Views

  Favorite

 

ศาลพระภูมิเสาเดียว
ผีตาโขนในขบวนแห่งานบุญพระเวส
เทียนพรรษา

 

ระบบคุณค่า

ความเชื่อในกฎเกณฑ์ประเพณี เป็นระเบียบทางสังคมของชุมชนดั้งเดิม ความเชื่อนี้เป็นรากฐานของระบบคุณค่าต่างๆ ความกตัญญูรู้คุณต่อพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ความเมตตาเอื้ออาทรต่อผู้อื่น ความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติรอบตัว และในสากลจักรวาล

ความเชื่อ "ผี" หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติ เป็นที่มาของการดำเนินชีวิต ทั้งของส่วนบุคคล และของชุมชน โดยรวมการเคารพในผีปู่ตา หรือผีปู่ย่า ซึ่งเป็นผีประจำหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นลูกหลานของปู่ตาคนเดียวกัน รักษาป่าที่มีบ้านเล็กๆ สำหรับผี ปลูกอยู่ติดหมู่บ้าน ผีป่า ทำให้คนตัดไม้ด้วยความเคารพ ขออนุญาตเลือกตัดต้นแก่ และปลูกทดแทน ไม่ทิ้งสิ่งสกปรกลงแม่น้ำ ด้วยความเคารพในแม่คงคา กินข้าวด้วยความเคารพ ในแม่โพสพ คนโบราณกินข้าวเสร็จ จะไหว้ข้าว

พิธีบายศรีสู่ขวัญ เป็นพิธีรื้อฟื้น กระชับ หรือสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน คนจะเดินทางไกล หรือกลับจากการเดินทาง สมาชิกใหม่ ในชุมชน คนป่วย หรือกำลังฟื้นไข้ คนเหล่านี้จะ ด้รับพิธีสู่ขวัญ เพื่อให้เป็นสิริมงคล มีความอยู่เย็นเป็นสุข นอกนั้นยังมีพิธีสืบชะตาชีวิตของบุคคล หรือของชุมชน

นอกจากพิธีกรรมกับคนแล้ว ยังมีพิธีกรรมกับสัตว์และธรรมชาติ มีพิธีสู่ขวัญข้าว สู่ขวัญควาย สู่ขวัญเกวียน เป็นการแสดงออกถึงการขอบคุณ การขอขมา พิธีดังกล่าวไม่ได้มีความหมายถึงว่า สิ่งเหล่านี้มีจิต มีผีในตัวมันเอง แต่เป็นการแสดงออก ถึงความสัมพันธ์กับจิตและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นสากลในธรรมชาติทั้งหมด ทำให้ผู้คนมีความสัมพันธ์อันดีกับทุกสิ่ง คนขับแท็กซี่ในกรุงเทพฯ ที่มาจากหมู่บ้าน ยังซื้อดอกไม้ แล้วแขวนไว้ที่กระจกในรถ ไม่ใช่เพื่อเซ่นไหว้ผีในรถแท็กซี่ แต่เป็นการรำลึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ใน สากลจักรวาล รวมถึงที่สิงอยู่ในรถคันนั้น

ผู้คนสมัยก่อนมีความสำนึกในข้อจำกัดของตนเอง รู้ว่า มนุษย์มีความอ่อนแอ และเปราะบาง หากไม่รักษาความสัมพันธ์อันดี และไม่คงความสมดุลกับธรรมชาติรอบตัวไว้ เขาคงไม่สามารถมีชีวิตได้อย่างเป็นสุข และยืนนาน ผู้คนทั่วไปจึงไม่มีความอวดกล้าในความสามารถของตน ไม่ท้าทายธรรมชาติ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน และรักษากฎระเบียบประเพณีอย่างเคร่งครัด 

ชีวิตของชาวบ้านในรอบหนึ่งปี จึงมีพิธีกรรมทุกเดือน เพื่อแสดงออกถึงความเชื่อ และความสัมพันธ์ ระหว่างผู้คนในสังคม ระหว่างคนกับธรรมชาติ และระหว่างคนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ดังกรณีงานบุญประเพณีของชาวอีสานที่เรียกว่า ฮีตสิบสอง คือ
เดือนอ้าย (เดือนที่หนึ่ง) บุญเข้ากรรม ให้พระภิกษุเข้าปริวาสกรรม
เดือนยี่ (เดือนที่สอง) บุญคูณลาน ให้นำข้าวมากองกันที่ลาน ทำพิธีก่อนนวด 
เดือนสาม บุญข้าวจี่ ให้ถวายข้าวจี่ (ข้าวเหนียวปั้นชุบไข่ทาเกลือนำไปย่างไฟ)
เดือนสี่ บุญพระเวส ให้ฟังเทศน์มหาชาติ คือ เทศน์เรื่องพระเวสสันดรชาดก 
เดือนห้า บุญสรงน้ำ หรือบุญสงกรานต์ ให้สรงน้ำพระ ผู้เฒ่าผู้แก่ 
เดือนหก บุญบั้งไฟ บูชาพญาแถน ตามความเชื่อเดิม และบุญวิสาขบูชา ตามความเชื่อของชาวพุทธ 
เดือนเจ็ด บุญซำฮะ (บุญชำระ) ให้บนบานพระภูมิเจ้าที่ เลี้ยงผีปู่ตา 
เดือนแปด บุญเข้าพรรษา 
เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ 
เดือนสิบ บุญข้าวสาก ทำบุญเช่นเดือนเก้า รวมให้ผีไม่มีญาติ (ภาคใต้มีพิธีคล้ายกัน คือ งานพิธีเดือนสิบ ทำบุญให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว แบ่งข้าวปลาอาหารส่วนหนึ่งให้แก่ผีไม่มีญาติ พวกเด็กๆ ชอบแย่งกันเอาของที่แบ่งให้ผีไม่มีญาติหรือเปรต เรียกว่า "การชิงเปรต") 
เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา 
เดือนสิบสอง บุญกฐิน จัดงานกฐิน และลอยกระทง

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow