Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ตัวอย่างแนวคิดให้นักเรียนร่วมสะท้อนความคิดในโรงเรียน : ประสบการณ์จากประเทศอังกฤษ

Posted By Plook Teacher | 25 ก.ค. 60
7,800 Views

  Favorite

โรงเรียนในหลาย ๆ ประเทศอาจมีเทคนิคต่าง ๆ ในการสอนให้นักเรียนรู้จักการมีส่วนร่วม การทำงานเป็นกลุ่ม เพื่อฝึกให้นักเรียนรู้จักการทำงานเป็นกลุ่ม ฝึกการแสดงควาคิดเห็น และการรับฟังความคิดเห็นต่อการจัดการศึกษา วันนี้ขอยกตัวอย่างจากประเทศอังกฤษว่าเด็ก ๆ ที่นั้นมีวิธีแสดงความคิดเห็นต่อการศึกษาในรูปแบบไหน
 

         โรงเรียนหลายแห่งในอังกฤษกำลังเริ่มทดลองวิธีการใหม่ๆ ที่จะทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อการจัดการศึกษา จากงานวิจัยพบว่า นักเรียนมีผลการเรียนดีขึ้นเมื่อพวกเขาได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่โรงเรียนกว่า 90% จะมีห้องประชุมไว้สำหรับให้นักเรียนได้ร่วมแสดงความคิดเห็น แต่นี่ก็ไม่ใช่วิธีการเดียวที่จะแลกเปลี่ยนความเห็นกับนักเรียนยังมีวิธีสร้างสรรค์อีกหลายๆ วิธี
 

1. จัดการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแบบ Pow wow

         สภานักเรียนถือเป็นรูปแบบหนึ่งที่ให้นักเรียนได้สะท้อนคิด อย่างไรก็ตามมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อสภานักเรียนว่า นักเรียนที่มีความเชื่อมั่นในตนเองสูงเท่านั้นที่สมัครเข้ามา ไม่ได้เป็นตัวแทนของนักเรียนส่วนใหญ่ที่แท้จริง หากต้องการให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมจริง โรงเรียนจะต้องมีวิธีเลือกนักเรียนเพื่อเข้าร่วมประชุมที่แตกต่างออกไป อย่างเช่น วิธีการสุ่ม หรือ ให้เพื่อนนักเรียนลงคะแนนเสียง เป็นต้น โรงเรียนได้ลองวิธีทางอื่นเพื่อที่จะรับฟังนักเรียน ตัวอย่างเช่น โรงเรียนลาร์ค ไรซ์ อะแคเดมี (Lark Rise Academy) ในเมืองเบดฟอร์ดเชอร์ (Bedfordshire) ใช้การสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแบบ Pow wow ในการดึงความร่วมมือจากนักเรียนในโรงเรียนเข้าร่วมการประชุม นักเรียนจะใช้เวลา 30 นาที ทุกสัปดาห์ในการร่วมแสดงความคิดเห็น โดยมีครูของพวกเขาเป็นผู้ดำเนินการการสนทนา และมีครูผู้ช่วยจดบันทึกการสนทนา ทุกคนในวงสนทนาจะมีส่วนร่วม โดยส่วนใหญ่ทุกคนจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องหลักสูตรการศึกษา จะมีการถามความคิดเห็นเด็กเกี่ยวกับหนังสือที่พวกเขาเคยอ่าน หรือ มีการเตรียมการเรียนการสอนอย่างไรในชั้นเรียน เพื่อบทสนทนาที่มีชีวิตชีวา และกระตุ้นความคิดของนักเรียน จึงให้นักเรียนได้มีการวิเคราะห์คำตอบของพวกเขาเองด้วย 

 

2. กลุ่มตัวแทนนักเรียนรายวิชา

         ถ้าต้องการให้นักเรียนมีส่วนร่วมในเรื่องการเรียนการสอนบางวิชา การตั้งกลุ่มตัวแทนนักเรียนในวิชาต่างๆ จะทำให้การออกแบบการเรียนการสอนในวิชานั้นๆ ชัดขึ้น ตัวอย่างของครู Kerry Mcnamee จาก The Academy ที่ Shotton Hall ในเมือง Durham ได้เชิญนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 2 และ 3 ให้เป็นหัวหน้าวิชาภาษาอังกฤษ เธอเล่าว่าพวกเขาจะทำงานร่วมกับครูในการวางแผนการทำงาน วิจัยแบบเรียนให้ดีขึ้น ออกแบบโครงการการบ้าน จัดกิจกรรมหรือพัฒนาความสามารถในการอ่านเขียน

 

3. สร้างเครือข่ายนักเรียน

         การให้โอกาสนักเรียนได้สร้างเครือข่ายกับเด็กโรงเรียนอื่น จะช่วยทำให้พวกเขาได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาโรงเรียน และสามารถพัฒนาทักษะการสื่อสารได้ การให้นักเรียนสะท้อนคิด (Student Voice) ได้รับการสนับสนุนโดย Phoenix Education Trust (มูลนิธิเล็กๆ ระดับชาติที่คอยสนับสนุนการศึกษาแบบประชาธิปไตย) โดยองค์กรมีเป้าหมายในการสร้างประชาธิปไตยในโรงเรียน โดยทำงานร่วมกับเด็กๆ และสนับสนุนให้พวกทำการรณรงค์ด้วยตนเอง

         องค์กรนี้เปิดให้สำหรับนักเรียนทุกคนที่เป็นสมาชิกของ Student Voice (เสียงนักเรียน) โดยส่วนมากเด็กที่เข้าร่วมจะมีอายุประมาณ 11-18 ปี James McCash จาก Phoenix Education อธิบายว่านักเรียนได้สนทนาเกี่ยวกับสถานศึกษา และปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อเด็กๆ ในที่ประชุม และมีการพัฒนาทักษะและเทคนิคให้แก่นักเรียนด้วย ได้แก่ ทักษะการสื่อสาร และการสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง

 

4. ส่งเสริมกิจกรรมนอกหลักสูตร

         ในเมืองเคนต์ นักเรียนเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนโดยการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงาน Career Day (ตลาดนัดอาชีพ) ซึ่งเป็นวันที่เหล่านายจ้างจะมาคุยกับพวกเขา พวกเขาทำงานสำรวจ โดยการสัมภาษณ์ ถ่ายภาพงานตลอดทั้งวัน รวมถึงจัดทำใบงานบอกเล่าประสบการณ์ให้นักเรียนรุ่นน้อง

         หลังจากงานโครงการนี้ไม่ได้ส่งผลดีแค่กับโรงเรียน แต่ยังช่วยกระตุ้นกระบวนการทางวิชาการให้กับนักเรียนอย่างการพัฒนาทักษะการเขียน Anne McNutty ประธานบริหาร ของ Education Business Partnership (EBP Kent) ที่ทำงานร่วมกับโรงเรียนและภาคธุรกิจ กล่าวว่า โครงการจะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับเด็กและสร้างทักษะการอ่านและการเขียน ไม่ว่าจะระดับไหนก็ตาม และนักเรียนได้ร่วมงานกับผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพต่างๆ ทักษะที่สำคัญที่พวกเขาได้รับนั้น คือ “ทักษะการทำงาน”

 

5. นักเรียนมีส่วนร่วมในการจ้างบุลลากรใหม่

         ด้วยการวางแผนที่รอบคอบและการสนับสนุนของคณะกรรมการโรงเรียน การที่ให้คณะนักเรียนที่ได้รับการคัดเลือกมีส่วนในการสัมภาษณ์บุคลากรในโรงเรียน นักเรียนอาจให้มุมมองใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์เมื่อจ้างบุคลากรใหม่ The Smart School Council Community มูลนิธิที่จัดตั้งเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยในโรงเรียน เสนอให้คณะทำงานกับเพื่อนนักเรียนร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนกันถึงคุณภาพของครูและผู้บริหารโรงเรียนที่พวกเขาคาดหวังว่าจะได้รับ

         มูลนิธิเสนอให้นักเรียนได้ฝึกในส่วนของการสัมภาษณ์งาน อย่างเช่น ความมั่นใจ การฟังอย่างตั้งใจและคำถามที่เกี่ยวข้องกับการสัมภาษณ์งาน  ซึ่งจะเป็นคำถามที่พวกเขาอาจจะได้รับเมื่อสมัครเข้าทำงาน

 

6. เคารพสิทธิเด็ก

         การนำเอาสนธิสัญญา UN ที่เกี่ยวกับสิทธิเด็กมาใช้ในการวางแผน และการอยู่ร่วมกันของคนในโรงเรียนเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าคุณค่าของเด็กและความเห็นของพวกเขาจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

         Unicef (ยูนิเซฟ) ได้ให้รางวัล Rights Respecting Schools Award (RRSA) แก่โรงเรียนที่นำสนธิสัญญา UN ที่เกี่ยวกับสิทธิเด็กไปใช้ในนโยบายของโรงเรียนและมีการฝึกปฏิบัติเรื่องสิทธิเด็กให้แก่นักเรียน ทั้งนี้ โรงเรียนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิเด็กและฝังคุณค่านี้ในความเป็นผู้นำและการบริหารจัดการ เด็กจะได้รู้สึกถึงคุณค่าของตน การรับฟัง และพัฒนาความเข้าใจ นอกจากนั้นคือการเคารพต่อศาสนา วัฒนธรรม ความเชื่อและความสามารถที่แตกต่างกันในแต่ละคนด้วย

 

เป็นแนวคิดที่ดีมาก ๆ เลยนะคะที่ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ออกแบบการสอนไปพร้อม ๆ กับการเรียนการสอนภายในโรงเรียน เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่เข้าใจซึ่งกันและกันเมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นในโรงเรียนก็ช่วยกันแก้ปัญหา ลองนำไปปรับใช้กับที่โรงเรียนดูนะคะ 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow