Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เล่านิทาน ประโยชน์มหาศาลต่อการเรียนรู้

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 24 ก.ค. 60
10,799 Views

  Favorite

นิทาน เปรียบเสมือนโลกแห่งภาษาสำหรับเด็ก ภาพและตัวหนังสือที่ปรากฏอยู่บนหนังสือนิทานนั้น จะส่งผลต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก

 

เพราะเด็กจะเริ่มรับรู้นิทานจากภาพที่มองเห็นและเสียงที่ได้ยิน โดยเริ่มเรียนรู้ความหมายไปทีละเล็กทีละน้อย จนสามารถเชื่อมโยงภาพ ตลอดจนจดจำเนื้อหาและเรื่องราวต่าง ๆ ที่นำไปสู่การอ่านตัวหนังสือได้อย่างมีความหมายต่อไป

 

ที่สำคัญนิทานยังช่วยพัฒนาทั้งทักษะการฟังและการพูด อีกทั้งยังเป็นตัวช่วยส่งเสริมจินตนาการให้แก่เด็ก รวมทั้งยังเป็นการฝึกสมาธิให้เด็กได้รู้จักสำรวจและจดจ่ออยู่กับเรื่องที่ฟังในแต่ละหน้า ซึ่งทักษะทั้งหลายเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่นำไปสู่การเตรียมความพร้อมเรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ ต่อไป

 

ภาพ : Shutterstock

 

วิธีการ

1. ควรเลือกนิทานที่เหมาะสมกับช่วงวัยและความสนใจของเด็ก

     • เด็กอายุ 0 – 1 ปี : นิทานที่เหมาะสมในวัยนี้ ควรเป็นหนังสือภาพที่เป็นภาพเหมือนรูปสัตว์ ผัก ผลไม้ สิ่งของในชีวิตประจำวัน และเขียนเหมือนภาพของจริง มีสีสันสวยงาม ขนาดใหญ่
     • เด็กอายุ 2 – 3 ปี : ในวัยนี้เด็กแต่ละคนจะเริ่มชอบต่างกัน หนังสือที่เหมาะสม ควรเป็นภาพเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน สัตว์ สิ่งของ
     • เด็กอายุ 4 – 6 ปี : เด็กวัยนี้มีจินตนาการสร้างสรรค์ อยากรู้อยากเห็นสิ่งรอบตัวเกี่ยวกับธรรมชาติ นิทานที่เหมาะสมกับเด็กวัยนี้ควรเป็นนิทานที่เป็นเรื่องที่ยาวขึ้น แต่เข้าใจง่าย ส่งเสริมจินตนาการ และอิงความจริงอยู่บ้าง เนื้อเรื่องสนุกสนานน่าติดตาม มีภาพประกอบที่มีสีสันสดใสสวยงาม มีตัวอักษรบรรยายเนื้อเรื่องไม่มากเกินไป และมีขนาดใหญ่พอสมควรใช้ ภาษาง่าย ๆ ที่เด็กสามารถอ่านตามได้

 

2. เลือกวิธีที่น่าสนใจ

ในการเล่านิทานแต่ละเล่มนั้นคุณพ่อคุณแม่อาจมีการใช้วิธีในการเล่าที่แตกต่างกันได้ เพื่อกระตุ้นให้ลูกเกิดความสนใจ ติดตามฟังเนื้อเรื่องจนจบ ในบางเรื่องอาจเป็นการเล่าปากเปล่า บอกเล่าเรื่องราวด้วยการเน้นน้ำเสียงและท่าทางที่น่าสนใจ หรือในบางเรื่องอาจเป็นการเล่าแบบการใช้อุปกรณ์ เช่น หุ่นมือ หุ่นนิ้ว ตุ๊กตา หรืออุปกรณ์รอบตัวที่มีอยู่ในบ้าน มาช่วยเสริมเรื่องราวให้นิทานมีความสนุกสนานและน่าสนใจขึ้นก็ได้

 

3. สร้างอารมณ์ร่วมไปกับนิทาน

ในการเล่านิทานแต่ละเรื่องนั้น การขึ้นต้นเรื่องที่จะเล่า ควรดึงดูดความสนใจเด็ก โดยค่อยเริ่มเล่าด้วยเสียงชัดเจน ลีลาของการเล่าช้า ๆ และเริ่มเร็วขึ้น จนเป็นการเล่าด้วยจังหวะปกติ ใช้น้ำเสียง สีหน้า ท่าทาง แสดงให้สอดคล้องกับลักษณะของตัวละครแต่ละตัว ไม่ควรเล่าเนือย ๆ เรื่อย ๆ เพราะทำให้ขาดความตื่นเต้น และเด็กจะไม่เกิดอารมณ์ร่วมในการฟัง และนิทาน 1 เรื่องไม่ควรใช้เวลาในการเล่าเกิน 15 นาที

 

4. ชวนลูกตั้งคำถาม

เมื่อเล่านิทานจบคุณพ่อคุณแม่อาจชวนลูก ๆ ตั้งคำถาม และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนิทานเรื่องนั้น ๆ ซึ่งการทำกิจกรรมนี้จะเป็นตัวช่วยให้ลูกฝึกทักษะการสังเกตได้เป็นอย่างดี

 

นอกจากนั้น การอ่านนิทานให้ลูกฟังถือเป็นการป้อนอาหารสมองและอาหารใจให้กับลูก ที่สำคัญการที่พ่อแม่อ่านนิทานให้ลูกฟังด้วยเสียงของพ่อแม่เอง ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการถ่ายทอดความรักและความอบอุ่นให้ส่งถึงกันได้ด้วย เนื่องจากลูกจะซึมซับน้ำเสียง และความรู้สึกของพ่อแม่ที่ส่งผ่านมาทางการเล่านิทาน ทำให้ลูกมีอารมณ์ร่วมไปด้วย การที่ลูกได้ฟังนิทานในแต่ละวัน แม้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ ก็มีผลต่อพัฒนาการของลูกอย่างมหาศาล

 

วันนี้คุณอ่านนิทานให้ลูกฟังหรือยังคะ

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow