Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ลักษณะทางคลินิกของโรค

Posted By Plookpedia | 03 เม.ย. 60
6,296 Views

  Favorite

ลักษณะทางคลินิกของโรค

ลักษณะทางคลินิกของโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์มีได้หลากหลาย ในผู้ป่วยแต่ละรายก็มีความแตกต่างกัน แม้ในผู้ป่วยคนเดียวกัน แต่ต่างเวลากัน ก็มีลักษณะทางคลินิกที่แตกต่างกัน การเริ่มต้นของโรคมักค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆ เป็นเวลาหลายสัปดาห์ บางรายมาพบแพทย์ด้วยอาการของโรคที่เป็นข้ออักเสบหลายข้อเฉียบพลัน ส่วนอาการข้ออักเสบเฉียบพลันข้อเดียว มักไม่ค่อยพบในระยะแรกของโรค การพบข้อที่เป็นแบบสมดุลทั้ง ๒ ซีกของร่างกาย (ซ้าย-ขวา) มักไม่ชัดเจน แต่ในระยะที่โรคเป็นมาพอสมควรมักเห็นชัดเจนขึ้น 

 

ข้อกลางนิ้วมือบวมรูปกระสวย ในระยะเริ่มแรกของโรค

 

 

๑. อาการของโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ในระยะแรก

สามารถแบ่งออกได้เป็น ๓ แบบดังนี้

๑) อาการเริ่มต้นข้ออักเสบแบบค่อยเป็นค่อยไป 

การเริ่มต้นของโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ ที่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆ เป็นเวลาหลายสัปดาห์ พบร้อยละ ๕๐ - ๗๐ อาจมีอาการเฉพาะที่ข้อ หรือมีอาการของร่างกายอย่างอื่นร่วมด้วย ได้แก่ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดเมื่อย ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก

 

ข้อกลางนิ้วมือจะบวมมากขึ้นในระยะต่อมา

 

๒) อาการเริ่มต้นข้ออักเสบแบบเฉียบพลัน

การเริ่มต้นของโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ที่เป็นแบบเฉียบพลันพบได้ร้อยละ ๑๐ - ๑๕ ผู้ป่วยบางรายอาจมาพบแพทย ์ด้วยอาการปวดกล้ามเนื้อที่รุนแรงคล้ายกับกล้ามเนื้อขาดเลือดไปเลี้ยง การวินิจฉัยโรคที่มีอาการแบบนี้ทำได้ยาก เนื่องจาก ผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยระยะเวลาที่เป็นโรคไม่ถึง ๖ สัปดาห์ ดังนั้นควรทำการวินิจฉัยแยกโรคที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย ที่มาพบด้วยอาการลักษณะนี้ เช่น การติดเชื้อ หลอดเลือดอักเสบ

๓) อาการเริ่มต้นแบบกึ่งเฉียบพลัน

คือเป็นอาการระหว่างแบบเฉียบพลันกับแบบค่อยเป็นค่อยไป โรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ที่เป็นแบบลักษณะนี้พบได้ร้อยละ ๒๐ โดยอาจเป็นหลายวันถึงหลายสัปดาห์ อาการของร่างกายทั่วตัวพบได้มากกว่าแบบค่อยเป็นค่อยไป    

๒. อาการทางคลินิกของข้อแต่ละข้อ

การอักเสบของเยื่อบุข้อทำให้เกิดอาการทางคลินิก คือ ปวด บวม แดง ร้อน ข้อฝืดแข็ง และโครงสร้างของข้อเสียไป ทำให้เกิดข้อพิการในเวลาต่อมา ลักษณะความพิการของแต่ละข้อแตกต่างกันตามโครงสร้างและหน้าที่ของข้อนั้นๆ

๑) มือและข้อมือ 

ข้อมือ ข้อโคนนิ้วมือ และข้อกลางนิ้วมือ เป็นตำแหน่งข้อที่พบการอักเสบบ่อยที่สุดในโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ ส่วนข้อปลายนิ้วมือมักไม่อักเสบ ข้อกลางนิ้วมือบวมรูปกระสวย (fusiform swelling) เป็นลักษณะเฉพาะที่พบได้ในโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ และอยู่ในระยะเริ่มแรกของโรค ระยะต่อมาข้อกลางนิ้วมือจะบวมมากขึ้น ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคมานาน ข้อมือจะบวมมากและมีความพิการของมือและข้อมือดังนี้

  • นิ้วมือเอนไปทางด้านนอก คือ นิ้วมือเอนไปทางด้านนอกของข้อโคนนิ้วมือ เนื่องจากกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • นิ้วมือผิดรูปแบบรูปคอห่าน คือ ข้อปลายนิ้วมืองอพับ ส่วนข้อกลางนิ้วมือมีลักษณะเหยียดตรง
  • นิ้วผิดรูปแบบบูทอนเนียร์ (Boutounniere  deformities) คือ มีลักษณะข้อกลางนิ้วมืองอพับและข้อปลายนิ้วมือเหยียดตรง
  • กลุ่มอาการคาร์ปาลทันเนล (carpal tunnel syndrome) เกิดจากเส้นประสาทมีเดียน (median nerve) ที่ผ่านอุโมงค์ข้อมือ (carpal tunnel) ถูกกดทับ ทำให้เกิดอาการปวดหรือชาบริเวณนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ และนิ้วกลาง กล้ามเนื้อบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือลีบและอ่อนแรง
  • เส้นเอ็นเหยียดนิ้วขาด เกิดจากเยื่อบุข้อที่หนาตัวขึ้นในตำแหน่งข้อมือไปเบียดเส้นเอ็นที่ผ่านข้อมือ ทำให้เส้นเอ็นเสียดสีกับปุ่มกระดูกจนเส้นเอ็นขาด ทำให้ไม่สามารถกระดกนิ้วมือได้ทันที แต่ไม่มีอาการปวด ตำแหน่งที่พบเส้นเอ็นเหยียดนิ้วขาดบ่อยๆ คือ เส้นเอ็นของนิ้วก้อย นิ้วนาง และนิ้วกลาง

 

 

นิ้วมือเอนไปทางด้านนอก

 

 

๒) ข้อศอก

เป็นข้อซึ่งพบในระยะแรกของโรค เนื่องจากข้อนี้อยู่ใกล้ผิวหนัง ตรวจพบว่า มีเยื่อบุข้อที่หนาขึ้นทางด้านหลังของข้อศอก ซึ่งการอักเสบของข้อศอก ทำให้มุมการเคลื่อนไหวของข้อลดลง ผู้ป่วยมักไม่สามารถเหยียดข้อศอกได้ตรง หรืองอข้อศอกได้ไม่เต็มที่

๓) ข้อไหล่ 

โรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ที่มีอาการของเยื่อบุข้อไหล่อักเสบ จะมีผลต่อกระดูกไหปลาร้าที่เชื่อมต่อกับข้อไหล่ ถุงน้ำรอบข้อไหล่  และกล้ามเนื้อที่อยู่ในบริเวณคอและหน้าอกส่วนบน ข้อไหล่ที่อักเสบจะมีลักษณะกดเจ็บบริเวณข้อไหล่ ปวดเวลากลางคืน และมีการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ลดลง การบวมมักเห็นได้จากด้านหน้าของข้อไหล่ ซึ่งความเสียหายของข้อไหล่ ทำให้เกิดอาการปวดข้อไหล่ ทั้งขณะเคลื่อนไหวและขณะพัก

๔) ข้อเท้าและข้อนิ้วเท้า 

การอักเสบของข้อเท้าและข้อนิ้วเท้าจะมีผลต่อการทำงานของร่างกาย และจะมีอาการปวดมากกว่าการอักเสบของข้อส่วนบนของร่างกาย เพราะข้อเท้าและข้อนิ้วเท้าต้องทำหน้าที่ในการรับน้ำหนัก และการเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยมีข้อบวมด้านตาตุ่มในของข้อเท้า และด้านตาตุ่มนอกของข้อเท้า ความพิการที่เกิดขึ้นในตำแหน่งนี้ ได้แก่ นิ้วเท้ากระดกขึ้น ผิวหนังด้านบนของนิ้วเท้าเสียดสีกับรองเท้าทำให้เกิดแผลได้ง่าย การเคลื่อนหลุดจากตำแหน่งของหัวกระดูกโคนนิ้วเท้า ทำให้หัวกระดูกโคนนิ้วเท้ากดลงที่ฝ่าเท้า เกิดอาการปวดของผิวหนังที่ถูกกดทับ ผู้ป่วยมีอาการปวดเวลาเดิน นอกจากนี้การกดทับทำให้เกิดแผลที่ฝ่าเท้า เส้นประสาททิเบียลด้านหลัง (posterior tibial nerve) ถูกกดทับจากเยื่อบุข้ออักเสบ ทำให้เกิดอาการชาของฝ่าเท้า และอาการจะเป็นมากขึ้น เมื่ออยู่ในท่ายืนหรือเดิน

 

ข้อบวมด้านตาตุ่มในของข้อเท้า

 

 

๕) ข้อเข่า 

ข้อบวมจากเยื่อบุข้ออักเสบหนาตัวขึ้นและมีน้ำไขข้อมากกว่าปกติ กล้ามเนื้อรอบข้อเข่าลีบและอ่อนแรงกว่าปกติ มุมการเคลื่อนไหวข้อเข่าลดลงทำให้ไม่สามารถเหยียดเข่าตรงได้ เป็นเหตุให้ข้อเข่าทำงานได้ไม่เต็มที่ รวมทั้งมุมในการเหยียดเข่าก็ลดลงและอยู่ในท่างอข้อเข่า ทำให้ความดันในข้อเข่าเพิ่มขึ้น การมีน้ำมาก และดันออกทางด้านหลังของข้อเข่า ทำให้เกิดถุงน้ำที่ข้อพับเข่า ซึ่งหากได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง ถุงน้ำอาจแตกไปที่น่อง ทำให้น่องบวมโต ผู้ป่วยบางรายที่เป็นมากและไม่เคลื่อนไหวข้อ ทำให้ข้อเข่างอพับ ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อได้

ข้อเข่าทั้งสองข้างบวมและมีน้ำไขข้อมากกว่าปกติ

 

 

๖) ข้อสะโพก 

ข้อสะโพกเป็นข้อที่อยู่ลึกจึงไม่สามารถตรวจว่ามีอาการบวม หรือมีการหนาตัวของเยื่อบุข้อได้ ในระยะแรกของการเป็นโรค มักไม่ค่อยมีการอักเสบของข้อสะโพก เมื่อโรคเป็นมากขึ้นจึงพบว่ามีการอักเสบ หากข้อสะโพกมีการอักเสบเรื้อรัง หัวกระดูกสะโพกจะเกิดการยุบตัว บางรายหัวกระดูกสะโพกดันเบ้ากระดูกจนหัวกระดูกสะโพกยื่นเข้าสู่ด้านใน เรียกภาวะนี้ว่า กระดูกสะโพกทะลุเบ้า (protrusio acetabuli)

๗) ข้อกระดูกสันหลัง

การเปลี่ยนแปลงของข้อกระดูกสันหลังระดับคอเป็นตำแหน่งที่พบได้บ่อยกว่ากระดูกสันหลังระดับอกและเอว  อาการเริ่มแรกของผู้ป่วยที่มีการอักเสบของข้อกระดูกสันหลังระดับคอ คือ มีอาการคอฝืด คอแข็ง และเคลื่อนไหวคอได้ลำบาก อาการที่พบบ่อยในเวลาต่อมา คือ การปวดคอร้าวไปที่ท้ายทอย อาการที่พบรองลงมา คือ แขนขามีอาการอ่อนแรง พร้อมทั้งมีอาการเกร็งแข็ง และการรับความรู้สึกของมือเสียไป อาจมีอาการชาบริเวณไหล่หรือแขนขณะที่เคลื่อนไหวศีรษะ

๘) ข้อพิการ 

ความพิการของข้อเกิดขึ้นจากการที่โครงสร้างของข้อเสียหาย และสิ่งที่ประกอบเป็นข้อถูกทำลายจากกระบวนการอักเสบของข้อ  ข้อเล็กๆ บริเวณมือและเท้าเป็นตำแหน่งที่พบข้อพิการได้บ่อย โดยพบว่า ผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ ๑๐ มีข้อพิการของข้อเล็กๆ ภายในระยะเวลา ๒ ปีของการเป็นโรค และข้อพิการเพิ่มมากขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านไป  

๙) โครงสร้างข้อถูกทำลาย 

การอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุข้อทำให้กระดูกอ่อนผิวข้อบางลง และกระดูกที่อยู่ใกล้ข้อกร่อนแหว่ง ซึ่งเป็นลักษณะของโครงสร้างข้อที่ถูกทำลาย ลักษณะทางคลินิกที่แสดงว่าโครงสร้างข้อถูกทำลายคือ รูปร่างของข้อเสียไป ข้อพิการ และมีการสูญเสียการทำงานของข้อ โครงสร้างที่เสียหายแล้วไม่สามารถกลับสู่สภาพปกติได้อีก และจะยิ่งเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ หลักฐานที่แสดงว่า มีการทำลายกระดูกอ่อนคือ ในการตรวจจะรู้สึกมีเสียงดังแกร๊กๆ เวลาเคลื่อนไหวข้อ หรือหากเอกซเรย์ จะพบช่องว่างระหว่างข้อหายไป  

๑๐) กล้ามเนื้อที่อยู่รอบข้อลีบ

ประสิทธิภาพและกำลังของกล้ามเนื้อลดลง อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อไม่ได้สัดส่วนกับอาการข้ออักเสบ คือ กล้ามเนื้ออ่อนแรงมากเกินไป

๑๑) ตัวร้อน 

เป็นอาการที่พบได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการข้ออักเสบหลายข้อและเป็นรุนแรง

๑๒) น้ำหนักตัวลดลง 

เป็นอาการที่พบได้ในช่วงที่โรคยังไม่ได้รับการรักษา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการเบื่ออาหาร

๑๓) ประสิทธิภาพของร่างกายลดลง 

ร่างกายทำงานได้น้อยลง การทำงานของร่างกายที่ต้องใช้ข้อมากทำให้ข้ออักเสบเป็นมากขึ้นจนผู้ป่วยบางรายต้องหยุดงาน และบางรายต้องเปลี่ยนอาชีพ เนื่องจาก ร่างกายทำงานหนักไม่ได้ การทำกิจวัตรประจำวันมีประสิทธิภาพที่ลดลง เช่น การแต่งตัว การเปิด-ปิดประตู การขึ้น-ลงบันได การเดินบนพื้นราบ การลุก-นั่ง

๓. อาการทางคลินิกนอกข้อ

โรคข้ออักเสบรูมาทอยด์เป็นโรคที่ทำให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย อาการนอกข้อเป็นได้กับอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย เช่น ผิวหนัง ตา ปอด ไต หัวใจ กระดูก ระบบประสาท ระบบโลหิตวิทยา อาการนอกข้อที่พบบ่อยที่สุด คือ ปุ่มรูมาทอยด์ พบได้ร้อยละ ๕ - ๒๐ ความชุกของอาการนอกข้อเป็นไปตามความรุนแรงของโรค และระยะเวลาที่ผู้ป่วยเป็นโรค

๑)  ปุ่มรูมาทอยด์ (rheumatoid nodules)

เป็นอาการนอกข้อที่พบได้บ่อยที่สุด ในคนผิวขาวพบประมาณร้อยละ ๒๐ - ๓๐ ของผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ ส่วนในคนผิวเหลืองพบน้อยกว่าคนผิวขาว สำหรับประเทศไทยพบราวร้อยละ ๔ - ๑๐

 

ปุ่มรูมาทอยด์บริเวณข้อศอก

 

 

ปุ่มรูมาทอยด์เป็นปุ่มก้อนที่ผิวหนัง โดยจัดแบ่งได้เป็น ๒ ชนิด คือ ชนิดตื้น และชนิดลึก ส่วนตำแหน่งที่พบคือ ตำแหน่งกดทับ เช่น ข้อศอก ก้นกบ ศีรษะ ส้นเท้า มีลักษณะเป็นปุ่มเดียวหรือหลายปุ่ม ปุ่มมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓ - ๕ มิลลิเมตร ถึง ๒ - ๓ เซนติเมตร มักไม่เจ็บ ผู้ที่เป็นปุ่มรูมาทอยด์หลายปุ่ม มักเป็นโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ที่รุนแรงและเป็นมานาน ปุ่มรูมาทอยด์อาจเกิดขึ้นช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป หรือเกิดขึ้นทันทีทันใดก็ได้ และสามารถหายได้เอง โดยค่อยๆ ฝ่อตัวลงจนหายไปในที่สุด

๒) หลอดเลือดอักเสบ (vasculitis)

ลักษณะทางคลินิกของหลอดเลือดอักเสบในโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์มีได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับขนาดของหลอดเลือดและตำแหน่งที่เป็น มักเป็นหลอดเลือดขนาดเล็กถึงขนาดกลาง

  • หลอดเลือดอักเสบที่ผิวหนัง ได้แก่ รอยโรคที่ขอบเล็บเป็นผื่นนูนคลำรู้สึกได้ ผิวหนังเป็นแผลจากการขาดเลือด และอาการปลายนิ้วขาดเลือดจนเกิดนิ้วตาย  
  • หลอดเลือดอักเสบที่ตา ที่พบ ได้แก่ ตาขาวอักเสบ
  • หลอดเลือดอักเสบที่หัวใจ ที่พบ ได้แก่ หัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย
หลอดเลือดอักเสบที่ปลายนิ้ว

 

 

๓)  อาการทางตา

  • อาการตาแห้ง พบบ่อยในโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ เป็นอาการที่ค่อยเป็นค่อยไป และหายได้เองในระยะแรก แต่ในระยะหลังมักไม่หาย แพทย์ต้องคอยถามผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการตาแห้ง และเริ่มให้การรักษาเมื่อมีอาการ
  • เยื่อชั้นบนตาขาวอักเสบ พบได้ที่ตาขาวด้านหน้า อาจเป็นหย่อมๆ หรือเป็นทั่วตา ผู้ป่วยมีความรู้สึกเคืองตา อาการมักเป็นชั่วคราวหรือเป็นสัปดาห์ แต่บางรายอาจเป็นนานหลายเดือน
  • ตาขาวอักเสบ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงกว่าอาการตาแห้ง และอาจตามมาด้วยอาการปวดลูกตา ต่อมามีการตายของเนื้อเยื่อตาขาว
  • ตาขาวบาง-ทะลุ มีอาการค่อยๆ เป็น โดยผู้ป่วยไม่มีอาการเจ็บ มีการทำลายเยื่อตาขาวอย่างช้าๆ จนเยื่อตาขาวบางลงและทะลุ พบในตำแหน่งด้านบนของลูกตาด้านหน้า

๔) ระบบหายใจและปอด

  • การอักเสบของข้อต่อกล่องเสียง เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ มีอาการ ได้แก่ เจ็บคอ เสียงแหบ เจ็บเวลากลืนอาหาร อาการมักเป็นมากในตอนเช้า และดีขึ้นในช่วงสาย
  • เยื่อหุ้มปอดอักเสบ ทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้า-ออก จากการตรวจผู้ป่วยเมื่อเสียชีวิตแล้วพบว่ามีอาการเยื่อหุ้มปอดหนาร้อยละ ๕๐ อาการเยื่อหุ้มปอดหนา และเยื่อหุ้มปอดอักเสบทั้งสองข้างร้อยละ ๒๕ ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการ แต่ตรวจพบมีน้ำในช่องปอดจากการถ่ายภาพเอกซเรย์ ซึ่งน้ำในช่องปอดมีลักษณะเฉพาะ ได้แก่ ระดับน้ำตาลต่ำ โปรตีนสูง เม็ดเลือดขาวน้อยกว่า ๕๐๐ เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตร
  • พังผืดแทรกในปอด การตรวจทางเอกซเรย์ของผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์พบพังผืดแทรกบริเวณฐานปอด โดยในระยะแรกมักไม่มีอาการ แต่ถ้าเป็นมาก พังผืดจะแทรกทั่วปอด ทำให้มีอาการเหนื่อยหอบได้  
  • ปุ่มในเนื้อปอด พบได้ประมาณร้อยละ ๓๐ ปุ่มก้อนที่พบในเนื้อปอดมีอันเดียวหรือหลายอัน ปุ่มใกล้เยื่อหุ้มปอดจะพบน้อย  

๕)  หัวใจ  

  • เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ พบได้บ่อย และผู้ป่วยไม่มีอาการ มักพบจากการตรวจเมื่อผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ที่เสียชีวิตจากหลอดเลือด เชื่อว่า เป็นผลจากการที่หลอดเลือดแดงแข็งตัวก่อนเวลาจากการเป็นโรคเรื้อรัง หรือมีหลอดเลือดอักเสบ ซึ่งจากการบันทึกภาพของหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (echocardiography) พบว่าผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจมากกว่าปกติ (pericardial effusions) ได้เกือบร้อยละ ๕๐ ทั้งๆ ที่ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ นอกจากนี้ยังอาจมีปุ่มรูมาทอยด์เกิดที่กล้ามเนื้อหัวใจและลิ้นหัวใจ ทำให้หัวใจทำงานผิดปกติ

๖)  ระบบประสาท

อาการทางระบบประสาทที่พบได้บ่อยในโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์มีพื้นฐานจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

  • กระดูกสันหลังคอไม่มั่นคง
  • เส้นประสาทถูกกดทับ
  • หลอดเลือดอักเสบทำให้เกิดเส้นประสาทเส้นเดียวอักเสบแบบซับซ้อน    

อาการทางระบบประสาทที่พบบ่อยในผู้ที่ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์มานาน คือ มือทั้งสองข้างมีอาการชาและอ่อนแรง

๗)  ระบบโลหิตวิทยา

  • ภาวะโลหิตจาง หรืออาการซีดที่พบบ่อยในโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ เป็นแบบเม็ดเลือดแดงขนาดปกติและสีปกติ ผู้ป่วยร้อยละ ๗๕ เป็นผลจากการเป็นโรคเรื้อรัง และร้อยละ ๒๕ เป็นผลจากการขาดธาตุเหล็ก บางส่วนอาจมีผลจากการขาดวิตามินบี ๑๒ ร่วมด้วย
  • ภาวะเกล็ดเลือดมาก มักเกิดขึ้นในขณะที่โรคข้ออักเสบรูมาทอยด์อยู่ในระยะกำเริบ โดยเกล็ดเลือดที่มีจำนวนมากนี้มักมีอายุการทำงานสั้นกว่าปกติ
  • ต่อมน้ำเหลืองโต อาจพบในตำแหน่งที่สามารถคลำได้เพราะอยู่ใกล้ผิวหนัง และตำแหน่งที่ไม่สามารถคลำได้เพราะอยู่ในส่วนลึกของร่างกาย ตำแหน่งที่พบบ่อย คือ เหนือศอก รักแร้ และคอ ซึ่งจากการตรวจทางกล้องจุลทรรศน์มักพบเป็นต่อมน้ำเหลืองที่ขยายตัวขึ้น  
  • กลุ่มอาการเฟลตี เป็นกลุ่มอาการที่มีอาการของโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์เรื้อรัง ม้ามโต และเม็ดเลือดขาวต่ำ จำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำกว่า ๒,๐๐๐ เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตร พบในผู้ป่วยที่มีอาการนอกข้อรุนแรง ได้แก่ ปุ่มรูมาทอยด์ น้ำหนักลด ต่อมน้ำเหลืองโต มีแผลที่ขา เยื่อหุ้มปอดอักเสบ และผิวหนังมีสีเข้มขึ้น  

๘)  ไต

อาการทางไตจากโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์พบน้อยมาก มักพบเกี่ยวข้องกับผลข้างเคียงของยาบางชนิด ที่สำคัญคือ ภาวะแอมีลอยโดสิสที่พบ ร่วมกับหลอดเลือดอักเสบและการติดเชื้อ เป็นภาวะที่คุกคามชีวิต ความผิดปกติของไตคือ มีโปรตีนมากในปัสสาวะ บางรายการทำงานของไตเสียไป เกิดภาวะไตวาย นอกจากนี้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ยังสามารถทำให้การทำงานของไตเสียได้ 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow