Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ประวัติความเป็นมาของมาตรวิทยา

Posted By Plookpedia | 14 มี.ค. 60
3,284 Views

  Favorite

ประวัติความเป็นมาของมาตรวิทยา

การวัด (Measurement) มีประวัติความเป็นมานานกว่า ๓,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช และได้มีวิวัฒนาการควบคู่มากับความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวัฒนธรรมของมนุษยชาติอย่างต่อเนื่อง การวัดจึงเป็นพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ และเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารเพื่อบอกขนาด ปริมาณ ตำแหน่ง สภาวะ และเวลา เป็นต้น ซึ่งวิชาที่ว่าด้วยศาสตร์แห่งการวัดนี้ เรียกชื่อเฉพาะว่า "มาตรวิทยา" จุดมุ่งหมายที่สำคัญของการวัด ได้แก่ การตัดสินปริมาณการวัดต่างๆ ด้วยความแม่นยำถูกต้อง (accuracy) และความเที่ยงตรง (precision) เพื่อจุดประสงค์หลากหลายด้าน ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ เพื่อความเป็นธรรมในเชิงพาณิชย์ ดังเห็นได้จากตัวอย่างที่มีมาตั้งแต่ในอดีต ที่ประเทศต่างๆ มีการกำหนดหน่วยวัด มาตราชั่งตวงวัดของตน ต่อมาเมื่อมีการค้าขายระหว่างกันมากขึ้น จึงได้กำหนดหน่วยวัดที่เป็นสากลขึ้นใช้ร่วมกัน

 

ภาพเขียนแสดงหลักการของเครื่องชั่งแบบคาน เปรียเทียบกับการใช้คานวัด

 

 

สำหรับประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชปรารภที่จะวางกฎระเบียบการชั่งตวงวัดของประเทศ ให้เป็นหลักฐาน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งกรรมการขึ้นมา เพื่อดำเนินการเรื่องนี้ จนถึงรัชกาล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระบรมราชานุมัติให้ประเทศสยามเข้าร่วมเป็นสมาชิกสัญญาสากลชั่งตวงวัด ใน พ.ศ. ๒๔๕๕ โดยรับแบบวิธีเมตริกมาใช้ในประเทศไทย และได้ตราพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ กำหนดให้ระบบเมตริกเป็นระบบการวัดของประเทศ พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัดที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งมีผลเป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นต้นมา

มาตรวิทยาจึงถือได้ว่า เป็นตัวแทนของความรู้ในเชิงลึกในการตัดสินสิ่งที่ถูกวัด โดยการนำเอาองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และความรู้ในธรรมชาติ ตลอดจนพฤติกรรมของระบบการวัดมาเป็นเกณฑ์กำหนดผลของการวัด มาตรวิทยาจึงครอบคลุมในทุกๆ มิติ ของกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ อันได้แก่ การกำหนดหน่วยวัดขึ้นมาจากนิยาม หรือคำจำกัดความของแต่ละหน่วยวัด การทำนิยามเหล่านั้น ให้เป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ รวมไปถึงการสร้างมาตรฐานการวัดขึ้นมาใช้เป็นตัวแทนของหน่วยวัดนั้นๆ และสุดท้ายการเชื่อมโยงผลการวัดจากสิ่งที่ถูกต้องไปยังมาตรฐานการวัดที่ได้กำหนดขึ้นเหล่านั้น ในรูปแบบที่เป็นหลักฐานทางเอกสาร ที่เรียกกันว่า "ความสามารถสอบกลับได้ทางการวัด"

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow