Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การเผยแพร่และการจำหน่ายเชิงพาณิชย์

Posted By Plookpedia | 11 เม.ย. 60
6,300 Views

  Favorite

การเผยแพร่และการจำหน่ายเชิงพาณิชย์

ในอนาคตการนำเอาวิธีการควบคุมโรคพืชด้วยวิธีชีวภาพมาใช้จะเป็นไปอย่างกว้างขวาง  เนื่องจาก มีข้อดีหลายประการ ที่เหนือกว่าการใช้สารเคมี อย่างไรก็ตามความสำเร็จที่จะได้รับในอนาคตนั้น ขึ้นอยู่กับการเผยแพร่ความรู้ ที่จะต้องเร่งศึกษาค้นคว้ากันอย่างจริงจัง และมากยิ่งขึ้นในด้านต่างๆ ที่มีข้อมูลไม่เพียงพอ เพื่อให้สามารถนำมาแก้ไขปัญหาต่างๆ  รวมทั้งการพัฒนา เพื่อการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

 

ชีวภัณฑ์ที่จำแหน่ายในร้านค้าเชิงพาณิชย์

 

ปัญหาการควบคุมโรคพืชโดยนำวิธีชีวภาพไปใช้ในทางปฏิบัติ

การควบคุมโรคพืชด้วยวิธีชีวภาพในปัจจุบันมักพบปัญหาและอุปสรรคหลายประการซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

ความน่าเชื่อถือ  

เนื่องจากผลิตภัณฑ์เชื้อปฏิปักษ์ที่ใช้เป็นสิ่งมีชีวิตมีความผันแปรได้ง่าย หากไม่มีการควบคุมคุณภาพในการผลิตให้ดีแล้ว จะทำให้มีผลการควบคุมโรคแตกต่างกัน ก่อให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือขึ้น นอกจากนี้การปฏิบัติต่างๆ ภายหลังจากใช้ผลิตภัณฑ์ไปแล้วจะต้องมีการดูแลเอาใจใส่ตามวิธีที่แนะนำไว้อย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นจะทำให้ผลการควบคุมโรคไม่ได้ผลดีสม่ำเสมอทุกครั้งที่ใช้ เป็นเหตุให้ความน่าเชื่อถือลดลง ดังนั้นจึงควรเลือกหาหรือซื้อผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ หรือได้รับการรับรองจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง

 

เชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ Bacillus subtilis สายพันธุ์ CH4, CH6 และเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ Pseudomonas fluorescens สายพันธุ์ CR-S02, CM-R03 มีประสิทธิภาพยับยั้งเชื้อ Collectotrichum capsici ได้ต่างกัน

 

 

ประสิทธิภาพ 

การผลิตเชื้อปฏิปักษ์แต่ละชนิดจะมีการใช้เชื้อจุลินทรีย์ต่างชนิด และต่างสายพันธุ์กัน ซึ่งเชื้อเหล่านี้จะมีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคพืชได้แตกต่างกัน หากผู้ที่ทำการคัดเลือกไม่ระมัดระวังแล้ว จะทำให้ได้เชื้อที่มีคุณภาพหรือประสิทธิภาพไม่ดี เมื่อใช้ไปแล้วอาจสูญเสียคุณสมบัติของการเป็นเชื้อปฏิปักษ์ไปได้ หรือเชื้อเสียชีวิตเร็ว ไม่ทนทานต่อสภาพแวดล้อม ทำให้เสื่อมประสิทธิภาพเร็ว มีผลทำให้ควบคุมโรคไม่ได้เหมือนเดิม ดังนั้นจึงไม่ควรนำเชื้อ ที่ผ่านการขยายพันธุ์มาแล้ว มาขยายพันธุ์ซ้ำ จะทำให้เชื้อมีความบริสุทธิ์ลดลง และมีผลทำให้ประสิทธิภาพเสื่อมลงตามไปด้วย

 

เชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ต่างชนิด (B. subtilis และ P. fluorescens) และต่างสายพันธุ์ (CH4, CH6 หรือ CR-S02, CM-R03) มีประสิทธิภาพยับยั้งเชื้อ Colletorichum gloeosporioides ได้ต่างกัน

 

 

ขอบเขตในการควบคุมโรค

เชื้อปฏิปักษ์ที่ได้รับการคัดเลือก เมื่อนำมาใช้โดยทั่วไปมักมีคุณสมบัติในการควบคุมโรคได้เฉพาะโรค หรือเฉพาะเชื้อชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น จึงมีความพยายามคัดเลือกหาเชื้อปฏิปักษ์ ที่มีขอบเขตในการควบคุมโรคได้กว้างขวางมากขึ้น คือ สามารถใช้ควบคุมโรคได้หลายโรคหรือพืชหลายชนิด จะช่วยทำให้ข้อจำกัดในการนำไปใช้ควบคุมโรคลดน้อยลง และเพิ่มความนิยมในการนำไปใช้มากขึ้น

ราคาของผลิตภัณฑ์

ผลิตภัณฑ์ทางชีวภาพที่ผลิตขึ้นจำหน่ายในปัจจุบันมักมีราคาค่อนข้างแพง เนื่องจากมีข้อจำกัดในด้านการผลิตและอายุ การใช้งานสั้น เมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์ ดังนั้นการนำผลิตภัณฑ์มาใช้โดยตรงจะสิ้นเปลืองมาก จึงควรนำผลิตภัณฑ์มาขยายเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ ก่อนนำไปใช้ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์ทางชีวภาพ

การปรับปรุงกิจกรรมการควบคุมโรคด้วยวิธีชีวภาพ  

เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์สามารถนำมาเพิ่มกิจกรรมในการควบคุมโรคให้มากขึ้นได้หลายวิธี  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปรับปรุงปัจจัย ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของเชื้อปฏิปักษ์ในธรรมชาติ โดยการศึกษาปรับปรุงเชื้อปฏิปักษ์ให้เหมาะสมในด้านต่างๆ มีดังนี้

สภาพแวดล้อม

เชื้อปฏิปักษ์ที่ดีควรจะต้องเป็นเชื้อที่สามารถเจริญเติบโตและควบคุมโรคได้ทุกสภาวะ ไม่ว่าจะมีอากาศร้อนหรือเย็น ชื้นหรือแห้งแล้ง ดินเป็นกรดหรือด่าง มีอาหารสมบูรณ์หรือขาดแคลน ดังนั้นการคัดเลือกเชื้อปฏิปักษ์จึงนิยมคัดเลือกในสภาวะที่ต้องการจะนำไปใช้ เพื่อให้เชื้อปฏิปักษ์เจริญได้ดี

เชื้อสาเหตุของโรคพืช

เชื้อสาเหตุของโรคพืชเป็นปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคด้วยวิธีชีวภาพ ซึ่งเชื้อจะมีความแตกต่างกันตรงสายพันธุ์ ดังนั้นการคัดเลือกเชื้อปฏิปักษ์ จะต้องมีการทดสอบ เพื่อให้สามารถควบคุมเชื้อโรคได้ทุกสายพันธุ์ จึงจะทำให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น

พืชอาศัย

พืชอาศัยของเชื้อโรคทั้งชนิดที่ปลูกและชนิดที่ไม่ได้ปลูก (วัชพืช) จะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเชื้อโรค ดังนั้นการนำเชื้อปฏิปักษ์มาใช้ จะต้องเป็นเชื้อที่สามารถเจริญอยู่ร่วมกับพืชต่างๆ ได้ดี และจะดียิ่งขึ้นถ้าหากเจริญได้ดีกว่าเชื้อโรคในพืชทุกชนิดและทุกส่วนของพืช อย่างไรก็ตาม เชื้อปฏิปักษ์บางชนิดอาจมีความสามารถเจริญได้ดีเฉพาะบนใบหรือส่วนที่อยู่เหนือดิน ในขณะที่บางชนิดชอบอยู่ในดินหรือบริเวณรากที่อยู่ใต้ดิน ดังนั้นการคัดเลือกเชื้อปฏิปักษ์จึงควรให้เหมาะสมกับสภาพที่จะนำไปใช้ เพื่อให้ความคุ้มครองป้องกันส่วนต่างๆ ของพืช จากการเข้าทำลายของเชื้อโรคพืชได้เป็นอย่างดี
 

วัชพืชเป็นพืชอาศัยชนิดไม่ได้ปลูก

 

 

เชื้อปฏิปักษ์

ความสามารถในการควบคุมเชื้อโรคของเชื้อปฏิปักษ์มักมีประสิทธิภาพไม่สูงนัก เมื่อเปรียบเทียบกับประสิทธิภาพของสารเคมี และมีความเฉพาะเจาะจงมาก เมื่อนำมาใช้ จึงค่อนข้างจะได้ผลไม่ค่อยสม่ำเสมอทุกครั้งและทุกๆ พื้นที่ที่สภาพแวดล้อมแตกต่างกัน ดังนั้น จึงมีความพยายามปรับปรุงกิจกรรมการควบคุมโรคของเชื้อปฏิปักษ์ให้มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น สามารถควบคุมได้ทุกพื้นที่ และควบคุมชนิดของเชื้อโรคพืชได้มากขึ้น

การผสมผสานการใช้ด้วยวิธีชีวภาพในการควบคุมโรคพืช  

เป็นที่ยอมรับกันว่า การควบคุมโรคพืชหรือหลักการในการจัดการโรคพืช ด้วยวิธีชีวภาพจะได้ผลดีที่สุด เมื่อมีการใช้หลายวิธีผสมผสานกัน เป็นแบบบูรณาการ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

การใช้ร่วมกับการปรับปรุงวิธีการเพาะปลูกต่างๆ

เช่น ปรับปรุงดิน ไถพรวน ให้น้ำ ไขน้ำท่วมแปลง ใช้แสงแดดฆ่าเชื้อ  

การใช้ร่วมกับพันธุ์ต้านทาน 

ซึ่งจะช่วยให้พืชได้รับความคุ้มครองมากยิ่งขึ้น
 

พืชเจริญเติบโตดี เมื่อพ่นสารเคมีร่วมกับเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ (ด้านหน้า) และพืชที่ไม่ได้พ่นสารเคมีและเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ แสดงอาการใบเหลืองเป็นโรค (ด้านหลัง)

 

 

การใช้ร่วมกับสารเคมี 

สารเคมีบางชนิดบางครั้งอาจมีความจำเป็นในการใช้เพื่อทำลายศัตรูของเชื้อปฏิปักษ์ที่จะใช้เป็นตัวควบคุมโรคพืช เพราะมักพบเสมอว่า ในดินที่อบฆ่าเชื้อแล้ว จะมีประสิทธิภาพ ในการควบคุมโรค มากกว่าในดิน ที่ไม่ได้ฆ่าเชื้อ หรือในทางตรงข้ามอาจจำเป็นต้องลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชบางชนิดลง

 

แปลงปลูกพืชที่มีการอบดินด้วยปุ๋ยยูเรียผสมปูนขาวร่วมกับการใช้เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ จะมีการเจริญเติบโตดี (ด้านหน้า) และแปลงปลูกพืชที่ไม่ได้อบดินและใช้เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ จะไม่ค่อยเจริญเติบโต (ด้านหลัง)

 

 

การใช้ร่วมกับการปรับปรุงสภาพแวดล้อม

การปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อปฏิปักษ์ที่ใช้ควบคุมโรค จะให้ผลดีกว่าสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้ปรับปรุง เช่น การนำเชื้อปฏิปักษ์ไปเก็บไว้ในที่ร่มไม่ให้ถูกแสงแดดจัด เชื้อปฏิปักษ์จะได้ไม่ตาย หรือมีการปรับปรุงสภาพความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของดิน เพื่อให้เชื้อปฏิปักษ์อยู่ในดินได้เป็นเวลานาน

การใช้เชื้อปฏิปักษ์ร่วมกับจุลินทรีย์ชนิดอื่น

ซึ่งจะทำให้มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคได้หลายโรค หรือมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow