Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เด็กเล็กก็เป็นโรคไตได้

Posted By Plook Parenting | 13 ก.ค. 60
7,888 Views

  Favorite

“โรคไต” เป็นโรคที่พบได้ทุกช่วงวัย ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุเท่านั้นที่เสี่ยงเป็นโรคไต ในเด็กเล็กหรือเด็กแรกเกิดก็มีโอกาสเป็นโรคไตได้เช่นกัน

 

ถึงแม้ว่าโรคไตจะมีสาเหตุหลักมาจากการรับประทานอาหารในปริมาณมากเกินไป หรือรับประทานอาหารในสัดส่วนที่ไม่เหมาะสมจนส่งผลให้ไตทำงานหนัก แต่สำหรับเด็ก ๆ โรคไตอาจมาจากสาเหตุอื่น ๆ อาทิ ความผิดปกติของโครงสร้างไตและระบบทางเดินปัสสาวะตั้งแต่กำเนิด ภาวะเนื้อไตผิดปกติ ภาวะไตอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ลำคอหรือผิวหนัง พันธุกรรม และโรคเอสแอลอี (โรคภูมิต้านทานทำลายเนื้อเยื่อตัวเอง) เป็นต้น

 

ภาพ : Shutterstock

 

ลักษณะอาการ

• ปัสสาวะผิดปกติ เช่น เป็นฟอง สีแดงหรือสีเหมือนน้ำล้างเนื้อ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะออกกระปริบกระปรอย บางรายจะออกมากหรือน้อยกว่าปกติ

• มีอาการบวมตามใบหน้า หนังตา ขา หรือบวมทั่วตัว

• อาการอื่น ๆ เช่น ซีด เหนื่อยง่าย หรือตัวเล็ก

ทั้งนี้ อาการของเด็กแต่ละคนอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคไตด้วย หากคุณพ่อคุณแม่พบเห็นสัญญาณต่าง ๆ เหล่านี้ หรือมีอาการเพิ่มเติม อาทิ เป็นไข้สูง ปัสสาวะขัด หรือปวดท้องน้อย ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาที่ถูกต้องโดยทันที ถ้าปล่อยทิ้งไว้หรือไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที เด็กอาจเข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรัง ส่งผลให้เด็กเจริญเติบโตช้าเพราะร่างกายขาดสารอาหาร และขาดฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโตได้

 

วิธีการป้องกัน

1. สังเกตอาการของลูก

คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่าง ๆ ของลูก หากพบความผิดปกติหรือลักษณะอาการของโรคไต ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและแก้ไขสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไต

 

2. รักษาสุขอนามัยในการถ่ายปัสสาวะ

คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลสุขอนามัยภายในบ้านและนอกบ้านของลูกให้เหมาะสม เช่น ทำความสะอาดทุกครั้งหลังปัสสาวะ ไม่กลั้นปัสสาวะ ถ่ายปัสสาวะออกจนสุดโดยไม่เร่งรีบ และดื่มน้ำให้เพียงพอ

 

3. ไม่ควรซื้อยากินเอง

เนื่องจากโรคไตมีหลายชนิด และยารักษาโรคเองก็มีหลากหลายสรรพคุณ ดังนั้น ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาที่เหมาะสม ในปริมาณที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันกระทบที่อาจเกิดกับไตของเด็ก

 

4. รักษาสุขภาพ

คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างบรรยากาศการรักสุขภาพให้สนุกสนานและน่าดึงดูดใจด้วยการหากิจกรรม หรือหาเทคนิคสนุก ๆ อาทิ การเล่นวิ่งไล่จับ การทำอาหารร่วมกันของครอบครัว การเล่านิทานประกอบการกินผัก การให้รางวัลคนไม่กินขนมจุบจิบ เป็นต้น เพื่อฝึกวินัยในการกินอาหารที่มีประโยชน์ และให้เด็กออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

 

5. อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ

หากร่างกายมีการสูญเสียน้ำมากเกินไป ได้รับน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือท้องเสียรุนแรง จะส่งผลให้ไตทำงานหนัก ต้องดื่มเกลือแร่ทดแทน หรือไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง

 

โรคไตหลายชนิด สามารถป้องกันได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ไม่กลั้นปัสสาวะ ควบคุมน้ำหนัก เลี่ยงอาหารเค็มจัดหรือหวานจัด และหากพบสัญญาณบ่งบอกว่าเด็กอาจเป็นโรคไต คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว เพื่อควบคุมอาการของโรคไตไม่ให้ลุกลามใหญ่โต

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow