Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พืชที่ให้ผลิตผลสำหรับยัดไส้สิ่งของ

Posted By Plookpedia | 08 ก.ค. 60
2,488 Views

  Favorite

พืชที่ให้ผลิตผลสำหรับยัดไส้สิ่งของ

 

สมาชิกที่สำคัญของพืชในกลุ่มนี้ก็คือ นุ่น ซึ่งเป็นเส้นใยของพืชที่เราคุ้นเคยมาโดยตลอด และมะพร้าว ซึ่งเป็นพืชที่ให้ประโยชน์สารพัด ก็เป็นพืชที่ให้ใย สำหรับเป็นวัสดุยัดไส้สิ่งของเครื่องใช้ เช่น เบาะ เก้าอี้นวม และที่นอน เพื่อความนุ่มหรือยืดหยุ่น เส้นใยเป็นส่วนที่อยู่ ข้างนอกเปลือกหุ้มเมล็ดหรือกะลา เมื่อตีเอา ส่วนที่ติดกับเส้นใยออกเป็นขุยสำหรับใช้เป็น วัสดุเพาะชำแล้ว เส้นใยที่เหลือก็นำไปใช้ยัดไส้ สิ่งของ ทำเชือกล่ามโยงเรือได้ เรียกว่า เชือก มนิลา ซึ่งมีลักษณะเป็นเชือกเกลียว (โดยใช้ เส้นใยฟั่น) เช่นเดียวกับที่ทำจากป่านศรนารายณ์ 

 

นุ่น 

เป็นพืชที่มีผู้ปลูกกระจัดกระจายทั่วประเทศไทย สำหรับใช้ประโยชน์ในครัวเรือนประเภทยัดเป็นไส้ในของหมอน ที่นอน ที่เหลือจึงนำไปขาย มักจะปลูกกันตามบริเวณบ้าน ประเทศไทยส่งนุ่นออกขายเป็นปริมาณมากที่สุดของโลก ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ประเทศไทยผลิตนุ่นได้ ๓๗,๐๐๐ ตัน 

 

นุ่นที่แนะนำให้ปลูกในปัจจุบัน มีทรงต้นแบบทรงฉัตร มีการแตกกิ่งทำมุมกว้างกับลำต้น หรือกิ่งจะขนานกับแนวพื้นดิน เจริญเติบโตเร็ว ลำต้นกลม ผิวเรียบ ใบย่อยรูปหอก ๕-๘ ใบย่อย (ใบย่อยของนุ่นมีก้านใบสั้น แต่ใบย่อยของงิ้วมีก้านใบย่อยยาว) ออกดอก เมื่ออายุประมาณ ๒ ปี หรือนานกว่านี้ขึ้นอยู่กับปริมาณฝนและความสมบูรณ์ของต้น ดอกสีขาวปนเหลือง ออกเป็นกระจุก ฝักยาวปานกลางเมื่อแก่จะมีสีน้ำตาลเหลือง ๆ เปลือกเรียบ หัวและปลายฝักเรียว เปลือกบาง แกะเอาปุยออกได้ง่าย 

 

ช่อดอกนุ่น

 

เราสามารถปลูกนุ่นได้ง่าย ๆ โดยปลูกด้วยเมล็ดโดยตรง นอกจากนั้น อาจปลูกโดยการเพาะเมล็ดในแปลงเพาะก่อน เมื่อนุ่นอายุประมาณ ๖-๘ เดือน ก็เลือกต้นที่มีลักษณะดีแข็งแรง ไปปลูกลงในไร่ โดยตัดยอดออกก่อน เพื่อลดการคายน้ำ ควรย้ายกล้าลงปลูกเมื่อดินมีความชื้นและฝนตกสม่ำเสมอ ปลูกให้มีระยะระหว่างต้น ๖-๗ เมตร 

แมลงที่ทำลายนุ่นให้เกิดความเสียหาย คือ ด้วงหนวดยาว มักจะเจาะทำลายบริเวณโคนต้น สูงจากพื้นดินประมาณ ๑-๒ เมตร เข้าทำลายต้นนุ่นอายุตั้งแต่ ๖ ปีขึ้นไป โดยจะวางไข่ที่ผิวของลำต้น เมื่อฟักเป็นตัว หนอนจะเจาะเข้าไปในลำต้น กัดกินทอน้ำเลี้ยง หรือท่อส่งน้ำส่งอาหาร ลงมาโคนต้น พอถึงระยะเข้าดักแด้ ก็จะลงดิน พักตัวอยู่บริเวณโคนต้น ถ้าไม่ป้องกันและกำจัดจะทำให้ต้นโทรมและตายไป ต้องป้องกันไม่ให้แมลงตัวเต็มวัยวางไข่ โดยการทาน้ำมันยาง หรือน้ำมันยางผสมสารเคมีกำจัดแมลงที่มีพิษตกค้างนานในอัตราความเข้มข้นสูง ตลอดจนฉีดพ่นสารกำจัดแมลงเข้าไปในรูที่หนอนเข้าทำลาย แล้วปิดด้วยดินหรือเศษไม้ และควรหมั่นตรวจไร่อย่างสม่ำเสมอ ถ้าหากพบต้นนุ่นถูกหนอนชนิดนี้เข้าทำลายใหม่ ๆ อาจจะใช้มีดถากบริเวณที่หนอนเข้าทำลาย แล้วจับตัวทำลายเสีย 

 

ด้วงหนวดยาว แมลงที่ทำลายนุ่นให้เกิดความเสียหายดักแด้ (ซ้าย)ตัวแก่หรือผีเสื้อ (ขวา)

 

นุ่นจะติดฝัก และให้ผลิตผลที่จะเก็บเกี่ยวครั้งแรกได้ เมื่อต้นนุ่นอายุประมาณ ๒-๔ ปี ดอกนุ่นจะทยอยบายออกไปเรื่อย ๆ จนบานหมดทั้งต้น ฝักจึงแก่ไม่พร้อมกัน ดังนั้น อย่าเก็บนุ่นที่อ่อนเกินไป จะทำให้ได้ปุยนุ่นที่มีคุณภาพต่ำ ถ้าเป็นนุ่นที่ผิวผักไม่เรียบ ต้องรอให้เห็นรอยย่นของเปลือกชัดเจน ไม่ควรเก็บนุ่นอ่อนมาปม จะแกะเปลือกออกได้ยากและได้ปุยนุ่นสีขาวอมเหลืองมาก ซึ่งมีคุณภาพไม่ดีถ้าเป็นพันธุ์ที่แก่แล้ว เปลือกไม่แตก ควรปล่อยให้แก่พร้อมกันจึงเก็บ อาจะใช้ขอเกี่ยว เขย่าต้น เอาไม้ตีฝักให้ร่วง หรือปีนต้นขึ้นไปเก็บฝักอย่าตัดกิ่งลงมาเพราะจะทำให้ผลิตผลของนุนในปีต่อไปลดลง ในปีแรกจะให้ผลิตผลของนุ่นในปีต่อไปลดลง ในปีแรกจะให้ผลิตผลมีจำนวนฝักต่อต้นประมาณ ๒๐-๓๐ ผัก และจะให้ผลิตผลไม่ต่ำกว่า ๔๐๐-๕๐๐ ฝักต่อต้น เมื่ออายุประมาณ ๑๐ ปี ผลิตผลจะเริ่มคงที่อยู่กับการดูแลรักษา นุ่นประมาณ ๑๒๐-๑๕๐ ผักจะให้ปุยประมาณ ๑ กิโลกรัม ในแต่ละฝักจะเป็นเปลือกประมาณ ๔๔% เมล็ด ๓๒% ไส้และก้าน ๗ % ปุยหรือเส้นใย ๑๗% ราคาขายทั้งฝัก กิโลกรัมละ ๔ บาท เมื่อแกะเอาเปลือกออกแล้วจะขายได้กิโลกรัมละ ๘-๑๐ บาท ในขณะที่ปุยนุ่นที่ปั่นเอาเมล็ดออกแล้วจะมีราคาประมาณกิโลกรัมละ ๓๐-๓๕ บาท 

 

ฝักนุ่นที่ยังไม่แก่จัด ซึ่งไม่ควรเก็บ (มาบ่ม) เพราะจะแกะหรือกะเทาะเปลือกได้ยาก และได้ปุยนุ่นสีขาวอมเหลืองมาก

 

เส้นใยนุ่น มีรูปยาวรี รูปทรงกระบอกกลวง ผนังบาง เรียบ และเปราะ จึงไม่ค่อยใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอพวกปั่นด้ายเหมือนกับฝ้าย เพราะฟูและเบามาก เส้นใยไม่มีลักษณะหยิกหรือหยัก ที่จะข่วยให้กลุ่มเส้นใยจับตัวกันได้ดี เมื่อปั่นหรือฟั่นเป็นเส้นด้าย มีความถ่วงจำเพาะประมาณ ๑/๔ เท่าของน้ำ
มีความยาวของเส้นประมาณ ๘-๓๐ มิลลิเมตร 

ปุยนุ่นมีคุณสมบัติอ่อนนุ่นและเบา พิเศษกว่าพืชเส้นใยอื่น ๆ คือ ไม่ดูดซับน้ำ แต่ดูดซับน้ำมัน สามารถรับน้ำหนักได้ ๓๐ เท่าตัวในน้ำทะเล จึงใช้ยัดทำเป็นเสื้อชูชีพ ทำให้ผู้สวมลอยตัวอยู่ในน้ำได้ ทางยุทธปัจจัย ก็ใช้ทำชนวนระเบิด เพราะมีคุณสมบัติไวไฟ เผาไหม้ได้เร็วมาก ทำวัสดุกันกระเทือน ยัดหมอน ที่นอนเครื่องใช้ต่าง ๆ ไส้ในฝักที่ปั่นเอาเมล็ดและปุยนุ่นออกแล้ว ก็เป็นวัสดุที่มีเซลลูโลสสำหรับใช้เพาะเห็ด เปลือกใช้ทำเชื้อเพลิง

 

 

งิ้ว (semal tree)

งิ้วเป็นพืชในสกุลบอมแบ็กซ์ (Bombax) มีลำต้นลักษณะคล้ายนุ่น ลำต้นสูงสีเทา มีดอกใหญ่สีแดง (ทางเหนือเรียกกันว่า เงี้ยว ด้วย) สีส้ม สีขาว และมีหนามที่ต้น ขณะที่นุ่นต้นเกือบเรียบ และมีหนามน้อยมาก เป็นต้นไม้เนื้ออ่อนค่อนข้างใหญ่พบขึ้นเองตามธรรมชาติ ให้ผลเมื่ออายุ ๕-๖ ปี โดยเมื่ออายุ ๑๐ ปี ให้ผลมาก กล่าวกันว่าแต่และต้นให้ปุยและเมล็ดหนักประมาณ ๕-๒๐ กิโลกรัม ออกดอกระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ หลังจากนั้น ๒-๓ เดือน ผลจากการผสมเกสรก็ให้ปุยที่เก็บได้ จึงเริ่มเก็บฝักซึ่งส่วนใหญ่เล็กกว่านุ่น แต่มักจะมีปัญหาฝักแตกให้ปุยกระจายปลิวตามลมไป งิ้วให้ปุยที่มีคุณภาพและเป็นที่นิยมกว่านุ่น เพราะเส้นใยกลวงเหมือนนุ่น คืนตัวหรือยืดหยุ่นได้ง่ายเมื่อถูกบีบหรือทับ(เมื่อใช้หนุนศีรษะ) ไม่หักป่นเหมือน ทำให้ใช้ประโยชน์ได้นานกว่า 

 

ต้นงิ้ว ลักษณะลำต้นสูง มีหนามเห็นได้ชัด


ผลหรือฝักของงิ้วค่อนข้างสั้น และไม่ค่อยอยู่รวมกันเป็นกระจุก หรือดกเหมือนนุ่น ตลอดจนติดฝักไม่ค่อยดี ช่วงการออกดอกสั้น เมื่อเปรียบเทียบกับนุ่น ซึ่งทยอยออกมาก (โดยยังพบดอกได้ในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเริ่มมีฝักขนาดโตแล้ว)

 

 

รัก (crown flower, giant milk weed, Akund floss)

รักจัดว่า เป็นวัชพืช และพืชเป็นพิษ เป็นไม้พุ่มเนื้ออ่อนอายุหลายปี ต้นขนาดย่อม ไม่สูงมากนัก ขยายพันธุ์ได้ โดยใช้เมล็ดและกิ่งปักชำ เริ่มมีดอก เมื่ออายุประมาณ ๑ ปี โดยออกดอกตามยอดของกิ่งเป็นช่อ ใน ๑ ช่อจะมีประมาณ ๑๕-๒๐ ดอก สีขาวและสีม่วง แต่ดอกมักจะร่วงหล่นไปเป็นส่วนใหญ่ ผลหรือฝักคล้ายนุ่นค่อนข้างอวบ ให้ผลดกเมื่ออายุ ๔-๘ ปี ฝักแก่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๔ เซนติเมตร ยาว ๑๐ เซนติเมตร มีรอยแตกตามแนวยาวภายในมีเส้นใย ซึ่งตรงปลายมีเมล็ดติดอยู่รวมเป็นแท่ง มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ เซนติเมตร เมื่อฝักแก่จัดจะแตกทำให้เส้นใยฟูและพองตัวกระจายออกปลิวไปตามลมเช่นเดียวกับงิ้ว ฝักจะมีเส้นใยประมาณ ๐.๗ กรัม เมล็ดประมาณ ๑ กรัม เปลือกประมาณ ๑.๓ กรัม ก้านฝักประมาณ ๐.๕ มีผู้กล่าวถึงการใช้ประโยชน์ทางด้านสิ่งทอของรักในประเทศบราซิล และอินเดีย และใช้ประโยชน์แบบปุยนุ่น 

รักมีเส้นใยยาว ๑(๓/๓๒) - ๑(๓/๑๖) นิ้ว มีการรายงานว่า ต้นรักให้ผลิตผลเส้นใยประมาณต้นละ ๑๒๕ กรัมต่อต้นต่อปี เมื่อนำไปปั่นด้ายทอผ้า ก็เกิดปัญหายุ่งยากมาก ต้องใช้ผสมกับฝ้ายในอันตราครึ่งต่อครึ่ง

 

ลักษณะใบของรัก
ดอกรักสีขาว

 

ในการปลูกรักแบบสวนผักที่มีร่องน้ำ เพื่อเก็บดอกขาย กสิกรมักพบปัญหายางจากต้นรักกัดหรือเป็นพิษต่อมือ ทำให้ระคายเคือง นอกจากนั้นในระหว่างดูแลรักษา ต้องฉีดพ่นสารกำจัดแมลงทุก ๒ สัปดาห์ สารกำจัดวัชพืชพาราควอท (paraquat) ทุก ๓ เดือน และให้ปุ๋ยยูเรียซึ้งให้ไนโตรเจนทุก ๒ เดือน ถึงแม้จะให้ดอกดกในบางระยะ และมีการปล่อยดอกติดกับต้นไว้ แต่ก็ติดฝักน้อยคือ เพียง ๑๐ ฝักต่อต้น

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow