Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ปัญหาของระบบตลาดสินค้าเกษตร

Posted By Plookpedia | 05 ก.ค. 60
1,095 Views

  Favorite

ปัญหาของระบบตลาดสินค้าเกษตร

      มองจากภาพรวมแล้วปัญหาที่ต้องปรับปรุงระบบตลาดสินค้าเกษตรมีอยู่อีกมากซึ่งถ้าปรับปรุงได้จะทำให้สังคมส่วนรวมได้รับประโยชน์ผู้ผลิตจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นผู้บริโภคจะมีสินค้าที่มีคุณภาพดีและราคาพอสมควร ผู้ทำหน้าที่การตลาดก็จะได้รับผลตอบแทนคุ้มค่า สรุปได้ว่าถ้าได้รับการปรับปรุงแล้วผลดีจะเกิดขึ้นกับทุกฝ่ายปัญหาที่สำคัญ ๆ มีดังนี้ 
      ๑. ไม่มีการซื้อขายตามคุณภาพสินค้า ในปัจจุบันการซื้อขายในระดับการส่งออกมีการกำหนดราคาตามคุณภาพเพราะผู้ซื้อในตลาดต่างประเทศและในระดับผู้บริโภคในเมืองใหญ่ต้องการสินค้าบางชนิด มีการซื้อขายตามคุณภาพแต่เป็นคุณภาพที่คัดกันเองโดยพ่อค้าขายส่งหรือพ่อค้าปลีก แต่ขาดหลักเกณฑ์ที่แน่นอนหรืออาจจะมีแต่ไม่เป็นระบบและใช้เฉพาะตลาดระดับหนึ่งแต่ยังไม่มีการปฏิบัติในระดับไร่นา สินค้าแทบทุกชนิดพ่อค้าซื้อจากเกษตรกรโดยอาศัยคุณภาพเฉลี่ยหรือราคาเฉลี่ยผู้ที่เสียประโยชน์มากที่สุดก็ คือ ผู้ผลิต 
      ๒. ขาดหน่วยที่ใช้ชั่ง ตวง วัด ที่เป็นมาตรฐานในตลาดทุกระดับ มีทั้งซื้อขายโดยยึดน้ำหนัก เช่น เป็นกิโลกรัมหรือยึดปริมาตร เช่น ตวงกันเป็นถัง ถังเองก็มีทั้งที่เป็นมาตรฐานและภาชนะที่ใช้เฉพาะในท้องถิ่น แต่ละระดับตลาดก็ใช้ไม่เหมือนกัน เช่น การซื้อข้าวในระดับไร่นาใช้ตวงเป็นถังซึ่งขนาดถังก็ไม่เท่ากันระดับพ่อค้าขายส่งใช้หน่วยเป็นหาบ (หาบหนึ่งมี ๖๐ กิโลกรัม) ระดับส่งออกและขายปลีกมีทั้งชั่งเป็นกิโลกรัมและมีตวงเป็นลิตรสินค้าอื่น ๆ ก็เช่นกัน การใช้หน่วยวัดต่างกันในตลาดแต่ละระดับจะทำให้มีผู้ได้เปรียบและเสียเปรียบ 

 

เครื่องชั่งข้าว
เครื่องชั่งข้าว


      ๓. เกษตรกรยังขาดข้อมูลข่าวสารการตลาด พ่อค้าคนกลาง เช่น ผู้ส่งออกและพ่อค้าขายส่งรายใหญ่ สามารถจัดหาข่าวสารการตลาดได้เองเพราะมีผู้ให้บริการในเรื่องนี้อยู่แล้วแต่เกษตรกรรายย่อยไม่อาจจะจัดหาได้เพราะเป็นบริการที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายรัฐบาลจึงต้องจัดหาให้ แต่ก็ทำได้จำกัดเพียงแต่ประกาศราคาสินค้าทางวิทยุหรือทางโทรทัศน์ผู้ผลิตยังไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ ข่าวสารการตลาดที่จะได้ประโยชน์นอกจากจะต้องบอกภาวะตลาดในปัจจุบันแล้วยังต้องคาดคะเนเหตุการณ์ในอนาคตได้ด้วยเพื่อเกษตรกรจะได้ตัดสินใจวางแผนการผลิตและการขายได้ 
     ๔. เนื่องจากเกษตรกรผู้ผลิตแต่ละรายมีสินค้าเหลือขายไม่มากและกระจัดกระจายกันไปในแหล่งผลิตและห่างไกลจากแหล่งซื้อขายหลัก ประกอบกับส่วนใหญ่ขายทันทีหลังเก็บเกี่ยวโอกาสที่เกษตรกรจะขายได้ตามราคาตลาดในขณะนั้นและตามคุณภาพของสินค้ามีน้อยเพราะเกษตรกรแต่ละคนไม่มีโอกาสทราบว่า ราคาตลาดจริง ๆ เป็นอย่างไรนอกจากผู้ซื้อจะบอกการปรับปรุงในเรื่องนี้ทำได้ในหลายลักษณะ เช่น พยายามที่จะให้มีแหล่งซื้อขายในท้องที่ ที่จะให้ผู้ผลิตนำสินค้ามาขายและมีผู้ซื้อหลายคนก็คิดว่าราคาที่ซื้อขายจะเป็นธรรมมากขึ้น การปรับปรุงอีกอย่างหนึ่ง คือ ให้เกษตรกรรวมเป็นกลุ่ม อาจจะเป็นในรูปของสหกรณ์หรือในรูปของกลุ่มเกษตรกรเพื่อให้กลุ่มรวบรวมผลิตผลให้มีปริมาณมากพอแล้วนัดหมายกับผู้ซื้อให้มาตกลงราคาซื้อขายแต่ในทางปฏิบัติยังทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่
      การปรับปรุงในเรื่องข้างต้นแต่ละฝ่ายต่างก็มีบทบาทได้ ผู้ผลิตเองก็ทำได้โดยคัดและแยกสินค้าตามคุณภาพก่อนขาย  คนกลางมีหน้าที่ต้องทำอยู่แล้วถ้าผู้บริโภคต้องการผู้บริโภคเองก็มีบทบาทที่จะแสดงให้พ่อค้าคนกลางได้ทราบว่าต้องการบริการตลาดอะไรบ้าง เช่น ถ้าอยากได้สินค้าคุณภาพดีก็ต้องจ่ายเงินซื้อแพง การปรับปรุงส่วนหนึ่งรัฐบาลต้องดำเนินการ เช่น ในเรื่องสร้างถนนหนทาง การสื่อสารคมนาคม การออกระเบียบและข้อบังคับรวมทั้งดูแลให้มีการปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ด้วย

 

การเกษตร
ผลิตภัณฑ์จากโครงการหลวงตราดอยคำ

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow