Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ปัจจัยที่มีผลต่อระบบการตลาดสินค้าเกษตร

Posted By Plookpedia | 05 ก.ค. 60
3,960 Views

  Favorite

ปัจจัยที่มีผลต่อระบบการตลาดสินค้าเกษตร

      ระบบการตลาดสินค้าเกษตรเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเหตุผลสำคัญก็ คือ ความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนไปทำให้การผลิตเปลี่ยนไปด้วยนอกจากนี้สินค้าบางชนิดต้องการรูปแบบการตลาดเฉพาะ เช่น สินค้าที่เน่าเสียง่าย การพัฒนาระบบการผลิตและการตลาดจึงเปลี่ยนไป คือ แทนที่จะปลูกแล้วขายให้ใครก็ได้แต่เพื่อสร้างความมั่นใจกับผู้ผลิตว่าผลิตแล้วขายได้และทางฝ่ายผู้ซื้อแน่ใจว่า จะมีสินค้าพอกับความต้องการจึงมีการตลาดแบบใหม่เกิดขึ้นที่เรียกว่า ตลาดแบบมีข้อตกลง ซึ่งจะอธิบายในแต่ละข้อดังนี้ 

การเปลี่ยนแปลงด้านการผลิต

      การผลิตสินค้าเกษตรเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเพราะความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนมีการผลิตสินค้าใหม่  เมื่อ ๒๐ ปีก่อนพืชหลักก็มี ข้าว ข้าวโพด ปอ ต่อมามีมันสำปะหลัง อ้อย การเลี้ยงโคนม กาแฟ พืชน้ำมันก็มี เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ปาล์ม น้ำมัน มีผักและผลไม้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความต้องการของตลาดเปลี่ยนไปผู้บริโภคเมื่อมีการศึกษาสูงขึ้นมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยทั่วไปจะบริโภคอาหารจำพวกแป้งน้อยลงแต่จะบริโภคอาหารประเภทผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ นม และผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้น ถ้าพิจารณาสาขาเกษตรซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมที่สำคัญ ๖ หมวด คือ ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ประมง ป่าไม้ การให้บริการในทางเกษตร เช่น รับจ้างไถ รับจ้างนวดข้าว และบริการแปรรูปอย่างง่าย เช่น จัดแยกสินค้าตามคุณภาพ การคัดสินค้า ความสำคัญของแต่ละหมวดเปลี่ยนแปลงไปมากในรอบ ๒๐ ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.๒๕๑๐ - ๒๕๓๑) สัดส่วนของมูลค่าการผลิตพืชมีแนวโน้มลดลง  ขณะที่มูลค่าการเลี้ยงสัตว์และบริการการแปรรูปเพิ่มขึ้น  กิจกรรมด้านป่าไม้ลดลงเพราะป่าไม้และผลิตภัณฑ์ป่าลดลง เช่นเดียวกับการประมงเพราะปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติลดลง 

 

ไร่ปอ
ไร่ปอ

 

ข้าว
ข้าว


      ถ้าจะดูมูลค่ารวมของพืชที่ปลูกสัดส่วนความสำคัญของพืชแต่ละชนิดเปลี่ยนไปมาก เช่น ในช่วง พ.ศ.๒๕๑๐-๒๕๓๑ ข้าวซึ่งเป็นพืชหลักมีสัดส่วนประมาณร้อยละ ๔๗ ของมูลค่าการผลิตพืช ในช่วง พ.ศ.๒๕๑๐ เหลือเพียงร้อยละ ๓๓ ในพ.ศ.๒๕๓๑ พืชไร่ เช่น ปอ ข้าวโพด มันสำปะหลัง มีสัดส่วนลดลงไม้ยืนต้นทั้งยางพาราและไม้ผลมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ผัก ผลไม้ และไม้ตัดดอก รวมทั้งผักและผลไม้ที่เป็นวัตถุดิบในโรงงานแปรรูป เช่น สับปะรด ข้าวโพดฝักอ่อน มะเขือเทศ มีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มขึ้น การที่มีสินค้าใหม่เกิดขึ้นก็เท่ากับระบบตลาดของสินค้าชนิดนั้นก็ต้องพัฒนาขึ้นซึ่งจะมีลักษณะพิเศษต่างกับสินค้าเดิม

 

การเกษตร
เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น ประชาชนจะบริโภคอาหารประเภทนมและเนื้อเพิ่มขึ้น

 

การเกษตร
ผลิตผลการเกษตรที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกร :ต้นปาล์มน้ำมัน 

 

การเกษตร
ผลิตผลการเกษตรที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกร :ไม้ตัดดอก

 

ลักษณะการผลิตและการจำหน่ายของเกษตรกร 

      สินค้าเกษตรนอกจากจะมีลักษณะพิเศษต่างจากสินค้าอื่นแล้ว เช่น เน่าเสียง่ายเป็นสินค้าวัตถุดิบ คือ ต้องนำไปแปรรูปปริมาณการผลิตและคุณภาพไม่สม่ำเสมอยังมีลักษณะพิเศษอีกหลายประการที่ทำให้ระบบตลาดสินค้าเกษตรต่างจากสินค้าอื่นและสินค้าแต่ละชนิดก็ต่างกันลักษณะพิเศษที่สำคัญมี ดังนี้ 
๑. สินค้าเกษตรผลิตโดยเกษตรกรรายย่อยและกระจัดกระจาย
      นั่นก็คือปริมาณการผลิตและปริมาณสินค้าที่เหลือขายมีไม่มากและกระจัดกระจาย พืชหรือสินค้าแต่ละชนิดมีปลูกและมีขายเกือบทั่วทุกจังหวัดจากครัวเรือนเกษตรกรประมาณ ๕.๒ ล้านครัวเรือน แต่ละครัวเรือนอาจจะขายพืชผลบางชนิดแต่ละชนิดคุณภาพก็ต่างกันมีทั้งข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวเจ้าเองก็มีหลายพันธุ์ แต่ละพันธุ์ก็ต่างกันทั้งความยาวของเมล็ด คุณภาพในการสี คุณภาพในการหุงต่างกัน 
      ตัวอย่าง เกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ทำนาเป็นอาชีพหลัก  มีข้าวเหลือขายครัวเรือนละประมาณ ๔ เกวียน หรือ ๔ ตัน (ประมาณ ๔,๐๐๐ กิโลกรัม) ทำให้การตลาดในระดับไร่นากระจัดกระจายกันเกือบทั้งประเทศ มีผู้รับซื้อในทุกหมู่บ้าน ปริมาณขายของเกษตรกรแต่ละคนมีไม่มากพอที่จะขนส่งไปขายให้กับโรงสีได้

 

ชาวนา
ชาวนา


๒. เกษตรกรขายพืชผลทันทีหลังเก็บเกี่ยว 
      เหตุผลเนื่องจากต้องการเงินสดสำหรับค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและจ่ายค่าปัจจัยการผลิตประกอบกับขาดที่เก็บรักษาทำให้ต้องรีบขายทันที เช่น ข้าวนาปี ประมาณครึ่งหนึ่งของยอดขายจะขายในเดือนมกราคม-มีนาคม ประมาณร้อยละ ๖๐ ของข้าวนาปรังจะขายในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ประมาณร้อยละ ๗๓ ของกระเทียมที่ปลูกในภาคเหนือจะขายในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน การที่สินค้าออกสู่ตลาดมากทำให้การกระจายสินค้าของพ่อค้าทำได้ไม่ทันเพราะพ่อค้าคนกลางต้องมียุ้งฉางเก็บบางทีก็รับซื้อได้ไม่หมดทำให้ราคาต่ำในฤดูเก็บเกี่ยว  เกษตรกรส่วนใหญ่จะขายพืชผลในไร่นา หรือถ้าขายข้าวเรียกว่า ขาย "หน้าลาน" คือ เก็บเกี่ยวเสร็จนวดและขายโดยไม่มีการขนเข้าเก็บในยุ้งมีจำนวนน้อยที่นำไปขายยังตลาดหรือโรงสีและมีเป็นจำนวนไม่น้อยที่ขายไปล่วงหน้าหรือเรียกว่า "ขายเขียว" ซึ่งมีปฏิบัติกันมากในเรื่องของผลไม้ เช่น เงาะ ลำไย ทุเรียน โดยพ่อค้าจะไปติดต่อขอซื้อเหมาหลังจากทราบคร่าว ๆ ว่าผลิตผลมีเท่าใดตกลงซื้อขายกันแล้วชำระเงินให้ส่วนหนึ่งแล้วให้เกษตรกรเป็นผู้ดูแลผลิตผลจนกว่าจะถึงเวลาเก็บเกี่ยว
      ลักษณะการผลิตและการเก็บเกี่ยวข้างต้นมีผลทำให้การตลาดสินค้าแต่ละชนิดแตกต่างกันออกไปและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทำให้มีผู้ซื้อมากในระดับไร่นา  สินค้าที่ขายอาจยังมีคุณภาพไม่ดี เพราะเพิ่งเก็บเกี่ยวเสร็จแต่ต้องรีบขายทำให้พ่อค้าต้องเสียค่าใช้จ่ายและเสี่ยงในเรื่องคุณภาพสินค้าจะลดความเสี่ยงก็โดยรับซื้อในราคาต่ำไม่ซื้อตามคุณภาพและอาจหาทางเอารัดเอาเปรียบในเรื่องชั่ง ตวง วัด

 

การเกษตร
ส้มเขียวหวานเป็นพืชผลชนิดหนึ่งที่มีการขายเขียว

 

การเกษตร
การขนส่งส้มเขียวหวานออกจากสวน

 

 

พืช ผัก ผลไม้ ที่วางขายตามตลาด
พืช ผัก ผลไม้ ที่วางขายตามตลาด 

 

รสนิยมและความต้องการของผู้บริโภค 

      ความต้องการของผู้บริโภคในระดับขายปลีกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น  นิยมการซื้ออาหารในร้านที่ทันสมัยและมีเครื่องปรับอากาศอาหารแต่ละชนิดแปรรูปมา พร้อมที่จะนำไปปรุงอาหารได้เลย เช่น ไก่สับเป็นชิ้น ๆ หรือมีเครื่องปรุงบรรจุถาดสำหรับนำไปปรุงได้ทันที ผักและผลไม้ต้องมีคุณภาพดีมีการบรรจุกล่อง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ระบบตลาดสินค้าต้องเปลี่ยนตามไปด้วย เช่น ต้องมีการแปรรูป การบรรจุ คัดเลือกสินค้าแยกตามคุณภาพ สุดท้ายจะสะท้อนไปถึงผู้ผลิตโดยตรงว่าสินค้าอะไรที่ตลาดต้องการ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่อาจจะคาดการณ์ได้ขึ้นกับรายได้และรสนิยมสภาพแวดล้อมในการทำงานและที่อยู่อาศัย  กรณีตัวอย่างข้างต้นเท่ากับว่าผู้บริโภคต้องการบริการในการตลาดเพิ่มขึ้นและผู้บริโภคต้องจ่ายค่าบริการเหล่านี้เวลาซื้อสินค้ามา

ทัศนคติและค่านิยมของผู้บริโภค 

      ความนึกคิดของผู้บริโภคมีความสำคัญมากในระบบตลาดซึ่งก็คล้าย ๆ กับเรื่องรสนิยมของผู้บริโภคแต่เป็นเรื่องความรู้สึกนึกคิดและค่านิยมว่าควรจะเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ สินค้าดีน่าจะมีลักษณะอย่างนั้น ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งคิดว่าผลไม้หรือผักที่ซื้อมาควรจะมีคุณภาพดี สวยงาม ขนาดต้องสม่ำเสมอ ไม่มีรอยตำหนิ แม้ราคาแพงก็จะซื้อแต่ผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งกลับเห็นว่าไม่จำเป็นเพราะคุณภาพไม่ต่างกันขอให้ราคาไม่แพงก็ใช้ได้ทำให้ระบบตลาดเปลี่ยนไป  กลุ่มแรกต้องการของมีคุณภาพดีไม่เน่าเสีย ขนาดผลเท่ากัน ผิวของผลไม้ต้องสวย อาจจะต้องล้างทำความสะอาดตบแต่งให้แลดูสวยงามแต่อีกกลุ่มหนึ่งสิ่งเหล่านั้นไม่จำเป็น  ดังนั้นจะเห็นว่ามิใช่แต่บริการการตลาดในระดับขายปลีกจะต่างกันแต่จะต่างกันตั้งแต่ผู้ผลิต การบรรจุ การขนส่ง ค่านิยมของผู้บริโภค เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบตลาดเปลี่ยนแปลง

ลักษณะพิเศษของตลาดสินค้าบางชนิด 

      สินค้าเกษตรแต่ละชนิดปกติจะดำเนินการไปโดยกลไกการตลาดแต่ก็มีสินค้าหลายชนิดไม่ได้ดำเนินการไปเองแต่ถูกแทรกแซงโดยรัฐบาลอาจจะกำหนดกฎเกณฑ์การซื้อขายหรือรัฐบาลต้องจัดระเบียบการตลาดสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ระบบตลาดเปลี่ยนไปจากที่ควรจะเป็น เช่น การที่รัฐบาลไทยมีข้อตกลงกับตลาดประชาคมยุโรป (ซึ่งเป็นตลาดรับซื้อสินค้ามันเส้นจากประเทศไทยเกือบทั้งหมด) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นต้นมา  ให้ประเทศไทยส่งมันสำปะหลังไปจำหน่ายได้ไม่เกินปีละประมาณ ๕.๒๕ ล้านตัน ทำให้รัฐบาลต้องจัดสรรว่าจากจำนวนดังกล่าวผู้ส่งออกรายใดจะส่งออกได้มากน้อยแค่ไหน  ประกอบกับไม่มีการใช้มันเส้นเป็นอาหารสัตว์ในประเทศทำให้ระบบตลาดมันสำปะหลังมีลักษณะพิเศษเมื่อเกษตรกรขายเป็นหัวมัน  โรงงานมันเส้นก็จะแปรรูปหัวมันเป็นมันเส้นแล้วโรงงานมันอัดเม็ดจะผลิตมันอัดเม็ดเกือบตลอดปี  ขณะที่เกษตรกรจะขุดหัวมันขายเป็นช่วง ๆ เหมือนสินค้าเกษตรอื่น ๆ อีกตัวอย่างหนึ่ง  คือ กรณีตลาดน้ำตาลทรายซึ่งจัดระบบตลาดแบบแบ่งผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่และแรงงานในสัดส่วน ๗๐ : ๓๐ ระบบตลาดภายในและตลาดส่งออกจึงถูกกำหนดว่าจะขายตลาดภายในประเทศจำนวนเท่าใด ราคากิโลกรัมละเท่าใด และการส่งออกจะแบ่งกันอย่างไร ระหว่างกลุ่มโรงงานต่าง ๆ ดังนั้นระบบตลาดน้ำตาลจึงต่างกับสินค้าอื่น ๆ
      ตัวอย่างระบบตลาดข้าวเปลือก เมื่อเกษตรกรเกี่ยวข้าวและนวดเสร็จแล้วก็จะขายให้กับพ่อค้าในพื้นที่แล้วนำไปขายให้กับโรงสี โรงสีนำไปตากแล้วเก็บ เมื่อได้ปริมาณพอและตลาดมีความต้องการ ก็จะสีเป็นข้าวสารแล้วขายต่อให้กับพ่อค้าขายส่งหรือนายหน้าที่ซื้อข้าวสารสำหรับผู้ส่งออก ผู้ขายส่งภายในก็ส่งต่อให้กับพ่อค้าปลีกแล้วจำหน่ายให้กับผู้บริโภค  
      เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำนมสดจะต่างกันเพราะเมื่อเกษตรกรรีดนมแล้วซึ่งปกติรีดวันละ ๒ เวลา คือ ตอนเช้าและตอนเย็น เมื่อรีดเสร็จก็นำน้ำนมส่งให้กับสหกรณ์หรือศูนย์รวมนมในพื้นที่ทันทีซึ่งศูนย์รวมนี้จะมีอุปกรณ์ห้องเย็นเก็บรักษาน้ำนมที่อุณหภูมิต่ำ เมื่อได้มากพอแล้วจึงส่งให้โรงงานแปรรูปเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มต่อไป ผู้ที่ทำหน้าที่ในการตลาดน้ำนมสดจึงมีน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับข้าวเปลือกต้องขนส่งน้ำนมทันทีเพราะจะเน่าเสียขณะที่ข้าวเปลือกเก็บรักษาไว้ได้เป็นปี 

 

การรีดนม
การรีดนม

การแทรกแซงของรัฐบาล 

      แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วการตลาดสินค้าเกษตรในประเทศไทยจะดำเนินการโดยธุรกิจเอกชน  รัฐบาลมีบทบาทน้อยมากจะมีก็แต่เฉพาะให้บริการด้านปัจจัยพื้นฐาน เช่น ให้บริการข่าวสารการตลาดและราคา สร้างถนนหนทางและท่าเรือและอื่น ๆ แต่ก็มีเหมือนกันที่รัฐบาลออกแทรกแซงการตลาด คือ แทนที่จะปล่อยให้ตลาดดำเนินการไปเองรัฐบาลจะออกไปรับซื้อซึ่งมีไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับความเดือดร้อนของเกษตรกร บางปีอาจจะให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรออกรับจำนำข้าวเปลือก ปริมาณที่ออกรับซื้อมีน้อยไม่ถึงกับทำให้ระบบการตลาดเปลี่ยนแปลงไป แต่ก็มีส่วนให้ระบบการตลาดในปีนั้นเปลี่ยนไปจากที่ควรจะเป็นบ้าง

การเปลี่ยนแปลงของระบบตลาด

      อุตสาหกรรมแปรรูปจะต้องทำต่อเนื่อง เช่น การผลิตอาหารสัตว์ต้องใช้วัสดุอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพดในปริมาณที่แน่นอนและตลอดทั้งปี  โรงงานแปรรูปอาหารกระป๋องที่ต้องการวัตถุดิบตลอดทั้งปีปัญหาของโรงงานเหล่านี้ก็ คือ ทำอย่างไรจึงมีวัตถุดิบเพียงพอตลอดปี เกษตรกรผู้ผลิตเองก็มีปัญหาในการขายพืชผลเหล่านี้เพราะบางปีราคาแพง บางปีราคาต่ำ จึงได้มีรูปแบบการตลาดอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า ตลาดแบบมีข้อตกลง ผู้ซื้อจะรับซื้อสินค้าในราคาที่ตกลงกันซึ่งอาจจะต่ำกว่าราคาตลาดบ้างเล็กน้อยหรือรับซื้อตามราคาตลาด แต่ผู้ผลิตก็มีความมั่นใจว่าผลิตแล้วขายได้ในราคาที่กำหนด ขณะเดียวกันผู้ผลิตก็ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้รับซื้อ เช่น ในเรื่องการใช้ปุ๋ยการใช้ยาปราบศัตรูพืชระยะเวลาที่ทำการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว เช่น ข้าวโพดฝักอ่อนต้องปลูกปีละ ๔-๕ รุ่น ส่วนมากผู้รับซื้อจะจัดหาปัจจัยการผลิตให้ผู้ผลิต การตลาดแบบมีข้อตกลงจะมีมากขึ้นในอนาคต เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผัก ข้าวโพดฝักอ่อน และมะเขือเทศ สำหรับโรงงานแปรรูประบบตลาดของสินค้าเหล่านี้จึงไม่สลับซับซ้อนเหมือนสินค้าทั่วไปเก็บเกี่ยวแล้วก็จัดส่งจำหน่ายให้ผู้รับซื้อที่มีข้อตกลงกันอาจจะโดยตรงหรือผ่านผู้รวบรวมในท้องถิ่น
     ระบบตลาดโดยมีข้อตกลงมิใช่จะมีแต่การปลูกพืช การเลี้ยงไก่กระทงในปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๓๕) แทบทั้งหมดก็เลี้ยงโดยอาศัยระบบตลาดแบบนี้  ผู้รับซื้อไก่เป็นจะจัดพันธุ์ อาหาร ยารักษาสัตว์ให้กับผู้เลี้ยงที่มีข้อตกลง ผู้เลี้ยงไก่ต้องปฏิบัติตามข้อแนะนำ เมื่อถึงกำหนดก็จะส่งไก่ให้กับโรงชำแหละของผู้ซื้อตามราคาที่ตกลงกัน  ตัวอย่างสาเหตุที่ทำให้ระบบตลาดเปลี่ยนแปลงบางคราวก็ยากที่จะแยกออกมาพิจารณาในแต่ละเรื่องเพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลพร้อมกันต่อไปในอนาคตอาจจะมีปัจจัยอย่างอื่นเพิ่มอีกก็ได้

 

โรงงานผลิตอาหารสัตว์
โรงงานผลิตอาหารสัตว์

 

การเกษตร
ข้าวโพดฝักอ่อน (สำหรับนำมาประกอบอาหาร)

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow