Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ปัญหาการตลาดและความหมาย

Posted By Plookpedia | 05 ก.ค. 60
953 Views

  Favorite

ปัญหาการตลาดและความหมาย

      ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ประจำทุกปีก็  คือ ราคาพืชตกต่ำและให้รัฐบาลเข้าไปแก้ไขเพราะราคาที่ขายได้ต่ำไม่คุ้มต้นทุนการผลิต พืชผลที่เคยมีปัญหา เช่น ข้าว ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน กาแฟ ยางพารา พริกไทย หอมหัวใหญ่ และกระเทียม สิ่งที่รัฐบาลทำได้ก็เช่นจัดหาเงินมาก้อนหนึ่งแล้วออกไปรับซื้อพืชผลดังกล่าวบ้างเล็กน้อยหรือให้สถาบันการเงินออกรับจำนำหรือให้เงินกู้แก่เกษตรกรโดยเอาพืชผลจำนำไว้  เมื่อราคาสูงขึ้นจึงจะไถ่ถอนจำนำแล้วขายและใช้หนี้เงินกู้ถ้าเป็นสินค้าที่ส่งออกจำหน่ายยังต่างประเทศรัฐบาลก็อาจจะเร่งหาตลาดต่างประเทศซึ่งทั้งหมดเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในปีต่อไปเหตุการณ์นี้ก็อาจจะเกิดขึ้นอีก  ตัวอย่างข้างต้นเป็นปัญหาหนึ่งของตลาดสินค้าเกษตรเหตุผลที่ราคาต่ำอาจจะเนื่องมาจากเพราะสินค้าออกสู่ตลาดพร้อมกันมาก สินค้ามีมากเกินความต้องการของตลาดหรือถ้าเป็นสินค้าส่งออก อาจเป็นเพราะราคาในตลาดต่างประเทศต่ำเหตุเพราะปริมาณสินค้ามีมากหรือความต้องการของตลาดชะลอตัวหรือสินค้าที่เกษตรกรไทยผลิตมีคุณภาพไม่ตรงกับที่ตลาดต้องการก็ได้

 

การเกษตร
เกษตรกรกำลังตกแต่งและคัดกะหล่ำปลี


      ปัญหาดังกล่าวหรือปัญหาการตลาดจะไม่มีถ้าผลิตสินค้าขึ้นมาเพื่อบริโภคเองหรือผู้ผลิตที่อาศัยในหมู่บ้านเดียวกันจะผลิตสินค้าขึ้นมาแล้วแลกเปลี่ยนกันเพราะทราบว่าต้องการสินค้าอะไรก็ผลิตสินค้านั้นขึ้นมา บางอย่างถ้าผลิตไม่ได้ก็สามารถเอาของที่ผลิตได้มากไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้านได้ แต่ภาวะเศรษฐกิจและสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปทำให้ไม่อาจปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ไว้บริโภคเองหรือแลกเปลี่ยนระหว่างเพื่อนบ้านดังแต่ก่อนได้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมี ๓ ประการ คือ 
      ๑. ผู้ผลิตและผู้บริโภคอยู่ห่างไกลกันอยู่คนละจังหวัด คนละภูมิภาค หรือคนละประเทศ
      ๒. สินค้าผู้บริโภคต้องการแม้จะเป็นสินค้าประเภทเดียวกัน แต่ลักษณะสินค้าเปลี่ยนแปลงไปและเปลี่ยนตลอดเวลา เช่น เกษตรกรขายข้าวเปลือกแต่ผู้บริโภคต้องการข้าวซ้อมมือบรรจุถุงละหนึ่งกิโลกรัม เกษตรกรเลี้ยงไก่ขายไก่แต่ผู้บริโภคซื้อไก่ชำแหละเป็นชิ้นหรือที่นำไปบริโภคได้เลย เช่น ไก่อบ ไก่ย่าง 
      ๓. สินค้าเกษตรแทบทุกชนิดโดยเฉพาะการปลูกพืชทำได้เฉพาะบางฤดูกาลมิใช่ปลูกได้ตลอดปีแต่ผู้บริโภคต้องการตลอดทั้งปี คือ ผู้บริโภคสามารถซื้อหาจากร้านขายปลีกทุกวันตลอดปีจะซื้อเวลาใดก็ได้ 
       ทำอย่างไรจึงจะจัดหาสินค้าและบริการประเภทอาหารซึ่งผลิตโดยผู้ผลิตและอยู่ห่างจากผู้บริโภค ในรูปแบบและลักษณะสินค้าและในช่วงระยะเวลาที่ผู้บริโภคต้องการนี่  คือ ภาระหน้าที่ของการตลาดสินค้าเกษตร การตลาดจึงหมายถึงการดำเนินการทุกชนิดในการนำสินค้าและบริการจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค
      คำอธิบายข้างต้นอาจทำให้มองเห็นว่าการตลาดทำหน้าที่เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคเพราะการที่ผู้ผลิตผลิตสินค้าก็เพื่อขายให้กับผู้บริโภค ผู้บริโภคต้องการสินค้าใดก็ต้องผลิตสินค้าชนิดนั้นหรือที่เข้าใจกันว่าผู้บริโภค คือ พระราชา แต่ขณะเดียวกันก็มีความสำคัญอย่างมากต่อผู้ผลิตเพราะผลิตขึ้นมาแล้วก็ต้องมีตลาดหรือมีผู้ซื้อซึ่งมิใช่ซื้อไปเพื่อบริโภคเองเท่านั้นแต่ส่วนใหญ่ซื้อเพื่อขายต่ออีกหลายทอดจนสุดท้ายเพื่อขายต่อให้แก่ผู้บริโภค  ดังนั้นราคาที่ผู้ผลิตได้รับควรที่จะสะท้อนถึงความต้องการของผู้บริโภคถ้าผู้บริโภคมีความต้องการมากราคาก็ควรจะสูงหรือถ้าไม่ต้องการราคาก็ควรจะต่ำซึ่งถ้าหากตลาดไม่ได้ทำหน้าที่ผลิตผลของเกษตรกรก็ไม่มีค่า  โอกาสที่จะเพิ่มรายได้ของเกษตรกรจึงทำได้ยากหากมองในแง่การตลาดสินค้าเกษตรก็มีความสำคัญต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก

 

การเกษตร
สินค้าที่ผู้บริโภคต้องการตลอดทั้งปีสามารถซื้อหาจากร้านขายปลีกได้  

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow