Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

‘เทสโก้โลตัส’ ประกาศเลิกทิ้งอาหารที่ยังกินได้ ปรุงให้ผู้ด้อยโอกาส จัดระบบบริจาคคนยากไร้

Posted By Do Good | 05 ก.ค. 60
4,262 Views

  Favorite

‘เทสโก้โลตัส’ ประกาศเลิกทิ้งอาหารที่ยังกินได้
ปรุงให้ผู้ด้อยโอกาส – จัดระบบบริจาคคนยากไร้
 

ภาพ : แฟนเพจ สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreenNews


เทสโก้ โลตัส ประกาศเลิกทิ้งอาหารที่ยังทานได้ ลุยนำหน้าบริจาคของสดขายไม่หมด มอบผู้ยากไร้-ใช้ประโยชน์ ตั้งเป้า 23 สาขาหลักก่อนขยายทั่วประเทศ เผยข้อมูลอาหารโลก 1 ใน 3 ถูกทิ้งลงถัง

เทสโก้ โลตัส เปิดตัวโครงการ “กินได้ ไม่ทิ้งกัน” เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2560 โดยประกาศเจตนารมณ์ไม่ทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้ พร้อมเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกรายแรกในประเทศไทย ที่จะบริจาคอาหารสดที่จำหน่ายไม่หมดให้ผู้ยากไร้ทุกวัน ตั้งเป้าเริ่มต้นจากไฮเปอร์มาร์เก็ต 23 สาขาในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ก่อนขยายสู่ทุกสาขาใหญ่ทั่วประเทศในอนาคต เพื่อจุดกระแสลดวิกฤติขยะที่มาจากอาหาร (Food Waste) ลดการสูญเสียและทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

 

มร.จอห์น คริสตี้ ประธานกรรมการบริหาร เทสโก้ โลตัส เปิดเผยว่า การตระหนักถึงความรับผิดชอบและบทบาทของเทสโก้ โลตัส ที่จะช่วยลดปริมาณขยะที่มาจากอาหาร จึงได้ประกาศเจตนารมณ์ในการเป็นผู้นำลดการทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้ โดยเทสโก้ในสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นผู้นำร่องโครงการ ประกาศว่าภายในปี 2560 ร้านค้าของเทสโก้ในสหราชอาณาจักรทุกสาขาจะไม่ทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้ พร้อมบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดให้กับองค์กรการกุศลและกลุ่มชุมชนกว่า 5,000 องค์กร เพื่อนำไปประกอบเป็นอาหารให้กับผู้ยากไร้

“สำหรับประเทศไทย เทสโก้ โลตัส ภูมิใจที่จะเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกรายแรกที่ประกาศเจตนารมณ์นี้ ภายใต้โครงการกินได้ ไม่ทิ้งกัน พร้อมรณรงค์ให้ลูกค้า พนักงาน และประชาชน ร่วมกันบริโภคอาหารอย่างรับผิดชอบ ทั้งนี้เราได้เริ่มบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดให้กับผู้ยากไร้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา อาทิ ข้าวสาร ผักและผลไม้สด อาหารแห้ง ซึ่งได้ถูกเปลี่ยนเป็นมื้ออาหารให้ผู้ด้อยโอกาสถึงเกือบ 1 ล้านมื้อ” มร. คริสตี้ กล่าว

 

นายชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองประธานกรรมการ แผนกสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า จากการเรียนรู้ที่ผ่านมาพบว่าการลด Food Waste สามารถบริหารจัดการได้เป็น 3 ช่วง เริ่มตั้งแต่การรับซื้อผลผลิตโดยตรงระหว่างเกษตรกรกับโทสโก้ โลตัส ช่วยให้เกษตรกรสามารถวางแผนการเพาะปลูกตรงตามความต้องการของตลาด ลดปัญหาผลผลิตล้นจนกลายเป็นขยะ นอกจากนี้ยังร่วมกันพัฒนาบรรจุภัณฑ์และการขนส่งที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันการสูญเสียระหว่างทาง

สำหรับสินค้าภายในร้าน เทสโก้ โลตัส ได้ดูแลการจัดเก็บอาหารสดอย่างเหมาะสมเพื่อลดการสูญเสีย ณ จุดขาย โดยสินค้าที่ไม่อยู่ในสภาพสมบูรณ์แต่ยังรับประทานได้จะถูกนำมาลดราคา ซึ่งนอกจากจะช่วยลดขยะแล้วยังช่วยลดค่าครองชีพของลูกค้าได้อีกด้วย แต่หากยังคงมีสินค้าที่จำหน่ายไม่หมด พนักงานจะทำการคัดแยกสินค้าที่ยังคงอยู่ในสภาพดีเพื่อบริจาคให้กับมูลนิธิและองค์กรการกุศลพันธมิตร เพื่อนำไปปรุงเป็นมื้ออาหารให้กับผู้ยากไร้ ส่วนสินค้าที่ไม่สามารถรับประทานได้แล้วจะถูกนำไปทำเป็นปุ๋ยชีวภาพต่อไป

“จากการเริ่มทำมาประมาณ 3 ปี ตอนนี้เรามีพันธมิตรมากมาย อาทิ มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิไทยฮาร์เวสต์ เอสโอเอส หรือออลไทยแท็กซี่ ที่ช่วยส่งต่ออาหารทานได้เหล่านี้ไปถึงมือผู้ยากไร้ หรือแม้แต่มูลนิธิเดอะวอยซ์ ในส่วนของอาหารสัตว์ เป็นต้น โดยเราเชื่อมั่นว่าภายปีนี้จะไม่มีการทิ้งอาหารที่ทานได้ในไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้ง 23 สาขา หลังจากนั้นจึงต่อยอดไปยังสโตร์ใหญ่อีกกว่า 150 แห่ง ให้แต่ละสาขาผนึกกับองค์กรการกุศลบริเวณใกล้เคียง ทำให้ทางสาขามีโอกาสใกล้ชิดกับชุมชนมากขึ้นอีกด้วย” นายชาคริต กล่าว

 

Mushtaq Ahmed Memon ผู้แทนจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) กล่าวว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตขึ้นทั่วโลกในแต่ละปี หรือประมาณ 1.3 พันล้านตัน จะกลายเป็น Food Waste และถูกปล่อยให้เน่าเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 3.3 พันล้านตันต่อปี ขณะที่อาหารเหล่านี้มีมูลค่ารวมกันกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และเพียงพอนำไปเลี้ยงดูผู้คนที่หิวโหยได้มากถึง 870 ล้านคน ขณะเดียวกันทั่วโลกก็มีผู้คนมากถึง 671 ล้านคนที่มีสภาวะอ้วนเกินไป

“เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ข้อที่ 12.3 ตั้งเป้าลดขยะเศษอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยวให้ได้ภายในปี 2573 ซึ่งความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะทำให้เราสามารถบรรลุตามเป้าหมายนี้ได้” Mushtaq กล่าว

 

น.ส.วานิช สาวาโย ผู้อำนวยการส่วนลดและใช้ประโยชน์ของเสีย กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลในปี 2559 พบว่ามีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นราว 27 ล้านตันต่อปี โดยในจำนวนนี้ 64% เป็นขยะอินทรีย์ ซึ่งประกอบด้วยเศษไม้ใบหญ้า ตลอดจนขยะอาหารที่เกิดจากการทิ้งอาหารที่บริโภคได้แต่เป็นส่วนเกินหรือเสียหาย อย่างไรก็ตาม คพ.ได้มีนโยบายที่สอดคล้องกับ SDGs เป้าหมาย 12.3 ซึ่งก็ต้องพึ่งพาทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม

 

ผศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูงติดอันดับ 3 ของโลก โดยทรัพยากรกว่า 99% อยู่ในมือคนเพียง 1% ซึ่งภาพปัญหาหนึ่งที่คนไทยยังอาจมองไม่เห็น คือเราใช้ชีวิตกินทิ้งกินขว้างอย่างมาก เช่น การไปกินบุฟเฟ่ต์แล้วตักมาเยอะจนเหลือทิ้ง หรือการซื้ออาหารเข้าบ้านจำนวนมากแต่ปล่อยทิ้งเป็นของเสีย สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดดีมานด์เทียมและเกิดการผลิตที่มากเกินความจำเป็น ดังนั้นเราจึงอาจมีส่วนช่วยโดยเริ่มจากตัวเองก่อนด้วยการบริโภคอย่างเหมาะสม

 

ขอบคุณข้อมูลจาก https://greennews.agency/?p=14380

 

ภาพ : แฟนเพจ สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreenNews

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Do Good
  • 4 Followers
  • Follow