Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ธาตุอาหารพืชในดิน

Posted By Plookpedia | 05 ก.ค. 60
8,080 Views

  Favorite

ธาตุอาหารพืชในดิน

ธาตุอาหารพืชในดิน ๑๓ ธาตุ นั้นมีดังนี้ คือ 

กลุ่มที่ ๑ 

      ไนโตเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม สามธาตุนี้พืชมักต้องการเป็นปริมาณมาก แต่มักจะมีอยู่ในดินไม่ค่อยพอกับความต้องการของพืชที่ปลูกต้องช่วยเหลือโดยใส่ปุ๋ยอยู่เสมอเฉพาะธาตุอาหารในกลุ่มนี้เท่านั้นที่จะขอกล่าวไว้พอสมควรในที่นี้ 

กลุ่มที่ ๒

      แคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน สามธาตุนี้พืชต้องการมากเหมือนกันบางธาตุก็ไม่แพ้กลุ่มที่หนึ่ง  แต่ธาตุทั้งสามนี้โดยปกติมักอยู่ในดินค่อนข้างมากเพียงพอกับความต้องการของพืชทั่ว ๆ ไป เมื่อเราใส่ปุ๋ยสำหรับธาตุในกลุ่มที่ ๑ ธาตุในกลุ่มที่ ๒ นี้ก็มักจะติดมาด้วยไม่มากก็น้อย ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีปัญหาเกิดการขาดหรือมีไม่พอเพียงกับความต้องการของพืช

กลุ่มที่ ๓ 

      เหล็ก แมงกานีส โบรอน โมลิบดินัม ทองแดง สังกะสี และคลอรีน ธาตุทั้งเจ็ดนี้พืชโดยทั่วไปมีความต้องการเป็นปริมาณน้อยมากเราจึงเรียกธาตุในกลุ่มที่ ๓ นี้ว่า จุลธาตุอาหาร ธาตุพวกนี้บางธาตุถ้ามีอยู่ในดินเป็นปริมาณมาก เช่น เหล็กและแมงกานีสก็จะกลับกลายเป็นพิษแก่พืชได้ อย่างไรก็ตามธาตุพวกนี้รวมทั้งในกลุ่มที่ ๒ ต่างก็มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชเท่าเทียมกันหมด และมีความสำคัญเท่าเทียมกับกลุ่มที่ ๑ ด้วยเช่นกัน  ถ้ามีธาตุใดขาดไปหรือไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช พืชก็จะหยุดชะงักการเจริญเติบโตและจะตายไปในที่สุดธาตุอาหารในกลุ่มที่ ๓ นี้ก็เช่นเดียวกันจะไม่ขอกล่าวเพราะเป็นเรื่องที่ยืดยาวมากถ้าจะกล่าวกันให้ครบถ้วน

 

หน้าที่ความสำคัญและธรรมชาติของธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ในดินที่มีต่อพืชจะขอกล่าวแต่โดยสังเขปดังต่อไปนี้ 

ธาตุไนโตรเจน 

      ธาตุไนโตรเจนปกติจะมีอยู่ในอากาศในรูปของก๊าซไนโตรเจนเป็นจำนวนมาก แต่ไนโตรเจนในอากาศในรูปของก๊าซนั้นพืชนำเอาไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ (ยกเว้นพืชตระกูลถั่วเท่านั้นที่มีระบบรากพิเศษสามารถแปรรูปก๊าซไนโตรเจนจากอากาศเอามาใช้ประโยชน์ได้) ธาตุไนโตรเจนที่พืชทั่ว ๆ ไปดึงดูดขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้นั้นจะต้องอยู่ในรูปของอนุมูลของสารประกอบ เช่น แอมโมเนียมไอออน (NH4+) และไนเทรตไอออน (No3-) ธาตุไนโตรเจนในดินที่อยู่ในรูปเหล่านี้จะมาจากการสลายตัวของสารอินทรียวัตถุในดินโดยจุลินทรีย์ในดินจะเป็นผู้ปลดปล่อยให้  นอกจากนั้นก็ได้มาจากการที่เราใส่ปุ๋ยเคมีลงไปในดินด้วย 
      พืชโดยทั่วไปมีความต้องการธาตุไนโตรเจนเป็นจำนวนมากเป็นธาตุอาหารที่สำคัญมากในการส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของพืช  พืชที่ได้รับไนโตรเจนอย่างเพียงพอใบจะมีสีเขียวสด มีความแข็งแรง โตเร็ว และทำให้พืชออกดอกและผลที่สมบูรณ์ เมื่อพืชได้รับไนโตรเจนมาก ๆ บางครั้งก็ทำให้เกิดผลเสียได้เหมือนกัน เช่น จะทำให้พืชอวบน้ำมาก ต้นอ่อน ล้มง่าย โรคและแมลงเข้ารบกวนทำลายได้ง่าย คุณภาพผลิตผลของพืชบางชนิดก็จะเสียไปได้ เช่น ทำให้ต้นมันไม่ลงหัว มีแป้งน้อย อ้อยจืด ส้มเปรี้ยว และมีกากมาก แต่บางพืชก็อาจทำให้คุณภาพดีขึ้นโดยเฉพาะพวกผักรับประทานใบ ถ้าได้รับไนโตรเจนมากจะอ่อน อวบน้ำและกรอบ ทำให้มีเส้นใยน้อยและมีน้ำหนักดีแต่ผักมักจะเน่าง่ายและแมลงชอบรบกวน  พืชเมื่อขาดไนโตรเจนจะแคระแกร็น โตช้า ใบเหลือง โดยเฉพาะใบล่าง ๆ จะแห้งร่วงหล่นเร็วทำให้แลดูต้นโกร๋น การออกดอกออกผลจะช้าและไม่ค่อยสมบูรณ์นัก ดินโดยทั่ว ๆ ไปมักจะมีไนโตรเจนไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช ดังนั้นเวลาปลูกพืชจึงควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยเคมีเพิ่มเติมให้กับพืชด้วย

 

ธาตุไนโตรเจน
แหล่งที่มาของธาตุไนโตรเจนในดินจะมาจากการผุพังสลายตัวของอินทรียวัตถุในดิน

 

ธาตุฟอสฟอรัส 

      ธาตุฟอสฟอรัสในดินมีกำเนิดมาจากการสลายตัวผุพังของแร่บางชนิดในดิน การสลายตัวของสารอินทรียวัตถุในดิน ก็จะสามารถปลดปล่อยฟอสฟอรัสออกมาเป็นประโยชน์ต่อพืชที่ปลูกได้ เช่นเดียวกับไนโตรเจน ดังนั้น การใช้ปุ๋ยคอก นอกจากจะได้ธาตุไนโตรเจนแล้ว ก็ยังได้ฟอสฟอรัสอีกด้วย ธาตุฟอสฟอรัสในดินที่จะเป็นประโยชน์ต่อพืชได้ จะต้องอยู่ในรูปของอนุมูลของสารประกอบที่เรียกว่า ฟอสเฟตไอออน (H2PO4- และ HPO4-) ซึ่งจะต้องละลายอยู่ในน้ำในดิน  สารประกอบของฟอสฟอรัสในดินมีอยู่เป็นจำนวนมากแต่ส่วนใหญ่ละลายน้ำยากดังนั้นจึงมักจะมีปัญหาเสมอว่าดินถึงแม้จะมีฟอสฟอรัสมากก็จริงแต่พืชก็ยังขาดฟอสฟอรัสเพราะส่วนใหญ่อยู่ในรูปที่ละลายน้ำยากนั่นเอง  นอกจากนั้นแร่ธาตุต่าง ๆ ในดินชอบที่จะทำปฏิกิริยากับอนุมูลฟอสเฟตที่ละลายน้ำได้ดังนั้นปุ๋ยฟอสเฟตที่ละลายน้ำได้เมื่อใส่ลงไปในดินประมาณ ๘๐-๙๐% จะทำปฏิกิริยากับแร่ธาตุในดินกลายเป็นสารประกอบที่ละลายน้ำยากไม่อาจเป็นประโยชน์ต่อพืชได้  ดังนั้นการใส่ปุ๋ยฟอสเฟตจึงไม่ควรคลุกเคล้าให้เข้ากับดินเพราะยิ่งจะทำให้ปุ๋ยทำปฏิกิริยากับแร่ธาตุต่าง ๆ ในดินได้เร็วยิ่งขึ้นแต่ควรจะใส่แบบเป็นจุดหรือโรยเป็นแถบให้ลึกลงไปในดินในบริเวณรากของพืช ปุ๋ยฟอสเฟตนี้ถึงแม้จะอยู่ใกล้ชิดกับรากก็จะไม่เป็นอันตรายแก่รากแต่อย่างใด ปุ๋ยคอกจะช่วยป้องกันไม่ให้ปุ๋ยฟอสเฟตทำปฏิกิริยากับแร่ธาตุในดินและสูญเสียความเป็นประโยชน์ต่อพืชเร็วจนเกินไป  พืชเมื่อขาดฟอสฟอรัสจะมีต้นแคระแกร็น ใบมีสีเขียวคล้ำ ใบล่าง ๆ จะมีสีม่วงตามบริเวณขอบใบ รากของพืชชะงักการเจริญเติบโต พืชไม่ออกดอกและผล พืชที่ได้รับฟอสฟอรัสอย่างเพียงพอจะมีระบบรากที่แข็งแรงแพร่กระจายอยู่ในดินอย่างกว้างขวางสามารถดึงดูดน้ำและธาตุอาหารได้ดีการออกดอกออกผลจะเร็วขึ้น 

 

ธาตุฟอสฟอรัส
รูปแสดงการสูญเสียฟอสฟอรัสโดยการตรึงฟอสฟอรัสในดิน 

 

ธาตุโพแทสเซียม 

      ธาตุโพแทสเซียมในดินที่พืชนำเอาไปใช้เป็นประโยชน์ได้มีกำเนิดมาจากการสลายตัวของหินและแร่มากมายหลายชนิดในดิน  โพแทสเซียมที่อยู่ในรูปอนุมูลบวกหรือโพแทสเซียมไอออน (K+) เท่านั้นที่พืชจะดึงดูดไปใช้เป็นประโยชน์ได้  ถ้าธาตุโพแทสเซียมยังคงอยู่ในรูปของสารประกอบยังไม่แตกตัวออกมาเป็นอนุมูลบวก (K+) พืชก็ยังดึงดูดไปใช้เป็นประโยชน์อะไรไม่ได้ อนุมูลโพแทสเซียมในดินอาจจะอยู่ในน้ำในดินหรือดูดยึดอยู่ที่พื้นผิวของอนุภาคดินเหนียวก็ได้ส่วนใหญ่จะดูดยึดที่พื้นผิวของอนุภาคดินเหนียว  ดังนั้นดินที่มีเนื้อดินละเอียด เช่น ดินเหนียว จึงมีปริมาณของธาตุนี้สูงกว่าดินพวกเนื้อหยาบ เช่น ดินทรายและดินร่วนปนทรายถึงแม้โพแทสเซียมไอออนจะดูดยึดอยู่ที่อนุภาคดินเหนียวรากพืชก็สามารถดึงดูดธาตุนี้ไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย ๆ พอกันกับเมื่อมันละลายอยู่ในน้ำ ในดิน  ดังนั้นการใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมอาจจะใส่แบบคลุกเคล้าให้เข้ากับดินก่อนปลูกพืชได้หรือจะใส่โดยโรยบนผิวดินแล้วพรวนกลบก็ได้ถ้าปลูกพืชไว้ก่อนแล้ว  ธาตุโพแทสเซียมมีความสำคัญในการสร้างและการเคลื่อนย้ายอาหารพวกแป้งและน้ำตาลไปเลี้ยง  ส่วนที่กำลังเติบโตและส่งไปเก็บไว้เป็นเสบียงที่หัวหรือที่ลำต้นดังนั้นพืชพวกอ้อย มะพร้าว และมันจึงต้องการโพแทสเซียมสูงมาก ถ้าขาดโพแทสเซียมหัวจะลีบ มะพร้าวไม่มัน และอ้อยก็ไม่ค่อยมีน้ำตาล พืชที่ขาดโพแทสเซียมมักเหี่ยวง่าย แคระแกร็น ใบล่างเหลือง และเกิดเป็นรอยไหม้ตามขอบใบ พืชที่ปลูกในดินทรายที่เป็นกรดรุนแรงมักจะมีปัญหาขาดโพแทสเซียมแต่ถ้าปลูกในดินเหนียวมักจะมีโพแทสเซียมพอเพียงและไม่ค่อยมีปัญหาที่จะต้องใส่ปุ๋ยนี้เท่าใดนัก
      เนื่องจากเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า ธาตุไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และ โพแทสเซียม (K) ดินมักจะมีไม่พอ ประกอบกับพืชดึงดูดจากดินขึ้นมาใช้แต่ละครั้งเป็นปริมาณมากจึงทำให้ดินสูญเสียธาตุเหล่านี้หรือที่เรียกว่า เสียปุ๋ยในดินไปมาก ซึ่งเป็นผลทำให้ดินที่เราเรียกว่า "ดินจืด" เพื่อเป็นการปรับปรุงระดับธาตุอาหารพืช N P และ K ที่สูญเสียไปเราจึงต้องใช้ปุ๋ยเพื่อความเข้าใจเรื่องของปุ๋ยจึงใคร่ขอกล่าวถึงชนิดของปุ๋ยและหลักการใช้ปุ๋ยแต่โดยย่อ ๆ ดังนี้

ปุ๋ย 

      ปุ๋ย หมายถึง สารหรือสิ่งที่เราใส่ลงไปในดินเพื่อวัตถุประสงค์ให้ปลดปล่อยธาตุอาหารพืชโดยเฉพาะพวกไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมที่พืชยังขาดอยู่ให้พืชได้รับอย่างเพียงพอ พืชสามารถเจริญเติบโตงอกงามดีและให้ผลิตผลสูงขึ้น  โดยทั่วไปปุ๋ยแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ ปุ๋ยอินทรีย์พวกหนึ่งและปุ๋ยวิทยาศาสตร์หรือปุ๋ยเคมีอีกพวกหนึ่ง ต่อไปนี้จะขอกล่าวถึงปุ๋ยอินทรีย์ก่อน

ปุ๋ยอินทรีย์ 

ปุ๋ยพวกนี้ ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และวัสดุเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมบางชนิดซึ่งเป็นพวกอินทรียสาร

      ปุ๋ยคอก ที่สำคัญก็ได้แก่ ขี้หมู ขี้เป็ด ขี้ไก่ ฯลฯ เป็นปุ๋ยคอกที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในบรรดาสวนผักและสวนผลไม้  ปุ๋ยคอกโดยทั่วไปแล้วถ้าคิดราคาต่อหน่วยธาตุอาหารพืชจะมีราคาแพงกว่าปุ๋ยเคมี แต่ปุ๋ยคอกช่วยปรับปรุงดินให้โปร่งและร่วยซุยทำให้การเตรียมดินง่ายการตั้งตัวของต้นกล้าเร็วทำให้มีโอกาสรอดได้มาก นาข้าวที่เป็นดินทราย เช่น ดินภาคอีสานการใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์อื่น ๆ เท่าที่จะหาได้ในบริเวณใกล้เคียงจะช่วยให้การดำนาง่าย ข้าวตั้งตัวได้ดีและเจริญเติบโตงอกงามอย่างรวดเร็วทั้งนี้เนื่องจากดินทรายพวกนี้มีอินทรียวัตถุต่ำมาก  การใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ลงไปจะทำให้ดินอุ้มน้ำและปุ๋ยได้ดีขึ้น การปักดำกล้าทำได้ง่ายขึ้นเพราะหลังทำเทือกแล้วดินจะไม่อัดกันแน่น  ปุ๋ยคอกมีปริมาณธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมค่อนข้างต่ำโดยหยาบ ๆ แล้วก็จะมีไนโตรเจนประมาณ 0.5% N ฟอสฟอรัส 0.25% P2O5 และโพแทสเซียม 0.5% K2O  ปุ๋ยขี้ไก่และขี้เป็ดจะมีปริมาณธาตุอาหารสูงกว่าขี้หมูและขี้หมูจะมีปริมาณธาตุอาหารสูงกว่าขี้วัวและขี้ควาย ปุ๋ยคอกใหม่ ๆ จะมีปริมาณธาตุอาหารสูงกว่าปุ๋ยคอกที่เก่าและเก็บไว้นานทั้งนี้เนื่องจากส่วนของปุ๋ยที่ละลายได้ง่ายจะถูกชะล้างออกไปหมดบางส่วนก็กลายเป็นก๊าซสูญหายไป  ดังนั้นการเก็บรักษาปุ๋ยคอกอย่างระมัดระวังก่อนนำไปใช้จะช่วยรักษาคุณค่าของปุ๋ยคอกไม่ให้เสื่อมคุณค่าอย่างรวดเร็ว

 

ปุ๋ยคอก
มูลสัตว์ต่าง ๆ เช่น สุกร สามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยคอกที่ดีได้ซึ่งควรเก็บสะสมไว้ไม่ควรปล่อยให้สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์

 

การใส่ปุ๋ยคอกให้กับไม้ผลเพื่อทำให้ดินโปร่งและร่วนซุย
การใส่ปุ๋ยคอกให้กับไม้ผลเพื่อทำให้ดินโปร่งและร่วนซุย


      การเก็บรักษาปุ๋ยคอกอาจทำได้ เช่น นำมากองรวมกันเป็นรูปฝาชีแล้วอัดให้แน่น ถ้าอยู่ภายใต้หลังคาก็ยิ่งดี ถ้าอยู่กลางแจ้งควรหาจากหรือทางมะพร้าวคลุมไว้ด้วยก็จะดี ปุ๋ยคอกที่ได้มาใหม่ ๆ และยังสดอยู่ถ้าจะใส่ปุ๋ยซูเปอร์ฟอสเฟตชนิดธรรมดา (20% P2O5) ลงไปด้วยสักเล็กน้อยก็จะช่วยป้องกันไม่ให้มีการสูญเสียไนโตรเจนโดยการระเหิดกลายเป็นก๊าซได้เป็นอย่างดี  ถ้าเลี้ยงสัตว์อยู่ในคอกควรใช้แกลบ ขี้เลื่อย หรือฟางข้าว รองพื้นคอกให้ดูดซับปุ๋ยไว้เมื่อฟางข้าวอิ่มตัวด้วยปุ๋ยก็รองเพิ่มเป็นชั้น ๆ เมื่อสะสมไว้มากพอก็ลอกเอาไปกองเก็บไว้หรือนำไปใส่ในไร่นาโดยตรงเลยก็ได้ อัตราปุ๋ยคอกที่ใช้นั้นไม่เคร่งครัดเหมือนกับปุ๋ยเคมีปกติแนะนำให้ใส่อัตรา ๑-๔ ตันต่อไร่  โดยใส่ค่อนข้างมากในดินเหนียวจัดหรือดินทรายจัดหลังจากใส่ปุ๋ยคอกแล้วถ้ามีการไถหรือพรวนดินกลบลงไปในดิน ก็จะช่วยให้ปุ๋ยเป็นประโยชน์แก่พืชได้เร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

ปุ๋ยคอก
การนำขี้เลื่อยหรือฟางข้าวรองพื้นคอกสัตว์เลี้ยงเพื่อดูดซับปุ๋ยไว้

 

      ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพวกนี้ก็ได้แก่ปุ๋ยที่เราได้จากการหมักเศษพืช เช่น หญ้าแห้ง ใบไม้ ฟางข้าว ฯลฯ ให้เน่าเปื่อยเสียก่อนจึงนำไปใส่ในดินเป็นปุ๋ย   ปุ๋ยเทศบาลที่บรรจุถุงขายในชื่อของปุ๋ยอินทรีย์เบอร์ต่าง ๆ นั้นก็ คือ ปุ๋ยหมักได้จากการนำขยะจากในเมืองพวกเศษพืชเศษอาหารเข้าโรงหมักเป็นขั้นเป็นตอนจนกลายเป็นปุ๋ย  ปุ๋ยหมักสามารถทำเองได้โดยการกรองสุมเศษพืชสูงขึ้นจากพื้นดิน ๓๐-๔๐ ซม. แล้วโรยปุ๋ยคอกผสมปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ 15-15-15 ประมาณ ๑-๑.๕ กิโลกรัมต่อเศษพืชหนัก ๑,๐๐๐ กิโลกรัม เสร็จแล้วก็กองเศษพืชซ้อนทับลงไปอีกแล้วโรยปุ๋ยคอกผสมปุ๋ยเคมีทำเช่นนี้เรื่อยไปเป็นชั้น ๆ จนสูงประมาณ ๑.๕ เมตร ควรมีการรดน้ำแต่ละชั้นเพื่อให้มีความชุ่มชื้นและเป็นการทำให้มีการเน่าเปื่อยได้เร็วขึ้น  กองปุ๋ยหมักนี้ทิ้งไว้ ๓-๔ สัปดาห์ก็ทำการกลับกองปุ๋ยครั้งหนึ่ง ถ้ากองปุ๋ยแห้งเกินไปก็รดน้ำทำเช่นนี้ ๓-๔ ครั้ง เศษพืชก็จะเน่าเปื่อยเป็นอย่างดีและมีสภาพเป็นปุ๋ยหมักนำไปใช้ใส่ดินเป็นปุ๋ยให้กับพืชที่ปลูกได้  เศษหญ้าและใบไม้ต่าง ๆ ถ้าเก็บรวบรวมกองสุมไว้แล้วทำเป็นปุ๋ยหมัก จะดีกว่าเผาทิ้งไป  ปุ๋ยหมักจะช่วยปรับปรุงดินให้มีคุณสมบัติทางฟิสิกส์ดีขึ้นและปลูกพืชเจริญงอกงามดีเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะพืชผักสวนครัวและไม้ดอกไม้ประดับ
      ปุ๋ยพืชสด เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากการปลูกพืชบำรุงดินซึ่ง ได้แก่ พืชตระกูลถั่วต่าง ๆ แล้วทำการไถกลบเมื่อพืชเจริญเติบโตมากที่สุดซึ่งเป็นช่วงที่กำลังออกดอก พืชตระกูลถั่วที่ควรใช้เป็นปุ๋ยพืชสดควรมีอายุสั้นมีระบบรากลึก ทนแล้ง ทนโรคและแมลงได้ดีเป็นพืชที่ปลูกง่ายและมีเมล็ดมาก ตัวอย่างพืชเหล่านี้ก็ ได้แก่ ถั่วพุ่ม ถั่วเขียว ถั่วลาย ปอเทือง ถั่วขอ ถั่วแปบ และโสน เป็นต้น 

ปุ๋ยเคมี 

      ปุ๋ยพวกนี้เป็นปุ๋ยที่ได้มาจากการผลิตหรือสังเคราะห์ทางอุตสาหกรรมจากแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ได้ตามธรรมชาติหรือเป็นผลพลอยได้ของโรงงานอุตสาหกรรมบางชนิด  ปุ๋ยเคมีมีอยู่ ๒ ประเภท คือ   แม่ปุ๋ยหรือปุ๋ยเดี่ยวพวกหนึ่งและปุ๋ยผสมอีกพวกหนึ่ง 
      ปุ๋ยเดี่ยวหรือแม่ปุ๋ย ได้แก่ ปุ๋ยพวกแอมโมเนียมซัลเฟต โพแทสเซียมคลอไรด์ ฯลฯ ซึ่งเป็นสารประกอบทางเคมี มีธาตุอาหารปุ๋ย คือ N หรือ P หรือ K เป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยหนึ่งหรือสองธาตุ แล้วแต่ชนิดของสารประกอบที่เป็นแม่ปุ๋ยนั้น ๆ มีปริมาณของธาตุอาหารปุ๋ยที่คงที่ เช่น ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟตมีไนโตรเจน 20% N ส่วนโพแทสเซียมไนเทรตมีไนโตรเจน 13% N และโพแทสเซียม 46% K2O อยู่ร่วมกันสองธาตุ

 

ปุ๋ยเคมี
ปุ๋ยเดี่ยวหรือแม่ปุ๋ย เช่น ปุ๋ยยูเรีย เป็นสารประกอบที่มีธาตุไนโตรเจนอยู่๔๖% เป็นองค์ประกอบหลัก


      ปุ๋ยผสม ได้แก่ ปุ๋ยที่มีการนำเอาแม่ปุ๋ยหลาย ๆ ชนิดมาผสมรวมกันเพื่อให้ปุ๋ยที่ผสมได้มีปริมาณและสัดส่วนของธาตุอาหาร N P และ K ตามที่ต้องการ ทั้งนี้เพื่อให้ได้ปุ๋ยที่มีสูตรหรือเกรดปุ๋ย เหมาะที่จะใช้กับพืชและดินที่แตกต่างกัน ปุ๋ยผสมนี้จะมีขายอยู่ในท้องตลาดทั่วไปเพราะนิยมใช้กันมากปัจจุบันเทคโนโลยีในการทำปุ๋ยผสมได้พัฒนาไปไกลมากสามารถผลิตปุ๋ยผสมให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ มีการปั้นเป็นเม็ดขนาดสม่ำเสมอสะดวกในการใส่ลงไปในไร่นา ปุ๋ยพวกนี้เก็บไว้นาน ๆ จะไม่จับกันเป็นก้อนแข็ง สะดวกแก่การใช้เป็นอย่างยิ่ง  ปุ๋ยผสมประเภทนี้รู้จักและเรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า ปุ๋ยคอมปาวด์ ส่วนการนำแม่ปุ๋ยมาผสมกันเฉย ๆ เพียงให้ได้สูตรตามที่ต้องการหรืออาจมีการบดให้ละเอียดจนเข้ากันดียังคงเรียกว่า ปุ๋ยผสมอยู่ตามเดิม ปัจจุบันมีการนำเอาแม่ปุ๋ยที่มีการปั้นเม็ดหรือมีเม็ดขนาดใกล้เคียงกันมาผสมกันให้ได้สูตรปุ๋ยตามที่ต้องการแล้วนำไปใช้โดยตรง เรียกปุ๋ยชนิดนี้ว่า ปุ๋ยผสมคลุกเคล้า (bulk blending)

 

ปุ๋ยเคมี
ปุ๋ยผสม ได้แก่ ปุ๋ยที่เอาแม่ปุ๋ยหลาย ๆ ชนิดมาผสมรวมกัน เพื่อให้มีสัดส่วนของธาตุอาหาร N P K ตามที่ต้องการ อาจเป็นในรูปปุ๋ยผสมคลุกเคล้าหรือปั้นเม็ด (Compound)

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow