Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ศาสนาสิกข์

Posted By Plookpedia | 04 ก.ค. 60
23,578 Views

  Favorite

ศาสนาสิกข์

ศาสนาสิกข์ เป็นศาสนาของชาวอินเดียประมาณ ๖ ล้านคน เป็นศาสนาที่มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดู และศาสนาอิสลาม มีความสมัครสมานสามัคคีกันโดยตั้งเป็นลัทธิศาสนาใหม่ขึ้นมา และกำหนดให้มีพระเป็นเจ้าองค์เดียว สำหรับมนุษยชาติทั้งปวง ไม่มีพระเป็นเจ้าของฮินดูองค์หนึ่ง ของมุสลิมองค์หนึ่ง หรือของคริสต์ศาสนิกชนองค์หนึ่งอีกต่อไป

 

 

 

ผู้ที่นับถือศาสนาสิกข์ และผ่านวิธี "ปาหุล" ตามแบบศาสนาแล้วก็จะได้นามว่า "สิงห์" ต่อท้ายชื่อเหมือนกันทุกคน เมื่อทำพิธีแล้วก็จะได้รับ "กกะ" หรือสิ่งที่ขึ้นต้นด้วย อักษร "ก" ๕ ประการ คือ 

(๑) เกศ ได้แก่การไว้ผมยาวโดยไม่ต้องตัดเลย
(๒) กังฆา หวีขนาดเล็ก
(๓) กฉา กางเกงขาสั้น 
(๔) กรา กำไลมือทำด้วยเหล็ก และ 
(๕) กฤปาน ดาบ
ศาสนาสิกข์มี ศาสดา หรือ "คุรุ" รวมทั้งหมด ๑๑ องค์ด้วยกัน องค์แรกซึ่งนับ ว่าสำคัญที่สุด ชื่อ คุรุนานัก (พ.ศ. ๒๐๑๒-๒๐๘๒) ท่านผู้นี้เกิดที่แคว้นปัญจาบ บิดา ชื่อ กาลุ มารดาชื่อ ตฤปตา แม้ท่านจะเกิดในวรรณะกษัตริย์ แต่ก็ยากจน เมื่ออายุได้ ๗ ขวบ บิดาส่งเข้าศึกษาในโรงเรียน ท่านได้แสดงความสามารถในการไต่ถามครูบาอาจารย์ถึง ความรู้เรื่องพระเป็นเจ้า และมีความรู้แตกฉานในคัมภีร์พระเวทตั้งแต่อายุยังน้อย อายุได้ ๙ ขวบก็ได้ศึกษาความเป็นมาและศาสนาของเพื่อนบ้าน จนสามารถโต้เถียงเรื่องศาสนา กับบรรดาคณาจารย์เก่าๆ ได้ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก มีผู้เชื่อว่าท่านสามารถสั่งสอนคนได้ตั้งแต่ อายุ ๙ ขวบ ต่อมาท่านก็แต่งงานกับนางสุลักขณี มีบุตร ๒ คน ชื่อ ศรีจันทร์ กับ ลักษมิทาส

ศรีคุรุสิงหสภา ศูนย์กลางประกอบศาสนกิจของชาวสิกข์

 

 

 

ต่อมาวันหนึ่งขณะที่ท่านทำสมาธิอยู่ในป่า ท่านได้รับปรากฏการณ์ทางจิต และได้เห็นพระเป็นเจ้า เมื่อกลับมาบ้านแล้ว ก็ลงมือแจกทานแก่คนจน ให้ยาและรักษาพยาบาล คนเจ็บไข้ได้ป่วย ท่านมีลูกศิษย์ทั้งที่เป็นฮินดูและมุสลิมมากมาย ท่านได้เดินทางไปสั่งสอนตามเมืองต่างๆ ทั้งในอินเดีย ลังกา อาระเบีย รวมทั้งเมืองเมกกะและแบกแดด ด้วยหลักคำสอนที่ท่านนำไปสอนก็คือ "สามัคคี เสมอภาค ศรัทธา และภักดีในพระเป็นเจ้า"
คุรุองค์ต่อมาอีก ๙ องค์ มีนามตามลำดับดังนี้ คือ อังคัท อมรทาส รามทาส อรชุน หริโควินท์ หริไร หริกฤษัน เตฆพหทุร์ และ โควินทสิงห์

 

 

 

ชาวสิกข์ประกอบศาสนพิธี

ศาสนาสิกข์ แยกออกเป็นนิกายใหญ่ๆ ๒ นิกายด้วยกัน คือ 

๑. นิกายนานักปันถี หมายถึง ผู้ปฏิบัติตามคำสอนของคุรุนานักซึ่งเป็นคุรุองค์แรก
๒. นิกายนิลิมเล หมายถึง นักพรตผู้ปราศจากมลทิน นับถือคุรุโควินทสิงห์ซึ่งเป็นคุรุองค์สุดท้าย 

หลักคำสอนที่สำคัญๆ ของศาสนาสิกข์ก็คือ สอนให้นับถือเทพเจ้าเพียงองค์เดียว ในเรื่องการสร้างโลกก็เชื่อว่า เดิมมีแต่พระเป็นเจ้าเท่านั้น ต่อมาก็มีหมอก ก๊าซ หมุนเวียนเป็นเวลาหลายล้านปีจึงได้เกิดมีแผ่นดิน ดวงดาว น้ำ อากาศ ฯลฯ แล้วก็มีสิ่งที่มีชีวิตเกิดขึ้นมาถึง ๘,๔๐๐,๐๐๐ ชนิด และสอนว่า โลกมีอยู่มากต่อมาก ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ก็มีอยู่มากมายเช่นกัน อากาศและอวกาศก็กว้างใหญ่ไพศาลสุดที่จะรู้ทั่วถึงได้

 

หญิงชาวสิกข์ นั่งรวมกันเป็นกลุ่มในระหว่างพิธีทางศาสนา

 

นอกจากนั้นศาสนาสิกข์ถือว่า วิญญาณเป็นอมตะไม่รู้จักดับสูญ ถ้าใครไม่ต้องการเวียนว่ายตายเกิดอีก ก็ต้องชำระจิตของตน ให้หมดจดจากกิเลส 
ศาสนาสิกข์ส่งเสริมให้ยกฐานะผู้หญิงให้เท่าเทียมผู้ชาย ให้ผู้หญิงมีสิทธิในการ ศึกษาร่วมสวดมนตร์ หรือเป็นผู้นำในการสวดมนตร์ได้เช่นเดียวกับผู้ชาย สอนให้คนมีความ เสมอภาคกัน และมีเสรีภาพซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของสังคม นอกจากนั้น คุรุนานัก ซึ่งมอง เห็นภัยที่ประเทศชาติกำลังได้รับจากคนต่างชาติและคนในชาติเดียวกัน จึงได้ประกาศธรรมะ เพื่อความดำรงอยู่แห่งชาติ เร้าใจผู้ฟังให้มีความสามัคคี มีความรักชาติ โดยไม่ เกลียดชาติอื่น และคุรุโควินทสิงห์ ก็สอนให้ชาวสิกข์เป็นทหารหาญยอมเสียสละเลือดเนื้อ เพื่อชาติ ทั้งคุรุบางองค์ก็ได้เคยเสียสละชีวิตเพื่อชาติมาแล้ว 

ในประเทศไทยมีวัดสิกข์ ๑๔ วัด และมีศรีคุรุสิงหสภาซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนจักรเพชร กรุงเทพมหานคร เป็นศุนย์กลางในการประกอบศาสนกิจต่างๆ ของชาวสิกข์ และใช้เป็น สถานที่เพื่อประกอบพิธีการสมรส การจัดงานเลี้ยงต่างๆ นอกจากนั้น เมื่อชาวสิกข์เกิด ทะเลาะกัน และไม่อาจตกลงกันได้ คณะกรรมการบริหารของสภาก็จะช่วยตัดสินให้ ปัจจุบันนี้ ชาวสิกข์ได้กระจายกันอยู่ทั่วประเทศ โดยมีอาชีพทางด้านธุรกิจการค้าตามจังหวัด ใหญ่ๆ หลายจังหวัด

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow