Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ยาฆ่าแมลง

Posted By Plookpedia | 04 ก.ค. 60
13,348 Views

  Favorite

ยาฆ่าแมลง

      แมลงมีประโยชน์ในการช่วยผสมเกสรดอกไม้  เมื่อต้นไม้ออกดอกแมลงจะไปตอมที่เกสรดอกไม้และบินไปมานำเกสรตัวผู้ผสมกับเกสรตัวเมียทำให้เจริญเกิดเป็นผลไม้  ทำให้เราได้กินผลไม้หลายชนิด ต้นไม้จะมีลูกดกก็เนื่องจากแมลงช่วยผสมเกสร แต่แมลงก็ให้โทษได้หลายอย่างเป็นตัวนำโรค เช่น ในประเทศไทยยุงก้นปล่องเป็นตัวนำไข้มาลาเรียหรือที่เรียกว่า ไข้ป่า ยุงลายเป็นตัวนำไข้เลือดออก เด็กมักจะเป็นโรคนี้ถ้ามีเลือดออกมากหรือช็อกอาจถึงตายได้  ยุงรำคาญชนิดที่อยู่ตามท้องนาเรียกว่า ยุงท้องนา นำโรคไข้สมองอักเสบเช่นเดียวกันเด็กจะติดโรคนี้เป็นส่วนใหญ่ซึ่งพบมากทางภาคเหนือของประเทศ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย เป็นต้น นอกจากนี้แมลงบางชนิดยังทำลายผลไม้และพืชผักทางเกษตร  ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากแก่ส่วนผลไม้ต่าง ๆ และสวนผัก ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมียาสำหรับฆ่าแมลงเนื่องจากแมลงมีโทษหลายอย่าง

 

ยาฆ่าแมลง

 

ยาฆ่าแมลง

 

      ในสมัยก่อนเราทำยาฆ่าแมลงจากรากไม้บางชนิดที่เรียกกันว่า "โล่ติ๊น" ใช้ผสมกับน้ำราดต้นไม้เพียงป้องกันมิให้แมลงมาทำลายต้นไม้เท่านั้น  แต่ในสมัยปัจจุบันนี้คนสามารถผลิตขึ้นเป็นสารเคมีได้และมีฤทธิ์ฆ่าแมลงอย่างรุนแรง  นำมาใช้ในการแพทย์และสาธารณสุขในการควบคุมและป้องกันโรคที่นำโดยแมลงโดยใช้ยาฆ่าแมลงพ่นในอากาศบริเวณที่มียุงชุกชุมหรือพ่นลงบริเวณต้นไม้และใบไม้หรือผักเพื่อป้องกันแมลงทำลายผักและผลไม้  ยาฆ่าแมลงมีอันตรายต่อมนุษย์เช่นเดียวกันอาจดูดซึมเข้าร่างกายและทางผิวหนังได้  ถ้าส่วนหนึ่งส่วนใดของร่ายกายของเรา เช่น มือสัมผัสกับยาฆ่าแมลงก็มีอันตรายได้ต้องรีบล้างมือด้วยสบู่โดยเร็ว ฉะนั้นเวลาผสมยาฆ่าแมลงต้องสวมถุงมือยางไม่ควรอยู่ในบริเวณที่มีการฉีดยาฆ่าแมลงเพราะอาจหายใจเอายาเข้าไปในร่างกายได้ ต้องระวังพิษยาฆ่าแมลงรุนแรงมาก ถ้ากินยาฆ่าแมลงเข้าไปอาจถึงตายได้ง่ายต้องรีบไปโรงพยาบาลโดยด่วน

 

ยาฆ่าแมลง

 

 

 

 

      ยุงก้นปล่องเป็นตัวนำโรคไข้มาลาเรียหรือไข้จับสั่น ทำให้มนุษย์ต้องตายไปเป็นจำนวนมากในประเทศไทยมีคนตายด้วยโรคนี้เมื่อ ๔๐ ปีที่แล้วประมาณ ๓๐๐ คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนต่อปี ไข้เลือดออกก็เป็นอีกโรคหนึ่งซึ่งทุกคนรู้จักกันดีเมื่อเป็นโรคทั้งสองนี้แล้วอาจถึงแก่ชีวิตได้ฉะนั้นจึงต้องมีการควบคุมและป้องกันโรคทั้งสองนี้  หลังสงครามโลกครั้งที่สองได้มีการนำดีดีทีมาใช้เป็นยาฆ่ายุงซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว  การพ่นดีดีทีที่ละลายในน้ำตามฝาผนังของบ้านทุกหลังคาเรือนในพื้นที่ซึ่งมีมาลาเรียชุกชุม  สารดีดีทีซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงและจะตกค้างอยู่ที่ฝาผนังเป็นเวลานานถึง ๖ เดือนและถึง ๑ ปีก็ได้  เมื่อยุงก้นปล่องบินเข้ามาในบ้านจะเกาะที่ฝาผนังบ้านก่อนแล้วจึงกัดดูดเลือด เมื่ออิ่มแล้วโดยปกตินิสัยยุงจะเกาะที่ฝาผนังบ้านเพื่อพักผ่อนอีกครั้งหนึ่งก่อนจะบินออกไปหลังจากนั้นยุงจะตายภายใน ๒-๓ วัน  เนื่องจากถูกดีดีทีที่ฝาผนังบ้านถึง ๒ ครั้ง ฉะนั้นถึงแม้ว่ายุงนั้นได้ดูดเอาเชื้อไข้มาลาเรียมาแล้วก็ไม่สามารถจะแพร่เชื้อต่อไปได้  ทำให้อัตราของการเป็นไข้มาลาเรียลดลงเป็นจำนวนมากและคนตายน้อยลงเหลือประมาณ ๔-๕ คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนต่อปี ในพ.ศ. ๒๕๓๔ นอกจากยุงแล้วแมลงสาบก็เป็นสัตว์ที่จะต้องกำจัดเพราะเป็นตัวนำโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารหลายโรคเช่นเดียวกัน

 

ยุงก้นปล่อง
แมลงที่เป็นพาหนะโรค : ๑. ยุงก้นปล่อง  

 

ยุงลาย
แมลงที่เป็นพาหนะโรค : ๒. ยุงลาย 

 

แมลงสาบ
แมลงที่เป็นพาหนะโรค : ๓. แมลงสาบ

 

      ในสมัยโบราณยาฆ่าแมลงที่รดต้นไม้เพื่อป้องกันมิให้แมลงมาทำอันตราย คือ "โล่ติ๊น"  ได้มาจากรากไม้เถาชนิดหนึ่ง เรียกว่า หางไหลแดง (Derris elliptica Benth)  โดยหมักไว้ในน้ำและใช้น้ำราดต้นไม้  ในปัจจุบันได้มีผู้ค้นคว้าและสังเคราะห์ยาปราบศัตรูพืชหรือยาฆ่าแมลงขึ้นมาใช้เป็นจำนวนหลายชนิดด้วยกัน  เห็นได้ว่ายาประเภทนี้ได้มีวางขายอยู่ตามตลาดทั่วไปมีการโฆษณาถึงสรรพคุณของยาเหล่านี้อยู่เสมอ ยาเหล่านี้ได้ใช้แพร่หลายและมีประโยชน์มากในทางเกษตรกรรม เช่น การปราบศัตรูพืชในทางสาธารณสุข ใช้ฆ่าแมลงที่เป็นตัวนำของโรคต่าง ๆ ยาเหล่านี้แม้ว่าจะมีคุณประโยชน์อย่างอนันต์แต่ก็มีโทษอย่างมหันต์ถ้าผู้ที่ใช้มิได้มีความระมัดระวังหรือไม่ทราบถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นผู้ใช้ก็อาจจะถึงแก่ความตายได้โดยง่าย

 

ต้นและรากแห้งของต้นหางไหลแดง
ต้นและรากแห้งของต้นหางไหลแดง

 

ต้นหางไหลแดง
ต้นหางไหลแดง

 

ใบและยอดอ่อนของต้นหางไหลแดง
ใบและยอดอ่อนของต้นหางไหลแดง

 

เคมีภัณฑ์กำจัดแมลงที่แพร่หลาย และใช้กันมากในขณะนี้แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ ๔ กลุ่ม คือ

๑.ออร์กะโนคลอรีน (Organo Chlorine) 

      เป็นกลุ่มที่ประกอบด้วยธาตุไฮโดรเจน (H) คาร์บอน (C) และคลอรีน (CL) เคมีภัณฑ์กลุ่มนี้มีการสลายตัวช้าและพบว่ามีการสะสมอยู่ตามดิน น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในร่างกายของมนุษย์และสัตว์เลี้ยง เคมีภัณฑ์ที่รู้จักกันดีและใช้กันมากได้แก่ ดีดีที (DDT) ดีลดริน (Dieldrin) อัลดริน (Aldrin) เป็นต้น

 

การกำจัดยุง
ภาชนะเก็บน้ำ ควรปิดฝาให้มิดชิด เพื่อป้องกันยุงลายไปวางไข่

 

๒.ออร์กะโนฟอสเฟต (Organophosphate) 

      หลังจากที่พบว่า ออร์กะโนคลอรีนมีการสะสมและมีพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานานทำให้เกิดมลภาวะแก่ดินและน้ำ การใช้เคมีภัณฑ์กำจัดแมลงจึงได้เปลี่ยนไปใช้พวกสารประกอบที่มีฟอสฟอรัสเป็นตัวหลักมากขึ้น  ขณะนี้เป็นยุคที่มีการใช้เคมีภัณฑ์กลุ่มนี้มากทั้งในด้านการเกษตรและในวงการสาธารณสุข อาการเป็นพิษเกิดขึ้นได้เร็วกว่าและสลายตัวเร็ว เคมีภัณฑ์ที่ใช้กันมากในกลุ่มนี้ได้แก่ มาลาไธออน (Malathion), เฟนิโทรไธออน, (Fenitrothion), ซูมิไธออน (Sumithion), ไดคลอร์วอส (Dichlorvos) เป็นต้น

๓. คาร์บาเมต (Carbamate) 

      เป็นสารประกอบอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการกำจัดแมลง  อาการเป็นพิษเกิดขึ้นได้เร็วและสลายตัวเร็วมีคาร์บาริลกรุ๊ปเป็นตัวหลักตัวที่สำคัญและที่รู้จักกันในกลุ่มนี้ คือ โพรพ็อกเซอร์ (Propoxur), เบนดิโอคาร์บ (Bendiocarb) เป็นต้น

๔. พัยรีธรอยด์ (Pyrethroid) 

      เป็นเคมีภัณฑ์กลุ่มที่สังเคราะห์ขึ้นโดยมีความสัมพันธ์ตามโครงสร้างของพัยรีธริน (Pyrethrins) ซึ่งสกัดได้จาก พัยรีธรัม (Pyrethrum : ดอกเบญจมาศ) เป็นเคมีภัณฑ์ที่มีความเป็นพิษต่อแมลงสูงที่รู้จักและใช้กันในขณะนี้ ได้แก่ เดลตาเมธริน (Deltamethrin), เปรเมธริน (Premethrin) เป็นต้น

 

พัยรีธรัม (ดอกเบญจมาศ)
พัยรีธรัม (ดอกเบญจมาศ) นำมาสกัดเป็นสารฆ่าแมลงได้

 

      ในรายละเอียดเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์ยาฆ่าแมลงทั้ง ๔ กลุ่ม ดังได้กล่าวมาแล้วนี้จะได้อธิบายเกี่ยวกับคุณสมบัติต่าง ๆ  การเข้าสู่ร่างกายการดูดซึม กลไกในการออกฤทธิ์  อาการเป็นพิษที่เกิดขึ้น   การแก้พิษ และการป้องกันอันตรายที่จะเกิดเป็นพิษ  นอกจากนี้ยังมียาฆ่าแมลงอีกชนิดหนึ่งที่ได้มาจากพืช คือ สะเดา ชื่อสกุล อะซาดิเรคตา ใช้เมล็ดสะเดาสกัดจะได้สารที่สำคัญ คือ อะซาดิแรคติน เป็นสารที่ขัดขวางขบวนการสร้างไคตินซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเปลือกหรือผิวของตัวแมลงของไร เป็นต้น ทำให้สร้างไคตินไม่ได้หรือได้ไม่ดีแมลงหรือศัตรูพืชก็จะเจริญเติบโตไม่ได้หรือตายไป ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ กำลังศึกษาและวิจัยในรายละเอียดให้ลึกลงไปกว่านี้

 

อะซาดิแรคตินมาเป็นยาฆ่าแมลง
ผลิตผลจากต้นสะเดา ซึ่งนำเมล็ดสะเดามาสกัดจะได้สารอะซาดิแรคตินมาเป็นยาฆ่าแมลง

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow