Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความสมดุลของของเหลวในร่างกาย

Posted By Plookpedia | 01 ก.ค. 60
16,025 Views

  Favorite

ทุกคนคงจะเคยสังเกตเห็นว่า อาหารที่เรารับประทาน เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ฯลฯ มีลักษณะชุ่มชื้น เพราะมีน้ำประกอบอยู่ด้วย 
เมื่อเราเด็ดยอดอ่อนของต้นไม้ หรือตัดตรงบริเวณโคนต้นให้ขาดออก จะมีน้ำซึมออกมาตรงบริเวณที่ถูกตัด 
ในเวลามีบาดแผลเกิดขึ้น เช่น ถูกมีดบาด หรือถูกตะปูตำจะมีเลือดไหลออกมา เลือดเป็นของเหลวซึ่งมีน้ำประกอบอยู่ด้วย
สัตว์บางชนิด เช่น ไส้เดือนดิน ร่างกายขับของเหลวใสเป็นเมือกออกมาหล่อเลี้ยงผิวหนัง ทำให้เปียกชื้นอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวหนังเป็นอันตรายในขณะที่เคลื่อนที่ไปในดิน

 

ตัวอย่างดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ร่างกายสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ ต่างก็มีน้ำประกอบอยู่ด้วย ถ้าปราศจากน้ำแล้ว สิ่งที่มีชีวิตทุกชนิด จะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ เช่น เมื่อพืชขาดน้ำใบจะเหี่ยว ทำการสังเคราะห์แสงไม่ได้ สัตว์ขาดน้ำจำทำให้อ่อนเพลีย และอาจถึงตายได้

สภาพแวดล้อมบนพื้นโลกของเราก็มีส่วนอยู่มากที่ช่วยให้ชีวิตบนโลกดำเนินไปได้โดยปกติ ทั้งนี้เพราะว่า บรรยากาศรอบๆ ผิวโลกที่สิ่งที่มีชีวิตอาศัยอยู่มีส่วนที่เป็นน้ำอยู่ด้วยถึง ๓ ใน ๔ ของพื้นที่ทั้งหมด

 

ทุกคนคงได้เคยพบเห็นคนและสัตว์หลายชนิด ยังต้องการน้ำสำหรับดื่ม พืชก็ยังต้องการน้ำสำหรับไปหล่อเลี้ยงลำต้น เพื่อให้เกิดขบวนการต่างๆ การที่โลกมีส่วนที่เป็นน้ำอยู่อย่าเพียงพอนี้เอง มีส่วนช่วยให้สิ่งที่มีชีวิตที่อาศัยอยู่บนพื้นโลกสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้เป็นปกติสุข

แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงความว่า ถ้าน้ำมีอยู่ในร่างกายมากเกินไป จะเป็นผลดีแก่สิ่งที่มีชีวิต ดังเราจะเห็นว่า พืชระเหยน้ำที่มากเกินความต้องการออกทางใบ

คนและสัตว์จะมีขบวนการที่สลับซับซ้อนภายในร่างกาย เพื่อขจัดน้ำส่วนที่เกิดความต้องการออกมากับปัสสาวะ และต่อมเหงื่อ

เราอาจสังเกตได้โดยง่ายว่าขณะที่ร่างกายขาดน้ำ เช่น เดินทางไปไกลๆ หาน้ำดื่มไม่ได้ ร่างกายจะช่วยประหยัดน้ำ โดยปัสสาวะออกมาในปริมาณที่น้อยกว่าในยามที่เราดื่มน้ำมากๆ หรือในยามที่เราออกกำลังกายเหนื่อย เสียน้ำไปกับเหงื่อมาก จะมีความรู้สึกกระหายน้ำ ทั้งนี้เพื่อไปชดเชยกับน้ำที่สูญเสียออกไปจากร่างกาย

 

สิ่งที่มีชีวิตทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ จะมีเซลล์เดียว หรือหลายเซลล์ก็ตาม จะต้องมีน้ำเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ อยู่ภายในเซลล์ร่างกายเสมอ เพราะน้ำเป็นตัวทำละลายที่สำคัญของของเหลวภายในเซลล์ ซึ่งมีเกลือแร่ต่างๆ อาหาร ของเสีย ก๊าซออกซิเจน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ละลายอยู่ เพื่อหล่อเลี้ยงให้ทุกๆ เซลล์ภายในร่างกายสามารถทำหน้าที่ได้เป็นปกติ แต่การที่เซลล์ของร่างกายจะทำหน้าที่เป็นปกติอยู่ได้นั้น จำเป็นจะต้องมีขบวนการ ที่คอยรักษาความเข้มข้นของของเหลวภายในเซลล์ และอยู่รอบๆ เซลล์ให้มีระดับใกล้เคียงกันอยู่ตลอดเวลา ถ้าร่างกายไม่สามารถควบคุมระดับความเข้มข้นของของเหลวในร่างกายให้คงที่อยู่ได้แล้ว สิ่งมีชีวิตนั้นๆ จะไม่สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้อีก

 

ทะเลเป็นแหล่งกำเนิด ของสิ่งที่มีชีวิตเริ่มแรกในโลก

 

วิธีการที่จะช่วยรักษาสมดุลของของเหลวภายในร่างกาย ให้มีระดับคงที่อยู่ได้ อาจมีได้หลายวิธี และอาจแตกต่างกันไป ในสิ่งที่มีชีวิตแต่ละชนิด ในมนุษย์จะพบว่า มีไตเป็นอวัยวะ ช่วยกำจัดสารที่ร่างกายไม่ต้องการออกมาได้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีต่อมเหงื่อ ช่วยกำจัดของเสียออกมาทางผิวหนังอีกด้วย ส่วนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการหายใจ จะถูกปอดขับสู่ภายนอก โดยออกมากับลมหายใจออก เวลาที่ร่างกายขาดน้ำ เช่น ขณะออกกำลังกาย หรือทำงานหนัก หรืออยู่ในที่ร้อน และแห้งแล้ง จะทำให้เรารู้สึกกระหายน้ำ เพราะร่างกายสูญเสียน้ำออกไปมาก โดยขับออกมาเป็นเหงื่อ การดื่มน้ำ จะช่วยทำให้ความเข้มข้นของของเหลวภายในร่างกาย กลับคืนสู่สภาวะสมดุลได้ น้ำที่ดื่มควรเป็นน้ำประปา หรือน้ำฝน เพราะมีเกลือแร่ต่างๆ ละลายอยู่น้อยมาก ทำให้ร่างกายกลับคืนสภาวะปกติได้ ถ้าดื่มน้ำที่มีเกลือแร่ละลายอยู่มากๆ เช่น น้ำทะเล ร่างกายต้องกำจัดเกลือแร่ที่มากเกินต้องการออกทางปัสสาวะ และในการกำจัดนี้ จะมีการดึงเอาน้ำภายในร่างกายติดตามออกไปด้วย ทำให้ร่างกายกลับเสียน้ำมากยิ่งขึ้น ทหารที่อยู่ในสนามรบ หรือผู้ที่เดินทางไปในทะเลเป็นเวลานานๆ หรือมนุษย์อวกาศ จำเป็นจะต้องเตรียมน้ำดื่มติดตัวไปให้เพียงพอ เพราะน้ำ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ร่างกายจะขาดเสียมิได้ ผู้ป่วยซึ่งท้องเดินอย่างแรง เช่น เป็นอหิวาต์ หรือไข้รากสาด ร่างกายจะเสียน้ำออกมาทางอุจจาระ มากเกินกว่าปกติ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้โดยง่าย ในการรักษา แพทย์จะฉีดน้ำเกลือประมาณ ๐.๘๕ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นสารละลาย ที่มีความเข้มข้นใกล้เคียงกับของเหลวในเลือดเข้าเส้นเลือดอย่างช้าๆ เพื่อช่วยให้คนไข้ได้รับน้ำชดเชยกับที่เสียไป ทำให้สามารถรอดชีวิตอยู่ได้ ก่อนที่จะให้ยา เพื่อรักษาโรคต่อไป คนไข้ซึ่งได้รับอุบัติเหตุเสียเลือดมากๆ เช่นเดียวกัน ถ้าไม่สามารถห้ามเลือดให้หยุดไหลได้ทันท่วงทีแล้ว ถึงแม้ว่า จะเป็นบาดแผลในบริเวณที่ไม่สำคัญ ก็อาจเสียชีวิตได้โดยง่าย ดังนั้น ในการปฐมพยาบาลผู้ป่วย ซึ่งเสียเลือด จึงต้องห้ามเลือดเสียก่อน จึงนำส่งโรงพยาบาล เพื่อให้เลือดทดแทนเลือดที่สูญเสียไป

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป

Content

5
กลไกการขจัดของเสียที่เป็นของเหลว
กลไกการขจัดของเสียที่เป็นของเหลว ก. คอนแทรกไทล์แวคิวโอล(Contractile Vacuole) ของโปรโตซัว โปรโตซัว และสัตว์หลายเซลล์ชั้นต่ำบางชนิด ไม่มีอวัยวะทำหน้าที่ขับถ่ายของเสียที่เป็นของเหลว ของเสียดังกล่าว สามารถซึมผ่านผิวเซลล์ออกสู่น้ำ ที่อยู่นอกตัวมันได้โดยตรง
24K Views
6
ขบวนการแอคทีฟ ทรานสปอร์ต ภายในเซลล์อวัยวะขับถ่าย
ขบวนการแอคทีฟ ทรานสปอร์ต ภายในเซลล์อวัยวะขับถ่าย ได้กล่าวมาแล้วว่าร่างกายของสัตว์จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติเมื่อความดันออสโมซิส ของของเหลวภายนอกเซลล์กับภายในเซลล์ใกล้เคียงกัน แต่เซลล์ที่มีชีวิตลักษณะพิเศษ อยู่อย่างหนึ่ง คือ มีส่วนประกอบของสารภายในเซลล์ แล
10K Views
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow