Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูสมรรถภาพเยาวชนผู้พิการ

Posted By Plookpedia | 01 ก.ค. 60
6,426 Views

  Favorite

บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูสมรรถภาพเยาวชนผู้พิการ 

 

บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูสมรรถภาพเยาวชนผู้พิการนั้น นอกเหนือจากบุคลากรที่ทำหน้าที่ฟื้นฟูสมรรถภาพเยาวชนผู้พิการทางการศึกษาแล้ว ยังมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญจากสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ทางการแพทย์ ทางจิตวิทยา ทางสังคม ทางอาชีพ และอื่น ๆ ฉะนั้นจึงมีการใช้กลุ่มบุคลากร หรือกลุ่มสหวิทยากร ร่วมกันทำงาน เพื่อช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพเยาวชนผู้พิการ ซึ่งมีดังนี้

 

๑. ครูการศึกษาพิเศษ 

เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษา และฝึกอบรมมาเป็นพิเศษเฉพาะ เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการทั่วไป และพัฒนาการเฉพาะของเยาวชนผู้พิการ เทคนิคการสอนพิเศษ การใช้สื่อเครื่องมือ อุปกรณ์พิเศษ การตรวจสอบ และประเมินเด็กพิเศษ การกำหนดหลักสูตร และการให้คำปรึกษาแนะนำแก่ทั้งครูปกติ เด็กพิการ และพ่อแม่ ทั้งยังมีหน้าที่ให้บริการทั้งทางตรง และทางอ้อมแก่เยาวชนผู้พิการ และบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ สอนเสริม หรือสอนซ่อมเสริมทักษะต่างๆ ให้กับเด็กพิการโดยตรง และ/หรือช่วยครูปกติจัดเตรียม และจัดหาสื่อวัสดุอุปกรณ์ และเครื่องมือพิเศษ ประสานงานบริการด้านอื่น ๆ จัดหรือให้การอบรมแก่ผู้บริหารและครูทุกคนในโรงเรียน ติดตามความก้าวหน้าของเด็ก 

๒. ครูปกติ 

เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษา และฝึกอบรมให้มีความรู้ในด้านการสอนเด็กปกติ และควรได้รับข้อมูล หรือการฝึกอบรมให้มีความรู้พื้นฐาน และความเข้าใจในการสอนเด็กพิการเรียนร่วม ครูปกติมีหน้าที่ดำเนินโปรแกรมการเรียนการสอน และทำหน้าที่ประเมินผล จึงจำเป็นต้องหาเทคนิควิธีการสอน สื่อต่าง ๆ เพื่อช่วยให้เด็กพิเศษสามารถเรียนอยู่ในชั้นเรียนปกติได้ รวมทั้งเป็นผู้ให้ข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับตัวเด็ก นอกจากนี้ยังต้องเข้าใจกระบวนการในการประสานงานกับบุคลากรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องให้การบำบัดรักษา หรือฟื้นฟูสมรรถภาพให้แก่เยาวชนผู้พิการอย่างต่อเนื่อง เช่น นักกายภาพบำบัด นักโสตสัมผัสวิทยา แพทย์ นักแก้ไขการพูด เป็นต้น 

 

นักกายภาพบำบัดกำลังช่วยฝึกกายภาพบำบัดให้กับเด็กพิการ


 

๓. ผู้ช่วยครู 

เป็นอาสาสมัคร หรือผู้ที่ทางโรงเรียนว่าจ้าง โดยได้รับการฝึกอบรมให้ทำหน้าที่ช่วยครูพิเศษประจำชั้นในการให้ความช่วยเหลือแก่เด็กพิการขณะเด็กเรียน ทำกิจกรรมรับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำ หรือช่วยในห้องสอนเสริม หรือห้องฟื้นฟูบำบัด

๔. ครูแนะแนว 

เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษา และฝึกอบรมด้านการศึกษา และจิตวิทยาการแนะแนว ทำหน้าที่เป็นนักสังคมสงเคราะห์ ในกรณีที่โรงเรียนไม่มีนักสังคมสงเคราะห์ ช่วยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเด็กพิเศษจากครู จากบันทึกของทางโรงเรียน พ่อแม่ หน่วยงานใน ชุมชน เป็นต้น เพื่อประสานโปรแกรมการศึกษากับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลความก้าวหน้าของเด็ก ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ รวมทั้งให้บริการแนะแนวทางการศึกษา และอาชีพด้วย 

๕. ครูสอนพูด 

เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษา และฝึกอบรมให้มีความสามารถสอนพูดและภาษาให้กับเด็กพิการ รวมทั้งสามารถแก้ไขการพูดไม่ชัด โดยร่วมมือกับนักแก้ไขการพูดในการวางแผนการสอนพูดและภาษา

 

ครูสอนพูดให้เด็กหูตึง


 

๖. นักจิตวิทยาประจำโรงเรียน 

หมายถึง ผู้ที่ได้รับการศึกษา และฝึกอบรมมาทางด้านจิตวิทยา สามารถทำการตรวจสอบทางจิตวิทยา ปรับพฤติกรรมเด็กพิการ ช่วยรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการประเมินเด็ก สังเกตเด็กพิการในชั้นเรียนปกติ สัมภาษณ์พ่อแม่ หรือให้คำแนะนำแก่บุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอธิบาย หรือแปลความหมายผลการตรวจสอบให้พ่อแม่ ครู และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบ และเข้าใจ 

๗. นักสังคมสงเคราะห์ประจำโรงเรียน 

เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษา และฝึกอบรมทางด้านสังคมสงเคราะห์ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำ แก่พ่อแม่ ครู และตัวเด็กเอง ในเรื่องของการให้การสงเคราะห์แก่เด็กพิการที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของครอบครัว ศึกษาปัญหา และสภาพแวดล้อมของเด็ก โดยการเยี่ยมบ้าน ติดตามผล และประสานประโยชน์ระหว่างโรงเรียน องค์กรในชุมชน และทางบ้าน

๘. พยาบาลประจำโรงเรียน 

เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษา และฝึกอบรมด้านการพยาบาล ศึกษา ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลทางการแพทย์ ที่เกี่ยวกับเด็ก อธิบายถึงผลกระทบของความบกพร่องที่มีต่อการศึกษาของเด็ก ช่วยในการคัดแยกเด็กที่มีปัญหาทางการเห็น หรือการได้ยิน อธิบาย หรือแปลความหมายบันทึก หรือรายงานทางการแพทย์ ให้บริการแก่เด็กพิการที่เจ็บป่วยเรื้อรัง ที่ต้องการการเอาใจใส่ทางการแพทย์ติดต่อกัน รวมทั้งช่วยให้พ่อแม่ของเด็กพิการได้รับบริการทางการแพทย์ สำหรับลูกพิการของเขา 

๙. แพทย์ 

เป็นผู้ได้รับการศึกษา และฝึกอบรมให้เป็นผู้ชำนาญเฉพาะทาง เช่น แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู จิตแพทย์ จักษุแพทย์ ศัลยแพทย์ทางกระดูก กุมารแพทย์ แพทย์ทางด้าน หู คอ จมูก ทำหน้าที่ตรวจวินิจฉัย และให้การบำบัดรักษา เพื่อปรับสภาพความพิการ และฟื้นฟูสมรรถภาพของเด็กพิการ ติดตามผลการรักษา ฟื้นฟู โดยอาจเปลี่ยนแปลงการรักษา และฟื้นฟู ให้เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงของความพิการ เพื่อทำให้การฟื้นฟูสมรรถภาพบรรลุผลสูงสุด

๑๐. นักกายภาพบำบัด 

เป็นผู้มีความชำนาญในการใช้ทคนิครักษาผู้ป่วยด้วยเครื่องมือชนิดต่าง ๆ เพื่อพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การทรงตัว การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ และข้อต่อที่ทำหน้าที่ไม่ถูกต้องสมบูรณ์ ฝึกการใช้กายอุปกรณ์เสริมหรือเทียม และเครื่องช่วยในการเคลื่อนไหว รวมทั้งควบคุมการบำบัด ด้วยกายบริหารในกำหนดการต่าง ๆ ที่แพทย์สั่ง 

๑๑. นักกิจกรรมบำบัด 

เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการเลือกเฟ้นงานฝีมือ และกิจกรรมต่างๆ มาให้บุคคลพิการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลทางการรักษา การปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน รวมถึงการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ นักกิจกรรมบำบัดยังช่วยประดิษฐ์ หรือดัดแปลงอุปกรณ์ หรือเครื่องมือ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานการเรียนการสอน ตลอดจนให้คำแนะนำที่จำเป็นแก่ครูและนักกายอุปกรณ์เสริมและเทียม 

๑๒. นักกายอุปกรณ์เสริมและเทียม 

เป็นผู้ผลิตกายอุปกรณ์เสริม ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการเสริมความแข็งแรงให้แก่ส่วนของร่างกายที่พิการ และดัดแก้ความพิการ ที่สามารถดัด แก้ไขได้ เช่น รองเท้าสำหรับคนพิการ เครื่องช่วยพยุง ปลอกคอกันสะเทือน อุปกรณ์ประคองข้อต่าง ๆ รวมทั้งผลิตกายอุปกรณ์เทียม ซึ่งเป็น อุปกรณ์ที่ใช้แทนส่วนของแขนขาที่ขาดหายไป เช่น นิ้วเทียม แขนและขาเทียม เป็นต้น

 

นักกายอุปกรณ์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์กำลังผลิตขาเทียมสำหรับผู้พิการ


 

๑๓. นักจิตวิทยาคลินิก 

เป็นผู้ที่มีควา รู้ความชำนาญในการตรวจและวินิจฉัยทางจิตวิทยา เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการแก้ปัญหา เป็นผู้แก้ไขปัญหาทางพฤติกรรม และอารมณ์ รวมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพจิต กระตุ้นให้บุคคลพิการมีกำลังใจในการที่จะฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างเต็มที่ และให้ข้อเสนอแนะกับครูผู้สอนเด็กพิการด้วย 

 

เด็กปัญญาอ่อนกำลังฝึกทักษะในการทำอาหาร


 

๑๔. นักแก้ไขการพูด

เป็นผู้ที่สามารถประเมิน และตรวจสอบความสามารถ และความ บกพร่องในการพูด เพื่อทำการส่งเสริมแก้ไขการพูด และพัฒนาการทางภาษาที่ผิดปกติ และเพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติเหล่านั้น ซึ่งสามารถใช้เป็นแนวทางในการให้การรักษาอย่างถูกต้องของแพทย์ได้ 

๑๕. นักโสตสัมผัสวิทยา 

เป็นผู้ที่สามารถตรวจ และวินิจฉัยสมรรถภาพการได้ยิน คัดเลือก ให้คำแนะนำ ติดตาม และประเมินผล การใช้เครื่องช่วยฟังทำการฟื้นฟูสมรรถภาพ การได้ยิน ฝึกฟัง ฝึกใช้การมองในการสื่อความหมาย พัฒนาภาษา และการพูด ให้คำแนะนำ ปรึกษาแก่ผู้ปกครองและครู ด้านจิตใจ สังคม และการจัดการศึกษาให้กับเด็กพิการที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน และเด็กพิการอื่น ๆ ที่มี ปัญหาการพูด และภาษา 

๑๖. ที่ปรึกษาด้านอาชีพ 

เป็นผู้ให้คำแนะนำร่วมกับแพทย์ในการฝึกอาชีพที่เหมาะสมกับความพิการของบุคคล ทำหน้าที่ประเมินด้านอาชีพ เช่น ความสามารถ ความถนัด ความสนใจ และอุปนิสัยในการทำงาน โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์ การฝึกเตรียมอาชีพ รวมทั้งวิธีการตรวจสอบทางจิตวิทยา เพื่อประเมินระดับสติปัญญา นอกจากนี้ที่ปรึกษาด้านอาชีพยังมีหน้าที่ทำกำหนดการฝึกอาชีพ แก้ปัญหาในการฝึกอาชีพ ตลอดจนจัดหางานที่เหมาะสมให้ทำ เมื่อฝึกอาชีพได้แล้ว 

 

บุคคลที่ถึงแม้จะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญแต่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการฟื้นฟูสมรรถภาพ เยาวชนผู้พิการ คือ พ่อแม่หรือผู้ปกครอง ซึ่งจะเป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติของเด็ก ในเวลาที่อยู่นอกโรงเรียน ร่วมวางเป้าหมาย ทางการศึกษาสำหรับเด็ก ให้การสนับสนุน หรือทดแทนส่วนใดส่วนหนึ่งของโปรแกรมการศึกษา ที่ทางโรงเรียน หรือหน่วยงานของเด็กจัดให้ไม่สมบูรณ์ หรือขาดไป

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow