Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความเป็นมา การดนตรีสำหรับเยาวชน

Posted By Plookpedia | 01 ก.ค. 60
1,501 Views

  Favorite

การดนตรีสำหรับเยาวชน

 

ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ดนตรีสำหรับเยาวชนไทยมีอยู่ด้วยกันหลายแบบ ทั้งที่เป็นดนตรีของไทยเราเอง ดนตรีจากต่างประเทศ ดนตรีไทยของเราเองนั้น ยังแบ่งออกได้เป็นอีกสองกลุ่ม คือ ดนตรีพื้นบ้านที่มีอยู่ในภาคต่าง ๆ ของประเทศ เช่น ดนตรีอีสาน ดนตรีภาคเหนือ และดนตรีของภาคใต้ ส่วนดนตรีที่เรียกว่า เป็น ดนตรีไทยมาตรฐานนั้น คือ ดนตรีไทยภาคกลาง อันได้แก่ การบรรเลงมโหรี ปี่พาทย์ และเครื่องสายนานาประเภท 

 

ในส่วนที่เราได้รับอารยธรรมดนตรีตะวันตกเข้ามานั้น ที่เราใช้เป็นแบบฉบับอย่างเต็มที่ก็มี เช่น
การบรรเลงวงดุริยางค์สากล วงดนตรีแจ๊ส เป็นอาทิ และยังมีดนตรีตะวันตก ที่เราผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมดนตรีของไทย มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นในส่วนของดนตรีไทยแท้และดนตรีสากลที่ได้รับเข้ามา
เกิดเป็นดนตรีสำหรับเยาวชน ขึ้นมากมายหลายรูปแบบ ล้วนเป็นเรื่องน่าสนใจทั้งสิ้น

 

การฝึกบรรเลงมหาดุริยางค์ของนักเรียนโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัยกรุงเทพมหานคร

 

การเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ และสังคม ทำให้ชีวิตของเยาวชนกับการดนตรีพลอยเปลี่ยนแปลงไปด้วย ดังจะได้กล่าวต่อไป สำหรับดนตรีไทยนั้น สมัยก่อนบิดามารดามักนำเด็กไปฝากให้เรียนดนตรีที่บ้านครู โดยกินนอนอยู่กับครูเหมือนกับเป็นลูกเป็นหลานของครู โดยไม่ต้องเสียค่ากินอยู่และค่าเล่าเรียนเลย นอกจากจะต้องฝึกหัดดนตรีแล้ว เด็กจะต้องช่วยงานที่บ้านครู เช่น ตักน้ำ
หุงข้าว ขนย้ายเครื่องดนตรี เวลาไปออกงานบรรเลงตามที่ต่าง ๆ รวมทั้งรับใช้ท่านครู
และนักดนตรีรุ่นพี่ตามสมควร 

 

การฝึกหัดดนตรีไทยสมัยก่อน ต้องเริ่มต้นด้วยการเรียนตีฆ้องวงใหญ่ เป็นอันดับแรก โดยเรียนเพลงไหว้พระที่เรียกว่า "เพลงสาธุ-การ" เป็นเพลงแรก 

 

การที่ได้คลุกคลีอยู่กับดนตรีในบ้านของครูตลอดทั้งวันนั้น หูก็เคยชินกับเสียงดนตรีไทยไปทีละน้อย จนในที่สุดก็จำเสียงเพลงต่าง ๆ ได้ เมื่อถึงเวลาเรียน ครูก็สอนให้ทีละขั้นตอน เมื่อหูจำเสียงได้ก่อนแล้ว การใช้มือปฏิบัติตามให้ได้ตรงเสียงที่จำได้นั้น ช่วยให้ทำเพลงได้ง่ายขึ้น การต่อเพลงอย่างไทยโบราณ ใช้วิธีปฏิบัติจนจำขึ้นใจได้ ไม่มีการจด และอ่านโน้ตเหมือนฝึกดนตรีสากล จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) จึงได้คิดโน้ตไทยที่เป็นตัวเลข ๙ ตัวขึ้นและยังมีผู้คิดโน้ตเครื่องสาย มีตัวเลข ๐-๔ ตามมา

 

หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็นปรมาจารย์ดนตรีไทยคนสำคัญ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือตลอดมา

 

 

ผู้ที่เรียนดนตรีสมัยก่อน ต้องตื่นนอนแต่เช้ามืด เวลาประมาณ ๐๕:๐๐ นาฬิกาก่อนพระอาทิตย์ขึ้น แล้วฝึกหัดบรรเลงทบทวนไปคนเดียว ครูเป็นคนนั่งฟัง และคอยแก้ไขให้จนถูกต้อง จนถึงเวลา ๗ นาฬิกาเศษ จึงไปทำธุรกิจส่วนตัว ไปช่วยงานในครัว กินอาหารเช้าพร้อมกับเพื่อน ๆ ที่อยู่ร่วมกัน เสร็จแล้วพักผ่อนหรือช่วยงานบ้าน ตอนสายประมาณ ๐๙:๐๐ นาฬิกา เริ่มฝึกบรรเลงต่อไปอีก โดยอาจบรรเลงรวมวงหรือต่อเพลงใหม่ แล้วแต่ครูผู้เป็นหัวหน้ากำหนดถึงเวลากลางวัน รับประทานอาหารแล้วก็พักผ่อน เริ่มลงมือซ้อมอีกประมาณบ่ายสองถึงสามโมง ซ้อมไปจนค่ำจึงอาบน้ำกินข้าว หากครูเจ้าของรับงานไว้ ก็ออกไปบรรเลงตามงานต่าง ๆ เสร็จแล้วกลับบ้านตอนดึก หากไม่มีงานก็ต้องฝึกซ้อมต่อไป จนถึงเวลาเข้านอนประมาณ ๒๐:๐๐ นาฬิกา ไม่ได้เรียนวิชาอื่นไปพร้อมกับดนตรี นักดนตรีไทยแต่ก่อนจึงมีความรู้ความถนัด แต่เรื่องการดนตรีอย่างเดียวเท่านั้น  

 

การเรียนดนตรีไทยสมัยก่อน ต้องเริ่มต้นเรียนฆ้องวงใหญ่เป็นอันดับแรก ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีหลักของวงปี่พาทย์ ต้องมีการไหว้ครูเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการคารวะต่อครู ไหว้ครูแล้ว จึงต่อเพลงได้

 

เมื่อเรียนฆ้องวงจนคล่องแล้ว ครูก็สอนให้บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีชนิดอื่นต่อไป เช่น ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงเล็ก เครื่องหนัง (กลองนานาชนิด) และเครื่องเป่า เช่น ปี่ บางคนเก่งเฉพาะเครื่องดนตรีชิ้นเดียว แต่บางคนอาจถนัดบรรเลงได้หลายชิ้น สามารถสลับกันบรรเลงในวงได้ คนที่เรียนจนสามารถบรรเลงได้ทุกเครื่องมือในวงปี่พาทย์เรียกว่า "เล่นดนตรีได้รอบวง หรือ เป็นรอบวง" สามารถออกไปประกอบอาชีพได้คล่องตัว 

บางคนเรียนอยู่กับครูหลายปีตั้งแต่อายุได้ ๗-๘ ขวบ จนโตเป็นหนุ่ม เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ก็จะบวชเป็นพระสงฆ์ เรียนปฏิบัติธรรมราวหนึ่งพรรษาเป็นอย่างน้อย เมื่อลาสิกขาออกมาแล้ว ถือว่าเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว ครูก็สอนเพลงสำคัญ ๆ ให้สำหรับไปประกอบอาชีพ บางคนกลับไปบ้านของตน มีวิชาดนตรีติดตัวไปทำมาหาเลี้ยงชีพได้บางคนไปเป็นครูสอนดนตรีถ่ายทอดวิชาต่อไป 

การเรียนเพลงสำคัญ ๆ บางเพลง เช่น เพลงตระ เพลงหน้าพาทย์ ต้องบวชเสียก่อน จึงจะเรียนได้คือ ต้องเป็นผู้ใหญ่ รู้ผิดรู้ชอบ รู้ควรไม่ควร จะได้ใช้เพลงที่ครูให้มานั้นได้ถูกต้องตามกาลเทศะ สำหรับเครื่องดนตรีชนิดอื่น เช่นเครื่องคุมจังหวะ อันได้แก่ กลอง ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง นั้นให้ค่อย ๆ เรียนรู้ไปทีละสิ่ง จนถึงเครื่องสาย และเครื่องเป่า เลือกเรียนได้ตามใจชอบและความถนัด 

นักดนตรีแต่ก่อนเคารพรักครูเหมือนบิดา ครูเป็นผู้อบรมบ่มนิสัย สอนวิชาดนตรีให้รู้จักรัก และเกรงใจครู รู้ถึงพระคุณครู และมีความกตัญญูกตเวทีตอบแทนแก่ครู 

ปัจจุบันนี้วิธีการเรียนดนตรีไทย โดยรูปกินนอนอยู่บ้านครูได้เลิกไปแล้ว เพราะครูสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก เปลี่ยนเป็นให้ครูมาสอนที่โรงเรียน โดยกำหนดตารางสอนแน่นอน ต่างจังหวัดอาจจะมีบ้านครูดนตรีไทยเช่นนี้เหลืออยู่บ้าง แต่ก็น้อยเต็มทีครูจึงเป็นผู้รับจ้างสอนดนตรีไทย แทนที่ครูจะเป็นผู้กำหนดเพลงที่สอนกลายเป็นผู้ต้องตามใจศิษย์ สอนให้ตามที่ศิษย์ต้องการวิธีการนี้ทำให้การเรียนไม่เป็นไปตามระบบดั้งเดิมที่เคยปฏิบัติมา ดนตรีไทยจึงผิดไปจากรูปแบบดั้งเดิมที่เยาวชนควรจะได้เรียนรู้อีกประการหนึ่งอาชีพดนตรีไทยมีค่าตอบแทนน้อย จึงมีผู้สนใจเรียนน้อยลงทุกที

รัฐบาลโดยทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ ได้พยายามส่งเสริมเยาวชนในการเรียนดนตรีไทย นอกจากเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี และปริญญาโทขึ้นแล้ว ยังมีแผนที่จะเปิดสอนถึงระดับปริญญาเอกด้วย ทั้งนี้ ทบวงฯ ได้ตั้งคณะกรรมการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพดนตรีขึ้น เช่นเดียวกับวิชาชีพแขนงอื่น โดยหวังว่า เมื่อมีเกณฑ์กำหนดให้ปฏิบัติตามแล้ว วิชาความรู้ทางดนตรีจะได้มีหลักเกณฑ์รัดกุม ปฏิบัติตามได้ถูกต้อง เกณฑ์มาตรฐานนี้ทบวงมหาวิทยาลัยได้จัดทำขึ้น โดยคำสั่งของคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ เป็นต้นมา จึงเป็นที่แน่ใจว่า เยาวชนไทยจะได้ รับการฝึกฝนให้เป็นนักดนตรีไทยที่สมบูรณ์แบบทางวิชาการขึ้น จนเด่นชัดทั้งในความรู้ และฝีมือในการบรรเลง  

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow