Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

นิยามและประวัติความเป็นมาของสงกรานต์

Posted By Plookpedia | 16 มี.ค. 60
4,381 Views

  Favorite

นิยามและประวัติความเป็นมาของสงกรานต์    

สงกรานต์เป็นคำในภาษาสันสกฤต แปลว่า เคลื่อนย้ายเข้าไป หรือผ่าน ในที่นี้หมายถึง วันที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีหนึ่ง ไปสู่อีกราศีหนึ่ง เรียกว่า วันสงกรานต์ แต่เฉพาะวันเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีมีนเข้าไปสู่ราศีเมษ ถือเป็นกรณีพิเศษ เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ ในสมัยโบราณถือเอาวันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่ การกำหนดนับเวลาที่ดวงอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมษ เป็นวันเริ่มต้นรอบปีใหม่ หรือวันขึ้นปีใหม่ดังกล่าวข้างต้นนั้น มีกำเนิดมาจากอินเดีย ต่อมาไทย รวมทั้งชนชาติอื่นๆ ในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ พม่า มอญ ลา เขมร ต่างรับเอาแนวความคิดนี้มาใช้เป็นวันขึ้นปีใหม่ประจำชาติของตน ซึ่งอาจกำหนดขึ้นไม่ตรงกัน แต่ก็ถือเป็นประเพณีสำคัญของบ้านเมือง

 

ตำแหน่งของราศีที่อยู่ในรูปวงกลม

 

 

ช่วงเวลาที่แบ่งการโคจรของดวงอาทิตย์ตามหลักสากลเรียกว่า การนับวัน เดือน ปี ทางสุริยคติ ซึ่งตามปกติพระอาทิตย์ และดวงดาว ในท้องฟ้ามีการเคลื่อนย้ายเปลี่ยนตำแหน่งกันทุกวัน โดยเฉพาะพระอาทิตย์จะเคลื่อนย้ายจากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่งเป็นประจำทุกเดือน ในการนับราศี คนโบราณได้แบ่งท้องฟ้าออกเป็น ๑๒ ส่วน แต่ละส่วนเรียกว่า ราศี มีอัตราราศีละ ๓๐ องศา และเมื่อรวม ๑๒ ราศีแล้ว จะได้ ๓๖๐ องศา ครบรอบวงกลมพอดี

เมื่อพระอาทิตย์เคลื่อนผ่านไปในราศีต่างๆ จากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่ง ใช้เวลา ๑ เดือน เมื่อครบรอบ ๑๒ ราศี จะมีเวลาเท่ากับ ๑ ปีพอดี

 

กลุ่มดาวรูปสัตว์ ๑๒ ราศี

 

 

อนึ่ง ราศีที่แบ่งไว้นั้น แต่ละราศีมีกลุ่มดาวบนท้องฟ้าประจำอยู่ จึงได้นำชื่อกลุ่มดาวเหล่านั้นมาตั้งเป็นชื่อราศีต่างๆ ด้วย ได้แก่

กลุ่มดาวรูปแกะ คือ ราศีเมษ
กลุ่มดาวรูปวัว คือ ราศีพฤษภ
กลุ่มดาวรูปคนคู่ คือ ราศีเมถุน
กลุ่มดาวรูปปู คือ ราศีกรกฎ
กลุ่มดาวรูปสิงห์ คือ ราศีสิงห์
กลุ่มดาวรูปหญิงสาว คือ ราศีกันย์
กลุ่มดาวรูปคันชั่ง คือ ราศีตุล
กลุ่มดาวรูปแมงป่อง คือ ราศีพิจิก
กลุ่มดาวรูปคนถือธนู คือ ราศีธนู
กลุ่มดาวรูปมังกรหรือแพะทะเล คือ ราศีมกร
กลุ่มดาวรูปคนถือหม้อน้ำ คือ ราศีกุมภ์
กลุ่มดาวรูปปลา คือ ราศีมีน

จะเห็นได้ว่า ชื่อราศีต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น คือ ชื่อเดือนทั้ง ๑๒ เดือนตามระบบสุริยคติ ซึ่งหมายถึง การนับวัน เดือน ปี โดยใช้การโคจรของพระอาทิตย์เป็นเกณฑ์ และแต่ละเดือนจะมีจำนวนวันไม่เท่ากันเสมอไป ในเรื่องนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเล่าไว้ในพระประวัติของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทรงคิดวิธีกำหนดปฏิทินไทยขึ้นใช้ตามสุริยคติ ทรงคิดชื่อเดือน เพื่อให้จำง่าย จากรูปกลุ่มดาวในจักรราศี โดยเติมคำว่า อายน และอาคม ซึ่งเป็นคำภาษาสันสกฤต แปลว่า การมาถึง เหมือนกันทั้ง ๒ คำ นำมาเชื่อมต่อท้ายชื่อราศี เพื่อแบ่งเดือนที่มีจำนวนวัน เป็น ๓๐ วันบ้าง ๓๑ วันบ้าง ให้เป็นที่สังเกตได้ เช่น ราศีเมษ เชื่อมด้วย อายน เป็น เมษายน แสดงว่า เดือนนี้มี ๓๐ วัน เครื่องหมายของราศี คือ รูปแกะ ราศีพฤษภ เชื่อมด้วย อาคม เป็น พฤษภาคม แสดงว่า เดือนนี้มี ๓๑ วัน เครื่องหมายของราศี คือ รูปวัว วิธีการอย่างนี้ช่วยให้ได้ข้อยุติว่า เดือนใดมี ๓๐ วัน เดือนใดมี ๓๑ วัน และยังทำให้รู้ว่า ราศีใดมีรูปสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายใดอีกด้วย และเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทรงคิดได้ดังนี้แล้ว จึงได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบ ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นประเพณี ของบ้านเมือง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๒ เป็นต้นมา

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

ในสมัยโบราณ คนไทยถือเอาวันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงไปตามคติความเชื่อของพราหมณ์ กำหนดนับเดือนเมษายนให้เป็นเดือนแรกของปี โดยกำหนดให้วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ เป็นวันขึ้นปีใหม่ และยึดถือกันสืบต่อมา จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ใน พ.ศ. ๒๔๓๒

เนื่องจากวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ตรงกับวันที่ ๑ เมษายน พอดี ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยนับแต่นั้นมา ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นวันทางสุริยคติที่แน่นอนเหมือนกันทุกๆ ปี จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๘๓ ในวันที่ ๒๔ ธันวาคม คณะรัฐบาลขณะนั้นได้ประกาศให้ใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่สืบมา จนถึงปัจจุบัน

อนึ่ง แต่เดิมก่อนที่จะมีการนับวัน เดือน ปี ทางสุริยคติตามแบบสากลนั้น คนไทยนับวันเดือน ปีทางจันทรคติอยู่แล้ว โดยคำนวณจากการโคจรของดวงจันทร์เป็นหลัก กล่าวคือ เมื่อดวงจันทร์โคจรไปรอบโลกรอบหนึ่ง นับเป็นเดือนหนึ่ง แต่การโคจรของดวงจันทร์รอบหนึ่งกินเวลา ๒๙ วัน ๑๒ ชั่วโมง ๔๔ นาที ฉะนั้นการนับทางจันทรคติจึงกำหนดให้เดือนหนึ่งมี ๓๐ วันบ้าง ๒๙ วันบ้าง สลับกันไปทุกเดือน จนครบ ๑ ปี โดยมีวันขึ้น ๑ ค่ำ เป็นต้นเดือน วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เป็นกลางเดือน และแรม ๑๕ ค่ำ หรือแรม ๑๔ ค่ำ เป็นวันสิ้นเดือน และเรียกชื่อ เดือน ๑ ว่า เดือนอ้าย เดือน ๒ ว่า เดือนยี่ แล้วต่อด้วยเดือน ๓ เดือน ๔ เรื่อยไปจนถึงเดือน ๑๒

ปฏิทินหลวง พุทธศักราช ๒๕๕๓ เป็นปีอธิกมาส โดยใช้การคำนวณในการกำหนดวันสำคัญต่างๆ ประจำปี


การที่กำหนดให้เดือนหนึ่งมี ๓๐ วันบ้าง ๒๙ วันบ้าง เมื่อครบปีหนึ่ง ก็ยังขาดไปประมาณ ๑๒ วันเศษ และเมื่อนับต่อไปถึง ๓ ปี ก็จะขาดไปมากกว่า ๓๐ วัน ดังนั้นการนับจึงมีการเพิ่มเดือน ๘ ขึ้นอีกเดือนหนึ่งในทุกๆ ๓ ปี เรียกว่า เดือน ๘ หลัง หรือเป็นปีที่มีเดือน ๘ สองหน เรียกปีนั้นว่า ปีอธิกมาส

อย่างไรก็ดี แม้การนับจะใช้กันดังที่กล่าวมาแล้วก็ตาม ในปีหนึ่งๆ วันและชั่วโมงก็ยังมีการคลาดเคลื่อนไปได้อีก ดังนั้นเมื่อนับไปถึง ๔ ปี หรือ ๕ ปี จึงเพิ่มวันขึ้นอีกในเดือน ๗  คือ ได้กำหนดให้เดือน ๗ เป็นเดือนคู่ มี ๓๐ วัน เรียกว่า เดือนมีอธิกวาร  ถ้าปกติวาร เดือนคี่ก็จะมีเพียง ๒๙ วัน เท่านั้น และจะสังเกตได้ว่า ในเดือนปกติวาร ข้างขึ้นจะมี ๑๕ วัน ข้างแรมมี ๑๔ วัน ส่วนเดือน ๗ ซึ่งเป็นเดือนอธิกวาร ข้างแรมจะมี ๑๕ วัน แต่ถ้าปีใดเป็นปีอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน ปีนั้นจะต้องไม่มีเดือนอธิกวารด้วย

การเขียน วัน เดือน ปี ทางจันทรคติ ปฏิทินสงกรานต์ ของธนาคารออมสิน

 

 

สำหรับการเขียนวัน เดือน ปีทางจันทรคติ มีรูปแบบเฉพาะโดยกำหนดให้เขียนด้วยตัวเลขทั้งหมด เริ่มต้นด้วยวันที่อยู่ในรอบสัปดาห์ ซึ่งจะใช้ตัวเลขแทนชื่อวันดังกล่าวนั้น ดังนี้

วันอาทิตย์ ใช้เลข ๑
วันจันทร์ ใช้เลข ๒
วันอังคาร ใช้เลข ๓
วันพุธ ใช้เลข ๔
วันพฤหัสบดี ใช้เลข ๕
วันศุกร์ ใช้เลข ๖
วันเสาร์ ใช้เลข ๗

ต่อจากวัน เขียนข้างขึ้นไว้บนเครื่องหมาย "ฯ"  ส่วนข้างแรมเขียนไว้ใต้เครื่องหมาย"ฯ" ลำดับต่อไปจะเขียนเดือน ถ้าเป็นปีที่มีเดือน ๘ สองหน เดือน ๘ แรกให้เขียนเลขตัวเดียว ถ้าเป็นเดือน ๘ หลัง ให้เขียนเลข ๘ ซ้อนกัน ๒ ตัว ต่อจากเดือนเขียนคำว่า "ค่ำ" หากบอกปีและศักราชไว้ด้วย ก็จะเขียนปีนักษัตรก่อน แล้วจึงต่อด้วยเลขตัวสุดท้ายของปีจุลศักราช และเลขศักราชตามลำดับ วิธีเขียนวัน เดือน ปีแบบเก่ามีแผนผังการเขียนดังตัวอย่างต่อไปนี้

วัน ๕ ฯ ๗ ค่ำ ปีชวดจัตวาศก จ.ศ. ๑๒๗๔
         ๑๔

อ่านว่า วันพฤหัสบดี เดือน ๗ แรม ๑๔ ค่ำ ปีชวดจัตวาศก จุลศักราช ๑๒๗๔ ตรงกับวันที่ ๑๓  มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๕๕      

        ๑
วัน ๖ ฯ ๘ ค่ำ ปีชวดจัตวาศก จ.ศ. ๑๒๗๔

อ่านว่า วันศุกร์ เดือน ๘ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีชวดจัตวาศก จุลศักราช ๑๒๗๔ ตรงกับวันที่ ๑๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๕๕

        ๑ ๘
วัน ๑ ฯ ๘ ค่ำ ปีชวดจัตวาศก จ.ศ. ๑๒๗๔

อ่านว่า วันอาทิตย์ เดือน ๘๘ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีชวดจัตวาศก จุลศักราช ๑๒๗๔ ตรงกับวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๕๕

อย่างไรก็ดี ตามที่ได้กล่าวมาในเบื้องต้นแล้วว่า คติโบราณที่ใช้กันมาแต่เดิมที่ว่า วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยนั้น ก็ยังเป็นที่เชื่อถือกันสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งโหรจะเป็นผู้คำนวณโดยอาศัยคัมภีร์สุริยยาตรประกอบ ตามปกติกำหนดไว้มี ๓ วัน วันแรก เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ คือ วันที่พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ วันที่ ๒ เป็นวันเนา และวันที่ ๓ เป็นวันเถลิงศก ถ้าเทียบกับปฏิทินสุริยคติแล้ว ในช่วงระยะเวลา ๓๐ - ๔๐ ปีมานี้ วันมหาสงกรานต์จะเป็นวันที่ ๑๓ เมษายน (แต่กำลังจะเป็นวันที่ ๑๔ เมษายน ในเวลาไม่ช้านี้ เพราะการคำนวณตามคัมภีร์สุริยยาตรนั้น วันมหาสงกรานต์จะเลื่อนไป ๑ วัน ทุกๆ ๖๐ ปีเศษ) ปฏิทินหลวงในปัจจุบันกำหนดให้วันที่ ๑๓ - ๑๕ เมษายน เป็นวันเทศกาลสงกรานต์ แต่วันเถลิงศก (วันขึ้นปีใหม่ของจุลศักราช) ยังอาศัยการคำนวณอยู่ บางปีจึงเป็นวันที่ ๑๕ เมษายน และบางปีเป็นวันที่ ๑๖ เมษายน

 

ภาพเขียนประกอบเรื่องเล่าในตำนานเกี่ยวกับเศรษฐีทำพิธีบวงสรวงรุกขเทวดา เพื่ออธิษฐานขอบุตร

 

 

เรื่องราวที่เกี่ยวกับ "สงกรานต์" มีตำนานเก่าแก่กล่าวถึง นางสงกรานต์ประจำวันทั้ง ๗  ไว้ มีความว่า

"ในสมัยต้นภัทรกัป มีเศรษฐีผู้หนึ่งยังไม่มีบุตรสืบสกุล บ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุราซึ่งมีบุตรแล้ว ๒ คน วันหนึ่ง เศรษฐีถูกนักเลงสุรา ว่ากล่าวด้วยถ้อยคำหยาบช้าดูหมิ่น เหตุด้วยยังไม่มีบุตรสืบสกุล หากถึงแก่ความตายเมื่อใด ทรัพย์สมบัติที่มีอยู่มากมาย ก็จะสูญเปล่าอย่างแน่นอน เศรษฐีมีความละอาย จึงได้ประกอบพิธีบวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร เศรษฐีกระทำพิธีบูชาติดต่อกันนานถึง ๓ ปี ก็ยังไม่มีบุตรตามปรารถนา จนถึงวันหนึ่งเป็นวันนักขัตฤกษ์ต้นปีใหม่ ตรงกับวันที่พระอาทิตย์โคจรจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งกำหนดว่า เป็นวันมหาสงกรานต์ เศรษฐีนั้น พาบริวารไปที่ต้นไทรใหญ่ริมฝั่งน้ำอันเป็นที่อยู่อาศัยของนกนานาชนิด เศรษฐีได้ประกอบพิธีบวงสรวงบูชารุกขเทวดาผู้รักษาต้นไทร ด้วยอาหาร และประโคมดุริยางค์ต่างๆ กับทั้งตั้งจิตอธิษฐานขอบุตรแก่รุกขเทวดานั้นด้วย ฝ่ายรุกขเทวดามีจิตเมตตาอยากให้เศรษฐีสมปรารถนา จึงไปขอบุตรจากพระอินทร์ให้แก่เศรษฐีนั้น พระอินทร์จึงโปรดให้ธรรมบาลเทวบุตรลงมาเกิดในครรภ์ของภรรยาเศรษฐี เมื่อเศรษฐีได้บุตร ก็ตั้งชื่อให้ว่า ธรรมบาล พร้อมกับดูแลเลี้ยงดูอย่างดี สร้างปราสาท ๗ ชั้น ให้ธรรมบาลกุมารอยู่ที่ใกล้ต้นไทรริมฝั่งน้ำนั้น เมื่อเจริญวัยขึ้น ก็ได้ศึกษาวิชาการต่างๆ จนรู้ภาษานก จบไตรเพท เมื่ออายุได้เพียง ๗ ขวบ ได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่างๆ แก่ชนทั้งปวง

ครั้งนั้นโลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหม ซึ่งอยู่บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา มีท้าวกบิลพรหมองค์หนึ่งมีธิดา ๗ องค์ เป็นเทพธิดาประจำวันต่างๆ  คือ

๑. วันอาทิตย์ นามว่า ทุงษเทวี ใช้พัสตราภรณ์สีมณีแดง ทัดดอกทับทิม เครื่องประดับปัทมราค ภักษาหารผลมะเดื่อ อาวุธในหัตถ์ขวาถือจักร หัตถ์ซ้ายถือสังข์ มีครุฑเป็นพาหนะ

๒. วันจันทร์ นามว่า โคราคเทวี ใช้พัสตราภรณ์สีเหลือง ทัดดอกปีบ เครื่องประดับมุกดา ภักษาหารน้ำมัน อาวุธในหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า มีพยัคฆ์ (เสือ) เป็นพาหนะ

๓. วันอังคาร นามว่า รากษสเทวี ใช้พัสตราภรณ์สีเพทาย ทัดดอกบัวหลวง เครื่องประดับโมรา ภักษาหารโลหิต อาวุธในหัตถ์ขวาถือตรีศูล หัตถ์ซ้ายถือธนู มีวราหะ (หมู) เป็นพาหนะ

๔. วันพุธ นามว่า มณฑาเทวี ใช้พัสตราภรณ์สีมรกต ทัดดอกจำปา เครื่องประดับไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย อาวุธในหัตถ์ขวาถือเหล็กแหลม หัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า มีคัทรภะ (ลา) เป็นพาหนะ

๕. วันพฤหัสบดี นามว่า กิริณีเทวี ใช้พัสตราภรณ์สีไพฑูรย์ ทัดดอกมณฑา เครื่องประดับมรกต ภักษาหารถั่วงา อาวุธในหัตถ์ขวาถือขอช้าง หัตถ์ซ้ายถือหน้าไม้ มีกุญชร (ช้าง) เป็นพาหนะ

๖. วันศุกร์ นามว่า กิมิทาเทวี ใช้พัสตราภรณ์สีเพชร (ขาว) ทัดดอกจงกลนี เครื่องประดับบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ อาวุธในหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือพิณ มีมหิงส์ (ควาย) เป็นพาหนะ

๗. วันเสาร์ นามว่า มโหธรเทวี ใช้พัสตราภรณ์สีนิล ทัดดอกสามหาว เครื่องประดับนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย อาวุธในหัตถ์ขวาถือจักร หัตถ์ซ้ายถือตรีศูล มีมยุระ (นกยูง) เป็นพาหนะ 
 

 

ธรรมบาลตอบปัญหาท้าวกบิลพรหม

 

 

ท้าวกบิลพรหมนั้นได้ยินกิตติศัพท์ความสามารถของธรรมบาล จึงลงมาทดสอบถามปัญหา ๓ ข้อโดยมีสัญญาต่อกันว่า ภายในเวลา ๗ วัน ถ้าธรรมบาลตอบปัญหาไม่ได้ก็จะถูกตัดศีรษะ หากตอบได้ ท้าวกบิลพรหมก็จะตัดเศียรตนให้เช่นเดียวกัน ปัญหานั้นถามว่า มนุษย์ทั้งหลาย ในเวลาเช้า กลางวัน เย็น แต่ละเวลานั้น ศรีอยู่ที่ใด ธรรมบาลพิจารณาปัญหาอยู่จนเวลาผ่านไป ๖ วันแล้ว ยังหาคำตอบแก้ปัญหาไม่ได้ รู้สึกท้อใจคิดหนี จึงออกจากบ้านไปนอนที่ใต้ต้นตาลคู่หนึ่ง บังเอิญขณะนั้น มีนกอินทรีผัวเมีย อาศัยอยู่บนต้นตาล กำลังปรึกษากันว่า วันรุ่งขึ้นจะไปหาอาหารทางทิศใด นกอินทรีผัวก็ดำริว่า พรุ่งนี้ธรรมบาลต้องตอบปัญหาท้าวกบิลพรหม แต่ธรรมบาลยังแก้ปัญหาไม่ได้ คงต้องถูกตัดศีรษะแน่นอน ดังนั้นวันพรุ่งนี้ เราคงได้กินเนื้อมนุษย์เป็นอาหาร นกอินทรีเมียก็ถามว่า ปัญหาที่ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาล ท่านตอบได้หรือ นกอินทรีผัวจึงแก้ปัญหาให้ฟังว่า ข้อหนึ่ง เวลาเช้า ศรีอยู่ที่หน้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า ข้อสอง เวลาเที่ยง ศรีอยู่ที่อก มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ข้อสาม เวลาค่ำ ศรีอยู่ที่เท้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า ธรรมบาลได้ยินเช่นนั้น ก็จำไว้ แล้วกลับมาสู่เรือนตน ครั้นรุ่งขึ้นครบกำหนดนัด ท้าวกบิลพรหมก็มาพบธรรมบาลตามเวลา ธรรมบาลจึงแก้ปัญหา ตามที่นกอินทรีกล่าวไว้ ท้าวกบิลพรหมเป็นฝ่ายแพ้ จึงเรียกธิดาทั้ง ๗ ซึ่งเป็นบาทบริจาริกาพระอินทร์มาพบพร้อมกัน แล้วแจ้งว่า บิดาจะตัดเศียร เพื่อบูชาธรรมบาล แต่เศียรของบิดานี้ ถ้าตั้งไว้ในแผ่นดินก็จะเกิดไฟไหม้ไปทั่วโลก ถ้าทิ้งไปบนอากาศ จะเกิดฝนแล้ง ถ้าทิ้งในมหาสมุทรน้ำก็จะเหือดแห้งไปหมดสิ้น ดังนั้นจึงขอให้ธิดาทั้ง ๗ นำพานมารับเศียร แล้วท้าวกบิลพรหมก็ตัดเศียรตนส่งให้นางทุงษเทวี ธิดาคนแรก นำพานมารองรับเศียรไว้ บรรดาเทพบริวารทั้งหลาย ก็พากันแห่เศียรนั้น ไปประทักษิณเวียนรอบเขาพระสุเมรุ จากนั้นก็อัญเชิญขึ้นประดิษฐานในมณฑป ณ ถ้ำคันธธุลี เขาไกรลาส พร้อมทั้งกระทำบูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่างๆ พระวิสสุกรรมก็เนรมิตโรงแก้ว ๗ ประการ ชื่อ ภควดี ให้เทพธิดาทั้งหลายนั่ง ส่วนเทพบุตรก็พากันนำเถาฉมุนาคไปล้างในสระ ๗ ครั้ง แล้วแจกกันนำมาบูชาโดยถ้วนหน้า เมื่อครบกำหนด ๓๖๕ วัน ถึงวารดิถีเถลิงศกขึ้นปีใหม่ นางเทพธิดา ผู้เป็นบุตรท้าวกบิลพรหม ก็ผลัดกันมาอัญเชิญเศียรท้าวกบิลพรหมออกแห่ พร้อมด้วยเทพบริวาร โดยเวียนรอบเขาพระสุเมรุ แล้วนำเข้าประดิษฐานไว้ ณ ถ้ำคันธธุลีตามเดิม วันที่นำเศียรของท้าวกบิลพรหมออกแห่นั้น จะตรงกับวันที่พระอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมษ คือ วันมหาสงกรานต์ นั่นเอง และนางเทพธิดาทั้ง ๗ นั้นก็คือ นางสงกรานต์ ซึ่งขณะอัญเชิญเศียรท้าวกบิลพรหมก็จะมีอิริยาบถที่แตกต่างกันตามกำหนดเวลา ที่พระอาทิตย์โคจร ซึ่งมีอยู่ ๔ เวลา คือ

 

๑) พระอาทิตย์โคจรระหว่างเวลารุ่งเช้าถึงเที่ยงวัน นางสงกรานต์จะยืนลืมเนตรมาบนหลังพาหนะ
๒) พระอาทิตย์โคจรระหว่างเวลาเที่ยงวันถึงย่ำค่ำ นางสงกรานต์จะนั่งลืมเนตรมาบนหลังพาหนะ
๓) พระอาทิตย์โคจรระหว่างเวลาย่ำค่ำถึงเที่ยงคืน นางสงกรานต์จะนอนลืมเนตรมาบนหลังพาหนะ
๔) พระอาทิตย์โคจรระหว่างเวลาเที่ยงคืนถึงรุ่งเช้า นางสงกรานต์จะนอนหลับเนตรมาบนหลังพาหนะ"

นางสงกรานต์ทั้ง ๗ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จะผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่เป็นผู้อัญเชิญเศียรของท้าวกบิลพรหม ในปีใดนางใดจะเป็นผู้ทำหน้าที่นี้ โหรประจำราชสำนักจะเป็นผู้คำนวณ แล้วจึงเขียนบอกเป็นประกาศสงกรานต์ ใบประกาศสงกรานต์จะแขวนไว้ที่บานพระทวารในพระบรมมหาราชวัง และเขียนบอกส่งไปยังหัวเมืองต่างๆ เป็นประกาศสงกรานต์ประจำปี เพื่อประชาชนจะได้ประกอบพิธีพร้อมกันทั้งประเทศทุกปี

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow