Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

กลุ่มอาการของโรค

Posted By Plookpedia | 15 มี.ค. 60
4,328 Views

  Favorite

กลุ่มอาการของโรค

ภายหลังได้รับเชื้อ ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะไม่แสดงอาการใดๆ เลย ระยะฟักตัวของโรคอยู่ระหว่าง ๔ - ๑๐ วัน ผู้ที่มีอาการไข้ จะเป็นอาการนำร่วมกับอาการทั่วไปที่เกิดได้กับหลายๆ โรค โดยมีลักษณะอาการแบบไข้เฉียบพลันที่ไม่ทราบสาเหตุ บางรายที่ป่วยรุนแรงจะมีอาการเด่นเฉพาะที่ในแต่ละระบบของร่างกาย กลุ่มอาการและอาการเด่นเฉพาะที่ตามระบบต่างๆ แบ่งได้เป็น ๒ ระยะตามพยาธิกำเนิด (pathogenesis) คือ

ระยะที่ ๑ ระยะติดเชื้อในกระแสโลหิต 

ระยะนี้อยู่ระหว่างวันที่เริ่มมีไข้จนถึงวันที่ ๗ ของโรค ผู้ป่วยมีไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ร่วมกับอาการทั่วไป เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อทั่วไป ตาแดง ปวดท้อง หากไม่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ระยะนี้อาจนานถึง ๒ สัปดาห์ หลังจากนั้น ร่างกายจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกัน และกำจัดเชื้อออกจากเลือดไปได้เอง

ผู้ป่วยโรคฉี่หนูที่อาการหนักและเหนื่อยง่าย

 

 

ระยะที่ ๒ ระยะปฏิกิริยาภูมิคุ้มกัน 

เมื่อเริ่มเข้าสัปดาห์ที่ ๒ ของโรค เชื้อจะถูกกำจัดหมดไปจากเลือด แต่การอักเสบของอวัยวะต่างๆ จะดำเนินต่อไป ไข้เริ่มลดต่ำลง ระยะนี้ พบอาการต่างๆ ที่เด่นชัดมากขึ้นในระบบต่างๆ ของร่างกาย รวมทั้งความผิดปกติ ของการทำงานของตับ ไต ระบบประสาท และระบบกล้ามเนื้อ ระยะนี้อาจนานถึง ๓๐ วัน 
อาการที่แสดงออกในระบบต่างๆ มีดังนี้  

หัวใจและระบบการไหลเวียน

ภาวะความดันโลหิตต่ำพบได้บ่อยโดยอาจพบได้ถึงร้อยละ ๕๐ ส่วนใหญ่อาการดีขึ้นภายหลังการรักษาด้วยน้ำเกลือ ในรายที่อาการรุนแรงจะมีการอักเสบของหัวใจ ทั้งที่กล้ามเนื้อและเยื่อบุหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ระบบการหายใจ

อาการส่วนใหญ่มักไม่รุนแรง เช่น ไอมีเสมหะเล็กน้อย เจ็บกล้ามเนื้อหน้าอก ในรายที่รุนแรงจะมีเนื้อปอดอักเสบทั่วไป มีเลือดออกในถุงลมเป็นหย่อมๆ มักเกิดที่ปอดกลีบล่าง เนื่องจากมีเลือดมาเลี้ยงมากกว่าปอดกลีบบน บางครั้งไอเป็นเลือด มีน้ำและเลือดท่วมเนื้อปอด จนเกิดภาวะการหายใจล้มเหลว จึงต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ

 

ฟิล์มเอกซเรย์ของเนื้อปอด ที่บวมน้ำและมีเลือดออกในผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบการหายใจ

 

 

ระบบทางเดินปัสสาวะและไต

ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดมีความผิดปกติในการทำงานของไต หรือเกิดการอักเสบของเนื้อไต การตรวจปัสสาวะพบไข่ขาวบ่อยๆ พร้อมเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว ซึ่งอาจสับสนกับโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ในรายที่อาการรุนแรง ปัสสาวะจะออกน้อย และมีไตวายเฉียบพลันได้ ซึ่งเป็นผลร่วมกันจากการที่เลือดไปเลี้ยงไตไม่เพียงพอ เนื่องจากความดันโลหิตต่ำ และร่างกายขาดน้ำ จากไข้สูง

ระบบทางเดินอาหาร

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ประมาณครึ่งหนึ่งมีอาการตัวเหลืองตาเหลืองร่วมด้วย โดยเริ่มเกิดขึ้นในวันที่ ๔ - ๗ ของการเป็นไข้ บางรายอาการเหลืองอาจเป็นได้อีกหลายสัปดาห์หลังไข้ลด การตรวจร่างกายอาจพบตับโตและเกิดการอักเสบ การตรวจเลือดพบระดับเอนไซม์ของตับขึ้นสูง แต่มักไม่เกิน ๕ เท่าของระดับปกติ ส่วนม้ามโตพบน้อย

ระบบกล้ามเนื้อ

ผู้ป่วยมีอาการปวดเมื่อยและกดเจ็บที่กล้ามเนื้อทั่วตัว โดยเฉพาะกล้ามเนื้อน่องทั้งสองข้าง ถือเป็นอาการเด่นที่ส่อว่า อาจเป็นโรคฉี่หนู อาจตรวจพบระดับเอนไซม์ของกล้ามเนื้อสูงขึ้นในเลือด ซึ่งแสดงถึงการอักเสบของกล้ามเนื้อ 

ระบบประสาทและไขสันหลัง

อาการปวดศีรษะพบบ่อยโดยเฉพาะในขณะที่มีไข้ขึ้นสูง ต้นคออาจแข็งเกร็ง ความรู้สึกตัวลดลง  

ระบบโลหิต

อาจพบจุดเลือดออกใต้ผิวหนังได้ ผู้ป่วยซีดลงจากการเสียเลือดและเม็ดเลือดถูกทำลายเร็วขึ้น

ระยะแรกของไข้ ผู้ป่วยอาจมีตาแดง (conjunctival suffusion) หรือปื้นเลือดออกที่ตาขาว (subconjunctival haemorrhage) ซึ่งหายได้เอง ส่วนผนังลูกตาชั้นกลางอักเสบ (uveitis) อาจพบตามมาภายหลัง และเป็นสาเหตุที่ทำให้ตาบอดได้

ผู้ป่วยโรคฉี่หนูประมาณร้อยละ ๘๐ - ๙๐ มีอาการไม่รุนแรง อาการหายได้เองแม้ไม่ได้รับการรักษา ในรายที่มีอาการรุนแรง และเกิดร่วมกับระบบต่างๆ ได้แก่ ไข้สูง ตาและตัวเหลืองมาก ไตวาย ไอเป็นเลือด การหายใจล้มเหลว เรียกว่า กลุ่มอาการไวล์ (Weil’s syndrome) พบประมาณร้อยละ ๑๐ ของผู้ป่วยทั้งหมด และมีอัตราตายร้อยละ ๕ - ๔๐ ถึงแม้จะได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีก็ตาม การรักษาภาวะแทรกซ้อนต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ และต้องมีเครื่องมือในการล้างไต หรือเครื่องช่วยหายใจ    

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow