Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การพิมพ์

Posted By Plookpedia | 30 มิ.ย. 60
2,007 Views

  Favorite

การพิมพ์

 

เมื่อได้ออกแบบหนังสือเรียบร้อยแล้ว งานขั้นต่อไปก็เป็นงานการผลิตหนังสือในด้านวัตถุ ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้พิมพ์ เป็นงานด้านการพิมพ์ โดยทั่วไป มี ๓ ขั้นตอน คือ งานก่อนพิมพ์ งานพิมพ์ และงานทำเล่ม

 

งานก่อนพิมพ์ 

ได้แก่ งานเรียงพิมพ์คือ การที่นำต้นฉบับส่วนที่เป็นตัวหนังสือมาจัดเรียง โดยใช้ตัวอักษรแบบต่าง ๆ ขนาดใหญ่เล็กตามที่ผู้ออกแบบหนังสือกำหนดให้เรียงเป็นคำ เป็นบรรทัด เป็นหน้า การเรียงพิมพ์มีระบบการเรียงพิมพ์ใหญ่อยู่สองระบบ คือ การเรียงพิมพ์ด้วยตัวพิมพ์ร้อน ซึ่งต้องใช้ตัวพิมพ์โลหะที่ต้องหล่อด้วยความร้อนมาเป็นตัวพิมพ์ และการเรียงพิมพ์ด้วยตัวพิมพ์เย็น ซึ่งเป็นการสร้างตัวหนังสือขึ้น โดยไม่ต้องมีการหล่อหลอมโลหะ เช่น การเรียงพิมพ์ด้วยแสง หรือการพิมพ์ด้วยพิมพ์ดีด

 

การเรียงพิมพ์ด้วยตัวพิมพ์ร้อน 

มีระบบการเรียงหลายวิธี เช่น การเรียงพิมพ์ด้วยมือ โดยหล่อตัวพิมพ์ของตัวอักษรแต่ละตัวด้วยโลหะ เก็บไว้ในช่องตัวพิมพ์ ของแต่ละตัวในกระบะตัวพิมพ์ การเรียง ผู้เรียงพิมพ์จะหยิบตัวพิมพ์จากกระบะตัวพิมพ์ มาเรียงในรางเรียงพิมพ์ เป็นคำ เป็นบรรทัด และนำเอาบรรทัดมาจัดเป็นหน้า การเรียงพิมพ์ด้วยตัวพิมพ์ร้อนนี้ได้มีการปรับปรุง ให้มีเครื่องจักรมาใช้เรียงพิมพ์แทนคน คือเครื่องเรียงพิมพ์แบบโมโนไทป์ (Monotype) ซึ่งเป็นเครื่องจักรทำการหล่อตัวพิมพ์เป็นตัว ๆ มาเรียงกันเป็นคำเป็นบรรทัด และเครื่องเรียงพิมพ์แบบไลโนไทป์ (Linotype) ซึ่งเป็นเครื่องจักรที่จะหล่อตัวพิมพ์ออกมาทีละบรรทัด ระบบการเรียงพิมพ์ด้วยตัวพิมพ์ร้อน ในปัจจุบันนี้มีการใช้น้อยลงไปตามลำดับ เพราะได้มีการพัฒนาการทางด้านระบบ การเรียงพิมพ์ด้วยตัวพิมพ์เย็นไปมาก ทำให้การเรียงตัวพิมพ์ด้วยตัวพิมพ์เย็น เป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว มีประสิทธิภาพสูง และประหยัด 

 

การเรียงพิมพ์ด้วยตัวพิมพ์เย็น 

ได้แก่ การเรียงพิมพ์ด้วยแสง และการพิมพ์ดีด การเรียงพิมพ์ด้วยแสงในตอนต้นๆ มีหลักการเป็นการถ่ายภาพหรืออัดภาพ ย่อขยายภาพตัวพิมพ์ลงบนแผ่นฟิล์ม หรือแผ่นกระดาษที่เคลือบด้วยน้ำยาไวแสงทีละตัว เรียงลำดับกันเป็นคำเป็นบรรทัดและเป็นหน้าหนังสือ เมื่อล้างฟิล์ม หรือกระดาษเคลือบน้ำยาไวแสงแล้ว ก็จะได้หน้าเรียงที่จะนำไปถ่ายหรือใช้ เพื่อประกอบหน้าจัดทำเป็นแม่พิมพ์ 
 

ระบบการเรียงพิมพ์ด้วยแสงได้พัฒนาปรับปรุงมาตามลำดับ จนในปัจจุบันได้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ สร้างจุดหรือสร้างเส้นเป็นตัวหนังสือ โดยจะกำหนดรูปแบบตัวหนังสือเป็นอย่างใดก็ได้ ตามที่ออกแบบไว้ อาจย่อ ขยาย บีบตัวให้แคบ ขยายตัวให้กว้าง ทำเส้นให้หนา ให้บางและให้เอนก็ได้ สามารถทำได้รวดเร็วมากโดยไม่ต้องอาศัยระบบการถ่ายภาพ 

 

พิมพ์ดีดนับว่า เป็นการเรียงพิมพ์แบบหนึ่งเหมือนกัน อาจพิมพ์ดีดลงบนแผ่นแม่พิมพ์โดยตรง เช่น การพิมพ์ดีดลงบนแผ่นกระดาษไข แล้วนำกระดาษไขไปพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์อัดสำเนา หรือการพิมพ์ดีดลงบนแผ่นแม่พิมพ์กระดาษ สำหรับเครื่องพิมพ์ออฟเซตขนาดเล็ก และสามารถนำแม่พิมพ์นั้นไปใช้พิมพ์ได้ การพิมพ์ดีดโดยทั่วไปมักพิมพ์ลงบนแผ่นกระดาษ และนำไปทำเป็นแม่พิมพ์ลงบนแผ่นกระดาษ และนำไปทำเป็นแม่พิมพ์อีกทีหนึ่ง ตัวพิมพ์ดีดโดยทั่วไปแล้ว ส่วนกว้างของตัวพิมพ์เป็นคำเป็นบรรทัดแล้ว จะได้ช่องไฟไม่สวยงามเท่ากับกับการเรียงพิมพ์ ด้วยตัวพิมพ์หรือการเรียงพิมพ์ด้วยแสง แม้เครื่องพิมพ์ดีดบางแบบจะมีการปรับปรุง ให้ตัวอักษรแต่ละตัวมีความแคบ กว้างเป็นไปตามลักษณะของรูปร่างตัวอักษรนั้น ๆ แต่ก็ยังทำได้ไม่สวยงามนัก การเรียงพิมพ์ด้วยพิมพ์ดีดจึงมักใช้สำหรับหนังสือ ที่พิมพ์จำนวนน้อย และไม่ต้องการคุณภาพในด้านการพิมพ์สูงนัก 

 

เมื่อได้เรียงพิมพ์ต้นฉบับเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องมีการทำแผ่นปรู๊ฟตรวจเสียก่อน เพราะการเรียงพิมพ์นั้นอาจผิดพลาดได้ หากผิดพลาดจะต้องให้ผู้เรียงพิมพ์แก้ไขให้ถูกต้อง การพิสูจน์อักษรและการแก้ไขอาจทำกันหลายครั้ง จนเห็นว่าถูกต้องแล้ว ก็จะให้ผู้ประพันธ์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตรวจแทน ผู้ประพันธ์หรือบรรณาธิการตรวจว่าถูกต้องใช้ได้ การที่ผู้ประพันธ์จะแก้ไขต้นฉบับ ให้ผิดไปจากต้นฉบับที่ตรวจว่าถูกต้องแล้ว ถือว่าเป็นการแก้ไขของผู้ประพันธ์ โดยทางผู้ประพันธ์จะต้องรับผิดชอบในคำแก้ไข ซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง 

 

ต้นฉบับเรียงที่แก้ไขเรียบร้อยแล้ว และต้นฉบับภาพลายเส้นคือ ภาพที่มีสีดำขาวตัดกันชัดเจน โดยไม่มีน้ำหนักสีลดหลั่นกัน เช่น ภาพเขียนด้วยปากกา ต้นฉบับเหล่านี้จะถูกนำไปถ่าย ด้วยกล้องถ่ายภาพเพื่อทำแม่พิมพ์ สำหรับต้นฉบับที่เป็นภาพถ่ายหรือภาพเพื่อทำแม่พิมพ์ สำหรับต้นฉบับที่เป็นภาพถ่าย หรือภาพเขียนที่มีน้ำหนักสีเทาลดหลั่นกันตามลำดับ การถ่ายภาพเหล่านี้ จะต้องถ่ายภาพผ่านสกรีน เพื่อให้ภาพเหล่านี้จะต้องถ่ายภาพผ่านสกรีน เพื่อให้ภาพแตกออกเป็นจุดเล็กๆ แต่ละจุดมีขนาดใหญ่ขนาดเล็กต่าง ๆ กัน เมื่อพิมพ์แล้วจะทำให้เกิดภาพที่มีน้ำหนักสี ให้เห็นเป็นภาพตามต้นฉบับ ในปัจจุบันนี้ได้มีการประดิษฐ์เครื่องกราดวิเคราะห์ แบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Scanning) ซึ่งมีหัวกราดที่มีแสงส่องไปที่ภาพต้นฉบับ และรับแสงสะท้อน ผ่านหัวกราดกลับมาสร้างจุดบนแผ่นฟิล์ม เป็นจุดใหญ่จุดเล็กตามน้ำหนักสีของแต่ละจุด เป็นเม็ดสกรีน เพื่อให้ได้ภาพที่จะนำไปทำเป็นแม่พิมพ์สำหรับจัดพิมพ์ต่อไป 

 

 

เครื่องกราดวิเคราะห์แบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Scanning) เพื่อใช้แยกสี
แผ่นแม่พิมพ์ปรู๊ฟแยกสี ๔ สี

 

 

สำหรับภาพ ที่เป็นภาพสี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพสีธรรมชาติ ก็จะต้องนำไปแยกสี ซึ่งอาจเป็นการแยกสี ด้วยการถ่ายภาพผ่านฟิลเตอร์สีต่าง ๆ เพื่อให้ได้ภาพของสีแต่ละสี สำหรับนำเอาไปทำแม่พิมพ์ของสีแต่ละสีเพื่อใช้พิมพ์ต่อไป การแยกสีในปัจจุบัน ได้มีการใช้เครื่องกราดวิเคราะห์แยกสี แบบอิเล็กทรอนิกส์ กันโดยทั่วไปโดยใช้หัวกราดกราด ไปบนภาพให้เป็นจุดแล้วยังแยกสีต่าง ๆ ออกจากกันด้วย เพื่อทำแผ่นฟิล์มที่แยกสี ออกเป็นแต่ละสีนำไปทำแม่พิมพ์ โดยไปพิมพ์เป็นสีแต่ละสีทับซ้อนกันก็จะได้ภาพสีตามต้นฉบับ 

 

เครื่องปรู๊ฟสี และ ขั้นตอนการจัดทำภาพสี : ๑. ถ่ายภาพต้นฉบับเพื่อทำแม่พิมพ์
๒. แต่งฟิล์ม

 

 

ตัวหนังสือที่เรียงพิมพ์ไว้ และภาพที่ถ่ายหรือแยกสีไว้แล้ว จะต้องนำมาประกอบรวมกันในหน้าหนังสือ ตามที่ผู้ออกแบบหรือผู้วางหน้าหนังสือกำหนด โดยนำแผ่นฟิล์มมาประกอบกัน บนแผ่นใสหรือแผ่นทึบแสง แล้วแต่กรณีว่าจะนำไปทำแม่พิมพ์ เพื่อใช้พิมพ์โดยระบบการพิมพ์ใด การประกอบหน้าหรือการวางหน้าหนังสือในปัจจุบัน สามารถจัดทำได้ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ประกอบหน้าหนังสือ ซึ่งสามารถจะเรียกภาพที่ถ่ายเก็บเป็นข้อมูลไว้ และตัวเรียงที่เก็บในข้อมูลนำมาจัดเข้าเป็นหน้า โดยจะย่อขยายเอาส่วนใดของภาพมาประกอบในหน้าหนังสือก็ได้ เครื่องคอมพิวเตอร์บางเครื่อง ยังสามารถที่จะประกอบภาพจากภาพหลาย ๆ ภาพโดยดึงส่วนต่างๆ ของแต่ละภาพมาประกอบกันเป็นภาพใหม่ได้ การประกอบหน้า หรือวางหน้าหนังสือในปัจจุบันจึงมีเครื่องมือ ที่สามารถนำมาใช้ทำงานได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมาก แต่ราคาเครื่องมือเหล่านี้ยังมีราคาสูงมาก 

 

เมื่อได้จัดทำการวางหน้าหนังสือแต่ละหน้าแล้ว ก็นำแผ่นฟิล์มแต่ละหน้า มาจัดรวมกันเป็นหน้าของแผ่นพิมพ์ โดยเรียงลำดับหน้าให้ได้ตำแหน่งที่ถูกต้อง เพื่อนำไปทำเป็นแม่พิมพ์พิมพ์ทั้งสองหน้าของแผ่นกระดาษ พับเป็นยกพิมพ์แล้วหน้าหนังสือจะเรียงลำดับกัน เมื่อวางหน้าแผ่นพิมพ์ ก็จะนำไปทำแม่พิมพ์ตามลักษณะของระบบการพิมพ์ ที่ผู้พิมพ์จะกำหนดระบบการพิมพ์ระบบหนึ่ง ก็จะต้องใช้แม่พิมพ์แบบหนึ่ง โดยแต่ละระบบจะใช้แม่พิมพ์แตกต่างกันออกไป แม่พิมพ์ที่จัดทำขึ้นนี้ จะถูกต้องไปใช้กับแท่นพิมพ์ เพื่อทำการพิมพ์ต่อไป

 

ขั้นตอนการจัดทำภาพสี (ต่อ) : ๓. ประกอบฟิล์ม วางหน้า
๔. วางแผ่นฟิล์มเพื่อจัดทำแม่พิมพ์
๕. การอัดเพลต

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow