Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

จัดการอย่างไรเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมในจมูกลูก

Posted By Plook Parenting | 30 มิ.ย. 60
17,531 Views

  Favorite

เด็กเล็กจะเป็นช่วงวัยที่อยากรู้อยากเห็นและซุกซน จนอาจเผลอหยิบสิ่งแปลกปลอมเข้าหู จมูก หรือปาก บางครั้งสิ่งแปลกปลอมอาจพลัดหลงเข้าไปโดยที่เด็กไม่รู้ตัวได้เช่นกัน

 

ซึ่งสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นมักมีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา อาทิ เมล็ดแตงโม เศษข้าว เศษยางลบ เศษกระดาษ สำลี เม็ดโฟม กระดุมเม็ดเล็ก ๆ หรือกระทั่งชิ้นส่วนของเล่น หากคุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้สิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นอยู่ในจมูกของลูกนานเกินไป อาจส่งผลต่อเยื่อบุต่าง ๆ ภายในจมูก ลุกลามไปถึงระบบทางเดินหายใจของเขาได้ คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมรับมือให้พร้อมหากลูกมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในจมูก เพื่อจะได้ช่วยเหลือเขาได้อย่างทันท่วงที

 

ภาพ Shutterstock

 

อาการ

     • เด็กหายใจติดขัดเหมือนคัดจมูก หรืออาจหายใจได้คล่องเพียงรูจมูกข้างเดียว

     • สังเกตเห็นลูกพยายามแหย่ แคะ หรือดันจมูกบ่อย ๆ

     • มีน้ำมูกสีเหลือง หรือเขียว และอาจมีหนองปนออกมา บางครั้งอาจมีเลือดไหลออกมาร่วมด้วย

     • ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น คล้ายไซนัสอักเสบ

 

ทั้งนี้ อาการบวมเนื่องจากการอักเสบจะช้าหรือเร็ว และร้ายแรงแค่ไหนขึ้นอยู่กับสิ่งแปลกปลอมที่ติดค้างอยู่ในจมูกของเด็ก หากเป็นเมล็ดผลไม้ มักบวมพองขยายตัวขึ้นในระยะเวลาไม่นาน แต่หากเป็นสิ่งแปลกปลอมที่มีส่วนผสมของสารเคมีหรือสารสังเคราะห์จะแสดงอาการช้ากว่า แต่อาการจะรุนแรงกว่า เพราะติดค้างอยู่ในจมูกเด็กเป็นเวลานาน

 

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ปกครอง

1. ตั้งสติ อย่าตื่นตกใจจนเกินเหตุและอาจต้องคอยปลอบให้กำลังใจแก่เด็กด้วย

2. สำรวจสิ่งแปลกปลอมถ้าเป็นสิ่งที่ไม่อันตรายและอยู่ตื้น อาจจะลองขยับโยกปลายจมูกดู หรือให้เด็กสั่งน้ำมูกแรง ๆ ใช้มือปิดรูจมูกอีกข้าง และให้ให้เด็กสั่งน้ำมูกแรง ๆ 2–3 ครั้ง อาจจะทำให้สิ่งแปลกปลอมหลุดออกมาได้เอง ถ้าไม่ออกให้รีบมาพบแพทย์

3. แต่ถ้าไม่แน่ใจและหรืออยู่ลึกให้รีบพาเด็กมาพบแพทย์ในบางกรณีที่เป็นมานาน อาจรอได้จนถึงรุ่งเช้าถ้าเด็กไม่มีอาการอะไร

 

ชมคลิปจำลองเหตุการณ์เมื่อมีของเข้าจมูกเด็ก

อุบัติเหตุในเด็ก ของอุดจมูก
โดย รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
ผอ.ศูนย์วิจัยสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก

 

ข้อห้ามในการกระทำ

1. อย่าพยายามเอาคีม/เครื่องมือต่าง ๆ คีบเอาสิ่งแปลกปลอมออกเอง เพราะจะดันเอาสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปในหลอดลม/ปอดได้

2. อย่าดันสิ่งแปลกปลอมให้ตกลงไปในคอ เพราะ อาจสำลักเอาสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในลอดลม ส่งผลให้เกิดทางเดินหายใจอุดตัน อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

3. ในเด็กที่ไม่ร่วมมือ อย่าใช้เครื่องมือแข็ง ๆ เขี่ยสิ่งแปลกปลอม เพราะเด็กอาจจะสะบัดศีรษะจนเกิดการบาดเจ็บได้

 

มีกรณีอะไรบ้างที่ต้องรีบไปโรงพยาบาลด่วน !!! 

• สิ่งแปลกปลอมเป็นแบตเตอรี่ (Disk battery) เพราะแบตเตอรี่จะปล่อยด่างออกมา ซึ่งด่างมีคุณสมบัติทำให้เนื้อเน่าตาย เกิดบาดแผลที่ผนังจมูกได้

• เด็กที่มีการรักษาไซนัสอักเสบมานาน และรักษาไม่หายขาด มีการเป็นซ้ำบ่อย ๆ และเป็นข้างเดียว ควรปรึกษาแพทย์หู คอ จมูก เพื่อการตรวจวินิจฉัยและให้ยารักษาภาวะอักเสบที่เหมาะสม

 

ป้องกันสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เข้าจมูกอย่างไร

1. ควรระมัดระวังในการเลี้ยงดูเด็ก เศษของเล่นต่างๆ เมล็ดผลไม้ ต้องเก็บทิ้ง ไม่ควรให้เด็กเล่น

2. เป็นธรรมชาติของเด็กในช่วงพัฒนาการที่ชอบสำรวจและอยากรู้อยากเห็น ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองควรสอนให้ลูกทราบว่าไม่ควรจะเอาสิ่งต่าง ๆ ใส่เข้าไปในจมูก 

3. ในเด็กเล็กอาจใช้นิทานที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องช่วยสอนวิธีการระวังและข้อห้ามในการเอา่สิ่งของเข้าจมูก

 

สิ่งแปลกปลอมเข้าจมูกลูกอาจเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมวิธีการรับมือให้พร้อม และควรประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับลูกน้อย

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow