Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การพัฒนาระบบการสั่งงานคอมพิวเตอร์

Posted By Plookpedia | 28 มิ.ย. 60
5,195 Views

  Favorite

การพัฒนาระบบการสั่งงานคอมพิวเตอร์


การพัฒนาระบบการสั่งงานแบ่งเป็น ๒ ประเภท ใหญ่ๆ คือ การพัฒนาระบบชุดคำสั่งควบคุม และการพัฒนาระบบชุดคำสั่งใช้งาน

การพัฒนาระบบชุดคำสั่งควบคุม ซึ่งรวมทั้งตัวแปลชุดคำสั่งด้วยนั้น ต้องใช้บุคลากรที่เรียกว่า นักวิศวกรระบบ (system engineer) และนักโปรแกรมระบบ (system programmer) ส่วนการพัฒนาระบบชุดคำสั่งใช้งานต้องมีการวิเคราะห์ระบบ (system analyst) และนักเขียนโปรแกรม (programmer) 

นอกจากนี้ การพัฒนาระบบการสั่งงานยังต้องพึ่งบุคลากรที่เป็นผู้ควบคุมเครื่อง (operator) และพนักงานเตรียมข้อมูล (data preparation operator) อีกด้วย 


นักวิศวกรระบบ 


คือ ผู้ที่จะต้องเข้าใจระบบเครื่องการเขียนชุดคำสั่งภาษาระดับเครื่อง รวมทั้งมีความรู้ด้านชุดคำสั่งควบคุม และตัวแปลชุดคำสั่งเป็นอย่างดี 


นักวิเคราะห์ระบบ


คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ศึกษางานที่กระทำโดยไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ว่า จะจัดทำได้โดยระบบใด และเมื่อนำคอมพิวเตอร์มาใช้แล้ว จะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไร จึงจะไม่เกิดปัญหา และคอมพิวเตอร์จะเข้ามาช่วยงานด้านใดบ้างจึงจะเกิดประสิทธิภาพดีที่สุด และประหยัดที่สุด นักวิเคราะห์ระบบจึงควรจะเป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี และเข้าใจงานนั้นๆ อย่างดีเยี่ยม จึงจะทำได้รวดเร็วมิฉะนั้นแล้ว อาจต้องใช้เวลาแรมปี จึงจะวางระบบเสร็จ ในงานบางลักษณะอาจจะต้องใช้นักวิเคราะห์หลายสิบคน หรือหลายร้อยคน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า งานนั้นมีความยากง่ายอย่างไร

 

นักวิเคราะห์ระบบกำลังศึกษาหาวิธีการที่สามารถนำเครื่องคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

 

 

เมื่อนักวิเคราะห์ระบบตัดสินใจแล้วว่า จะดำเนินการได้ ก็จะศึกษาว่า ชุดคำสั่งที่มีอยู่แล้ว มีอะไรบ้าง ชุดคำสั่งอะไรบ้างที่จะต้องพัฒนาเพิ่มเติม เพื่อให้สะดวกกับผู้ใช้ และมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด เมื่อใช้คอมพิวเตอร์ทำงานนั้น แล้วจัดวางระบบในลักษณะแผนภูมิ ที่สามารถทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ เรียกว่า แผนภูมิระบบ (system flow chart) ที่สามารถแสดงให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริหารหน่วยงานเข้าใจได้ว่า ในแต่ละช่วงงานนั้นจะใช้งบประมาณเท่าใด รวมทั้งการใช้บุคลากรเป็นจำนวนเท่าใด หลังจากนั้น จึงขยายรายละเอียดให้กับนักเขียนโปรแกรม ซึ่งจะดำเนินการในรายละเอียดต่อไป


นักโปรแกรมระบบ 


คือ ผู้ที่จะต้องเข้าใจระบบเครื่อง และระบบชุดคำสั่ง ตลอดจนสามารถตอบปัญหา ที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการทำงาน เช่น ในขณะชุดคำสั่งควบคุมทำงาน ขณะแปลชุดคำสั่ง และขณะชุดคำสั่งที่เขียนนั้นทำงาน เป็นต้น นอกจากนี้ นักโปรแกรมระบบยังทำหน้าที่ศึกษาความเป็นไป และหาทางพัฒนาปรับปรุงชุดคำสั่งควบคุม ตัวแปลชุดคำสั่ง รวมทั้งชุดคำสั่งใช้งาน ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น และใช้งานได้ง่าย นักโปรแกรมระบบส่วนใหญ่จะไม่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้ทั่วไป จะเกี่ยวข้องกับเครื่อง และชุดคำสั่งเท่านั้น

 

นักโปรแกรมระบบกำลังทดลองใช้ชุดคำสั่ง เพื่อปรับปรุงหรือพัฒนาชุดคำสั่งให้สมบรูณ์

 

 

นักเขียนโปรแกรม


คือ ผู้ที่ทำหน้าที่เขียนชุดคำสั่ง และหาแผนภูมิการดำเนินการโดยละเอียด (detailed flow chart) พร้อมกับจัดทำคู่มือการใช้ชุดคำสั่ง โดยการเขียนชุดคำสั่งตามที่นักวิเคราะห์ระบบได้ทำไว้ การเขียนชุดคำสั่งจะเขียนเป็นภาษาอะไรนั้นขึ้นอยู่กับประเภทของงาน เช่น ถ้าเป็นงานทางด้านวิทยาศาสตร์ หรือวิศวกรรมศาสตร์ หรือทางการคำนวณ จะเขียนเป็นภาษาฟอร์แทรน หรือพีแอลวัน ถ้าเป็นงานทางด้านการค้า หรือธุรกิจจะเขียนเป็นภาษาโคบอล หรือพีแอลวัน หรือดาตาเบส ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชำนาญของนักเขียนโปรแกรม เมื่อทำเสร็จนักเขียนโปรแกรมจำเป็นต้องเขียนคู่มือการใช้งาน โดยการแสดงลักษณะการจัดข้อมูล และการรายงานผลการใช้งาน ตลอดจน ผลที่เกิดขึ้น เนื่องจากข้อผิดพลาด เพื่อให้ผู้ใช้ชุดคำสั่งสามารถนำไปใช้ได้โดยง่าย หรือถ้ามีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงชุดคำสั่งก็จะทำได้ และไม่ลืมสิ่งที่ตนเองได้คิดไว้ตั้งแต่ครั้งแรก คู่มือการใช้งานดังกล่าว จะมีประโยชน์อย่างมากในการทำงานด้านชุดคำสั่ง


ผู้ควบคุมเครื่อง 


คือ ผู้ที่ทำหน้าที่นำชุดคำสั่ง และข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ ผู้ควบคุมเครื่องจะต้องเข้าใจการทำงานของเครื่อง และการทำงานของชุดคำสั่งบางประเภทดีพอสมควร จึงจะสามารถทำให้เครื่องทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ควบคุมเครื่องควรจดบันทึกปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะปฏิบัติงาน แล้วแจ้งไปให้นักโปรแกรมระบบทราบ เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป นอกจากนี้ยังทำหน้าที่รายงานผลการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์อีกด้วย

 

พนักงานคุมเครื่องที่เข้าใจการทำงานของเครื่อง และชุดคำสั่งดี จะสามารถทำให้เครื่องทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

พนักงานเตรียมข้อมูล 


คือ ผู้ที่ทำหน้าที่เตรียมข้อมูล โดยการเจาะบัตรตรวจทาน และแก้ไขบัตร เลือกและเรียงบัตร เตรียมข้อมูลเข้าแถบตลับ แถบแม่เหล็ก และจานแม่เหล็ก พนักงานเตรียมข้อมูลจำเป็นต้องมีการฝึกใช้อุปกรณ์เตรียมข้อมูลประเภทต่างๆ จนมีความชำนาญพอที่จะดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

นอกจากบุคลากรดังกล่าวแล้ว ในบางหน่วยงานยังมีบุคลากรเพิ่มเติมอีก ได้แก่ เจ้าหน้าที่ให้การอบรม และเจ้าหน้าที่บรรณาธิการ 


เจ้าหน้าที่ให้การอบรม 


คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ให้การอบรมการใช้คอมพิวเตอร์ในงานต่างๆ การอบรมอาจมีหลายระดับ แต่ที่สำคัญคือ การอบรมผู้ที่ใช้งาน ให้เข้าใจวิธีการใช้ชุดคำสั่งต่างๆ ที่ได้พัฒนาไว้ รวมทั้งการจัดอบรมเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานคอมพิวเตอร์เอง ให้ทราบถึงสิ่งที่นักโปรแกรมระบบได้เปลี่ยนแปลง หรือปรับปรุงไปแล้ว 


เจ้าหน้าที่บรรณาธิกร 


คือ ผู้ที่ทำหน้าที่รวบรวมเอกสารทางด้านคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับสิ่งที่นักวิเคราะห์ระบบ นักโปรแกรมระบบ และนักเขียนโปรแกรม ได้ทำขึ้น รวมทั้งการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ให้เป็นระเบียบ การจัดแถบแม่เหล็ก และจานแม่เหล็ก ให้อยู่ในลักษณะพร้อม ที่จะจัดใช้งานได้ 

จะเห็นได้ว่า ในการพัฒนาชุดคำสั่ง เพื่องานหนึ่งๆ นั้นจำเป็นต้องใช้บุคลากรที่เกี่ยวข้องหลายประเภท เพื่อที่จะทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนบุคลากรจะมีจำนวนเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณงาน ว่ามีมากน้อยเท่าใด และระบบงานนั้นๆ มีความยุ่งยากซับซ้อนเพียงใด 

ถึงแม้ว่าในการพัฒนาชุดคำสั่งจะยุ่งยากซับซ้อนเพียง ใดก็ตาม แต่เมื่อดำเนินการสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ระบบดังกล่าว จะสามารถช่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง และรวดเร็ว ดังนั้น บางครั้งชุดคำสั่งบางประเภทจะมีราคา แพงพอๆ กับระบบเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือบางครั้งอาจจะแพงกว่า แต่ชุดคำสั่งบางประเภทราคาถูก หรืออาจขอมาใช้ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายก็ได้

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow