Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พยาธิกำเนิดของโรค

Posted By Plookpedia | 27 มิ.ย. 60
2,363 Views

  Favorite

พยาธิกำเนิดของโรค

      ปัจจุบัน มีปัจจัย ๒ อย่างที่เชื่อกันว่าเป็นพยาธิกำเนิดของโรคอัลไซเมอร์ ได้แก่ ปัจจัยทางพันธุกรรมและปัจจัยที่ไม่เกี่ยวกับพันธุกรรม

ปัจจัยทางพันธุกรรม (genetic factor)

ปัจจัยทางพันธุกรรมสามารถจำแนกได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ คือ
      ๑) โรคอัลไซเมอร์ที่เกิดเป็นประจำในครอบครัว (familial alzheimer's disease)
      ๒) โรคอัลไซเมอร์ที่เกิดเป็นครั้งคราว (sporadic alzheimer's disease)

โรคอัลไซเมอร์ที่เกิดเป็นประจำในครอบครัว แบ่งเป็น ๒ กลุ่มย่อย คือ
      ๑) โรคอัลไซเมอร์ที่เกิดกับคนอายุน้อย (early onset FAD)
      ๒) โรคอัลไซเมอร์ที่เกิดกับคนอายุมาก (late onset FAD)

ก. โรคอัลไซเมอร์ที่เกิดกับคนอายุน้อย

      พบในคนอายุน้อยกว่า ๖๕ ปี ส่วนมากจะมีอายุระหว่าง ๓๐ - ๖๐ ปี และเป็นกลุ่มที่พบน้อยเพียงร้อยละ ๑๐ ของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ทั้งหมด แต่มีการดำเนินโรคที่รวดเร็วกว่าโรคอัลไซเมอร์ที่เกิดกับผู้สูงอายุราวร้อยละ ๕๐ ของผู้ป่วยกลุ่มนี้ เกิดจากความผิดปกติของยีน (gene) ที่เกี่ยวข้องกับ APP ใน ๓ ตำแหน่ง บน ๓ โครโมโซม ได้แก่

  • การผ่าเหล่าของ APP gene บน โครโมโซม ๒๑
  • การผ่าเหล่าของยีนบนโครโมโซม ๑๔ ที่เรียกว่า presenilin-1
  • การผ่าเหล่าของยีนบนโครโมโซม ๑ ที่เรียกว่า presenilin-2

      ปัจจุบันมีข้อมูลจากการศึกษาเกี่ยวกับการผ่าเหล่าของยีนดังกล่าวกันมากซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำให้บีตา-แอมีลอยด์โปรตีนมีความเหนียวหรือหนืดมากขึ้นและมีการสร้างสารนี้เพิ่มขึ้นอันส่งผลให้เซลล์สมองตายเพิ่มขึ้นตามลำดับ

ข. โรคอัลไซเมอร์ที่เกิดกับคนอายุมาก

      พบในผู้ป่วยที่อายุเกิน ๖๕ ปี โดยพบว่ามีความสัมพันธ์กับ APOE-4 บน โครโมโซม ๑๙ ปกติ APOE-4 จะเป็นตัวช่วยนำคอเลสเตอรอลไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย สารนี้พบในเซลล์เกลีย (glia cell) และเซลล์ประสาท (neurone) ในคนปกติแต่ก็พบว่าเป็นส่วนประกอบในแผ่นแอมีลอยด์ของเซลล์สมองในปริมาณที่มากกว่าที่พบในคนปกติด้วย  สำหรับกลไกที่ APOE-4 จะทำให้เกิดโรคอัลไซ   เมอร์ได้อย่างไรนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่บางคนเชื่อว่าสารนี้จะไปเร่งการสร้างบีตา-แอมีลอยด์โปรตีนทำให้เกิดพยาธิสภาพในสมองตามมา

ปัจจัยที่ไม่เกี่ยวกับพันธุกรรม (non - genetic factor)

      ได้มีการศึกษาเรื่องนี้ พบว่า มีปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

๑. อนุมูลอิสระ (free radical)

      เชื่อกันว่าพยาธิสภาพในสมองที่ทำให้เซลล์สมองตายนั้นเป็นผลมาจากการมีอนุมูลอิสระออกมามากจากกระบวนการเมแทบอลิซึมที่เกิดขึ้นตามปกติของร่างกาย  อนุมูลอิสระส่วนใหญ่จะมีอายุสั้นแต่ก่อให้เกิดอันตรายต่อเซลล์สมองได้โดยทำให้เซลล์สมองหยุดทำงานและตายไปในที่สุดด้วยกลไกต่าง ๆ หลายประการ เช่น มีผลต่อผนังเซลล์ในการควบคุมการเข้าออกของสารไอออนต่าง ๆ (ions) นอกจากนี้ก็ยังอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อโครงสร้างของโปรตีนบางชนิดในเซลล์อีกด้วย

๒. การอักเสบ

      มีข้อมูลจากการศึกษาพบว่าสมองคนเราจะมีการอักเสบเกิดมากขึ้นตามลำดับอายุและผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะมีการอักเสบของสมองมากกว่าคนปกติ  นอกจากนี้ยังพบว่าการใช้ยาต้านการอักเสบ จะทำให้อัตราการเกิดโรคอัลไซเมอร์ลดลง ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาค้นคว้าหายากลุ่มต้านการอักเสบเพื่อใช้ในการรักษาโรคอัลไซเมอร์กันอย่างจริงจัง

๓. การไหลเวียนของเลือดสู่สมอง

      พบว่าโรคอัลไซเมอร์มีความสัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดสมองกล่าว คือ ผู้ป่วยที่มีเนื้อสมองตายเพราะขาดเลือดไปเลี้ยงจะมีส่วนส่งเสริมให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้  จากการศึกษากลุ่มแม่ชีสูงอายุที่สำนักแม่ชีแห่งโนเตรอะดาม (School Sisters of Notre Dame) ในสหรัฐอเมริกาจำนวน ๖๗๘ คน โดยได้ติดตามศึกษาในระยะยาวและมีการประเมินสุขภาพทุกปีร่วมกับการตรวจสมรรถภาพสมอง หากเสียชีวิตก็จะได้รับการตรวจเนื้อสมองทุกราย พบว่ารายที่มีปัญหาเนื้อสมองตายจากหลอดเลือดตีบจะมีปัญหาสมองเสื่อมมากกว่ากลุ่มที่ไม่มีเนื้อสมองตายและพยาธิสภาพก็เหมือนกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์โดยทั่วไป  อนึ่ง ปริมาณเนื้อสมองตายนั้นก็มีพยาธิสภาพไม่มากพอที่จะทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมจึงสรุปว่ากรณีเนื้อสมองตายอาจมีส่วนในการก่อให้เกิดพยาธิสภาพสมองแบบโรคอัลไซเมอร์ได้

๔. ปัจจัยอื่นๆ

      ปัจจุบันมีข้อมูลสนับสนุนว่า โรคอัลไซเมอร์มีความสัมพันธ์กับโรคระบบประสาทชนิดอื่น ๆ อีกหลายอย่าง เช่น โรคพาร์กินสัน (Parkinson's disease) โรคฮันทิงตัน (Huntington's disease) โรคพรีออน (Prion disease) โดยโรคเหล่านั้นมีต้นเหตุเนื่องจากการมีโปรตีนที่ผิดปกติสะสมอยู่ในสมองเช่นกัน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow