Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคอัลไซเมอร์

Posted By Plookpedia | 27 มิ.ย. 60
1,145 Views

  Favorite

โรคอัลไซเมอร์ 

      หมายถึง โรคความเสื่อมที่เกิดกับสมองอย่างถาวรและจะเป็นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับอย่างช้า ๆ ซึ่งมีผลทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการหลงลืม มีบุคลิกภาพ อารมณ์ และพฤติกรรมเปลี่ยนไป ตลอดจน ทำให้ความสามารถด้านการใช้ความคิด การตัดสินใจ และสติปัญญาด้อยลงไปเรื่อย ๆ ตามลำดับ  ทั้งนี้เป็นเพราะมีการตายหรือเสื่อมสลายของเซลล์สมองที่ชั้นผิวสมองทั่วไปทั้งหมดทำให้การติดต่อประสานงานระหว่างเซลล์สมองต่าง ๆ เสียไป  ดังนั้นจึงทำให้ผู้ป่วยขาดความสามารถในการใช้สมองเพื่อทำหน้าที่ในการควบคุมอารมณ์  พฤติกรรม  ตลอดจนการใช้ความคิด ความอ่าน ความจำ การตัดสินใจ การใช้เหตุผล และการเรียนรู้  ท้ายที่สุดผู้ป่วยจะสูญเสียความสามารถทั้งหมดของสมองทั้งในด้านความจำ สติปัญญา การควบคุมอารมณ์ และบุคลิกภาพ

      โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่นายแพทย์ชาวเยอรมันชื่อ อโลอิส อัลซ์ไฮเมอร์ (Alois Alzheimer)  ซึ่งบรรยายเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๙ ในการประชุมวิชาการของจิตแพทย์ ณ เมืองทือบิงเงิน ประเทศเยอรมนี  ในรายงานได้อ้างถึงผู้ป่วยหญิงอายุ ๕๑ ปี ชื่อ ฟรัน เอากุสเต (Fran Auguste) ที่เริ่มป่วยใน พ.ศ. ๒๔๔๔ โดยได้เข้ารับการรักษาตัว ในสถานพยาบาลโรคจิต ณ เมืองฟรังฟูร์ต-อัมไมน์ อาการป่วยของเธอเริ่มต้นด้วยอาการรู้สึกอิจฉาสามี  ต่อมามีการหลงลืม จำทาง บุคคล และสถานที่ไม่ได้ ฟังอะไรไม่เข้าใจและพูดลำบาก หลังจากนั้นมีอาการทางจิตเวชและหลงผิดจนต้องรับตัวไว้รักษาในสถานพยาบาลโรคจิต  โดยนอนป่วยอยู่นาน ๔ ๑/๒ ปี ในที่สุดก็เสียชีวิตที่สถานพยาบาลดังกล่าว ใน พ.ศ. ๒๔๔๙ ผลการตรวจศพพบว่า สมองฝ่อลีบทั่วทั้งสมองและจากการตรวจชิ้นเนื้อสมองด้วยกล้องจุลทรรศน์พบว่ามีเซลล์สมองลดน้อยลงมาก  เนื่องจากเซลล์สมองตายและเสื่อมพร้อมกับมีใยประสาทพันกันยุ่งในเซลล์สมอง นอกจากนี้ยังมีเนื้อสมองตายเป็นกลุ่ม ๆ โดยรวมกันเป็นแผ่น ๆ กระจายอยู่ทั่วทั้งสมอง ลักษณะอาการทางคลินิกและพยาธิสภาพที่นายแพทย์อัลซ์ไฮเมอร์ได้บรรยายไว้เมื่อราว ๑๐๐ ปี ที่ผ่านมานั้นก็ยังคงถูกต้องและถือว่าเป็นแบบฉบับมาตรฐานของการวินิจฉัยโรคนี้จนถึงปัจจุบัน

 

นายแพทย์อโลอิส  อัลซ์ไฮเมอร์
นายแพทย์อโลอิส  อัลซ์ไฮเมอร์

 

      โรคอัลไซเมอร์อาจมีการดำเนินโรคที่แตกต่างกันไปในแต่ละคนได้ ระยะเวลาเฉลี่ยของการมีชีวิตอยู่รอดของผู้ป่วยหลังเกิดโรคนี้ คือ ราว ๘ - ๑๐ ปี แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอายุยืนได้ถึง ๒๐ ปี หลังเกิดโรคแล้ว  โรคนี้มักเกิดกับผู้สูงอายุโดยมีอัตราความชุกเฉลี่ยราวร้อยละ ๖ - ๘  ในผู้ที่มีอายุเกิน ๖๕ ปี และอัตราความชุกของโรคจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวทุก ๕ ปี  ในคนที่มีอายุมากกว่า ๖๐ ปี กล่าวคือ คนที่มีอายุ ๖๐ ปี จะมีอัตราความชุกของโรคร้อยละ ๑ อายุ ๖๕ ปีจะมีอัตราความชุกร้อยละ ๒ อายุ ๗๐ ปีจะมีอัตราความชุกร้อยละ ๔ อายุ ๗๕ ปีจะมีอัตราความชุกร้อยละ ๘ อายุ  ๘๐ ปีจะมีอัตราความชุกร้อยละ ๑๖ และอายุ ๘๕ ปีจะมีอัตราความชุกของโรคถึงร้อยละ ๓๒ นั่นคือราว ๑ ใน ๓ ของผู้ที่มีอายุ ๘๕ ปีจะป่วยเป็นโรคนี้  ในปัจจุบันพบว่าโรคนี้เป็นสาเหตุของการตายสูงสุดเป็นอันดับ ๔ ในประชากรของประเทศตะวันตก รองจากโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคหลอดเลือดสมองตามลำดับ  ในสหรัฐอเมริกาคาดว่ามีประชากรที่ป่วยเป็นโรคนี้ราว ๔ ล้านคน ซึ่งหนึ่งในจำนวนนี้ คือ อดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) คาดว่าในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มขึ้นถึง ๓๖๐,๐๐๐ คน และจำนวนตัวเลขจะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคตเนื่องจากมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นตามลำดับ  โรคอัลไซเมอร์ถือเป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุขของโลกในปัจจุบันและจะทวีความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต  เนื่องมาจากประชากรโลกจะมีอัตราส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นตามลำดับ เช่น ประเทศไทยในปัจจุบันมีประชากรสูงอายุ (คือ เกิน ๖๐ ปี) จำนวน ๕.๓ ล้านคน หรือร้อยละ ๘ ของประชากรทั้งประเทศ คาดว่าใน พ.ศ. ๒๕๕๓ และ พ.ศ. ๒๕๖๓ จะมีอัตราส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น ๗ ล้านคน (ร้อยละ ๑๑) และ ๑๑ ล้านคน (ร้อยละ ๑๓) ตามลำดับ  ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมประมาณ ๒๕ ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ ๔๖ เป็นชาวเอเชียและคาดว่าเมื่อถึง พ.ศ. ๒๕๖๗ จะมีผู้ป่วยสมองเสื่อมทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว  ดังนั้นโรคอัลไซเมอร์ในประเทศไทยจะเป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งทางด้านสาธารณสุขของไทยในอนาคตที่จำเป็นต้องมีการวางแผนด้านนโยบายและหาทางแก้ไขอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยเหมาะสมและถูกวิธีถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่งเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติเรื่องหนึ่ง

 

อดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan)
อดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) เป็นหนึ่งในผู้ที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์


      โรคอัลไซเมอร์ยังก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากทางด้านเศรษฐกิจที่จะเป็นภาระทั้งต่อครอบครัวและสังคม  ในสหรัฐอเมริกาได้มีการศึกษาเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคนี้พบว่าผู้ป่วยโรค อัลไซเมอร์ที่เป็นโรคระยะเริ่มต้นค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาประมาณ ๑๘,๔๐๘ เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี  ส่วนผู้ที่เป็นโรคระยะรุนแรงปานกลางค่าใช้จ่ายสูงถึง ๓๐,๐๙๖ เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี และคนที่มีอาการรุนแรงมากค่าใช้จ่ายสูงถึง ๓๖,๑๓๒ เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี  นอกจากนี้ยังประเมินว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยโรคนี้ทั่วทั้งสหรัฐอเมริกามีมูลค่ารวมกันถึง ๕๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อปี  ดังนั้นหากคิดค่าใช้จ่ายรวมของผู้ที่เป็นโรคนี้ทั่วโลกก็จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล  ในสหรัฐอเมริกาได้มีการคำนวณว่าปัจจุบันประชากรที่มีอายุเกิน ๖๕ ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์มีถึงร้อยละ ๑๓ ของประชากรหรือราว ๓๔ ล้านคนและคาดว่าใน พ.ศ. ๒๕๖๘ จะมีประชากรกลุ่มนี้ถึงร้อยละ ๑๘ ของประชากร ของประเทศในขณะนั้น  ทั้งนี้ประชากรที่มีอายุเกิน ๘๕ ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคสูงสุด คือ ราวร้อยละ ๓๐ นั้น พบว่าจะมีการเพิ่มขึ้นอย่างมากในสหรัฐอเมริกา เช่นกัน กล่าวคือปัจจุบันมีประชากรกลุ่มนี้ราว ๔ ล้านคน และคาดว่า ใน พ.ศ. ๒๕๗๓ จะมีประชากรกลุ่มนี้สูงถึง ๘.๕ ล้านคน  ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยใหม่ ๆ เกี่ยวกับโรคนี้อย่างมากและถือเป็นนโยบายที่เร่งด่วนและสำคัญของสหรัฐอเมริกาซึ่งรวมอยู่ในโครงการที่กำหนดให้ พ.ศ. ๒๕๓๓ - ๒๕๔๓ เป็นช่วงทศวรรษของสมอง (Decade of the Brain) กระตุ้นให้มีการศึกษาค้นคว้าอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับโรคทางระบบประสาทจนเกิดความก้าวหน้าและองค์ความรู้ใหม่ ๆ มากมาย ได้มีการประเมินกันว่า    ถ้าสามารถทำให้ระยะเวลาของการเกิดโรคนี้ชะลอไปราว ๑ ปี ก็จะส่งผลให้ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ลดจำนวนลง ถึง ๒๑๐,๐๐๐ คน และ ๗๗๐,๐๐๐ คน ในอีก ๑๐ และ ๕๐ ปี ข้างหน้า ตามลำดับซึ่งจะสามารถประหยัดเงินให้แก่สหรัฐอเมริกาได้ถึง ๑๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ในช่วง ๑๐ ปี ข้างหน้า และ ๑๘,๐๐๐ ล้าน เหรียญสหรัฐต่อปี ในอีก ๕๐ ปี ข้างหน้า

 

แผนภาพแสดงอัตราความชุกของโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ
แผนภาพแสดงอัตราความชุกของโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow