Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การยุบพรรค รวมพรรค และย้ายพรรค

Posted By Plookpedia | 25 มิ.ย. 60
1,115 Views

  Favorite

การยุบพรรค รวมพรรค และย้ายพรรค

     ถึงแม้ว่าการยุบพรรค รวมพรรค และย้ายพรรคเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกพรรคการเมืองแต่ในสังคมตะวันตกเหตุการณ์เช่นนี้มักจะไม่ปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งนักและสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของอุดมการณ์และแนวนโยบาย ตัวอย่าง เช่น ใน พ.ศ. ๒๕๒๔ นักการเมืองพรรคแรงงานในอังกฤษจำนวนหนึ่งไม่พอใจนโยบายของพรรคเดิมได้ย้ายไปสังกัดพรรคโซเชียลเดโมแครตซึ่งพวกเขาร่วมกันก่อตั้งขึ้น  ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๓๑ บรรดาผู้นำของพรรคเห็นว่าพรรคโซเชียลเดโมแครตมีอุดมการณ์และนโยบายใกล้เคียงกับพรรคลิเบอรัลจึงรวมพรรคเข้าด้วยกันและเปลี่ยนชื่อเป็น พรรคลิเบอรัลเดโมแครต  ในทางตรงกันข้ามการยุบพรรค รวมพรรค และการย้ายพรรคของนักการเมืองไทยมักจะเกิดขึ้นบ่อย ๆ และส่วนใหญ่มักมีเหตุมาจากการแสวงหาโอกาสที่จะได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือได้เข้าร่วมเป็นฝ่ายรัฐบาลมากกว่าประเด็นด้านอุดมการณ์หรือนโยบาย  อย่างไรก็ตามในขณะที่การยุบพรรค รวมพรรค หรือย้ายพรรคในสังคมตะวันตก มักจะทำได้โดยอิสระแต่ในสังคมไทยการกระทำดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย   ในกรณีของการยุบหรือเลิกพรรคการเมืองพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ ระบุว่าการยุบหรือเลิกพรรคการเมืองสามารถทำได้ด้วยสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ

      ประการแรกเลิกตามข้อบังคับของพรรค

      ประการที่สองมีจำนวนสมาชิกไม่ถึง ๑๕ คน

      ประการที่สามต้องการไปรวมกับพรรคการเมืองอื่น

      ประการที่สี่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรค

      และประการสุดท้ายไม่ดำเนินกิจการพรรคตามที่ระบุไว้ในกฎหมายพรรคการเมือง

      ทั้งนี้การยุบหรือเลิกพรรคการเมืองจะมีผลตามกฎหมายเมื่อประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องให้ยุบเลิกพรรคต่อศาลรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบเลิกพรรคโดยคำสั่งดังกล่าวจะต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา
      สำหรับการรวมพรรคการเปลี่ยนแปลงพรรคการเมืองในลักษณะนี้แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ประเภทแรกเป็นการรวมกันระหว่างพรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งพรรคใหม่  การรวมพรรคลักษณะนี้ พรรคการเมืองที่จะรวมกันแต่ละพรรคจะต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ของพรรคเสียก่อนเมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคของแต่ละพรรคการเมือง จำนวนพรรคละ ๑๐ คน จะต้องมาประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดนโยบายและข้อบังคับของพรรคที่จะจัดตั้งขึ้นและจะต้องจัดให้มีการประชุมระหว่างสมาชิกของพรรคการเมืองที่จะร่วมกันจัดตั้งพรรคใหม่ โดยต้องแจ้งให้บรรดาสมาชิกเหล่านี้ทราบก่อนการประชุมไม่น้อยกว่า ๗ วัน  ทั้งนี้กระบวนการจัดตั้งพรรคการเมืองในลักษณะนี้มีขั้นตอนเหมือนกับการจัดตั้งพรรคการเมืองทั่ว ๆ ไป  แต่มีข้อแตกต่างกันตรงที่นายทะเบียนพรรคการเมืองจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรคเดิมและประกาศคำสั่งการยุบและรวมพรรคการเมืองดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษา

 

พรรคการเมืองไทย
หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และนายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ หัวหน้าพรรคเกษตรสังคม แถลงการณ์ร่วมกันเกี่ยวกับการรวมกันทางการเมืองของทั้ง ๒ พรรค
เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ณ โรงแรมรอยัล ซึ่งปัจจุบัน คือ โรงแรมรัตนโกสินทร์ (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

 

      ส่วนการรวมพรรคประเภทที่สองเป็นการยุบพรรคเพื่อไปเข้าร่วมกับพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่งที่มีอยู่แล้ว เช่น การยุบพรรคเสรีธรรม พรรคความหวังใหม่ และพรรคชาติพัฒนา เพื่อเข้าร่วมกับพรรคไทยรักไทย  ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. ๒๕๔๔ ในการรวมพรรคแบบนี้พรรคการเมืองที่ต้องการยุบพรรคต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ของพรรคเสียก่อนหลังจากได้รับความเห็นชอบแล้วหัวหน้าพรรคนั้นจะต้องแจ้งให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทราบเพื่อดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรคและรวมพรรค   ตลอดจนประกาศคำสั่งในราชกิจจานุเบกษาในทำนองเดียวกับการรวมพรรคประการแรก
      ในกรณีของการย้ายพรรคโดยทั่วไปนักการเมืองสามารถย้ายพรรคได้โดยอิสระแต่จะต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวและสังกัดพรรคการเมืองใหม่อย่างน้อย ๙๐ วัน  จึงจะมีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ  สำหรับผู้ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรการย้ายพรรคนอกจากจะทำให้สูญเสียสมาชิกภาพของสภาผู้แทนราษฎรทันทีที่ลาออกจากพรรคเดิมแล้วยังจะต้องเป็นสมาชิกพรรคใหม่ก่อนการสิ้นสุดอายุสภาไม่ต่ำกว่า ๔๕ วัน หรือก่อนการยุบสภา ไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน มิฉะนั้นก็จะไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยเหตุที่สังกัดพรรคใหม่ไม่ถึง ๙๐ วัน  ทั้งนี้เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ระบุให้การเลือกตั้งทั่วไปมีขึ้นภายใน ๔๕ วัน หลังจากอายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือภายใน ๖๐ วัน หลังจากการยุบสภาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงย้ายพรรคได้ยากขึ้นในยุคปัจจุบัน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow