Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พิธีกรรมและความเชื่อ

Posted By Plookpedia | 25 มิ.ย. 60
2,908 Views

  Favorite

พิธีกรรมและความเชื่อ

      การที่วัฒนธรรมของชาวญวนเป็นวัฒนธรรมแบบเอเชียตะวันออกซึ่งได้รับอิทธิพลความเชื่อทางพระพุทธศาสนาแบบอุตรนิกายที่เผยแผ่เข้ามายังประเทศทางภาคตะวันออกของทวีปเอเชีย คือ จีน ทิเบต มองโกเลีย ญี่ปุ่น และญวน อีกทั้งการที่เวียดนามตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีนเป็นเวลานานกว่าพันปีทำให้ลัทธิความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนาของชาวญวนหรือชาวเวียดนามส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับชาวจีน  ความเชื่อและศาสนาของชาวญวน  ประกอบด้วย ลัทธิบูชาเทพที่สิงสถิตตามธรรมชาติ  มีการเคารพสักการะผีและวิญญาณต่าง ๆ ต่อมาจึงได้รวมเอาความเชื่ออื่น ๆ คือ ลัทธิขงจื๊อและลัทธิเต๋า รวมทั้งพระพุทธศาสนานิกายมหายานจากอิทธิพลของจีนเข้าไว้ด้วย

๑. พระพุทธเจ้าตามคติมหายาน

      พุทธศาสนิกชนที่นับถือนิกายมหายานในหลายประเทศ เช่น จีน ทิเบต เนปาล เกาหลี ญี่ปุ่น และเวียดนาม มีความเชื่อว่าในโลกนี้มีพระพุทธเจ้าอยู่มากมายอาจกล่าวได้ว่ามีจำนวนเท่ากับเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา  มีพระพุทธเจ้าอยู่ทั่วไปในภาคพื้นดินในห้วงบรรยากาศและในสรวงสวรรค์ซึ่งตามคติมหายานแบ่งพระพุทธเจ้าออกเป็น ๓ ประเภท คือ

๑) พระมานุษิพุทธเจ้า
      ตามคติของฝ่ายมหายานพระมานุษิพุทธเจ้า คือ พระพุทธเจ้าที่เสด็จลงมาประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ในโลกมนุษย์ เช่น พระพุทธเจ้าในภัทรกัปซึ่งเป็นกัปที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้มาแล้วถึง ๔ พระองค์และจะเสด็จมาตรัสรู้ในภายภาคหน้าอีกพระองค์หนึ่งมีพระนามตามลำดับ คือ
๑. พระกกุสันโธ
๒. พระโกนาคมน์
๓. พระกัสสปะ
๔. พระโคตมะ
๕. พระศรีอริยเมตไตรย์ หรือพระศรีอารย์
นอกจากนี้ยังมีพระพุทธเจ้าในกัปอื่น ๆ ที่ปรากฏพระนามอยู่ในมนต์พิธีของพระสงฆ์อนัมนิกาย เช่น พระทีปังกร พระวิปัสสี พระสิขี พระเวสภู

 

พระโคตมะ
พระโคตมะหรือพระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า 
ซึ่งเป็นพระนามหนึ่งของพระมานุษิพุทธเจ้า

 

๒) พระฌานิพุทธเจ้า
      คือ พระพุทธเจ้าที่สถิตอยู่ ณ สรวงสวรรค์ที่แบ่งเป็นแดน ๆ ในแต่ละแดนเรียกว่า พุทธเกษตร หรือแดนแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง  พระฌานิพุทธเจ้าทุกพระองค์จะอุบัติขึ้นด้วยอำนาจฌานของพระอาทิพุทธซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์ปฐม พระอาทิพุทธมีสภาวะเป็นองค์สยมภู (คือ พระผู้เกิดเอง เหมือนกับพระพรหมในศาสนาพราหมณ์) ปราศจากเขตต้นและเขตปลาย       พระฌานิพุทธเจ้าทุกพระองค์เมื่ออุบัติขึ้นจากอำนาจฌานของพระพุทธเจ้าองค์ปฐมแล้วจะตรัสรู้ในสรวงสวรรค์ซึ่งเป็นที่พักเพื่อรอการเข้าสู่พระนิพพานจึงไม่ได้เสด็จมาตรัสรู้ในโลกมนุษย์พระพุทธเจ้า ณ พุทธเกษตรบนสรวงสวรรค์นี้มีปรากฏพระนามในคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น พระไวโรจนพุทธเจ้ามีพระวรกายสีขาวประทับเหนือดอกบัวสีน้ำเงินมีสิงโตเป็นพาหนะสถิตอยู่ ณ พุทธเกษตรเบื้องล่าง พระอักโษภัยพุทธเจ้าสถิตอยู่ ณ พุทธเกษตรทิศตะวันออก พระอมิตาภพุทธเจ้าสถิตอยู่ ณ พุทธเกษตรทิศตะวันตก พระอโมฆสิทธิพุทธเจ้าสถิตอยู่ ณ พุทธเกษตรทิศเหนือ พระรัตนสมภพพุทธเจ้าสถิตอยู่ ณ พุทธเกษตรทิศใต้

 

พระฌานิพุทธเจ้า
พระฌานิพุทธเจ้า

 

๓) พระไภสัชยาคุรุพุทธเจ้า
      ตามคติของฝ่ายมหายานเชื่อกันว่าทางทิศตะวันออกไกลจากพุทธเกษตรออกไปเป็นระยะทาง ๑๐ เท่า ของเม็ดทรายในแม่น้ำคงคามีโลกอีกโลกหนึ่งที่สะอาดบริสุทธิ์  มีพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ไภสัชยาคุรุ ผู้เป็น "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ทรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์สมบูรณ์ทั้งจิตและกาย ทรงรอบรู้ในสัจจะ ทรงหยั่งรู้ในโลก และทรงเป็นผู้ชี้ทางให้มวลมนุษย์ด้วยความชำนาญเช่นเดียวกับสารถีผู้ชำนาญในการบังคับม้าและทรงเป็นศาสดาของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย

 

พระไภสัชยาคุรุพุทธเจ้า
พระไภสัชยาคุรุพุทธเจ้า

 

๒. วันสำคัญทางศาสนา

      ความเชื่อในลัทธิพิธีต่าง ๆ ของวัดญวนในประเทศไทยปรากฏออกมาเป็นวันสำคัญทางศาสนาที่อาจแบ่งได้ดังนี้
๑) วันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าตามความเชื่อของฝ่ายมหายานถือว่า วันประสูติ วันตรัสรู้ และวันปรินิพพานเป็นคนละวันกัน มีการกำหนดวันโดยยึดถือตามปฏิทินจีนเป็นหลัก กล่าวคือ

  • วันประสูติ ได้แก่ วันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๗
  • วันตรัสรู้ ได้แก่ วันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๒
  • วันปรินิพพาน ได้แก่ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่

พิธีกรรมจะกำหนดให้มีขึ้นเฉพาะวันประสูติและวันตรัสรู้เท่านั้น

๒) วันพระอวโลกิเตศวร พระอวโลกิเตศวร หรือกวนอิม เป็นอีกภาคหนึ่งของพระพุทธเจ้ามีการกำหนดวันตามปฏิทินจีน คือ

  • วันประสูติ ได้แก่ วันขึ้น ๑๙ ค่ำ เดือนยี่
  • วันตรัสรู้ ได้แก่ วันขึ้น ๑๙ ค่ำ เดือน ๙
  • วันปรินิพพาน ได้แก่ วันขึ้น ๑๙ ค่ำ เดือน ๖

 

พระอวตารโลกิเตศวรกวมอิม
พระอวตารโลกิเตศวรกวมอิม

 

๓) วันพระอมิตาภพุทธเจ้ามีพิธีกรรมเฉพาะวันประสูติ คือ วันขึ้น ๑๗ ค่ำ เดือน ๑๑ เท่านั้น
๔) วันประสูติพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ตรงกับวันขึ้น ๒๑ ค่ำ เดือนยี่
๕) วันประสูติพระศรีอริยเมตไตรย์ ตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑

๓. พิธีกรรมทางศาสนา

ก. พิธีกรรมประจำปี 

      ได้แก่ พิธีบูชาดาวนพเคราะห์ พิธีสรงน้ำพระพุทธรูปและหล่อเทียนพรรษา พิธีบริจาคทานทิ้งกระจาด และเทศกาลถือศีลกินเจ
พิธีบูชาดาวนพเคราะห์
      เป็นพิธีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ (หลังเทศกาลตรุษจีน ที่ยึดถือตามปฏิทินจีนเป็นหลัก คือ เดือน ๑ ขึ้น ๑ - ๘ ค่ำ) จัดเป็นเทศกาลใหญ่ประจำปีและจัดเป็นเวลาอย่างน้อย ๒ วัน  เจ้าภาพในการจัดพิธีนี้มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในแต่ละปีตามแต่จะตกลงกัน  สำหรับวัดที่เป็นเจ้าภาพแล้วหรือยังไม่ถึงกำหนดเป็นเจ้าภาพก็จะให้พระสงฆ์ที่อยู่ในวัดไปร่วมพิธีที่วัดอื่นซึ่งรับเป็นเจ้าภาพ  ความสำคัญของพิธีบูชาดาวนพเคราะห์ คือ เป็นพิธีที่จัดขึ้นตามความเชื่อว่ามนุษย์แต่ละคนมีดาวนพเคราะห์ประจำตัวและในแต่ละปีควรที่จะได้มีการบูชาดาวนพเคราะห์ประจำตัวดวงนั้น ๆ ซึ่งมีเทพประจำอยู่ถือเป็นการสะเดาะเคราะห์และต่อชะตาให้แก่ผู้ที่มาทำบุญ เชื่อกันว่าการบูชาดาวนพเคราะห์จะก่อให้เกิดความเจริญซึ่งยศถาบรรดาศักดิ์มีอายุยืนยาวได้อานิสงส์มากประมาณมิได้และยังส่งผลไปถึงบิดามารดารวมถึงญาติมิตรทั้งหลายที่ได้ล่วงลับไปแล้วยังโลกหน้า นอกจากนั้นยังสามารถช่วยผู้เคราะห์ร้ายที่บังเอิญถูกภูตผีปีศาจสิงสู่จิตใจจนเคลิบเคลิ้มหลงใหล มีสติฟั่นเฟือนให้หายฟื้นคืนสติได้ดังเดิมหรือถ้าผู้ใดมีเคราะห์กรรมมีโรคภัยเบียดเบียน

 

พิธีบูชาดาวนพเคราะห์ทั้ง ๙ เพื่อเสริมดวงชะตา
พิธีบูชาดาวนพเคราะห์ทั้ง ๙ เพื่อเสริมดวงชะตา

     

      เมื่อทำพิธีนี้แล้วจะได้รับอานิสงส์ทำให้โรคภัยร้ายแรงนี้หายไปได้  รวมทั้งเชื่อว่าพิธีบูชาดาวนพเคราะห์สามารถช่วยบรรเทาเหตุร้ายให้กลายเป็นดีในกรณีที่ผู้ใดต้องดวงชะตาราศีร้ายถูกดาวโจร ต้องได้รับโทษอันร้ายแรงหรือนอนฝันร้ายรวมถึงมีสัตว์มาร้องทักทำให้เกิดลางสังหรณ์ไม่ดีต่าง ๆ และเกิดความกลัว  เมื่อสวดมนต์บูชาดาวนพเคราะห์ประจำราศีเกิดได้ ๗ จบ ขึ้นไป จนถึง ๔๙ จบ   อำนาจบุญญาบารมีของบทมนต์ที่สวดจะสามารถดับสิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ ให้สลายไปได้  บุคคลใดปรารถนาจะมีบุตรและต้องการให้บุตรเป็นนักปราชญ์ก็ให้สวดมนต์นี้ตั้งแต่ ๗ จบ จนถึง ๑๐๐ จบ และสวดไปเรื่อย ๆ แล้วแต่จะสวดได้เท่าไร ยิ่งสวดได้มากก็ยิ่งเป็นมงคลแก่ตัวเท่านั้น  ผลของการสวดมนต์จะช่วยให้สมปรารถนาบุคคลใดปรารถนาความเจริญรุ่งเรืองในอาชีพให้อธิษฐานขอพรแล้วจะได้ดังใจนึก  สตรีใดที่ตั้งครรภ์และเกรงว่าเวลาที่คลอดบุตรจะเกิดอันตรายให้ถือศีลกินเจและทำพิธีสักการบูชาดาวนพเคราะห์ทั้ง ๙ เมื่อถึงกำหนดคลอดจะทำให้รอดพ้นจากอันตราย บุตรที่เกิดเป็นเด็กเลี้ยงง่ายไม่มีโรคภัยและมีลักษณะงดงามกว่าเด็กทั้งหลาย

 

พิธีบูชาดาวนพเคราะห์ทั้ง ๙ เพื่อเสริมดวงชะตา
พิธีบูชาดาวนพเคราะห์ทั้ง ๙ เพื่อเสริมดวงชะตา

 

      ตามความเชื่อของฝ่ายมหายานดาวนพเคราะห์ทั้ง ๙ จะปกครองสรรพสัตว์ทั้งชั้นสูง คือ พระอินทร์และเทวดา ชั้นกลาง คือ กษัตริย์ที่อยู่ในเมืองมนุษย์ และชั้นต่ำ คือ พวกมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ตลอดจน ภูเขา และมหาสมุทร ต้นไม้ใบหญ้า ดาวนพเคราะห์ทั้ง ๙ จะปกครองดูแลและรักษาไว้ซึ่งความสุขความเจริญโดยทั่วกัน
ขั้นตอนของพิธีกรรมโดยย่อ ได้แก่
      ๑) พระสงฆ์สวดมนต์อัญเชิญเทพประจำดาวนพเคราะห์ทั้ง ๙ (ภาษาญวนเรียกว่า "กึ๊วว่าง" ซึ่งแปลว่า ๙ พระองค์) ได้แก่  องค์ที่ ๑ พระอาทิตย์ (ไท่เยือง) องค์ที่ ๒ พระจันทร์ (ไท่อ็อม) องค์ที่ ๓ พระอังคาร (หมอกดึ๊ก) องค์ที่ ๔ พระพุธ (หวาดึ๊ก) องค์ที่ ๕ พระพฤหัสบดี (โถดึ๊ก) องค์ที่ ๖ พระศุกร์ (ไท่บัด) องค์ที่ ๗ พระเสาร์ (ถีดึ๊ก) องค์ที่ ๘ พระราหู (ราโห้ว) องค์ที่ ๙ พระเกตุ (เก้โด่)
      ๒) การเวียนเทียนเข้าโบสถ์
      ๓) การเผาเทียนสะเดาะเคราะห์ตามจำนวนอายุในระหว่างการทำพิธีจะมีการถวายเครื่องสักการบูชาเทพต่าง ๆ ประจำวันเกิด  ซึ่งกุศลผลบุญนี้จะส่งไปถึงบิดามารดาและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วและช่วยให้เคราะห์ร้ายกลายเป็นดีได้

 

พิธีบูชาข้าวทิพย์ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่สาธุชน
พิธีบูชาข้าวทิพย์ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่สาธุชน

 

พิธีสรงน้ำพระพุทธรูปและหล่อเทียนพรรษา

      พิธีสรงน้ำพระพุทธรูปเป็นการสรงน้ำพระพุทธรูปปางประสูติก่อนจะถึงพิธีหล่อเทียนพรรษาบวชนาครวมประจำปี  พิธีนี้จัดเป็นเทศกาลตามปฏิทินอนัมจีนซึ่งตรงกับวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๔ กับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ หรือวันวิสาขบูชาของฝ่ายเถรวาท พิธีเข้าพรรษาจัดในวันขึ้น ๑๖ ค่ำ เดือน ๔ และพิธีออกพรรษา ในวันขึ้น ๑๖ ค่ำ เดือน ๗ เมื่อออกพรรษาแล้วมีกำหนดรับกฐินได้ภายใน ๓๐ วัน เริ่มตั้งแต่วันขึ้น ๑๖ ค่ำ เดือน ๘  พิธีนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากความเชื่อว่าเมื่อบุคคลใดจำวัน เดือน ปีที่พระพุทธเจ้าประสูติได้และได้นำเอาเครื่องตั้งบูชาด้วยดอกไม้ ธูป เทียน ผลไม้ พร้อมกับเชิญพระพุทธรูปปางประสูติออกมาสรงน้ำด้วยน้ำหอมกลิ่นต่าง ๆ แล้วบุญกุศลก็จะปรากฏเพิ่มขึ้นและจะอยู่เย็นเป็นสุขทั้งในปัจจุบันและอนาคต  พิธีกรรมดังกล่าวเริ่มขึ้นตั้งแต่เช้าเป็นการเปิดพิธีตอนสายสรงน้ำพระพุทธรูปปางประสูติ  เวลาเพลเลี้ยงพระและผู้มาร่วมทำบุญเทศกาลนี้ในอดีตจัดเป็นงานใหญ่โตมีการตักบาตรพระภิกษุจำนวน ๑๐๘ รูป มีผู้มาร่วมทำบุญถวายภัตตาหารแบบข้าวขันแกงโถ แต่ในระยะหลังพระสงฆ์ญวนมีจำนวนน้อยลงจึงต้องนิมนต์พระสงฆ์ไทยฝ่ายเถรวาทมาร่วมด้วยเพื่อให้ครบจำนวน  งานนี้เคยจัดที่วัดอนัมนิกายาราม (วัดญวนบางโพ) ซึ่งได้ทำติดต่อกันมาเป็นเวลานานปัจจุบันย้ายไปจัดที่วัดถาวรวรารามจังหวัดกาญจนบุรีแต่เพียงแห่งเดียว

 

พิธีหล่อเทียนพรรษา
พิธีหล่อเทียนพรรษา


พิธีบริจาคทานทิ้งกระจาด
      พิธีบริจาคทานทิ้งกระจาดหรือบริจาคไทยทานประจำปีมีกำหนดประกอบพิธีภายในเดือน ๗ ของจีน ทุกปี   โดยจัดให้มีงาน ๒ วัน วันแรกเป็นวันเปิดพิธี วันที่ ๒ เป็นพิธีตรายตัง คือ ถวายข้าวสงฆ์ (ถวายสังฆทาน) ในพิธีตรายตังผู้ที่มาทำบุญจะเรียงแถวกันรอตักบาตรโดยพระสงฆ์ที่เป็นหัวหน้าจะอุ้มบาตรนำเดินทักษิณาวรรตเวียนรอบอุโบสถที่มาของพิธีตรายตังเล่าต่อ ๆ กันมาว่าสมัยพระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับอยู่ที่เชตวันวิหารเมืองสาวัตถี  เวลานั้นพระโมคคัลลานะซึ่งเป็นพระอัครสาวกและเป็นผู้มีทิพยจักษุได้ตรวจดูทั่วโลกมนุษย์และโลกทิพย์แล้วได้เห็นมารดาของท่านปรากฏเป็นเปรตผู้ทนทุกขเวทนาอดอยากร่างกายซูบผอมท่านมีเมตตาระลึกถึงพระคุณแห่งมารดาจึงยื่นบาตรอาหารให้มารดาบริโภค แต่เมื่อมารดารับเอาบาตรอาหารมาถึงมือแล้วยังมิทันได้บริโภคอาหารในบาตรก็ลุกเป็นไฟไม่สามารถบริโภคได้  พระโมคคัลลานะจึงได้นำเหตุการณ์นี้กราบทูลต่อองค์พระพุทธเจ้าซึ่งได้ตรัสแก่พระโมคคัลลานะว่าที่เป็นดังนี้เพราะมารดาของพระโมคคัลลานะได้สร้างเวรกรรมแต่ชาติปางก่อนไว้มากลำพังอำนาจของพระโมคคัลลานะเพียงผู้เดียวไม่สามารถโปรดมารดาให้พ้นจากกองทุกข์ได้  ต้องพึ่งพระบารมีพระอริยสงฆ์เจ้าทั้ง ๑๐ ทิศ จึงจะโปรดมารดาให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ได้เมื่อได้ฟังดังนั้นพระโมคคัลลานะจึงกระทำปาฏิหาริย์อาราธนาพระอริยสงฆ์เจ้าทั้ง ๑๐ ทิศ มาประชุมพร้อมกันและได้จัดเครื่องอาหารบิณฑบาตถวายพร้อมทั้งเครื่องไทยทานต่าง ๆ ด้วยการนี้มารดาของพระโมคคัลลานะจึงได้พ้นจากกองทุกข์สู่สุคติ

 

การสวดมนต์กุ๊งฮุดในพิธีบริจาคทานทิ้งกระจาด
การสวดมนต์กุ๊งฮุดในพิธีบริจาคทานทิ้งกระจาด

 

      ส่วนที่มาของการบริจาคทานทิ้งกระจาดมีเรื่องเล่าว่า  เมื่อสมัยพุทธกาลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เมืองกบิลพัสดุ์  มีพระภิกษุห้อมล้อมสดับพระธรรมเทศนา  ในเวลานั้นพระอานนท์ผู้ซึ่งเป็นอัครสาวกอีกองค์หนึ่งได้นั่งสมาธิในที่เงียบสงัดอยู่เพียงผู้เดียวครั้นถึงเวลาดึกสงัดพระอานนท์ได้แลเห็นอสุรกายตนหนึ่งร่างกายซูบผอมเหี่ยวแห้งผมบนศีรษะรกรุงรัง ลำคอเท่ารูเข็ม มีไฟพุ่งออกมาจากปากและมีเขี้ยวงอกออกจากปากดูน่ากลัวมาก  อสุรกายตนนั้นได้มายืนประนมมือบอกพระอานนท์ว่า อีก ๓ ราตรี พระอานนท์จะถึงแก่มรณภาพและต้องมาอยู่ในหมู่อสุรกายเช่นเดียวกับตน  เมื่อพระอานนท์ได้ฟังดังนั้นแล้วก็มีความหวาดกลัวเป็นอันมากจึงได้ถามอสุรกายตนนั้นว่าจะต้องทำประการใดจึงจะพ้นจากความตายและพ้นจากทุกข์ในหมู่อสุรกายนั้นได้  พระอานนท์ได้รับคำตอบว่าให้กระทำพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา บริจาคทานให้แก่ยาจกยากจนเข็ญใจที่อดอยากแผ่บุญกุศลไปให้พวกอสุรกายทั้งหมดจะทำให้มีอายุยืนยาวส่วนอสุรกายเหล่านั้นก็จะได้พึ่งกุศลผลบุญที่พระอานนท์อุทิศไปให้ทำให้พ้นทุกข์และและไปสู่สุคติได้ทันที  พระอานนท์ได้ฟังดังนั้นก็นำความกราบทูลพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งขอคำแนะนำพระพุทธเจ้าตรัสว่าให้บริจาคทานแก่หมู่อสุรกายและพวกพราหมณ์ที่เมืองมัทราฐเพราะพราหมณ์ที่เมืองนี้ยากจนอนาถาแต่การบริจาคทานที่จะให้ถึงหมู่อสุรกายนั้นยาก เนื่องจาก เป็นพวกที่สร้างเวรสร้างกรรมไว้มาก ไม่สามารถรับบริจาคทานได้โดยตรง จึงต้องตั้งพิธีประชุมพระรัตนตรัยนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญคาถา และอำนาจแห่งคาถานี้ก็จะไปถึงหมู่อสุรกายนั้น  พระอานนท์จึงได้จัดหาเครื่องสักการบูชา และเครื่องอุปโภคบริโภคทำพิธีตั้งสักการบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสังฆเจ้า โดยมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน

 

พิธีบริจาคทานทิ้งกระจาด เพื่ออุทิศผลบุญให้แก่ดวงวิญญาณที่ไร้ญาติ
พิธีบริจาคทานทิ้งกระจาด เพื่ออุทิศผลบุญให้แก่ดวงวิญญาณที่ไร้ญาติ

 

      พระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่พระอานนท์ว่า เมื่อครั้งอดีตกาลพระองค์ทรงเกิดในตระกูลพราหมณ์ในพระโพธิสัตว์ ทรงพระนามว่า พระโพธิสัตว์กวนอิม เมื่อผู้ใดบริจาคทานให้แก่หมู่อสุรกายใด ๆ แล้ว พระองค์จะทรงอ่านคาถาซึ่งมีอำนาจไปถึงหมู่สัตว์ทั้งหลาย  การที่พระองค์ทรงแสดงแก่พระอานนท์ในขณะนั้นเพื่อให้พระอานนท์รู้ว่าอสุรกายที่มาบอกพระอานนท์ว่า อีก ๓ ราตรี พระอานนท์จะถึงแก่มรณภาพนั้นเป็นพระโพธิสัตว์แบ่งภาคมาบอกทั้งนี้เพื่อพระอานนท์จะได้เป็นต้นบริจาคทานต่อไป  พระโพธิสัตว์องค์นี้ปรารถนาจะโปรดทั้งมนุษย์และสัตว์ให้ถึงพร้อมด้วยพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ดังนั้นในพิธีบริจาคทานทิ้งกระจาดจึงต้องมีรูปยมราช คือ พระโพธิสัตว์กวนอิมแบ่งภาคเป็นประธานสำหรับแจกเครื่องไทยทานทิ้งกระจาด  การบริจาคทานที่ปฏิบัติเป็นประจำที่วัดญวนนั้นส่วนมากของที่แจกเป็นข้าวสารและของแห้งโดยจะมีผู้มารับบริจาคมากมายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ยากไร้ซึ่งอาศัยอยู่ในละแวกวัดและอยู่ไกลออกไปจากวัดส่วนอีกจำนวนหนึ่งเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย

 

พิธีบริจาคทานทิ้งกระจาด เพื่ออุทิศผลบุญให้แก่ดวงวิญญาณที่ไร้ญาติ
พิธีบริจาคทานทิ้งกระจาด เพื่ออุทิศผลบุญให้แก่ดวงวิญญาณที่ไร้ญาติ


เทศกาลถือศีลกินเจ
      วัดญวนในประเทศไทยจัดเทศกาลถือศีลกินเจในช่วงเวลาเดียวกันกับการถือศีลกินเจของชาวจีนทั่วไป คือ ระหว่างเดือน ๙ ของทุกปี การถือศีลกินเจมีลักษณะทั่วไปเหมือนกับฝ่ายจีนนิกาย คือ มีการถือศีลตามปกติแต่เพิ่มการไม่บริโภคเนื้อสัตว์เพราะโดยปกติแล้วพระสงฆ์ญวนไม่ได้ถือมังสวิรัติแต่ถือวิกาลโภชนาซึ่งลักษณะนี้คล้ายกับพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทของไทยแต่แตกต่างไปจากพระสงฆ์ญวนในประเทศญวนที่ถือมังสวิรัติและไม่ถือวิกาลโภชนา  พระสงฆ์ญวนในประเทศไทยฉัน ๒ มื้อและถือวิกาลโภชนาตั้งแต่หลังเที่ยงเป็นต้นไป มีการบิณฑบาตเช่นเดียวกับพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาท    

      ในการถือศีลกินเจนอกจากจะไปถือปฏิบัติที่โรงเจหรือที่ศาลเจ้ารวมทั้งวัดญวนเป็นส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ถือศีลก็มักจะถือปฏิบัติที่บ้านด้วย  ผู้ที่ไปถือศีลกินเจที่โรงเจมีทั้งผู้ที่มีเชื้อสายญวนชาวไทยเชื้อสายจีนและคนไทยทั่วไปที่นิยมกินเจ  ความเชื่อที่อยู่คู่กับการถือศีลกินเจนี้เป็นความเชื่อเกี่ยวกับโลกและดาวนพเคราะห์ ทั้ง ๙ ดวง ที่เชื่อว่าบันดาลให้เกิดธาตุประจำโลกมนุษย์ ๕ ธาตุ ได้แก่ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ และทอง ซึ่งเป็นหัวใจของโลกมนุษย์โดยธาตุแรกทั้ง ๔ นั้น ถ้ามนุษย์ขาดธาตุใดธาตุหนึ่งก็ต้องตายส่วนธาตุทองถือเป็นหลักทำให้เศรษฐกิจของโลกหมุนเวียน

 

ผู้ถือศีลกินเจนิยมแต่งกายในชุดสีขาว เพื่อความบริสุทธิ์
ผู้ถือศีลกินเจนิยมแต่งกายในชุดสีขาวเพื่อความบริสุทธิ์

 

อาหารเจ
อาหารเจ

 

      ดังนั้นพระทั้ง ๙ องค์ ดาวทั้ง ๙ ดวง และธาตุทั้ง ๕ จึงมีคุณแก่มนุษย์ สัตว์ และพฤกษชาติ สมควรที่พุทธศาสนิกชนจะถือศีลกินเจใน ๙ วันแรก เมื่อขึ้นเดือน ๙ เพื่อเป็นการบูชาพระผู้ทรงพระคุณและเพื่อขอความสุขความเจริญให้บังเกิดแก่ตนและโลกสืบไป  โดยในวันถือศีลกินเจนี้ผู้ถือศีลจะหยุดทำกิจการและตั้งใจแผ่เมตตาธรรมอโหสิแก่เพื่อนมนุษย์ แต่งตัวด้วยชุดสีขาวและมีดอกไม้ธูปเทียนบูชาพระร่วมกัน ในการถือศีลกินเจนั้นกำหนดให้มีการถือศีล ๓ ข้อ คือ
    ๑) เว้นจากการเอาชีวิตสัตว์มาบำรุงชีวิตตน
    ๒) เว้นจากการเอาเลือดสัตว์มาเพิ่มเลือดตน
    ๓) เว้นจากการเอาเนื้อสัตว์มาเพิ่มเนื้อตน
เมื่อถือศีลทั้ง ๓ ข้อแล้ว ก็งดเว้นไม่บริโภคเนื้อสัตว์แต่บริโภคถั่ว งา และพืชผักแทน

ข. พิธีกรรมเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านของชีวิต

ได้แก่ พิธีบวชและพิธีกงเต๊ก
พิธีบวช
      วัดญวนในประเทศไทยจัดพิธีบวชในช่วงก่อนเทศกาลเข้าพรรษาของฝ่ายเถรวาท คือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ และพิธีออกพรรษา ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ พิธีบวชของวัดญวนเดิมจัดที่วัดถาวรวราราม จังหวัดกาญจนบุรีเพียงแห่งเดียว  แต่ปัจจุบันจัดที่วัดสมณานัมบริหาร (วัดญวนสะพานขาว) กรุงเทพฯ อีกแห่งหนึ่งด้วย ในขั้นตอนและรายละเอียดของพิธีมีลักษณะคล้ายคลึงกับทางฝ่ายเถรวาทตั้งแต่ขั้นตอนการปลงผมนาค ขานนาค รับศีล เปลี่ยนเครื่องทรง สวดมนต์ ถวายเครื่องอัฐบริขาร และถวายเพล จะมีข้อแตกต่างกันก็ คือ ในพิธีแบบมหายานอนัมนิกายไม่มีการใช้เครื่องดนตรีปี่กลองเหมือนในพิธีแบบเถรวาทจะมีเพียงการเคาะจังหวะให้เป็นไปตามท่วงทำนองการสวดมนต์ที่ใช้ภาษาญวน   ในช่วงระหว่างเข้าพรรษากำหนดเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนและออกพรรษาในเดือนกันยายน  พระสงฆ์วัดญวนจะต้องรักษาวินัยอย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกับการจำพรรษาของพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทโดยเฉพาะในข้อบัญญัติการละเว้นจากการไปค้างคืนที่อื่นนอกจากมีกิจจำเป็นซึ่งได้ลาสัตตาหะแล้วเท่านั้น

 

การปลงผมนาคในพิธีบวช
การปลงผมนาคในพิธีบวช

 

      พิธีบวชเป็นพิธีกรรมที่สะท้อนความเชื่อในการถึงพร้อมซึ่งพระธรรมวินัยโดยการที่ผู้มีจิตศรัทธาและประสงค์จะให้บุตรเข้าพิธีบวช นำบุตรไปมอบให้แก่เจ้าอาวาสวัดที่ต้องการจะให้จำพรรษาหรือไปมอบให้แก่พระภิกษุที่ต้องการให้เป็นพระอุปัชฌาย์เพื่อให้ผู้ที่จะบวชได้ฝึกหัดขานนาคและได้เรียนรู้ที่จะเข้าสู่ขนบธรรมเนียมของการมีชีวิตในสถานภาพของบรรพชิต  ผู้ที่ต้องการบวชเป็นภิกษุสงฆ์ จะต้องจัดหาเครื่องอัฐบริขารให้ครบตามจำนวนวินัย เช่น ผ้าไตร ตามแบบอนัมนิกาย บาตร ธมกรก (หม้อกรองน้ำ) เข็มพร้อมทั้งกล่อง และด้ายเย็บผ้า มีดโกนพร้อมด้วยหินลับ ประคดเอว และเครื่องอุปโภคอื่น ๆ อันควรแก่สมณเพศผู้ที่เข้ามาบวชในอนัมนิกายไม่ได้มีแต่ลูกหลานชาวญวนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น  แต่ยังรวมถึงชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยภาคกลางและชาวไทยอีสาน โดยเป็นผู้ที่รู้จักและศรัทธาเลื่อมใสในความเชื่อที่ถือปฏิบัติของวัดญวนมาแต่ครั้งบรรพบุรุษหรือเป็นผู้ที่วัดญวนแห่งนั้น ๆ ให้ความอุปการะอยู่  พิธีบวชของวัดญวนนอกจากจะมีการบวชในพรรษาแล้ว ยังมีการบวชนอกพรรษาเช่นเดียวกับวัดทางฝ่ายเถรวาทและมีการบวชระยะสั้น ๓ - ๗ วัน หรือ ๑ - ๓ เดือน เช่น การบวชแก้บนและการบวชในช่วงฤดูร้อน

 

พิธีบวช
ในพิธีบวชเป็นภิกษุสงฆ์ ผู้ที่จะบวชต้องจัดเตรียมเครื่องอัฐบริขารให้ครบตามจำนวนวินัย

 

พิธีกงเต๊ก
      พิธีกงเต๊กเป็นพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วซึ่งเชื่อว่าเมื่อได้รับกุศลผลบุญนี้แล้วจะทำให้พ้นทุกข์และได้เสวยสุขในสวรรค์  เดิมการประกอบพิธีกรรมมีลำดับขั้นตอนต่าง ๆ ๑๔ ขั้นตอนและใช้เวลาในการประกอบพิธีกรรมถึง ๕ วัน ๕ คืน หรืออย่างน้อย ๒ วัน ๓ คืน ปัจจุบันมีการตัดลำดับพิธีลงบางขั้นตอนเพื่อเป็นการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายและเพื่อให้พิธีเสร็จสิ้นลง ภายใน ๑ วัน ๑ คืน อย่างไรก็ตามการจัดพิธีขึ้นอยู่กับเจ้าภาพว่าต้องการให้จัดแบบครบถ้วนหรือไม่โดยคณะสงฆ์แห่งวัดญวนก็จะจัดให้ตามที่ประสงค์

 

สิ่งของจำลองที่เผาอุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ ในพิธีกงเต็ก
สิ่งของจำลองที่เผาอุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ ในพิธีกงเต็ก

 

      พิธีกงเต๊กยังสามารถประยุกต์ใช้กับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย เรียกว่า กงเต๊กเป็น ซึ่งเป็นการทำพิธีกงเต๊กเพื่อสร้างกุศลให้แก่ตนเองในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่  เป็นการขอพรให้มีอายุยืนยาวมีความเป็นสิริมงคลและเป็นการลบล้างชดใช้หนี้เวรหนี้กรรมที่ตนได้กระทำไว้ด้วยเจตนาก็ดีไม่เจตนาก็ดีและเป็นการทำบุญ เป็นอริยทรัพย์  ซึ่งในที่นี้มีความหมายเน้นหนักไปในเรื่องทรัพย์สินโดยมีการจำลองทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ทำด้วยกระดาษ เช่น ตึกรามบ้านช่อง เงินทอง สิ่งของต่าง ๆ ขึ้นเป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งนั้น ๆ เมื่อนำไปเข้าพิธีสวดแล้วก็จะนำสิ่งเหล่านั้นเผาไปพร้อมกระดาษเงินกระดาษทองให้เหลือแต่เพียงขี้เถ้าเพราะเชื่อว่าทรัพย์สินเหล่านั้นจะไปปรากฏในปรโลกซึ่งตนเองจะได้ใช้เมื่อสิ้นชีวิตไปแล้ว  พิธีกงเต๊กอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับก็กระทำในลักษณะเดียวกันและถือว่าเป็นการส่งสิ่งเหล่านั้นไปให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเช่นกัน

      พิธีกงเต๊กนับเป็นพิธีที่มีความสำคัญและนิยมปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีต  โดยได้รับการยกให้เป็นงานพิธีหลวงครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี (พระราชชนนีในรัชกาลที่ ๕) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๕ และจัดในฐานะพิธีหลวงต่อ ๆ มาอีก เช่น เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในพ.ศ. ๒๔๐๘   ในงานพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาสเมื่อพ.ศ. ๒๔๑๐   งานพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์พระบรมราชเทวีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ และได้กลายเป็นประเพณีที่ต้องทำถวายในงานพระศพของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

 

การประกอบพิธีกรรมต่างๆ ในพิธีกงเต๊ก
การประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ในพิธีกงเต๊ก

 

ค.  พิธีกรรมอื่น ๆ

ได้แก่ พิธีทอดกฐินและพิธีทอดผ้าป่า
      วัดญวนจัดพิธีทอดกฐินและพิธีทอดผ้าป่าเช่นเดียวกับวัดฝ่ายเถรวาท  โดยจัดในช่วงเทศกาลออกพรรษามีกำหนดภายใน ๓๐ วัน ซึ่งตรงกับช่วงเดือนกันยายนของทุกปี  พิธีทอดกฐินจัดขึ้นโดยอาศัยความเชื่อตามตำนานสมัยพุทธกาลว่าบุคคลใดตั้งใจหรือศรัทธานำผ้าไตรจีวรมาถวายเป็นพระกฐินทานท่ามกลางหมู่สงฆ์บุคคลนั้นก็จะได้ผลานิสงส์มากมายประมาณมิได้  ส่วนพิธีทอดผ้าป่าจัดขึ้นในช่วงเวลาไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับความสะดวกและความศรัทธาของเจ้าภาพหรืออาจจัดขึ้นภายหลังพิธีกรรมใหญ่เสร็จสิ้นลง เช่น พิธีบวช  พิธีกรรมต่าง ๆ ข้างต้นยังคงเป็นพิธีกรรมที่ถือปฏิบัติที่วัดญวนในปัจจุบันและสะท้อนถึงความเชื่อทางฝ่ายมหายานอนัมนิกายมีบางส่วนที่ได้ผนวกเอาความเชื่อและวัตรปฏิบัติของทางฝ่ายเถรวาทเข้าไว้ด้วย

 

พิธีทอดกฐินและพิธีทอดผ้าป่า ซึ่งมีขั้นตอนคล้ายเถรวาท
พิธีทอดกฐินและพิธีทอดผ้าป่า ซึ่งมีขั้นตอนคล้ายเถรวาท

 

พิธีทอดกฐินและพิธีทอดผ้าป่า ซึ่งมีขั้นตอนคล้ายเถรวาท
พิธีทอดกฐินและพิธีทอดผ้าป่า ซึ่งมีขั้นตอนคล้ายเถรวาท

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow