Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

มาตรฐานของแม่น้ำลำคลอง และคุณภาพของน้ำในแหล่งน้ำประเภทต่างๆ

Posted By Plookpedia | 24 มิ.ย. 60
1,466 Views

  Favorite

มาตรฐานของแม่น้ำลำคลอง และคุณภาพของน้ำในแหล่งน้ำประเภทต่าง ๆ

 

กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน ได้กำหนดมาตรฐานของแม่น้ำลำคลอง
ออกเป็น ๕ ประเภท พร้อมทั้งได้กำหนดคุณภาพของน้ำในแหล่งน้ำประเภทต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ใช้สอยไว้ด้วยดังนี้ 

 

๑. แหล่งนำที่น้ำมีสภาพตามธรรมชาติ ปราศจากน้ำทิ้งและกิจกรรมทุกประเภทและสามารถใช้ประโยชน์เพื่อ 

     (๑) อุปโภค และบริโภค โดยต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคตามปกติก่อน 
     (๒) การขยายพันธุ์ตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตระดับพื้นฐาน และ 
     (๓) ระบบนิเวศของแหล่งน้ำ

คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำประเภทนี้ ต้องมีสภาพตามธรรมชาติ และสามารถใช้ประโยชน์ได้ตามที่กำหนดไว้ 

 

แหล่งน้ำที่ยังคงมีสภาพตามธรรมชาติ จะอยู่ในบริเวณใกล้ต้นน้ำที่ยังมิถูกปนเปื้อน

 

๒. แหล่งน้ำที่ได้รับน้ำทิ้งจากกิจกรรมบางประเภทและสามารถใช้ประโยชน์เพื่อ 

     (๑) การอุปโภค และบริโภค โดยต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคตามปกติ และผ่านกระบวนการปรับปรุง 
     (๒) การอนุรักษ์สัตว์น้ำ 
     (๓) การประมง และ
     (๔) การว่ายน้ำและกีฬาทางน้ำ 

 

คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำประเภทนี้ ต้องมีมาตรฐานดังนี้

     (๑) ต้องไม่มีวัตถ ุหรือสิ่งของที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งทำให้สี กลิ่น และรสของน้ำ เปลี่ยนไปจากธรรมชาติ
     (๒) อุณหภูมิของน้ำต้องไม่สูงกว่าอุณหภูมิของน้ำตามธรรมชาติเกิน ๓ องศาเซลเซียส
     (๓) ความเป็นกรด-เบสของน้ำ (pH) ต้องมีค่าระหว่าง ๕.๐-๙.๐
     (๔) ออกซิเจนละลายในน้ำ (dissolved oxygen; DO) ต้องมีค่าไม่น้อยว่า ๖.๐ มิลลิกรัม ต่อลิตร
     (๕) ความต้องการออกซิเจนทางชีวเคมี หรือบีโอดี (biochemical oxygen demand; BOD) ในน้ำ ต้องมีค่าไม่เกิน ๑.๕ มิลลิกรัมต่อลิตร  
     (๖) บัคเตรีชนิดโคลิฟอร์ม (coliform bacteria) ในน้ำ ต้องมีค่ารวมไม่เกิน ๕,๐๐๐ เอ็มพีเอ็น (most probable number; mpn) ต่อ ๑๐๐ มิลลิลิตร
     (๗) บัคเตรีชนิดฟีคอลโคลิฟอร์ม (feacal coliform bacteria) ในน้ำ ต้องมีค่าไม่เกิน ๑,๐๐๐ เอ็มพีเอ็นต่อ ๑๐๐ มิลลิลิตร
     (๘) ไนเทรต (NO3) ในน้ำในหน่วยไนโตรเจน ต้องมีค่าไม่เกิน ๕.๐ มิลลิกรัมต่อลิตร
     (๙) แอมโมเนีย (NH3) ในน้ำในหน่วย ไนโตรเจน ต้องมีค่าไม่เกิน ๐.๕ มิลลิกรัมต่อลิตร
     (๑๐) ฟีนอล (phenol) ในน้ำต้องมีค่าไม่เกิน ๐.๐๐๕ มิลลิกรัมต่อลิตร
     (๑๑) ทองแดง (copper; Cu) ในน้ำต้องมีค่าไม่เกิน ๐.๑ มิลลิกรัมต่อลิตร
     (๑๒) นิกเกิล (nickel; Ni) ในน้ำ ต้องมีค่า ไม่เกิน ๐.๑ มิลลิกรัมต่อลิตร
     (๑๓) แมงกานีส (manganese; Mn) ในน้ำ ต้องมีค่าไม่เกิน ๑.๐ มิลลิกรัมต่อลิตร
     (๑๔) สังกะสี (zinc; Zn) ในน้ำต้องมีค่าไม่เกิน ๑.๐ มิลลิกรัมต่อลิตร
     (๑๕) แคดเมียม (cadmium; Cd) ในน้ำที่มีความกระด้างในรูปของแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCo3) ไม่เกิน ๑๐๐ มิลลิกรัมต่อลิตร ต้องมีค่าแคดเมียมไม่เกิน ๐.๐๐๕ มิลลิกรัมต่อลิตร และในน้ำที่มีความกระด้างในรูปของแคลเซียมคาร์บอเนตเกินกว่า ๑๐๐ มิลลิกรัมต่อลิตร ต้องมีค่าแคดเมียมไม่เกิน ๐.๐๕ มิลลิกรัมต่อลิตร
     (๑๖) โครเมียมชนิดเฮกซาวาเลนต์ (chromium hexavalent; Cr hexavalent) ในน้ำ ต้องมีค่าไม่เกิน ๐.๐๕ มิลลิกรัมต่อลิตร
     (๑๗) ตะกั่ว (lead; Pb) ในน้ำ ต้องมีค่าไม่เกิน ๐.๐๕ มิลลิกรัมต่อลิตร
     (๑๘) ปรอท (mercury; Hg) ในน้ำ ต้องมีค่ารวมไม่เกิน ๐.๐๐๒ มิลลิกรัมต่อลิตร
     (๑๙) สารหนู (arsenic; As) ในน้ำ ต้องมีค่าไม่เกิน ๐.๐๑ มิลลิกรัมต่อลิตร
     (๒๐) ไซยาไนด์ (cyanide) ในน้ำ ต้องมีค่าไม่เกิน ๐.๐๐๕ มิลลิกรัมต่อลิตร
     (๒๑) กัมมันตภาพรังสี (radioactivity) ในน้ำ ต้องมีค่าความแรงรังสีรวมแอลฟาไม่เกิน ๐.๑ เบ็กเคอเรลต่อลิตร และค่าความแรงรังสีรวมบีตาไม่เกิน ๑.๐ เบ็กเคอเรลต่อลิตร
     (๒๒) สารเคมีที่ใช้ในการป้องกัน และกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ (pesticides) ในน้ำ ต้องมีค่ารวมไม่เกิน ๐.๐๕ มิลลิกรัมต่อลิตร
     (๒๓) ดีดีที (dichlorodiphenyltrichlorethane; DDT) ในน้ำ ต้องมีค่าไม่เกิน ๑.๐ ไมโครกรัม ต่อลิตร
     (๒๔) บีเอชซีชนิดแอลฟา (alpha BHC) ในน้ำ ต้องมีค่าไม่เกิน ๐.๐๒ ไมโครกรัมต่อลิตร
     (๒๕) ดีลดริน (dieldrin) ในน้ำ ต้องมีค่า ไม่เกิน ๐.๑ ไมโครกรัมต่อลิตร
     (๒๖) แอลดริน (aldrin) ในน้ำ ต้องมีค่า ไม่เกิน ๐.๑ ไมโครกรัมต่อลิตร
     (๒๗) เฮปทาคลอร์ (heptachlor) และเฮปทาคลอร์อีพ็อกไซด์ (heptachlor epoxide) ในน้ำ ต้องมีค่าไม่เกิน ๐.๒ ไมโครกรัมต่อลิตร
     (๒๘) เอนดริน (endrin) ในน้ำ ต้องไม่สามารถตรวจพบได้ตามวิธีการตรวจสอบที่กำหนด

 

๓. แหล่งน้ำที่ได้รับน้ำทิ้งจากกิจกรรมบางประเภทและสามารถใช้ประโยชน์เพื่อ 

     (๑) การอุปโภค และบริโภค โดยต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคตามปกติ และผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำทั่วไปก่อน และ 
     (๒) การเกษตร 

คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำประเภทนี้ ต้องมีมาตรฐานตามที่กำหนดไว้ในแหล่งนีประเภทที่ ๒ เว้นแต่ 

     (๑) ออกซิเจนละลายในน้ำต้องมีค่าไม่น้อย กว่า ๔.๐ มิลลิกรัมต่อลิตร 
     (๒) บีโอดีต้องมีค่าไม่เกิน ๒.๐ มิลลิกรัม ต่อลิตร 
     (๓) บัคเตรีชนิดโคลิฟอร์มในน้ำต้องมีค่า ไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ เอ็มพีเอ็นต่อ ๑๐๐ มิลลิลิตร 
     (๔) บัคเตรีชนิดฟีคอลโคลิฟอร์มในน้ำต้อง มีค่าไม่เกิน ๔,๐๐๐ เอ็มพีเอ็นต่อ ๑๐๐ มิลลิลิตร

 

๔. แหล่งน้ำที่ได้รับน้ำทิ้งจากกิจกรรมบางประเภทและสามารถใช้ประโยชน์เพื่อ 

การอุปโภค และบริโภค โดยต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคตามปกติ และผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำเป็นพิเศษก่อน

คุณภาพน้ำของแหล่งน้ำประเภทนี้ ต้องมีมาตรฐานตามที่กำหนดไว้ในแหล่งน้ำประเภทที่ ๒ ข้อ (๑)-(๕) และ (๘)-(๒๘) เว้นแต่ 

     (๑) ออกซิเจนละลายในน้ำต้องมีค่าไม่น้อย กว่า ๒.๐ มิลลิกรัมต่อลิตร 
     (๒) บีโอดีในน้ำต้องมีค่าไม่เกิน ๔.๐ มิลลิกรัมต่อลิตร  

 

คุณภาพของน้ำจะลดลงเมื่อปะปนกับน้ำทิ้ง

 

 

๕. แหล่งน้ำที่ได้รับน้ำทิ้งจากกิจกรรมบางประเภทและสามารถใช้ประโยชน์เพื่อ 

การคมนาคม 

คุณภาพน้ำของแหล่งน้ำประเภทนี้ มีมาตรฐานต่ำกว่าคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำประเภทที่ ๔ 

การกำหนดแหล่งน้ำแหล่งใดแหล่งหนึ่งให้อยู่ในประเภทใดนั้น จะกำหนดตามคุณสมบัติ ที่สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 

ดังนั้น หากแม่น้ำลำคลองใดถูกทำให้เสียประโยชน์ใช้สอย หรือเสียมาตรฐานไป ก็ถือว่า แม่น้ำลำคลองนั้นเกิดมลภาวะขึ้น

 

คุณภาพน้ำของแม่น้ำในช่วงตอนล่าง อาจจะเหมาะสำหรับการคมนาคมเท่านั้น

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow