Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

น้ำเสีย

Posted By Plookpedia | 24 มิ.ย. 60
7,025 Views

  Favorite

น้ำเสีย

 

น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่ามหาศาล 

น้ำมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ สัตว์ และพืช ถ้าขาดน้ำเมื่อใด ก็เป็นการยากที่มนุษย์ สัตว์ และพืช จะดำรงชีวิตอยู่ได้นาน

 

 

ดังนั้นตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน เราจะพบว่า มนุษย์ทุกหมู่ ทุกเหล่า ทุกเผ่าพันธ์ เลือกตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้น้ำ

 

 

น้ำธรรมชาติมีอยู่ทั่วไป ทั้งบนผิวดิน ใต้ดิน และในบรรยากาศ 

น้ำบนผิวดินเป็นแหล่งน้ำ ที่เราจะพบมากที่สุด ได้แก่ แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ห้วย ลำธาร ทะเลสาบ ทะเล และมหาสมุทร

 

ส่วนน้ำใต้ดินมีแตกต่างกันเป็น ๒ ประเภท คือ น้ำในดิน และน้ำบาดาล

ถ้าเราขุดบ่อลงไปบริเวณแหล่งน้ำในดิน เราเรียกบ่อน้ำชนิดนี้ว่า บ่อน้ำในดิน และถ้าขุดบ่อลึกลงไปมาก ๆ หรือใต้ชั้นหิน จนถึงระดับน้ำบาดาล เราเรียกบ่อน้ำชนิดนี้ว่า บ่อน้ำบาดาล

 

 

น้ำธรรมชาติที่มีส่วนเกี่ยวพันกับความเป็นอยู่ของมนุษย์ สัตว์ และความเจริญของพืชพันธุ์ ได้แก่ น้ำบนผิวดิน ในแต่ละวันคนเราต้องใช้น้ำจำนวนมาก ทั้งในด้านการอุปโภค บริโภค การประกอบอาชีพ เช่น การประมง การเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม เป็นต้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องช่วยกันรักษาแหล่งน้ำธรรมชาติเหล่านี้ ให้สะอาดอยู่เสมอ หากปล่อยให้มีสิ่งสกปรก เช่น ขยะหรือน้ำทิ้ง ลงปะปนอยู่ในน้ำธรรมชาติ ก็จะทำให้แหล่งน้ำนั้น กลายเป็นน้ำเสียในภายหลัง

 

 

เมื่อแหล่งน้ำดีกลายเป็นน้ำเสีย ก็จะเป็นอันตรายต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคน พืช และสัตว์ ไม่เฉพาะแต่พื้นที่เดียวเท่านั้น อาจขยายบริเวณภยันตรายกว้างไกลออกไปทั้งชุมชนละแวกนั้น ๆ ได้

 

--------------------------------------------------------

 

สาเหตุที่จะทำให้น้ำในแม่น้ำลำคลอง และแหล่งน้ำธรรมชาติอื่น ๆ กลายเป็นน้ำเสีย กล่าวโดยสรุปได้แก่

 

๑. สิ่งปฏิกูลจากบ้านเรือน 
        ที่อยู่อาศัยของชนที่อยู่รวมกันเป็นชุมชน เป็นย่านที่อยู่อาศัย และย่านการค้าขาย ในอาณาบริเวณดังกล่าวนี้ ย่อมจะมีน้ำทิ้งจากการอุปโภค และบริโภค เช่น น้ำจากการซักล้าง และการทำครัว น้ำจากส้วมที่ไม่ได้ผ่านการบำบัดให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน และอยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำลำคลอง น้ำทิ้งเช่นนี้จะทำให้เกิดน้ำเน่า น้ำเสียได้

 

บ้านเรือนที่ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย ก็จะระบายสิ่งปฏิกูลลงสู่แหล่งน้ำ

 

 

๒. สิ่งปฏิกูลจากการเกษตรกรรม 
        ในการเพาะปลูกปัจจุบันนี้ เกษตรกรใช้สารเคมีมากขึ้น เช่น ปุ๋ย สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งบางชนิดสลายตัวยาก สารอาจจะตกค้างอยู่ตามพืชผักผลไม้ ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภค และบางส่วนอาจจะกระจายอยู่ตามพื้นดิน เมื่อฝนตก น้ำฝนจะชะล้างสิ่งเหล่านี้ลงแม่น้ำลำคลอง เป็นเหตุให้กุ้ง ปลา หอย ปู และสัตว์น้ำอื่น ๆ เป็นอันตรายถึงตายได้ ถ้าสัตว์น้ำได้รับสารเคมีบางชนิดในปริมาณไม่มาก ก็อาจสะสมอยู่ในตัวสัตว์ เมื่อคนจับสัตว์น้ำเหล่านี้มาทำอาหาร สารเคมีนั้นก็จะเข้าไปสะสมอยู่ในร่างกายของคนอีกทอดหนึ่ง

 

น้ำเสียเกิดขึ้นได้จากการเกษตรกรรม โดยฝนจะชะล้างสารเคมีลงแม่-น้ำลำคลอง เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ

 

บริเวณเพาะปลูกอาจมีมูลสัตว์ปนอยู่ เมื่อฝนตก หรือเมื่อใช้น้ำรดพืชผักผลไม้ น้ำก็จะชะล้างสิ่งปฏิกูล คือ มูลสัตว์นี้ลงสู่แม่น้ำลำคลอง ในมูลสัตว์อาจมีเชื้อโรคและพยาธิปนอยู่ เป็นเหตุให้ผู้ใช้แม่น้ำลำคลองได้รับเชื้อโรคจากสิ่งปฏิกูลนั้นได้

 

๓. สิ่งปฏิกูลจากการอุตสาหกรรม
        โรงงานอุตสาหกรรมทั่วไปใช้น้ำในปริมาณมากน้อยแตกต่างกัน น้ำที่ใช้ทำความสะอาดเครื่องมือ และพื้นที่ในโรงงาน และน้ำทิ้งจากโรงงาน จะเป็นน้ำเสียไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง บางโรงงานอาจมีวัสดุเหลือจากผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมบางประเภท ปนไปกับน้ำทิ้ง ทั้งหมดนี้เป็นเหตุให้น้ำในแม่น้ำลำคลองเน่า ส่งกลิ่นเหม็น มีสารพิษปะปนอยู่ กลายเป็นมลภาวะที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมบริเวณนั้น

 

สิ่งปฏิกูลจากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นเหตุให้น้ำเน่าเสียกลายเป็นมลภาวะที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมบริเวณนั้น

 

        น้ำมันจากโรงงานอุตสาหกรรม ก็มีส่วนทำความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม หากใช้น้ำมัน โดยขาดความระมัดระวัง เช่น การเทน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้วลงน้ำ ตลอดจนการทำความสะอาดโรงงาน
น้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม ที่ปล่อยลงแม่น้ำลำคลองเช่นนี้ จะมีคราบน้ำมันลอยเป็นฝ้า
ทำให้ก๊าซออกซิเจนในอากาศไม่สามารถจะละลายลงไปในน้ำ มีผลทำให้สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำขาดก๊าซออกซิเจน ยิ่งกว่านั้นถ้ามีคราบน้ำมันคลุมผิวพื้นน้ำ แสงแดดส่องลอดลงไปใต้น้ำไม่ได้ ทำให้พืชในน้ำบางชนิดไม่สามารถสร้างอาหาร และเจริญเติบโตแล้ว ยังมีผลเสียต่อเนื่อง ทำให้สัตว์ในน้ำตายด้วย เพราะพืชเล็ก ๆ ในน้ำ ซึ่งเป็นอาหารของสัตว์ตาย เพราะน้ำเสีย

 

        เหมืองแร่เป็นอุตสาหกรรมอีกประเภทหนึ่ง ที่ทำให้คุณภาพของน้ำเสียไป ถ้าเหมืองแร่นั้น
เป็นเหมืองฉีด น้ำจากเหมืองฉีดจะพาตะกอน ซึ่งเกิดจากดิน หิน ทราย และเศษแร่ ไหลปนไปกับ
น้ำที่ชะแร่ลงสู่แม่น้ำ หรือทะเล ทำให้ลำน้ำตื้นเขิน ทับถม และทำลายแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ

 

จะเห็นว่า ถ้าไม่มีการระมัดระวังในการใช้น้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำประปา หรือน้ำในแม่น้ำลำคลอง
จะก่อให้เกิดน้ำเสียต่อเนื่องกัน เป็นประดุจลูกโซ่

 

        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง สนพระทัยต่อน้ำธรรมชาติ ที่หล่อเลี้ยงอาณาประชาราษฎร์ ดังจะเห็นได้ว่า ทุกแห่งที่พระองค์เสด็จเยี่ยมเยียนราษฎร จะทรงให้ความสำคัญต่อสายน้ำ
อันเป็นเส้นชีวิตของประชาชน ว่าจะอำนวยประโยชน์สุขให้แก่ราษฎรมากน้อยเพียงใด
ด้วยเหตุนี้จึงได้มีคำว่า "น้ำพระทัยจากในหลวง"

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยเรื่องแหล่งน้ำ หล่อเลี้ยงอาณาประชาราษฎร์

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow