Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พลาสติกในชีวิตประจำวัน

Posted By Plookpedia | 23 มิ.ย. 60
2,961 Views

  Favorite

พลาสติกในชีวิตประจำวัน

พอลิเอทิลีน (Polyethylene: PE)

      โดยทั่วไปแล้วพอลิเอทิลีนมีสีขาวขุ่น โปร่งแสง มีความลื่นมันในตัว เมื่อสัมผัสจึงรู้สึกลื่น หยุ่นตัวได้ ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ไม่ติดแม่พิมพ์ มีความเหนียว ทนความร้อนได้ไม่มากนัก ทนต่อการกัดกร่อนของสารเคมี เป็นฉนวนไฟฟ้า ใส่สีผสมได้ง่าย มีความหนาแน่นต่ำกว่าน้ำจึงลอยน้ำได้  เมื่อความหนาแน่นสูงขึ้นจะทำให้มีความแข็งและความเหนียวเพิ่มขึ้น อุณหภูมิหลอมตัวสูงขึ้นและอัตราการคายก๊าซเพิ่มขึ้นเมื่อความหนาแน่นลดลงจะทำให้อัตราการเสื่อมสลายของผิวเพิ่มขึ้น กล่าวคือผิวจะแตกรานได้ง่ายขึ้น 
สมบัติทั่วไป 

  • ยืดหยุ่นได้ดี เหนียวมากที่อุณหภูมิต่ำ
  • มีความทนทานต่อสารเคมีได้ดีมาก
  • ทนต่อสภาวะอากาศได้ดีพอควร อากาศและก๊าซสามารถซึมผ่านได้ดี
  • หดตัวในแม่พิมพ์ได้ดีมาก ทำให้ถอดจากแม่พิมพ์ได้ง่าย
  • เป็นฉนวนไฟฟ้าที่ดีมาก
  • ผสมสีได้ง่าย ทำให้ผลิตเป็นฟิล์มใส ฟิล์มสี ฟิล์มโปร่งแสงหรือทึบแสงได้
  • ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส

ผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยพอลิเอทิลีน 
      ผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ ได้แก่ ขวดใส่สารเคมี ขวดใส่น้ำ ลังหรือกล่องบรรจุสินค้าภาชนะต่าง ๆ เครื่องเล่นของเด็ก ถุงเย็น ถาดทำน้ำแข็ง ชิ้นส่วนของแบตเตอรี่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ฉนวนไฟฟ้า ถุงใส่ของ แผ่นฟิล์มสำหรับห่อของ โต๊ะและเก้าอี้

 

พอลิเอทิลีน

 

พอลิโพรไพลีน (Polypropylene: PP)

      พอลิโพรไพลีนมีลักษณะขาวขุ่นทึบแสงกว่าพอลิเอทิลีนมีความหนาแน่นในช่วง ๐.๘๙๐ - ๐.๙๐๕ ด้วยเหตุนี้จึงสามารถลอยน้ำได้เช่นเดียวกันกับพอลิเอทิลีน ลักษณะอื่น ๆ คล้ายกับพอลิเอทิลีน 
สมบัติทั่วไป 

  • มีผิวแข็ง ทนทานต่อการขีดข่วน คงตัวไม่เสียรูปง่าย
  • สามารถทำเป็นบานพับในตัว มีความทนทานมาก
  • เป็นฉนวนไฟฟ้าที่ดีมากแม้ที่อุณหภูมิสูง
  • ทนทานต่อสารเคมีส่วนมาก แต่สารเคมีบางชนิดอาจทำให้พองตัวหรืออ่อนนิ่มได้
  • มีความเหนียวที่อุณหภูมิตั้งแต่ ๑๐๕ องศาฟาเรนไฮต์ลงไปจนถึง ๑๕ องศาฟาเรนไฮต์ (๔๐ องศาเซลเซียส ถึง -๑๐ องศาเซลเซียส) แต่ที่ ๐ องศาฟาเรนไฮต์ จะเปราะ
  • มีความต้านทานการซึมผ่านของไอน้ำและก๊าซได้ดี
  • สามารถทนอุณหภูมิสูงที่ใช้ในการฆ่าเชื้อ (Sterilization : ๑๐๐๛C) ได้
  • ผสมสีได้ง่ายทั้งลักษณะโปร่งแสงและทึบแสง

ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพอลิโพรไพลีน 
      ผลิตภัณฑ์ที่พบเสมอ คือ กล่องเครื่องมือ กระเป๋า ปกแฟ้มเอกสาร กล่องและตลับเครื่องสำอาง กล่องบรรจุอาหาร อุปกรณ์ของรถยนต์ เครื่องใช้ในครัวเรือน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ วัสดุบรรจุภัณฑ์ในอุตสาหกรรม ขวดใส่สารเคมี กระป๋องน้ำมันเครื่อง กระสอบข้าวและถุงบรรจุปุ๋ย

พอลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl chloride: PVC) 

      พอลิไวนิลคลอไรด์เป็นพอลิเมอร์ที่สำคัญที่สุดในกลุ่มไวนิลด้วยกัน  มักเรียกกันทั่วไปว่า พีวีซี เนื้อพีวีซีมักมีลักษณะขุ่นทึบแต่ก็สามารถผลิตออกมาให้มีสีสันได้ทุกสีเป็นฉนวนไฟฟ้าอย่างดีตัวมันเองเป็นสารที่ทำให้ไฟดับจึงไม่ติดไฟ  มีลักษณะทั้งที่เป็นของแข็งคงรูปและอ่อนนุ่มเหนียว เรซินมีทั้งที่เป็นเม็ดแข็งหรืออ่อนนุ่มและเป็นผงจึงสามารถนำไปใช้งานได้อย่างกว้างขวาง 
สมบัติทั่วไป 

  • มีความแข็งแรงดี ทนทานต่อสภาวะอากาศและสิ่งแวดล้อมปกติ
  • ต้านทานต่อสารเคมีและน้ำ
  • เป็นฉนวนไฟฟ้าที่ดี
  • สามารถผสมสีและแต่งสีได้อย่างไม่จำกัด
  • สามารถเติมสารเติมแต่งต่าง ๆ เพื่อปรุงแต่งสมบัติของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่แข็งและคงตัวจนถึงอ่อนนิ่มและยืดหยุ่นมาก ๆ
  • มีสมบัติอื่น ๆ กว้างขวางและสามารถสลายตัวเอง

ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพอลิไวนิลคลอไรด์ 
      ผลิตภัณฑ์ทั่วไป ได้แก่ หนังเทียมซึ่งมีความอ่อนนุ่มกว่าหนังแท้สำหรับหุ้มเบาะเก้าอี้ หรือปูโต๊ะ เคลือบกระดาษและผ้า กระเป๋าถือของสตรี กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าใส่สตางค์ รองเท้า เข็มขัด หุ้มสายไฟฟ้า สายเคเบิล หุ้มด้ามเครื่องมือ หุ้มลวดเหล็ก ท่อน้ำ ท่อร้อยสายไฟฟ้า อ่างน้ำ ประตู หน้าต่าง

 

พอลิไวนิลคลอไรด์

 

พอลิไวนิลอะซิเตต (Polyvinyl acetate: PVA) 

      เป็นพอลิเมอร์ที่มีแขนงหนาแน่นมีลักษณะโมเลกุลแบบอะแทกติกไม่มีความเป็นผลึกจึงมีลักษณะอ่อนนิ่มมากจนเป็นของเหลวข้นหนืด สีขุ่นขาว เมื่อแห้งจะใสเนื่องจากความอ่อนนิ่มจนมีลักษณะเป็นของเหลวข้นหนืดจึงไม่สามารถหล่อขึ้นรูปด้วยวิธีแม่พิมพ์ใด ๆ ได้ 
สมบัติทั่วไป 

  • อ่อนนิ่มง่ายต่อการทำเป็นอีมัลชัน
  • อุณหภูมิของการหล่อแม่พิมพ์ต่ำจึงไม่เหมาะที่จะหล่อขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์
  • ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่มีรส
  • เมื่อแห้งจะมีความโปร่งใสมากขึ้นมีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น

การใช้งาน 
      เรซินชนิดนี้ใช้ทำกาวในรูปของอีมัลชันสำหรับติดไม้ กระดาษ ผ้า และหนังเทียม มักเรียกกาวชนิดนี้ว่า "กาวลาเท็กซ์" ใช้เป็นสารเหนียวในหมากฝรั่ง ทำสี และเคลือบหลอดไฟแว็บสำหรับถ่ายรูปในสมัยก่อน

พอลิสไตรีน (Polystyrene: PS)

      เป็นพอลิเมอร์เก่าแก่ที่รู้จักกันมานานแล้ว  โดยทั่วไปสไตรีนพอลิเมอร์จะมีความแข็งเปราะแตกรานได้ง่ายแต่สามารถทำให้เหนียวขึ้นได้โดยการเติมยางสังเคราะห์บิวทาไดอีนลงไปซึ่งเรียกว่า     สไตรีน ทนแรงอัดสูง (High impact styrene) การใช้สไตรีนเป็นโคพอลิเมอร์ (พอลิเมอร์ที่ประกอบด้วยมอนอเมอร์ ๒ ชนิด) เพื่อปรับปรุงคุณภาพและสมบัติของพอลิเมอร์อื่นให้ดีขึ้น  เมื่อรวมตัวกับพอลิเมอร์อื่นจะทำให้มีคุณสมบัติเปลี่ยนไป เช่น มีความเหนียวและความแข็งเพิ่มขึ้น ทนความร้อนเพิ่มขึ้น อุณหภูมิจุดหลอมตัวสูงขึ้น  

      พอลิสไตรีนบริสุทธิ์มีลักษณะใสคล้าย กระจก ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพอลิสไตรีนให้มีคุณภาพดีขึ้น มีความเป็นผลึกใส แข็ง และขึ้นรูปได้ง่าย พอลิสไตรีนเป็นพอลิเมอร์ที่มีอุณหภูมิหลอมเหลวเป็นช่วงกว้างทำให้ง่ายต่อการหล่อขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์สามารถเลือกตั้งอุณหภูมิและความดันของเครื่องจักรได้ง่าย  พอลิสไตรีนเป็นพอลิเมอร์ที่มีน้ำหนักเบา (ที่สุด) ราคาย่อมเยา 
สมบัติทั่วไป 

  • มีความแข็งแต่เปราะ แตกรานง่าย น้ำหนักเบา ราคาถูก
  • ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีความใส ผิวเรียบ ใส่สีเติมแต่งได้ง่ายและคงความโปร่งใสเช่นเดิม
  • ทนทานต่อสารเคมีทั่วไป แต่ไม่ทนต่อสารไฮโดรคาร์บอนและตัวทำละลายอินทรีย์
  • เป็นฉนวนไฟฟ้า
  • ไม่ดูดความชื้น เกิดไฟฟ้าสถิตได้ง่าย ทำให้ดูดฝุ่นละอองได้ดี
  • การหดตัวสูงเมื่อเย็นตัวทำให้ถอดจากแม่พิมพ์ได้ง่ายแต่อาจเสียรูปขนาดไปบ้าง
  • ไม่ทนต่อสภาพสิ่งแวดล้อมภายนอก ผิวเสื่อมสภาพเร็วไม่ทนต่อการถูกขีดข่วน

ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพอลิสไตรีน 
      พอลิสไตรีนเรซินมีลักษณะเป็นเม็ด เป็นผง และเป็นของเหลว เหมาะสำหรับการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ด้วยวิธีต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์ทั่วไป ได้แก่ ถ้วยจาน แก้วน้ำ ช้อนส้อมที่ใช้แล้วทิ้ง กล่องบรรจุอาหาร และผลไม้ ไม้บรรทัด อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ของเล่น ด้ามลูกอมขนมเด็ก ขวดหรือกระปุกใส่ยา เฟอร์นิเจอร์บางอย่าง ชิ้นส่วนในตู้เย็น โฟมกันแตก สำหรับบรรจุภัณฑ์ และฉนวนความร้อน

 

พอลิสไตรีน

 

พอลิอะคริเลต (Polyacrylate) 

     พอลิอะคริเลตมักเรียกกันทั่วไปว่า อะคริลิก เป็นพอลิเมอร์ที่ได้จากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสามารถผลิตได้จากมอนอเมอร์หลายชนิด  พลาสติกประเภทนี้ที่เป็นพื้นฐาน ได้แก่ เมทิลเมทาคริเลต (Methyl methacry late)  พอลิอะคริเลตเป็นพลาสติกที่มีโครงสร้างเส้นสายเป็นแบบ อะแทกติก (Atactic) กล่าวคือโมเลกุลมีกิ่งหรือแขนงไม่แน่นอนสั้นบ้างยาวบ้างมีความโปร่งใสมาก (แสงผ่านได้ประมาณร้อยละ ๙๒) จึงเป็นวัสดุมาตรฐานที่ใช้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เช่น เลนส์และฝาครอบไฟท้าย 
สมบัติทั่วไป 

  • มีความโปร่งใสคล้ายกระจก
  • ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ
  • ทนทานต่อสารเคมีหลายประเภทยกเว้นตัวทำละลายบางชนิด เช่น คลอโรฟอร์ม
  • ใส่สีให้มีสีสันได้ตามความต้องการ
  • มีจุดอ่อนตัวต่ำ มีความเหนียว
  • คงรูปดีมากและทนทานต่อการขีดข่วน
  • รวมตัวกับพอลิเมอร์ชนิดอื่นได้
  • เป็นฉนวนไฟฟ้า
  • ไม่ดูดความชื้น

ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพอลิอะคริเลต 
      อาจนำพอลิอะคริเลตมาใช้แทนกระจก ทั้งใสและเป็นสีชาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้แก่ กล่องพลาสติก กระจกกันลมสำหรับเรือเร็ว กระจกบังลมสำหรับหมวกนิรภัย ชิ้นส่วนทางอิเล็กทรอนิกส์ เส้นใยนำแสง (Fiber optics) กระจกโคมไฟรถยนต์ แผ่นป้ายและป้ายโฆษณา

พอลิคาร์บอเนต (Polycarbonate) 

      พอลิคาร์บอเนตเป็นพลาสติกที่มีความโปร่งใสและแข็งมาก ต้านทานการขีดข่วนได้ดีจึงมักใช้ทำผลิตภัณฑ์แทนแก้วหรือกระจก 
สมบัติทั่วไป 

  • มีความใสคล้ายกระจก
  • ผสมสีได้ง่าย
  • มีความแข็ง เหนียว และยึดเกาะตัว ดีมาก คงรูปดี
  • เป็นฉนวนไฟฟ้าอย่างดี
  • ทนความร้อนได้สูงจึงใช้แทนกระจกได้เป็นอย่างดี
  • ม่ติดไฟแต่จะทำให้ไฟดับ

ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพอลิคาร์บอเนต 
      ลักษณะของเรซินมีทั้งเป็นเม็ดใส เป็นผง และเป็นแผ่น เหมาะสำหรับการขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์ เช่น การฉีดเข้าแม่พิมพ์หรือเอกซ์ทรูชัน  ใช้ทำโคมไฟฟ้า กระจกเลนส์โคมไฟหน้าของรถยนต์ กระจกแว่นตาภาชนะและขวดพลาสติก  ใบพัดเรือและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

ไนลอน (Nylon) 

      ไนลอนเป็นพอลิเมอร์ที่มีมานาน คนไทยมักรู้จักไนลอนในรูปของเสื้อผ้าและเชือกไนลอน ผลิตภัณฑ์ไนลอนที่นิยมใช้แพร่หลายมีหลายชนิด เช่น ไนลอน ๔ ไนลอน ๖,๖ ไนลอน ๖,๑๐ ไนลอน ๑๐ และไนลอน ๑๑ เป็นต้น 
สมบัติทั่วไป 

  • มีสีขาวขุ่น โปร่งแสง
  • สามารถผสมกับสีได้ดี
  • หล่อลื่นในตัวเอง
  • ทนทานต่อการกัดกร่อนของสารเคมี สารประกอบไฮโดรคาร์บอนและน้ำมัน
  • ไม่ทนทานต่อกรดแก่
  • ดูดความชื้นทำให้เกิดการหดและยืดตัว
  • เป็นฉนวนไฟฟ้า

ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไนลอน 
      เนื่องจากไนลอนมีสมบัติที่ดีในด้านความเหนียวและมีผิวลื่นจึงมักใช้ทำเฟืองเกียร์แทนโลหะเพื่อลดการใช้สารหล่อลื่น  ทำเส้นใยที่มีเส้นละเอียดมากสำหรับทอเป็นผ้าและผลิตเครื่องนุ่งห่ม ลักษณะของเรซินมีทั้งที่เป็นเม็ด แผ่น แท่ง และท่ออีกด้วย ผลิตภัณฑ์จากไนลอนที่พบเห็นได้ทั่วไป ได้แก่ เครื่องมือช่าง ฝาครอบไฟฟ้าภายในรถยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า รอกและเชือกราวม่าน อวน แห หวี เฟืองเกียร์ ลูกปืนในเครื่องจักรกลที่ไม่ต้องใช้น้ำมันหล่อลื่น ผ้าไนลอน และใบเรือ

พอลิเททระฟลูออโรเอทิลีน (Polytetrafluoroethylene : PTFE)

      พอลิเททระฟลูออโรเอทิลีน (พีทีเอฟอี) เป็นพลาสติกชนิดพิเศษที่รู้จักกันดีชนิดหนึ่งมีคุณสมบัติดีเยี่ยมในด้านความทนทานต่อการกัดกร่อนของสารเคมีและทนความร้อน สูง สีขาวขุ่น ผิวมีความลื่นมัน ไม่ต้องการสารหล่อลื่นเนื่องจากมีความทนทานต่อความร้อนสูงมากจึงทำให้กระบวนการขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต้องใช้ความร้อนสูงและมีความยุ่งยากกว่าพลาสติกชนิดอื่น 
สมบัติทั่วไป 

  • มีสีขาวขุ่น ค่อนข้างทึบแสง ผิวเป็น มันและลื่นมาก
  • ทนทานต่อการกัดกร่อนของสารเคมีที่อุณหภูมิสูง
  • ทนความร้อนได้สูงถึง ๓๐๐ องศาเซลเซียส
  • เป็นฉนวนไฟฟ้าที่ดี

ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพอลิเททระฟลูออโรเอทิลีน 
      ลักษณะของเรซินเป็นของเหลว เป็นเม็ด และเป็นผง ใช้เคลือบด้ามเครื่องมือช่าง เคลือบภายในหม้อและกระทะทำให้ไม่ต้องใช้น้ำมัน หุ้มสายไฟฟ้า แหวนลูกสูบของเครื่องยนต์ ลูกปืนที่ใช้ในเครื่องจักรกลที่ไม่ต้องการสารหล่อลื่น ภาชนะและอุปกรณ์ที่ใช้ในการทดลองทางเคมี เช่น หลอดทดลอง บีกเกอร์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังใช้ผสมกับน้ำมันหล่อลื่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการหล่อลื่นอีกด้วย

ฟีนอลฟอร์มาลดีไฮด์ (PhenolFormaldehyde : Bakelite) 

      ฟีนอลฟอร์มาลดีไฮด์หรือเบกาไลต์เป็นพลาสติกประเภทเทอร์โมเซ็ตชนิดแรกที่รู้จักมานาน  มีสีน้ำตาลคล้ายขนมปัง มีความแข็ง และอยู่ตัว เรซินชนิดนี้มีทั้งที่เป็นของเหลวใสเหมาะสำหรับหล่อในพิมพ์และแบบที่เป็นผงสำหรับการขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์ซึ่งชนิดหลังนี้มีสีน้ำตาลดำเพียงอย่างเดียว 
สมบัติทั่วไป 

  •  เนื้อแข็งคงตัวแต่เปราะ ทนทานต่อการผุกร่อน
  •  เป็นฉนวนไฟฟ้า
  • ทนความร้อนได้สูง (๒๖๐ องศาเซลเซียส)
  • ไม่ดูดความชื้น ราคาถูก

ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากฟีนอลฟอร์มาลดีไฮด์ 
      ใช้ทำปลอกหุ้มคอยล์รถยนต์ แกนคอยล์ในเครื่องรับวิทยุและโทรทัศน์ เปลือกเครื่องโทรศัพท์สมัยโบราณ ด้ามเครื่องมือช่าง หูหม้อ หูกระทะ ด้ามมีด ลูกบิลเลียด แผงวงจรและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กาว สารเคลือบผิว ตลอดจนใช้เป็นสารเติมแต่งในอุตสาหกรรมยาง

 

ฟีนอลฟอร์มาลดีไฮด์

 

เมลามีนฟอร์มาลดีไฮด์ (MelamineFormaldehyde) 

      เมลามีนฟอร์มาลดีไฮด์เป็นพอลิเมอร์ที่ได้จากปฏิกิริยาคอนเดนเซชันของเมลามีนกับฟอร์มาลดีไฮด์  โครงสร้างเป็นโครงข่ายร่างแหหนาแน่นทั้งสามมิติที่แข็งแรงคล้ายฟีนอลฟอร์มาลดีไฮด์มีสีขุ่นทึบ ลักษณะของเรซินมีทั้งเป็นผงและเป็นเม็ดเหมาะสำหรับการขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์ 
สมบัติทั่วไป 

  • มีเนื้อแข็งมาก ทนทานต่อการขีดข่วน เหนียวไม่แตกง่าย
  • ผสมสีได้ดี
  • ทนทานต่อน้ำยาฟอกสี น้ำมัน ผงซักฟอก
  • ไม่ติดไฟ ไม่อ่อนตัวเมื่อได้รับความร้อนแต่เมื่อถูกความร้อนสูงจะไหม้เกรียม
  • เป็นฉนวนไฟฟ้า
  • ไม่ดูดความชื้น

ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเมลามีนฟอร์มาลดีไฮด์ 
      ใช้ทำจาน ชาม ถ้วยกาแฟ เครื่องใช้ภายในครัว เครื่องประดับบ้าน เครื่องผสมอาหาร สวิตช์ไฟฟ้า ขั้วไฟฟ้า ทำกาวในอุตสาหกรรมไม้อัด เคลือบไม้ ผ้าและกระดาษ

 

เมลามีนฟอร์มาลดีไฮด์

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow