Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การจัดการป่าไม้สักและการปลูกสร้างสวนป่าไม้สัก

Posted By Plookpedia | 23 มิ.ย. 60
2,165 Views

  Favorite

การจัดการป่าไม้สัก

 

        ในการวางโครงการ เพื่อการจัดการตัดฟัน และบำรุงป่าสัก กรมป่าไม้ได้เลือกใช้ระบบตัดฟันแบบเลือกตัด คือ คัดเลือกตัดแต่ไม้ ที่มีความโตทางเส้นรอบวง ๒๒๕ เซนติเมตรขึ้นไป และใช้ระยะเวลา ๓๐ ปี ในการตัดฟันต่อหนึ่งป่าสัมปทาน ในการนี้ป่าสักสัมปทานแปลงหนึ่ง ๆ แบ่งออก
เป็น ๑๐ แปลงย่อย แต่ละแปลงย่อยแบ่งออกเป็น ๓ แปลงตัดฟัน แต่ละแปลงตัดฟันมีการทำไม้ออก
ในระยะเวลา ๑ ปี รวมทั้งหมด ๓๐ แปลงตัดฟัน ต่อ ๓๐ ปี ต่อสัมปทาน การตัดฟันไม้สักในสมัยก่อน
มีการกานไม้ให้ยืนต้นตายก่อนประมาณ ๑ ปี เพื่อให้ไม้แห้ง และไม่แตกหัก หลังจากโค่นและแปรรูป
เมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว จึงเข้าไปตัดฟัน ชักลากออก ล่องเป็นแพซุงมาตามลำน้ำปิง วัง ยม น่าน
มาขายที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ปัจจุบันเทคโนโลยีในการตัดฟัน ชักลาก แปรรูปไม้
และการอบแห้ง ได้วิวัฒนาการขึ้นมาก จึงเปลี่ยนวิธีการทำไม้สักมาเป็นวิธีการตัดโค่นไม้สักสด ๆ แล้วนำมาแปรรูป และอบแห้ง

 

สวนป่าสัก อ.งาว จ.ลำปาง

 

 

การปลูกสร้างสวนป่าไม้สัก

 

        การปลูกสร้างสวนป่าไม้สักในประเทศไทยได้เริ่มทดลองครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ในท้องที่ป่าแม่ปาน อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ โดยนำวิธีการปลูกสร้างสวนสักในพม่ามาใช้ การปลูกสร้างสวนป่าไม้สัก เพื่อการทดลอง ได้ดำเนินการต่อมาอีกในท้องที่ต่างๆ ทั่วภาคเหนือของประเทศ
จนกระทั่งใน พ.ศ. ๒๔๘๔ กรมป่าไม้จึงได้วางแผน และปลูกสร้างสวนป่าไม้สักอย่างต่อเนื่อง
โดยมีเป้าหมาย เพื่อที่จะผลิตไม้สักทดแทนป่าธรรมชาติ ที่อาจหมดสิ้นไปได้ในอนาคต และปลูกสวนตัวอย่างขึ้น ในท้องที่อำเภองาว จังหวัดลำปาง (สวนป่าแม่หวด) และในท้องที่อำเภอลอง
จังหวัดแพร่ (สวนป่าแม่ต้า) ซึ่งเป็นแหล่งไม้สักชั้นดีของประเทศ ต่อมาการปลูกสร้างสวนป่าไม้สัก
ได้รับการกำหนดเป็นนโยบายหนึ่งของประเทศ โดยกำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและ
สังคมแห่งชาติ นับตั้งแต่ฉบับที่ ๑ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นต้นมา 
 

ต้นสัก (ลำต้นใหญ่) เกิดจากการแตกหน่อหลังจากต้นเดิมถูกตัดฟัน

 

        ปัจจุบัน มีหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน เช่น กรมป่าไม้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
บริษัทไม้อัดไทย และหน่วยงานเอกชนต่าง ๆ ได้ดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าไม้สักอย่างกว้างขวาง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือของประเทศ ทำให้สวนป่าไม้สักในปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๓๐) มีพื้นที่ถึง ๑,๐๑๕,๘๕๐ ไร่ มีวัตถุประสงค์ที่จะผลิตไม้สักออกใช้ได้อย่างเต็มที่ เมื่ออายุระหว่าง ๓๐-๖๐ ปี
หลังจากปลูก และคาดว่า จะสามารถผลิตไม้ได้ประมาณ ๓๐-๔๐ ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ เมื่ถึงระยะเวลาตัดฟัน 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow