Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

Posted By Plookpedia | 23 มิ.ย. 60
1,521 Views

  Favorite

ความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 

๑. วัตถุประสงค์ 

การกำหนดมาตรการและดำเนินการด้านความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลความปลอดภัย ดังนี้ 
      ๑) ความปลอดภัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นโดยรอบ รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานในโรงไฟฟ้า 
      ๒) ความปลอดภัยต่อระบบนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม 
      ๓) ความปลอดภัยต่อระบบการทำงานของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์และเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ในโรงไฟฟ้า 

๒. มาตรฐานความปลอดภัย 

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงมาก ทั้งนี้เพราะมีมาตรการและกระบวนการตรวจสอบต่าง ๆ ที่เข้มงวดและรัดกุมหลายขั้นตอนทั้งด้านนามธรรมและรูปธรรม 
๑. ด้านนามธรรม ได้แก่ แนวคิดในการออกแบบให้ปฏิกรณ์มีความปลอดภัยในตัวเอง คือ 
      ก. ใช้เม็ดเชื้อเพลิงทนความร้อนได้สูงมากโดยมีจุดหลอมเหลวที่ประมาณ ๒,๘๐๐ องศาเซลเซียส 
      ข. ใช้ยูเรเนียม-๒๓๕ ในเชื้อเพลิงมีสัดส่วนต่ำประมาณร้อยละ ๐.๗ - ๓ เท่านั้น 
      ค. เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์สามารถหยุดยั้งปฏิกิริยาแตกตัวได้ด้วยตัวเองเมื่อเกิดเหตุผิดปกติขึ้นในระบบ 
      ง. ระบบถ่ายเทความร้อนในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เป็นระบบปิดไม่มีส่วนใดสัมผัสกับเครื่องมืออุปกรณ์ภายนอก 
      จ. เครื่องมืออุปกรณ์ที่สัมผัสและปนเปื้อนรังสีจะติดตั้งรวมไว้ภายในอาคารคลุมปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อความสะดวกในการควบคุม ตลอดจนปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน ประชาชน และสิ่งแวดล้อม 
๒. ด้านรูปธรรม ได้แก่ กฎระเบียบ อุปกรณ์ และระบบความปลอดภัยต่าง ๆ หลากหลายชนิดและซ้อนกันหลายระบบประกอบด้วย 
      ก. รายงานการวิเคราะห์ความปลอดภัย รายงานนี้ต้องจัดทำขึ้น ก่อนการลงมือก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ประกอบด้วยการศึกษาวิเคราะห์ในด้านต่าง ๆ 
      ข. การประกันคุณภาพปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของมาตรฐานความปลอดภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คือ มาตรการประกันคุณภาพซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญ ๕ ขั้นตอน การเลือกสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า การออกแบบโรงไฟฟ้า การผลิตเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้า การเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า การกำกับดูแลความปลอดภัยโรงไฟฟ้า 
      ค. เกราะป้องกันรังสีหลายชั้น คือ วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ หลายชั้น ที่ใช้กักกันไม่ให้สารกัมมันตรังสีรั่วไหลหรือแพร่กระจายจากเนื้อเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ออกไปสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกโรงไฟฟ้าเกราะป้องกันรังสีหลายชั้นเป็น ๑ ในหัวข้อสำคัญของมาตรการความปลอดภัยที่เป็นรูปธรรม ประกอบด้วย 
    เกราะชั้นที่ ๑ เม็ดเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ (fuel pellet) 
    เกราะชั้นที่ ๒ ท่อหุ้มเม็ดเชื้อเพลิง นิวเคลียร์ (fuel clad) 
    เกราะชั้นที่ ๓ น้ำระบายความร้อน (coolant) 
    เกราะชั้นที่ ๔ ถังปฏิกรณ์นิวเคลียร์ (reactor vessel) 
    เกราะชั้นที่ ๕ กำแพงคอนกรีตกำบังรังสี (biological concrete shield) 
    เกราะชั้นที่ ๖ แผ่นเหล็กกรุผนังด้านในอาคารคลุมปฏิกรณ์นิวเคลียร์ (steel liner) 
    เกราะชั้นที่ ๗ อาคารคลุมปฏิกรณ์ นิวเคลียร์ (reactor containment) 

 

ความปลอดภัยของโรงงานนิวเคลียร์
การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยสูงและคำนึงถึงสภาพแวดล้อมด้านต่าง ๆ ด้วย


      ง. ระบบความปลอดภัยทางวิศวกรรม คือ ชุดเครื่องมืออุปกรณ์หลายระบบ  ระบบละหลายชุดที่ติดตั้งเพื่อตรวจวัดและตรวจสอบการทำงานของเครื่องปฏิกรณ์โดยอัตโนมัติซึ่งแยกต่างหากจากระบบควบคุมเครื่องปฏิกรณ์ชุดปกติ  แต่จะทำงานควบคู่กันไปในกรณีที่มีเหตุผิดปกติเกิดขึ้นระบบความปลอดภัยทางวิศวกรรมจะเข้ามาแก้ไขเหตุการณ์ทันท่วงทีก่อนที่เหตุการณ์รุนแรงจะเกิดขึ้น ประกอบด้วยชุดเครื่องมืออุปกรณ์หลายระบบ 
     จ. ระบบเสริมความปลอดภัยอื่น ๆ คือ ชุดเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เสริมการทำงานให้แก่ระบบความปลอดภัยต่าง ๆ เพื่อให้การทำงานของระบบต่าง ๆ มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น 
      ฉ. มาตรการหลังเกิดเหตุฉุกเฉินประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ได้แก่ การแจ้งข่าวสารโดยเร็ว การจัดหาสถานที่ที่ปลอดภัยและเตรียมการอพยพ การจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันรังสี การตรวจวัดระดับรังสี การควบคุมเส้นทางเข้าออกโรงไฟฟ้า การชำระล้างสิ่งเปรอะเปื้อนกัมมันตรังสี การจัดเตรียมบริการทางการแพทย์ การจัดเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม การควบคุมผลิตผลทางการเกษตร และการเผยแพร่ข่าวสารต่อสาธารณชน 
      จากมาตรฐานและมาตรการต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกส่วนมากมีมาตรฐานความปลอดภัยสูงมาก  โดยเฉพาะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รุ่นใหม่ ๆ ที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า ๔๐ ปี ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงมากขึ้น  ยกเว้นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บางแห่งของบางประเทศที่ไม่ได้มาตรฐานสากลเนื่องจากในอดีตไม่ได้มีการควบคุมและตรวจสอบจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ  แต่โรงไฟฟ้าดังกล่าวซึ่งมีอยู่ไม่กี่แห่งในโลกกำลังจะหมดไปในไม่ช้า

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow