Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การจัดการเพื่อเพิ่มปริมาณและปรับปรุงคุณภาพของผลผลิต

Posted By Plookpedia | 22 มิ.ย. 60
1,177 Views

  Favorite

การจัดการเพื่อเพิ่มปริมาณและปรับปรุงคุณภาพของผลผลิต  

      หลักการสำคัญ คือ การจัดการให้ผลอ่อนมีการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอไม่มีการชะงักหรือชะลอการพัฒนาอันเนื่องมาจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การส่งธาตุอาหารในรูปของสารประกอบคาร์โบไฮเดรตจากแหล่งผลิตในต้นไปเลี้ยงผลอ่อนไม่เพียงพอ การขาดน้ำหรือสาเหตุอื่น ๆ โดยใช้วิธีการดังต่อไปนี้ 

๑. การตัดแต่งผล 

      ต้องทำอย่างน้อย ๓ ครั้ง เริ่มจากตัดแต่งผลอ่อนที่มีรูปทรงบิดเบี้ยว ขนาดเล็กหรือต่างรุ่นออกเหลือแต่ผลอ่อนที่มีลักษณะรูปทรงสมบูรณ์ ขั้วผลใหญ่ การตัดแต่งผลอ่อนครั้งแรกต้องทำให้เสร็จภายในสัปดาห์ที่ ๔ หลังดอกบาน โดยปริมาณผลที่เก็บไว้ควรมีมากกว่าจำนวนผลที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวได้ประมาณร้อยละ ๒๐ 

 

การตัดแต่งผล

 

๒. การใส่ปุ๋ย 

      ใส่ปุ๋ยให้เหมาะสมสอดคล้องกับช่วงพัฒนาการของผลจะช่วยเพิ่มผลผลิตและเพิ่มคุณภาพได้  ช่วงแรกใส่ปุ๋ยสูตร ๑๒-๑๒-๑๗+๒ เมื่อผลอ่อนมีอายุระหว่าง ๕ - ๖ สัปดาห์หลังดอกบานและใส่ปุ๋ยสูตร ๐-๐-๕๐ เมื่อผลอ่อนมีอายุระหว่าง ๗ - ๘ สัปดาห์หลังดอกบาน  การใส่ปุ๋ยทั้ง ๒ สูตรในช่วงที่กำหนดนี้จะช่วยเพิ่มขนาดผลเนื้อมีการพัฒนาได้ดีและสุกแก่ (เข้าสี) ได้เร็วขึ้น 

๓. การจัดการเสริมด้วยปุ๋ย “สูตรทางด่วน” 

      ช่วยให้ผลอ่อนของทุเรียนเจริญเติบโตดี ผลแก่เร็ว มีคุณภาพสูง ควรฉีด “สูตรทางด่วน” ติดต่อกันทุกสัปดาห์จำนวน ๕ ครั้ง เริ่มตั้งแต่ผลทุเรียนมีอายุ ๕ สัปดาห์หลังดอกบานเป็นต้นไป 

๔. การป้องกันการแตกใบอ่อน 

      การป้องกันไม่ให้ทุเรียนแตกใบอ่อนในระหว่างพัฒนาการของผลอ่อนเป็นสิ่งจำเป็น เพราะหากมีการแตกใบอ่อนในช่วงนี้ผลอ่อนจะไม่สามารถแข่งขันเพื่อแย่งอาหารสะสมกับใบอ่อนได้ผลอ่อนที่กำลังพัฒนาก็จะหยุดชะงักและเกิดผลกระทบในด้านคุณภาพของผลติดตามมา 

 

การป้องกันการแตกใบอ่อน

 

๕. การโยงผลทุเรียน 

      วิธีการโยงผลทุเรียนที่ถูกต้องสามารถลดการร่วงของผลและกิ่งหักหรือกิ่งฉีกเนื่องจากลมแรงได้  การโยงผลทุเรียนต้องผูกเชือกโยงกับกิ่งทุเรียนให้เลยตำแหน่งเชื่อมต่อระหว่างขั้วผลกับกิ่งไปทางด้านปลายยอดของกิ่งโดยพยายามสอดดึงเชือกโยงเหนือกิ่งทำมุมกว้างในแนวขนานกับกิ่งนั้นแล้วดึงปลายเชือกผูกรั้งกับต้นให้ตึงพอประมาณ  สังเกตได้จากกิ่งนั้นยกระดับสูงขึ้นเล็กน้อยและสามารถเคลื่อนไหวได้ค่อนข้างเป็นอิสระ เชือกโยงกิ่งหรือผลทุเรียนต้องเป็นวัสดุที่ทนทานต่อแรงดึงค่อนข้างสูงควรใช้เชือกโยงหลายสีในกรณีที่มีผลทุเรียนหลายรุ่นในต้นเดียวกัน 

๖. การป้องกันกำจัดโรคและแมลง 

      การป้องกันกำจัดโรคและแมลงในระหว่างที่ผลอ่อนกำลังพัฒนาเป็นสิ่งจำเป็น หากละเลยจะทำให้ปริมาณผลผลิตและคุณภาพของผลทุเรียนลดลงโรคและแมลงที่สำคัญ ได้แก่ โรคผลเน่า หนอนเจาะผล ไรแดง เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง และเพลี้ยหอย

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow