Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การเตรียมสภาพของต้นให้พร้อมเพื่อการออกดอก

Posted By Plookpedia | 22 มิ.ย. 60
2,023 Views

  Favorite

การเตรียมสภาพของต้นให้พร้อมเพื่อการออกดอก

      ต้นทุเรียนที่พร้อมก่อนการออกดอก คือ ต้นทุเรียนที่ผ่านการเจริญเติบโตทางกิ่งก้านสาขาโดยมีการแตกใบอ่อนมาแล้วอย่างน้อย ๑ ชุด มีการสังเคราะห์แสงและสะสมอาหารในรูปของสารประกอบคาร์โบไฮเดรตเพียงพอ มีปริมาณใบมากเพียงพอ และสังเกตได้โดยเมื่อมองจากใต้ต้นขึ้นไปจะเห็นช่องว่างระหว่างใบในทรงพุ่มไม่เกินร้อยละ ๔๐ ของพื้นที่ผิวทรงพุ่มใบส่วนมากหรือทั้งหมดเป็นใบแก่  กิ่งของแต่ละยอดเริ่มแก่ทำให้สังเกตได้ชัดเจนว่ายอดตั้งขึ้นเกือบทุกยอดต้นทุเรียนที่ได้รับการจัดการดีและมีสภาพพร้อมที่จะออกดอกจึงสังเกตได้จากการที่ต้นมีปริมาณใบพอเหมาะ  ใบสมบูรณ์มีสีเขียวเข้มเป็นมันและแก่ กิ่งของยอดแก่หรือยอดตั้งได้ เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการออกดอก คือ มีช่วงฝนทิ้งช่วง ๑๐ - ๑๔ วัน อุณหภูมิ และความชื้นของอากาศค่อนข้างต่ำจะทำให้ต้นทุเรียนออกดอกได้มากและสม่ำเสมอทั่วทั้งต้น การเตรียมสภาพความพร้อมของต้นเพื่อการออกดอกจะประสบความสำเร็จได้ดีนั้นต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาพของต้นที่เป็นอยู่ ดังนี้ 

      ๑. ต้นที่มีสภาพความสมบูรณ์ค่อนข้างพร้อมเป็นต้นที่มีลักษณะโครงสร้างของทรงพุ่มค่อนข้างดี ทรงพุ่มเป็นรูปฉัตร มีกิ่งที่ขนาดพอดีเป็นจำนวนมากโดยกิ่งนั้นไม่ใหญ่เกินไป (เส้นผ่าศูนย์กลางของกิ่งมากกว่า ๘ นิ้ว) หรือกิ่งมีขนาดเล็กเกินไป (เส้นผ่าศูนย์กลางของกิ่งน้อยกว่า ๓/๔ นิ้ว) มีปริมาณใบมากและมีใบแก่ที่สมบูรณ์ซึ่งเป็นใบมีขนาดใหญ่สีเขียวเข้มเป็นมันต้นประเภทนี้สามารถเตรียมความพร้อมได้ง่ายโดยการตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคและกิ่งขนาดเล็กออกไปซึ่งมักเป็นกิ่งที่มีใบอยู่ด้านนอกของทรงพุ่มและมีอยู่เป็นจำนวนมาก 

 

ต้นทุเรียน


      ๒. ต้นที่มีสภาพค่อนข้างโทรมเป็นต้นที่มีโครงสร้างของทรงพุ่มไม่ค่อยดีมีสัดส่วนของใบต่อกิ่งน้อยกว่าต้นประเภทแรก คือ มีปริมาณน้อย ใบมีขนาดค่อนข้างเล็ก สีไม่เขียวเข้ม โดยปกติต้นประเภทนี้มักเป็นต้นที่มีอายุค่อนข้างมาก (มากกว่า ๑๕ ปี) การใส่ปุ๋ย ให้น้ำ หรือการจัดการด้านอารักขาพืชในฤดูการผลิตที่ผ่านมาไม่เหมาะสมและมีการไว้ผลมากจนต้นมีสภาพค่อนข้างทรุดโทรมเกิดผลกระทบต่อระบบรากทำให้ระบบรากไม่สมบูรณ์  การจัดการเพื่อเตรียมสภาพความพร้อมของต้นจึงต้องมีการกระตุ้นพัฒนาการของระบบรากเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษเพื่อทำให้ระบบรากฟื้นตัวมีความสมบูรณ์พร้อมที่จะใช้ในการดูดซับธาตุอาหารและน้ำ การกระตุ้นพัฒนาการของระบบรากนี้จะต้องกระทำก่อนการใส่ปุ๋ยและให้น้ำ

 

ทุเรียน

 
      ๓. ต้นที่มีใบเหลืองเฉพาะบางกิ่งเป็นลักษณะอาการเฉพาะต้นที่มีใบเหลืองเฉพาะบางกิ่งจะมีสภาพทั่วไปค่อนข้างสมบูรณ์  แต่ต้นทุเรียนจะแสดงอาการขาดน้ำสังเกตได้จากใบทุเรียนจะมีอาการสลดและใบตกตั้งแต่ช่วงสาย ๆ หรือตอนบ่ายซึ่งบ่งชี้ถึงการเข้าทำลายของโรครากเน่าและต้นเน่าเนื่องจากเชื้อราไฟทอเทอรา  ดังนั้นการเตรียมสภาพความพร้อมของต้นประเภทนี้จะต้องดำเนินการ ต่างจากต้น ๒ ประเภทแรก คือ 

  • การรักษาโรคโดยวิธีการตรวจหาตำแหน่งที่เป็นโรคด้วยการสังเกตจากสีเปลือกลำต้นหรือกิ่งโดยตำแหน่งที่เป็นโรคนั้นเปลือกจะมีสีคล้ำกว่าสีเปลือกปกติและสังเกตเห็นคราบน้ำเป็นวงหรือไหลเป็นทางลงด้านล่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเช้าที่มีอากาศชุ่มชื้นอาจเห็นเป็นหยดน้ำปุดออกมาจากบริเวณแผลที่มีสีน้ำตาลปนแดง  การรักษาโรคกิ่งและต้นเน่านี้ทำได้โดยใช้มีดหรือสิ่งมีคมถากเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออกบาง ๆ เพื่อให้ทราบขอบเขตของแผลที่ถูกเชื้อราเข้าทำลายอย่างชัดเจนแล้วใช้สารเมทาแลกซิล (Metalaxyl) ชนิดผงร้อยละ ๒๕ อัตรา ๕๐ - ๖๐ กรัม/น้ำ ๑ ลิตร หรือสารฟอสเอทิลอะลูมินัม (Phosethyl aluminum) ชนิดผงร้อยละ ๓๐ ในอัตรา ๘๐ -๑๐๐ กรัม/น้ำ ๑ ลิตร ทาตรงบริเวณที่ถากออกให้ทั่วและตรวจสอบแผลที่ทาไว้  หลังจากการทาด้วยสารเคมีครั้งแรก ๑๕ วัน หากรอยแผลยังไม่แห้งมีลักษณะฉ่ำน้ำให้ทาซ้ำด้วยสารเคมีชนิดเดิมจนกว่าแผลจะแห้ง
  • ชะลอการหลุดร่วงของใบ ต้นทุเรียนที่เป็นโรครากเน่าต้นเน่านี้ใบจะมีอาการเหลืองและหลุดร่วงไปเนื่องจากโรคทำให้เกิดการขัดขวางการเคลื่อนย้ายของธาตุอาหารหรือสารประกอบคาร์โบไฮเดรตภายในท่อน้ำและท่ออาหารจนต้นเกิดอาการทรุดโทรม  โดยปกติการฟื้นฟูสภาพความสมบูรณ์ของต้นหลังจากเกิดโรคทำได้ยากต้องใช้เวลานานและมักไม่ทันต่อการผลิตในฤดูการผลิตถัดไป แต่ถ้าดำเนินการรักษาโรคและหยุดการลุกลามของโรคได้อย่างรวดเร็วและชะลอการหลุดร่วงของใบโดยฉีดพ่นต้นด้วยสารประกอบกึ่งสำเร็จรูปที่มีคาร์โบไฮเดรตเป็นองค์ประกอบหลัก (สูตรทางด่วน) หรือฉีดพ่นต้นด้วยสารเคมีที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันจะช่วยให้ต้นทุเรียนฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

 

ต้นทุเรียนรากเน่า

 

  • การจัดการอื่น ๆ เช่น การตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ย ให้น้ำ และการอารักขาพืช ให้ดำเนินการเช่นเดียวกันกับการเตรียมสภาพความพร้อมของต้นทั้ง ๒ ประเภท ที่กล่าวถึงแล้ว

 

      ๔. ต้นที่มีอาการใบเหลืองเฉพาะที่ใบอ่อนหรือใบเพสลาดสาเหตุเกิดจากการขาดธาตุเหล็กและธาตุแมกนีเซียม  โดยทั่วไปในส่วนอื่นของลำต้นจะมีสีเขียวและลักษณะเป็นปกติแต่จะพบอาการใบเหลืองเฉพาะที่ใบอ่อนหรือใบเพสลาด ถ้าเป็นใบอ่อนใบจะมีขนาดเล็กกว่าปกติ แผ่นใบ และเส้นกลางใบจะเหลืองซีดทั้งแผ่นซึ่งเป็นอาการขาดธาตุเหล็ก ถ้าเป็นใบเพสลาดอาการเหลืองจะเป็นที่แผ่นใบแต่เส้นกลางใบจะเป็นสีเขียวลักษณะคล้ายใบหอก คือ แถบกว้างจากขั้วใบแล้วเรียวแหลมลงไปจนถึงปลายใบซึ่งเป็นอาการขาดธาตุแมกนีเซียมอาจพบอาการทั้ง ๒ ประเภท ผสมผสานกันอยู่ในต้นเดียวกันโดยมากจะพบในต้นทุเรียนที่ปลูกในดินร่วนปนทรายหรือดินทรายที่มีธาตุแมกนีเซียมและธาตุเหล็กค่อนข้างต่ำ  ต้นทุเรียนที่มีอาการใบเหลืองเฉพาะที่ใบอ่อนหรือใบเพสลาดข้างต้นเกิดจากการจัดการบางอย่างผิดพลาด คือ การใช้ปุ๋ยไนโตรเจน เช่น ปุ๋ยยูเรีย เร่งการเจริญเติบโตทางด้านกิ่งก้านสาขาโดยไม่มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยที่มีธาตุรองหรือธาตุปริมาณน้อยร่วมด้วยซึ่งจะทำให้พัฒนาการของยอดเกิดขึ้นมาก ธาตุไนโตรเจนที่มีมากเกินไปจะลดอัตราการดูดซับธาตุแมกนีเซียมลงและเมื่อต้นทุเรียนขาดธาตุแมกนีเซียมก็จะมีผลทำให้ธาตุเหล็กมีประโยชน์ลดลงด้วยจึงทำให้ต้นทุเรียนแสดงอาการขาดทั้งธาตุแมกนีเซียมและธาตุเหล็กไปพร้อม ๆ กัน  ในกรณีที่เกิดอาการใบเหลืองดังกล่าวแล้วอาการใบเหลืองจะสามารถหายได้เองเมื่อใบแก่ขึ้นแต่ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน อาจทำให้เกิดปัญหาในการเตรียมความพร้อมของต้นให้ทันกับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการออกดอกได้จึงจำเป็นต้องแก้ไขโดยการฉีดพ่นด้วยปุ๋ยทางใบที่มีธาตุแมกนีเซียมและธาตุเหล็กในอัตราสูง  อย่างไรก็ตามปัญหาต้นที่มีอาการใบเหลืองเฉพาะที่ใบอ่อนหรือใบเพสลาดควรแก้ปัญหาโดยวิธีการป้องกันจะเหมาะสมกว่า กล่าวคือต้องใส่ปุ๋ยอินทรีย์ควบคู่กับปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ 

 

ทุเรียน


      ๕. ต้นที่มีอาการใบเหลืองเฉพาะที่ใบอ่อนหรือใบเพสลาดสาเหตุเกิดจากการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชไม่ถูกวิธี คือ การที่เกษตรกรใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช เช่น กลุ่มพาราควอต กลุ่มไกลโฟเซต หรือกลุ่มอื่นในอัตราสูงกว่าที่กำหนดไว้ฉีดพ่นเพื่อกำจัดวัชพืชใต้ทรงพุ่มของทุเรียนปริมาณสารเคมีส่วนเกินสัมผัสกับรากทุเรียนที่กำลังพัฒนาอยู่ใกล้กับผิวดินและรากบางส่วนทำให้แห้งตาย อาการใบเหลืองดังกล่าวจะพบหลังจากการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดวัชพืชแล้วประมาณ ๑ สัปดาห์  ดังนั้นการจัดการเพื่อเตรียมความพร้อมของต้นทุเรียนประเภทนี้จำเป็นต้องมีการกระตุ้นให้ระบบรากของทุเรียน มีพัฒนาการก่อน ดังรายละเอียดที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นแล้วตามด้วยการจัดการอื่น เช่น การตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ย ให้น้ำ และการอารักขาพืช 
      ๖. ต้นที่มีใบเหลืองทั้งต้น ต้นทุเรียนประเภทนี้จะมีใบที่ไม่ค่อยสมบูรณ์นัก ใบมีลักษณะด้าน ไม่สดใสเป็นมัน ใบเหลืองทั้งแผ่นใบ และเส้นกลางใบ อาจมีลักษณะการขาดน้ำเกิดร่วมด้วย ต้นทุเรียนที่มีอาการประเภทนี้จะพบมากในต้นที่ปลูกจากต้นกล้าที่รากงอหรือรากขด ปลูกลึก มักมีน้ำขังอยู่ที่โคนต้น หรืออาจมีการถมดินบริเวณโคนต้นค่อนข้างสูงและมีการระบายน้ำไม่ดี  ต้นทุเรียนที่มีสภาพแบบนี้หากมีการไว้ผลมากในฤดูการผลิตที่ผ่านมาอาการใบเหลืองจะเกิดรุนแรงมากขึ้นในฤดูการผลิตต่อมาซึ่งสาเหตุหลักของอาการประเภทนี้มักเกิดจากมีโรครากเน่าเข้าทำลายตรงบริเวณรากที่งอหรือขดซึ่งรากจะเบียดชิดกันจนเกิดรอยแผลเชื้อราไฟทอปเทอราจะเข้าทำลายได้ง่ายทำให้เกิดอาการรากเน่าและมีการขยายขนาดของแผลเน่าอยู่เสมอส่งผลให้รากฝอยบางส่วนแห้งทำให้ประสิทธิภาพในการดูดน้ำและธาตุอาหารลดลง  ดังนั้นการจัดการเพื่อเตรียมความพร้อมของต้นทุเรียนประเภทนี้จำเป็นต้องรักษาโรครากเน่าไปพร้อม ๆ กับการกระตุ้นพัฒนาการของระบบรากให้สำเร็จก่อนการจัดการอื่น ๆ

 

ต้นทุเรียน

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow